รศ.ดร.ปิติ ชี้ระยะสั้น “ไบเดน” เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังไม่ส่งผลเปลี่ยนโลก เพราะต้องเน้นแก้ปัญหาในประเทศตัวเองก่อน หลังจากนั้นค่อยดำเนินการ โดยเน้นนโยบายหลัก จำกัดการขยายอิทธิพลของจีน โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ย้ำ ไทยห้ามเลือกข้าง เอาประโยชน์ประเทศเป็นหลัก
วันที่ 9 พ.ย. 2563 รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “ไบเดนชนะเลือกตั้ง ปธน.สหรัฐฯ จุดเปลี่ยนโลก?”
โดย รศ.ดร.ปิติ กล่าวว่า เป็นจุดเปลี่ยนอเมริกา แต่จุดเปลี่ยนโลกต้องหลังจากนี้ เพราะระยะสั้นเร่งด่วนภายใน 3 เดือนแรก ต้องโฟกัสไปที่โควิด เศรษฐกิจ และปรองดอง หลังจากนั้น อเมริกาถึงจะมีเวลามากขึ้นเพื่อพูดถึงเรื่องที่ถูกดึงให้หยุดแล้วยังไม่มีของใหม่มาแทน นั่นคือ เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่คนพูดติดปากว่าโอบามาแคร์ ดังนั้น ถ้าไบเดน กับ กมลา แฮร์ริส (รองประธานาธิบดี) จะทำ ต้องทำยังไงให้มีความเป็นของตัวเอง อาจมีการเพิ่มเติม
ประเด็นต่อมา ที่คนทั่วโลกประณามอเมริกามาตลอด นั่นคือ เรื่องสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การที่ทรัมป์เอาอเมริกาออกจาก Paris Agreement อเมริกาคงต้องกลับเข้าสู่การเจรจา
แล้วถ้าจะสร้างความสมานฉันท์ได้ ต้องลดความเหลื่อมล้ำ สิ่งนึงที่ กมลา และ ไบเดน ทำมา คือ การปฏิรูประบบเศรษฐกิจ อาจต้องลดภาษีให้คนชั้นกลาง และเพิ่มภาษีเศรษฐี แล้วพอเป็นโลกยุคออนไลน์ มันกว้างไกล ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น อาจต้องมาดูว่าถ้าเก็บภาษีพวก E service เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำต้องทำอย่างไร
รศ.ดร.ปิติ กล่าวอีกว่า และเรื่องที่ต้องคำนึงเพราะอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับโลก คือ เรื่องความมั่นคง เศรษฐกิจ อำนาจ และดุลอำนาจของสหรัฐฯ ที่เคยเป็นผู้จัดระเบียบโลก จะมีรูปแบบเป็นอย่างไรต่อไป เป็นสิ่งที่ต้องดูในวันที่นับหนึ่ง คือ 20 ม.ค. 2021 แต่จากวันนี้เราคงเห็นอะไรหลายๆ อย่าง เช่น ใครจะขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีความมั่นคง
เราทำงานวิจัยมาตลอด เห็นชัดเจนตั้งแต่ 2010 เป็นต้นมา อเมริกาเป็นประเทศเอาเรื่องการเมืองและความมั่นคงนำในการทำนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ฉะนั้น ประเด็นหลักความมั่นคง ภัยคุกคามที่สำคัญสุดของอเมริกาไม่ใช่ก่อการร้าย เหมือนปี 2000-2010 แต่เป็นเรื่องของการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน
ดังนั้น นโยบายหลักที่เป็นแกนกลาง ไม่ว่าใครจะเป็นประธานาธิบดี ก็คือ ต้องบั่นทอนจีน ปิดล้อมจำกัดเขตการขยายอิทธิพลของจีน แกนกลางของนโยบายเหมือนกัน แต่วิธีการจัดการไม่เหมือนกัน อย่างโอบามา ก็เอเชียแปซิฟิก ทรัมป์ สงครามการค้า และปีหน้า 2021-2022 สงครามการค้าคงดำเนินต่อไป แต่คงไม่ก้าวร้าวแบบทรัมป์
รศ.ดร.ปิติ กล่าวต่ออีกว่า ส่วนไทย สิ่งที่ทำได้มากที่สุด คือ ต้องไม่เลือกข้าง ในอดีตสมัยสงครามเย็น ไทยเคยเลือกข้างอเมริกา ทำให้มีปัญหากับเพื่อนบ้านเละเทะเลย และสร้างปัญหามาถึงทุกวันนี้ในหลายมิติ
ถ้าตนเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จะประชุมอธิบดีทุกกรม และให้อธิบดีทุกกรมไปศึกษามาว่าจริงๆ แล้วแต่ละเรื่องที่อยู่ในแต่ละกรม ผลประโยชน์ประเทศไทยอยู่ตรงไหน และผลประโยชน์นี้ถ้าจะให้มากขึ้น ให้ดีขึ้น ควรต้องใกล้ชิดกับใคร เพราะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีหลายมิติมาก
แต่ละเรื่องต้องชัดก่อนว่าผลประโยชน์เราอยู่ตรงไหน เช่น เรื่องนี้เราใกล้ชิดกับจีนเราได้ประโยชน์ เราก็อยู่กับจีน เรื่องนี้ใกล้ชิดอเมริกาแล้วได้ประโยชน์ เราก็อยู่กับอเมริกา หรือใกล้ชิดอาเซียนจะได้ประโยชน์ การเล่นหลายบทบาทแบบนี้ ทำให้เราบาลานซ์ในตัวของมันเองได้ และไม่เป็นศัตรูกับใคร คนที่เราเลือกข้างได้อย่างเดียวคือผลประโยชน์ประเทศ