xs
xsm
sm
md
lg

สงครามในยุครัตนโกสินทร์ ไทยชนะเกือบทุกครั้ง! แพ้ลาวครั้งเดียวใน “ศึกร่มเกล้า”!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค



ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เราต้องทำสงครามหลายครั้ง บางครั้งเป็นสงครามใหญ่เกินกำลัง ทั้งยังมีเดิมพันสูง ถ้าแพ้ก็หมายถึงสิ้นชาติ อาจจะเป็นอย่างประเทศมอญในวันนี้ แต่บรรพบุรุษของเราก็รักษาแผ่นนี้ไว้ให้ลูกหลานได้ หรือแม้แต่สงครามโลกครั้งที่ ๒ เราตกอยู่ในฝ่ายผู้แพ้สงคราม เราก็ยังสวนสนามร่วมกับผู้ชนะในฐานะผู้ชนะด้วย จะถือว่าแพ้ก็มีครั้งเดียว ในคราวเกิดกระทบกระทั่งกับลาว ต่างชาติที่เรียกได้ว่า “พี่น้องสนิท” ในยุทธการที่เรียกว่า “ศึกร่มเกล้า” ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๐ มานี่เอง

สงครามครั้งสำคัญยิ่งของไทยอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ที่เรียกว่า “สงคราม ๙ ทัพ” ยามนั้นเรากำลังสร้างกรุงรัตนโกสินทร์มาได้ ๓ ปี เคราะห์ดีที่พม่าไม่ได้มาเมื่อ ๓ ปีก่อนที่บ้านเมืองกำลังยุ่งเหยิงเพราะเปลี่ยนราชวงศ์ เพราะพม่าก็กำลังยุ่งเหยิงภายในเหมือนกัน ครั้งนี้พม่าวางแผนจะไม่ให้ไทยได้ผุดได้เกิด จึงระดมพลมถึง ๑๔๔,๐๐๐ คน จัดเป็น ๙ กองทัพตีตั้งแต่เหนือจดใต้ตลอดชายแดนไทย-พม่า โดยเฉพาะด่านเจดีย์ ๓ องค์ที่กาญจนบุรี กองทัพหลวงยกกำลังส่วนใหญ่มา ๔ กองทัพสำหรับบดขยี้กรุงเทพฯ ไทยเราระดมพลได้แค่ ๗๐,๐๐๐ ถ้าจะสู้ข้าศึกด้วยกำลังก็ไม่อาจต้านทานได้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและกรมพระราชวังบวร พระอนุชา จึงวางแผนใช้ยุทธวิธีเข้าสู้ ตีข้าศึกแตกพ่ายไปทีละกองทัพ แม้แต่แตกทัพแล้วทหารพม่าก็ยังไม่มีแรงเดินกลับบ้าน ต้องยอมให้จับเป็นเชลยเพื่อขอข้าวกิน ซึ่งยุทธวิธีในการรบครั้งนี้ได้เป็นตำราทางการทหารที่หลายประเทศนำไปศึกษา

เมื่อแตกพ่ายไปทั้ง ๙ กองทัพ พระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่าที่ทำสงครามมายังไม่เคยแพ้ใคร มาแพ้ไทยเป็นครั้งแรก จึงถอยทัพไปพร้อมกับความคิดที่จะต้องแก้ความอัปยศให้ได้ รับสั่งให้กองทัพที่ถอยจากราชบุรีไปตั้งทัพอยู่แค่เมาะตะมะ ที่ถอยจากนครศรีธรรมราชให้หยุดอยู่ที่เมืองทวาย กองทัพอื่นๆก็ให้ตั้งอยู่ใกล้ๆชายแดนไทย ไม่กลับไปอังวะ วางแผนแก้ไขความผิดพลาดครั้งที่แล้ว เกณฑ์สะเบียงอาหารจากหัวเมืองต่างๆมารวมที่ยุ้งฉางเมืองเมาะตะมะ และเข้ามาตั้งอู่ต่อเรือที่ต้นแม่น้ำไทรโยค เตรียมเข้ามาตีกรุงเทพฯให้ได้

ในปีต่อมา คือในปี ๒๓๒๙ พอเข้าปลายฤดูฝน พระเจ้าปดุงระดมพลมาประชุมที่เมืองเมาะตะมะ ให้ราชบุตรองค์ใหญ่ที่เป็นมหาอุปราชลงมาบัญชาการ ยกทัพเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์เพียงทัพเดียว ตั้งค่ายใหญ่ที่ท่าดินแดงและสามสบ พระมหาอุปราชตั้งอยู่ที่แม่น้ำสามกษํตริย์ พระเจ้าปดุงตั้งคอยหนุนอยู่ที่ชายแดน พร้อมตั้งยุ้งฉางเป็นระยะ ทางเดินทัพก็สร้างสะพานข้ามห้วยมาตลอด 

