มีเสียงออกมาไม่น้อยว่า ทำไมรัฐบาลจึงปล่อยให้ม็อบก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่บนท้องถนนโดยไม่ทำอะไร คำกล่าวเช่นนั้นเป็นความจริงแน่นอน ถ้าเราติดตามการแสดงออกของม็อบคณะราษฎรและได้ยินเสียงพูดหยาบคายของพวกเขาที่รุนแรงขึ้นทุกวัน
แต่อีกด้านผมก็พยายามเข้าใจรัฐบาลด้วยว่า การแก้ปัญหาของรัฐบาลนั้นไม่สามารถข้ามขั้นตอนของกฎหมายได้ เจ้าหน้าที่รัฐจึงได้แต่รวบรวมข้อมูลแล้วแจ้งความเอาผิดเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายเท่านั้นเอง
แน่นอนว่า ม็อบพยายามจะตีโต้ด้วยการส่งสารว่า ปฏิรูปไม่เท่ากับการล้มล้าง ถ้าตีความโดยความหมายของถ้อยคำก็คงจะเป็นเช่นนั้น แต่ถ้าดูการแสดงออกของม็อบก็ต้องบอกว่านั่นคือ การล้มล้างไม่ใช่การปฏิรูป
ถ้าเราฟังข้อเสนอ 10 ข้อในช่วงแรกๆ น้ำเสียงที่พวกเขาเสนอพยายามจะบอกด้วยการระมัดระวังในการใช้คำพูดว่า พวกเขาแสดงออกด้วยความเคารพอย่างแท้จริงเพื่อต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและตั้งมั่นอยู่ต่อไปได้ แต่ถ้าเราตีความเนื้อหาของข้อเสนอ 10 ข้อ และติดตามต่อๆ มาก็จะเห็นได้เลยว่า นอกจากพวกเขาไม่เคารพต่อสถาบันซึ่งเป็นสิทธิของพวกเขาแล้ว ยังมีลักษณะของการหมิ่นแคลนจาบจ้วงและให้ร้ายที่มีความมุ่งหมายจะล้มล้างนั่นเอง
การแสดงออกที่หน้าสถานทูตเยอรมนีนั้นเป็นเรื่องที่ชัดเจนเช่นเดียวกับการอ่านแถลงการณ์ที่หน้าศาลหลักเมืองก็ชัดเจนว่า หาได้กระทำไปด้วยความเคารพและให้เกียรติต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของคนไทยจำนวนมากไม่
แน่นอนผู้ชุมนุมบอกว่าพวกเขาไม่ได้รักและศรัทธา ก็ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่ไม่อาจก้าวล่วงหรือบีบบังคับให้ใครรักหรือศรัทธาใครได้ แต่ขณะเดียวกันแม้ไม่รักหรือศรัทธาก็ไม่อาจกระทำการที่หยามเกียรติศักดิ์ศรีคนที่ตัวเองไม่เคารพศรัทธาอย่างที่แสดงออกอยู่ได้ เพราะบุคคลที่ส่งสาส์นถึงนั้นมีคนที่เขาเคารพศรัทธาจำนวนมาก และอยู่ในฐานะประมุขของประเทศที่ย่อมมีกฎหมายคุ้มครองเช่นเดียวกับประมุขของประเทศต่างๆ ทั่วโลก
และเจ้าหน้าที่รัฐก็มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายหากมีผู้ฝ่าฝืน อย่างไม่อาจจะร้องอุทธรณ์ว่าเจ้าหน้าที่รัฐใช้กฎหมายคุกคามอย่างที่พยายามแสดงออกอยู่ได้เลย
รัฐธรรมนูญมาตรา 6 บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ ไม่ต่างกับกฎหมายทั่วโลกที่ต้องมีบทคุ้มครองประมุขของประเทศ ไม่ใช่ข้ออ้างเรื่องสิทธิเสรีภาพเพียงอย่างเดียว
ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้ข้ออ้างว่าเพราะเราไม่รักและศรัทธาที่ไม่มีใครบังคับได้มาละเมิดและกล่าวหาใดๆ ต่อพระมหากษัตริย์ได้ ไม่ต้องพูดถึงกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ทรงไม่ให้นำมาใช้ แม้แต่กฎหมายอาญามาตรา 326 ที่ใช้กับบุคคลทั่วไปว่า ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ก็ยังถือว่า เข้าข่ายความผิดเลย
และสิ่งที่ม็อบทำและแสดงออกนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ใช้สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยหรือที่รัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ทำได้เท่านั้น เราได้เห็นและได้ยินชัดเจนว่า ม็อบนั้นมีจุดมุ่งหมายไปถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะมีทั้งการพูดถึงระบอบสาธารณรัฐ การขึ้นป้ายข้อความอย่างชัดแจ้งในที่ชุมนุมซึ่งรัฐมีสิทธิ์จะใช้กำลังปราบปรามด้วยซ้ำไปเพราะเข้าองค์ประกอบความผิดอย่างชัดเจน แต่โชคดีที่เราเห็นตรงกันว่าการใช้กำลังไม่ใช่ทางออก และเห็นว่า เด็กๆ เป็นเพียงเหยื่อของผู้บงการที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังนั่นเอง
และไม่ว่าใครที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังและดันหลังเด็กออกมาสู้ชื่นชมส่งเสียงเชียร์ให้พวกเขามีความกล้าและฮึกเหิมยิ่งขึ้น ก็ต้องนับว่าเป็นพวกที่โหดเหี้ยมและใจร้ายทั้งสิ้น
