xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์” หนุนเปิดเวทีถกปฏิรูปสถาบันฯ แลกกับม็อบหยุดจาบจ้วง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“อภิสิทธิ์” หนุนเปิดเวทีถกปฏิรูปสถาบันฯ แลกกับม็อบหยุดจาบจ้วง เชื่อทำให้สถาบันฯ มั่นคงไปยาวนาน ดีกว่าใช้กฎหมายปิดปาก เพราะไม่สามารถทำให้อีกฝ่ายเคลียร์ข้อสงสัยได้เลย พร้อมยกตัวอย่างมาตรา 112 มีปัญหาตรงที่ใครร้องทุกข์กล่าวโทษใครก็ได้ เสนอควรมีกระบวนการกลั่นกรองผู้ฟ้อง



วันที่ 11 พ.ย. 2563 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่องนิวส์วัน ในหัวข้อ “ทางออกวิกฤตการเมืองไทย จะไปทางไหน?”

โดยนายอภิสิทธิ์กล่าวถึงกรณี ส.ส.-ส.ว.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ตนไม่เห็นด้วย เป็นสิทธิของสมาชิกรัฐสภา แต่ที่เห็นว่าไม่สมควร คือ 1. หลายท่านที่ลงชื่อให้ตีความ ก็ร่วมลงชื่อในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย ทำไปแล้ว แต่มาวันนี้สงสัยว่าตัวเองมีอำนาจหรือไม่ ดูแล้วไม่ปกติ

2. การเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แม้เนื้อหาสาระจะเป็นอย่างไร มันอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญในเรื่องของการแก้ไขเพิ่มเติมค่อนข้างชัดเจน ยกเว้นเสียแต่ว่ามีการเสนอแก้ไขในลักษณะที่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น ต้องรอจนสาระต่างๆ เป็นที่ยุติในขั้นตอนของสภา และก็อาจจะมีใครไปส่งตีความ อันนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แต่ค่อนข้างชัดว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่พูดกันอยู่ การจัดตั้ง ส.ส.ร.ก็เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เหมือนกับที่เคยทำมา อยู่ในกรอบมาตรา 256 ไม่น่ามีประเด็นอะไรเลยที่เป็นข้อสงสัยในทางกฎหมาย

อีกทั้งบรรยากาศทางการเมือง เรื่องที่คิดว่าเกือบทุกคนเห็นว่ามาหาข้อยุติกันได้ คือ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ทางฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะนายกฯ ควรมีความชัดเจนในการสนับสนุนให้กระบวนการนี้คลี่คลายความขัดแย้ง แต่กลับกลายเป็นว่าทุกครั้งที่จะเดินไป ฝ่ายรัฐบาลจะมีการกระทำให้สังคมข้องใจตลอดว่าสรุปสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจริงหรือเปล่า

เมื่อถามว่ามีวิธีการอย่างไรให้เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ทุกฝ่ายพอใจ แต่อะไรที่สมเหตุสมผล อธิบายได้ว่าเป็นกติกาที่ควรจะเป็น เช่น การเอาอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ ออกไป เป็นหลักที่สอดคล้องกับประชาธิปไตยสากล ที่สำคัญในสถานการณ์แบบนี้การถอดอำนาจนี้ออกไปเป็นการส่งสัญญาณที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดว่าผู้มีอำนาจได้ยินเสียงของผู้เห็นต่างแล้ว เป็นการถอยที่เป็นรูปธรรม

ส่วนเรื่องกรรมการสมานฉันท์ ตนไม่เห็นความจำเป็นเท่าไหร่ของการมีกรรมการ เพราะสาระของผู้เรียกร้อง สามารถมาวางบนโต๊ะ หารูปแบบเวทีที่เหมาะสมในการพูดคุยกันได้ว่าอะไรเป็นไปได้ อะไรเป็นไปไม่ได้ แล้วผู้ที่จะทำได้ก็ต้องเป็นคนมีอำนาจ ไม่ว่าจะรัฐบาล หรือนายกฯ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ตนเข้าใจประธานฯ ชวน หลีกภัย คงมองว่าเมื่อสภาเปิดแล้ว อภิปรายแล้ว จะปล่อยผ่านเฉยๆ คนก็จะมองว่าสภาไม่ทำอะไร จึงพยายามผลักดันกลไกอะไรสักอย่างขึ้นมา ซึ่งตนไม่ได้รับทาบทามให้ไปเป็นกรรมการ มีแค่การพูดคุยว่าเราคิดอย่างไร จะช่วยสนับสนุนงานเหล่านี้ได้ไหม และตนคิดว่าอดีตนายกฯ ทุกคนคงตอบตรงกันว่าพร้อมร่วมมือช่วยแก้ปัญหาบ้านเมือง

นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า แนวทางการตั้งกรรมการสมานฉันท์จะช่วยแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ มี 3 เงื่อนไข คือ 1. กรรมการคณะนี้จะพิจารณาเรื่องอะไรบ้าง ถ้าตั้งมาแล้วไม่ให้พูดในบางเรื่อง ก็คงแก้ปัญหาไม่ได้ 2. ตั้งมาหากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายก็คงทำงานยาก 3. อันนี้ยากสุด หากคณะกรรมการมีข้อเสนอแนะ ข้อยุติ จะได้รับการสนองตอบแค่ไหน หากไม่ทำตามก็เสียเวลาเปล่า หรือจะสั่งให้นายกฯ ต้องทำตามทันที ก็ไม่เป็นธรรมกับท่าน

สำหรับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมในเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า แน่นอนการเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และมีคนในสังคมคิดแบบนั้นจริง เพียงแต่ว่าการเคลื่อนไหวที่เอาความละเอียดอ่อนขึ้นมา คนรุ่นใหม่สนใจเรื่องนี้ คนที่รักสถาบันฯ ต้องคิด การบอกว่าเอากฎหมายไปจัดการผู้ชุมนุม จะช่วยให้สถาบันฯ มีความมั่นคงขึ้นหรือ สภาวะที่เป็นอยู่ตอนนี้เอากฎหมายจัดการไม่ให้พูดเรื่องนี้ จะทำให้คนรุ่นใหม่มีความเข้าใจตรงกันกับคนรักสถาบันฯ หรือตนเห็นว่าไม่เป็นผลดีต่อความมั่นคงของสถาบันฯ

“ถ้าเราเอาประเด็นที่อาจเป็นข้อสงสัย มาหาเวทีที่เหมาะสมให้พูดคุยด้วยเหตุด้วยผล บอกว่ามีเวทีแบบนี้แล้ว พฤติกรรมอะไรที่กระเทือนใจคนในสังคม ไม่ว่าจะจาบจ้วง ล้อเลียน ต้องหยุดนะ ไม่เป็นผลดีกว่าหรือ ที่จะให้เข้าใจตรงกันมากขึ้น และจะเป็นความมั่นคงของสถาบันฯ ในระยะยาว ถ้ามีเวทีแบบนี้แล้ว ใครที่ยังจาบจ้วง จ้องล้มล้าง คนเหล่านั้นจะเริ่มลำบากแล้ว แต่หากทิ้งไว้แบบนี้ผมไม่เห็นผลดีต่อสถาบันฯ” นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายอภิสิทธิ์กล่าวต่ออีกว่า ตอนตนเป็นนายกฯ มีการถกเถียงเรื่องมาตรา 112 ซึ่งเป็นมาตราที่ใครร้องทุกข์กล่าวโทษใครก็ได้ แล้วพอถูกดึงมาเรื่องการเมือง ตำรวจรับเรื่องมา หากไม่ทำก็กังวลว่าจะโดนคดีเสียเอง จึงส่งไปอัยการ อัยการก็กังวลเหมือนกันก็เลยส่งไปศาล มันเลยขยายวงไปเรื่อย ตนเลยตั้งคณะที่ปรึกษากฎหมายขึ้นมา โดยไม่มีการเมืองเกี่ยวข้องเลย เพื่อมาช่วยเจ้าหน้าที่ทำคดี บางคดีวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต คณะที่ปรึกษาก็ให้จำหน่ายคดีออกไปได้ อีกกรณีเว็บต่างประเทศ โดนเรื่องวางตำแหน่งพระบรมฉายาลักษณ์ไม่เหมาะสม ในที่สุดคดีพวกนี้ก็เอาออกไป แต่คดีอาฆาตมาดร้ายก็ดำเนินต่อไป

การดำเนินคดีมาตรา 112 อาจต้องมีการปรับเปลี่ยน เช่น ผู้ฟ้องอาจต้องมีการกลั่นกรอง อาจจะโดยอัยการสูงสุด หรือกระทรวงยุติธรรม เป็นต้น ไม่ได้เป็นการลดความมั่นคงของสถาบันฯ เลย ในทางตรงข้าม คนที่ยังมีความสงสัย ไม่พอใจอะไรบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ พอทำด้วยเหตุด้วยผล หลายคนก็มีการทำความเข้าใจ มีการแก้ไขปรับปรุงแล้ว มันก็จบกันไป แน่นอนไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจ แต่กระบวนการนี้ต่างหากทำให้สถาบันฯ มั่นคง ไม่ใช่แค่วันนี้ แต่ลงสู่รุนลูกรุ่นหลาน


กำลังโหลดความคิดเห็น