เมื่อชาวด่านแจ้งข่าวศึกเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ไทยจึงจัดทัพหน้ามีกำลังพล ๓๐,๐๐๐ให้กรมพระราชวังบวรฯ ยกไปก่อน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงนำทัพหลวง อึก ๓๐,๐๐๐ หนุนไปอีกทัพ ยกไปทางแม่น้ำแควขึ้นบกที่เมืองไทรโยค ไปตั้งค่ายที่เมืองท่าขนุน ขณะนั้นกองทัพไทยกำลังฮึกเหิม พอทั้ง ๒ ทัพพร้อมสรรพ กองทัพกรมพระราชวังบวรฯก็เข้าตีค่ายสามสบ ทัพหลวงเข้าตีค่ายท่าดินแดงพร้อมกัน แค่ ๓ วันพม่าก็แตกทุกค่าย กองทัพไทยไล่ติดตามพม่าไปถึงค่ายที่แม่น้ำสามกษัตริย์ พระมหาอุปราชก็ตกพระทัยรีบนีไปมิได้ต่อสู้

ในสงครามที่เรียกว่า “สงครามท่าดินแดง” นี้ พงศาวดารพม่ากล่าวยอมรับว่าพม่าแตกยับเยิน ไทยได้ทั้งช้างม้าพาหนะเสบียงอาหารและเครื่องสาตราวุธ แม้ปืนใหญ่ที่พม่าขนเอามา ก็ต้องทิ้งไว้ให้ไทยทุกกระบอก ตัวแม่ทัพใหญ่ก็หนีเกือบไม่พ้น ในจดหมายเหตุของนายพันตรีไมเคล ไซม์นายทหารอังกฤษกล่าวว่า พระเจ้าปดุงเองก็เกือบถูกไทยจับได้ จดหมายเหตุของบาดหลวงชาวอิตาเลียน ชื่อสันเยอมะโน อยู่ในพม่าเวลานั้นกล่าวว่า กองทัพพระเจ้าปดุงแตกไปคราวนี้ ผู้คนในเมืองพม่าพากันตื่นตกใจมาก จนเห็นว่า ถ้ากองทัพไทยยกตามออกไปก็จะตีได้จนถึงอังวะ ในหนังสือพงศาวดารพม่าที่เซอร์ อาเธอร์ แฟร์ แต่งเป็นภาษาอังกฤษสรรเสริญว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงปลุกใจไทยซึ่งเข็ดขยาดพม่ามาช้านาน ให้กลับกล้าหาญหายคร้ามพม่าได้

ต่อมาในปี ๒๓๕๑ พระเจ้าปดุงทรงเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงพระชรา ทั้งกรมพระราชวังวบวรสุรสิงหนาทก็สิ้นพระชนม์แล้ว จึงคิดจะแก้หน้าให้ได้ ส่งเติงหวุ่นมาเกณฑ์พลฝ่ายใต้จากร่างกุ้งลงมาถึงทวายที่เป็นเมืองมอญให้ได้ ๔๐,๐๐๐ คน แต่ผู้ที่ถูกเกณฑ์มาได้พากันหลบหนีไปทีละพันสองพัน พระเจ้าปดุงเห็นว่าการทำศึกใหญ่จะไม่เป็นผล จึงทรงรับสั่งให้ระงับการเกณฑ์ แต่เติงหวุ่นกราบทูลว่า ได้ลงทุนตุนเสบียงอาหารและไพร่พลไปมากแล้ว ถ้าไม่ไปตีกรุงเทพฯ ก็ขอไปตีเมืองตะกั่วทุ่ง ตะกั่ววป่า ถลาง และชุมพร กวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สินถอนทุนที่ลงไป พระเจ้าปดุงทรงเห็นชอบด้วย เมื่อพม่ายกเข้ามาครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯให้กรมพระราชวังบวรมหาเสนารักษ์ พระอนุชา เป็นแม่ทัพยกไปตีพม่าแตกหนีไปทุกทัพ ยึดเมืองถลางคืนมาได้ในสภาพยัพเยินเพราะถูกพม่าเผา
ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ไทยต้องทำสงครามยืดเยื้อกับญวน ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๗๖-๒๓๙๐ เป็นเวลาถึง ๑๔ ปี เรียกว่า “อานามสยามยุทธ” ทั้งนี้เพราะญวนแผ่อิทธิพลเข้าลาวและเขมรโดยแอบหนุนเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์จนคิดกบฎกับไทย และเข้ายึดเขมร ส่งขุนนางเข้ามาปกครอง เปลี่ยนชื่อตำแหน่งทางราชการเป็นภาษาญวน จะกลืนวัฒนธรรมเขมรทั้งหมด พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเกรงว่าจะเป็นอันตรายกับไทย ทั้งในขณะนั้นกษัตริย์เขมรไทยก็เป็นผู้แต่งตั้ง จึงส่งเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนีย์) เป็นแม่ทัพเข้าไปขัดขวางญวน