เข้าใจว่าแกนนำของม็อบหลายคนกำลังสนุกปากและเมามัน เมื่อคนหนึ่งกล้าพูด อีกคนก็กล้าพูดด้วย เหมือนการแข่งกันทำแต้มในเกม กล่าวกันว่า ม็อบทะลวงเพดานไปแล้ว ไม่ต้องกลัวอะไรแล้ว หลังจากนี้ทุกเรื่องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์จะเปลี่ยนไป เพราะเป็นเรื่องที่เอามาพูดต่อสาธารณะได้แล้วอะไรทำนองนี้
แน่นอนว่าเราคงบังคับเด็กรุ่นนี้ให้เขารักและศรัทธาไม่ได้ ถ้าเขาจะไม่รักอย่างไรเขาก็ไม่รัก แต่ต้องทำให้พวกเขาตระหนักให้ได้ว่า แม้เขาไม่รักและศรัทธาสิ่งใด พวกเขาก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะก้าวล่วงและหมิ่นแคลนศรัทธาของผู้อื่น
กลับมาที่รัฐบาลแม้จะเข้าใจว่า รัฐบาลต้องใช้ขั้นตอนและกระบวนการของกฎหมายอย่างระมัดระวัง แต่รัฐบาลก็ต้องแสดงออกมาบ้างว่า จะทำอย่างไรไม่ให้ผลของความขัดแย้งครั้งนี้กระทบกระทั่งหรือระคายเคืองพระมหากษัตริย์และสถาบัน รัฐบาลต้องเข้าใจปมของปัญหาและหาทางคลี่คลายปัญหาที่สามารถทำได้โดยเร็ว อะไรที่สามารถตัดไฟแต่ต้นลมได้ หรือสามารถชักฟืนออกจากกองไฟได้รัฐบาลก็ควรจะรีบทำเพื่อให้ส่งผลกระทบกระทั่งต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ให้น้อยที่สุด
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าในเงื่อนไข 3 ข้อที่ม็อบเรียกร้องนั้นในเรื่องของรัฐธรรมนูญนั้น เป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตในครั้งนี้ ทั้งนี้รัฐธรรมนูญเป็นตัวอักษรที่สามารถแก้ได้ และโดยหลักแล้วรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติของมันจึงควรจะมีความเท่าเทียมและเสมอภาคกันอยู่ด้วย
แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ร่างโดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ และคณะนั้นกลับเป็นรัฐธรรมนูญที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับคนกลุ่มเดียว
ผมจึงไม่เห็นด้วยตั้งแต่รัฐบาลตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาเพื่อยื้อรับร่างรัฐธรรมนูญวาระ 1 ก่อนปิดสภาฯ สมัยที่แล้ว และคงเห็นแล้วว่านำมาซึ่งวิกฤตที่รุนแรงขึ้น เพราะถ้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปอยู่ในกระบวนการของสภาฯ ตั้งแต่ตอนนั้นแล้วข้ออ้างที่จะออกมาเรียกร้องบนถนนก็จะลดน้อยลงไปด้วย
พอมาเปิดสภาฯ สมัยนี้แทนที่จะแสดงออกถึงความจริงใจในการแก้รัฐธรรมนูญอย่างที่รัฐบาลได้รับปากไว้แล้ว คนของฝั่งรัฐบาลกลับยื่นเรื่องเพื่อให้รัฐสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ โดยอ้างว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มีบทบัญญัติให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้ ซึ่งมองแล้วว่า เป็นความต้องการกวนน้ำให้ขุ่น และไม่ยี่หระต่อเสียงของม็อบที่ก้าวล่วงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่บนท้องถนน
รวมถึงการให้นายสิระ เจนจาคะ และนางปารีณา ไกรคุปต์ ออกมาตอบโต้กับนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ที่กำลังหาทางออกในการดับวิกฤตการเมืองครั้งนี้ เหมือนกับความต้องการให้ความขัดแย้งยังคงดำรงอยู่ต่อไป ซึ่งน่าจะตั้งคำถามว่า แกนนำในพรรคพลังประชารัฐและแกนนำรัฐบาลกำลังต้องการอะไร จึงปล่อยให้สมาชิกออกมากระทำเช่นนี้
ผมย้ำว่าสิ่งที่รัฐบาลประยุทธ์ต้องรีบกระทำคือ หยุดความขัดแย้งทางการเมืองที่กำลังลุกลามไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์ให้เร็วที่สุด ก่อนที่ความขัดแย้งนั้นจะกลายเป็นสงครามกลางเมือง เพราะประชาชนที่ศรัทธาต่อสถาบันหมดความอดทนต่อสิ่งที่เกิดขึ้นบนท้องถนนในเวลานี้ และเฝ้าดูอยู่ว่ารัฐบาลจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร
ตัวของพล.อ.ประยุทธ์เองก็ต้องรู้ว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งไม่ใช่คิดว่าตัวเองเป็นคนกลางที่ไม่มีความขัดแย้งกับใคร และหากมีทางออกไหนที่ต้องทำเพื่อดับไฟที่กำลังลุกลามไปสู่สถาบันก็ควรจะต้องกระทำโดยเร็ว
ติดตามผู้เขียนได้ที่https://www.facebook.com/surawich.verawan