xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการชี้ไม่ว่าใครเป็น ปธน.สหรัฐฯ ก็ต้องเดินเกมบั่นทอนจีน แนะไทยรักษาดุลอำนาจอย่ามีศัตรู

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รศ.ดร.ปิติ” ชี้ต่อให้ “ไบเดน” ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ความสัมพันธ์กับจีนก็ไม่ต่างกัน เพราะทั้ง 2 พรรรครวมถึงฝ่ายความมั่นคงมองว่าจีนคือภัยคุกคาม ต้องเดินหน้าจำกัดการขยายอิทธิพล เชื่อในระยะสั้น 1-2 ปี สงครามการค้ายังดำเนินต่อ แนะไทยรักษาดุลอำนาจให้ดี อย่ามีศัตรู






วันที่ 3 พ.ย. 2563 รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน หลังเลือกตั้ง ปธน.สหรัฐฯ 2020”

โดย ดร.ปิติ กล่าวในช่วงนึงว่า สถานะปัจจุบัน อเมริกากำลังถดถอยทางอำนาจในความเป็นมหาอำนาจ ในขณะที่ประเทศอื่นก็เข้มแข็งขึ้น โดยเฉพาะจีน สำหรับสหรัฐฯ ไม่ว่าไบเดนหรือทรัมป์ชนะเลือกตั้ง ทั้งพรรคเดโมแครต และพรรครีพับลิกัน รวมถึงฝ่ายความมั่นคงของอเมริกาก็มีนโยบายไปในทางเดียวกัน คือ มองว่าจีนคือภัยคุกคาม ฉะนั้นนโยบายระยะสั้น จะห็นทั้ง 2 พรรคมีจุดร่วมกันในการบั่นทอนจีน ในการปิดล้อมจำกัดเขตการขยายอิทธิพลของจีน เพราะฉะนั้นนโยบายอินโดแปซิฟิกก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เรื่องความมั่นคง แต่เดิมเวลาพูดถึงการขยายอิทธิพลของจีน เราพูดถึง Belt and Road Initiative หรือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง คือการสร้างสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเชื่อมจีนกับเอเชีย แอฟริกา ยุโรป ในขณะที่อเมริกาก็อยากปิดล้อมจีนด้วยการไปสร้างพันธมิตรด้วยการใช้นโยบายยุทธศาสตร์ที่เรียกว่าอินโดแปซิฟิก ก็คือ ไปหาพันธมิตรที่มหาสมุทรอินเดีย กับมหาสมุทรแปซิฟิก และพื้นที่ที่เป็นรอยต่อของมหาสมุทรอินเดียกับแปซิฟิก ก็คือ อาเซียน หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไทยก็อยู่ตรงนั้น ที่ผ่านมาประเทศในอาเซียน ไม่มากก็น้อยเคยเป็นเขตอิทธิพลของสหรัฐฯ แต่ตอนนี้อำนาจอเมริกาถดถอย ขณะที่จีนขึ้นมาก็ยังไม่ได้เข้ามาแทนที่ ฉะนั้น อาเซียนเกิดสุญญากาศในอำนาจ ก็จะเห็นภาพอเมริกาดึงอาเซียนเป็นพวก จีนก็ดึงอาเซียนเป็นพวก ไทยเองก็กลายเป็นประเทศที่อยู่จุดศูนย์กลางในความขัดแย้งครั้งนี้ ด้านความมั่นคงทำเราเหนื่อยแล้ว ด้านเศรษฐกิจ ใน 1-2 ปี ไม่ว่าใครเป็นประธานาธิบดี ก็จะเห็นสงครามการค้า ไบเดนไม่เลิก เพราะทรัมป์ทำสงครามการค้ามา มีคนกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นลูกค้าหลักของทรัมป์ ที่เสพติดนโยบายที่ค่อนไปทางประชานิยม โดยเฉพาะผลของการทำสงครามการค้า แล้วดึงเงินกลับไปที่อเมริกา อยู่ดี ๆ ไบเดนตัดเลย คนกลุ่มนี้จะรู้สึกเสียประโยชน์และไม่ชอบรัฐบาลไบเดน ฉะนั้นต้องครองสถานการณ์อย่างน้อย 1-2 ปี

ผ่านไป 3-5 ปี ตอนนี้จะเริ่มเห็นความแตกต่างแล้ว นโยบายเดโมแครตจะยึดนโยบายเสรีนิยมเชิงสถาบัน (Neo-liberal institutionalism) ก็คือ สร้างสถาบัน อาจอยู่ในรูปแบบองค์กรระหว่างประเทศ หรือข้อตกลงการค้า อาจดึงประเทศต่างๆ มาอยู่ในข้อตกลงนี้ โดยโดดเดี่ยวจีน สหรัฐฯ เป็นผู้สร้างกติกา คุมกติกา และเป็นผู้เล่น

เมื่อถามว่า ไทยควรดำเนินนโยบายอย่างไรหลังเลือกตั้งสหรัฐฯ ดร.ปิติ กล่าวว่า ไทยต้องรักษาดุลอำนาจให้ดี ต้องไม่มีศัตรู พร้อมเป็นมิตรกับทุกคน และที่สำคัญต้องชัดเจนให้ได้ก่อน ว่าจริงๆ แล้วผลประโยชน์ของไทยคืออะไร แล้วเอาผลประโยชน์ตรงนั้นเป็นที่ตั้ง สมมติถ้าผลประโยชน์นี้จะเกิดขึ้นถ้าคบกับจีน เราก็คบกับจีน หรือผลประโยชน์จะเกิดขึ้นถ้าคบกับอาเซียน เราก็คบกันเองในอาเซียน เพราะความสัมพันธ์มันมีหลากหลายมิติมาก

เราเห็นจีนกับอเมริกา เราไม่ต้องเลือกข้าง เพราะเขาไม่ได้ต่อยมวยกัน ต้องแยกให้ถูก ตรงไหนเป็นผลประโยชน์ของไทย และควรมีความใกล้ชิดกับประเทศไหนเพื่อทำให้เราได้ประโยชน์สูงที่สุดจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

การที่เรามีบทบาทนำมาโดยตลอดในเวทีอาเซียน เราสามารถวางตำแหน่งตัวเองให้เป็นมหาอำนาจระดับกลางได้ด้วย เพราะอำนาจต่อรองอาเซียนมีมากในหลากหลายมิติ


กำลังโหลดความคิดเห็น