การรบเนิ่นนานครั้งนี้เป็นความสูญเสียทั้งสองฝ่าย ไม่มีใครชนะโดยเด็ดขาด ทั้งสองฝ่ายจึงทำสัญญาสงบศึกกัน โดยไทยยังคงไว้สิทธิในการสถาปนากษัตริย์เขมร แต่เขมรก็ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการให้ญวนทุก ๓ ปี
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งชาติตะวันตกแผ่อิทธพลเข้าครอบงำเอเซียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว สงครามไทยกับประเทศเพื่อนบ้านก็น่าจะหมดไป โดยเฉพาะพม่าที่เริ่มมีศึกกับอังกฤษ แต่ยังมีศึกที่คั่งค้างมาแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ คือศึกเชียงตุง เนื่องจากราชวงศ์เชียงรุ้งอพยพหนีพม่ามาขอความช่วยเหลือไทย ครั้งนั้นประเทศราชในมณฑลพายัพพากันอาสาไปตีเชียงตุง จึงโปรดให้กองทัพเชียงใหม่ ลำปาง และลำพูนยกขึ้นไปในปี ๒๓๙๒ แต่ยกไปไม่พร้อมกันทั้งยังขาดเสบียงจึงต้องเลิกทัพกลับมา จนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯเสด็จสวรรคต เรื่องตีเมืองเชียงตุงจึงค้างอยู่

เมื่อขึ้นรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงศึกษาการทำศึกมาเลย จึงไม่ได้ทรงบัญชาให้ทำศึกต่อ แต่เสนาบดีทั้งหลายเห็นว่าพม่ากำลังมีศึกกับอังกฤษ จึงกราบทูลให้ถือโอกาสไปตีเชียงตุง เมื่อได้เชียงตุงแล้วก็จะได้สิบสองปันนาด้วยไม่ยาก โดยให้มีกองทัพกรุงเทพฯขึ้นไปควบคุมกองทัพมณฑลพายัพด้วย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯจึงทรงบัญชาตามมติคณะเสนาบดี ตีหัวเมืองรายทางได้ตลอด จนเข้าล้อมเมืองเชียงตุง แต่ก็ฝ่ากำแพงเมืองเข้าไปไม่ได้ จนขาดแคลนเสียงอาหาร ทั้งยังไม่ชำนาญภูมิประเทศที่ห่างไกลไทยมาก จึงตีเชียงตุงไม่สำเร็จต้องถอยทัพกลับมา

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทั้งพม่า ญวน ลาว เขมร ตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกไปหมด ไม่มีโอกาสมารบกับไทย แต่ก็ยังมีสงครามเกิดขึ้นอีกจนได้ เมื่อมีชาวจีนที่ต่อต้านราชวงศ์แมนจูใน “กบฎไท้ผิง” ได้แตกพ่ายกระจายไปในมณฑลต่างๆ ส่วนหนึ่งเข้ามาเป็นกองโจรปล้นเมืองในดินแดนสิบสองจุไท ซึ่งเป็นอาณาเขตของไทย ตลอดจนถึงหลวงพระบางและหนองคาย

สงตรามครั้งนี้ไทยจัดกำลังรบแบบยุโรปแล้ว และปราบฮ่อได้ราบคาบ แต่ฝรั่งเศสที่อ้างว่าส่งทหารมาช่วยไทย เสร็จแล้วก็ไม่ยอมถอยออก เข้ายึดสิบสองจุไทยไปหน้าตาเฉย

ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ทหารไทยเราโกอินเตอร์ไปรบถึงยุโรป โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศสงครามกับฝ่ายอักษะ เข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ ๑ และส่งทหารไปร่วมรบถึงยุโรป เมื่อสงครามสงบ ทหารไทยได้สวนสนามอย่างผู้ชนะที่กรุงปารีสและกรุงบรัสเซลย์ ประเทศเบลเยี่ยม

เมื่อตอนที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ เริ่มขึ้นในยุโรป ไทยกำลังเจรจากับฝรั่งเศสในอินโดจีนขอให้ปักปันเขตแดนกันใหม่ตามหลักสากล ฝรั่งเศสก็รับว่าจะเจรจาด้วย แต่พอเมืองแม่ที่ยุโรปถูกเยอรมันตีแตก ฝรั่งเศสก็กลัวว่าไทยจะถือโอกาสบุกอินโดจีน จึงขอทำสัญญาไม่รุกรานกัน ไทยยอมรับแต่ขอให้รับรองเรื่องปักปันเขตแดนก่อน ฝรั่งเศสเลยลืมตัวว่าเคยขู่ไทยมาได้ตลอด ปฏิเสธไม่ยอมรับข้อเสนอของไทย และประกาศว่าจะปกป้องอินโดจีนไม่ว่าศัตรูจะมาจากไหน ทั้งที่ตอนนั้นทหารญี่ปุ่นเข้าไปเต็มอินโดจีนแล้ว ฝรั่งเศสแค่ทำตาปริบๆ ทั้งยังขนอาวุธมาเต็มฝั่งโขง และส่งเครื่องบินล้ำแดนเข้ามาข่มขู่ถึง ๓๐ เที่ยว เมื่อคนไทยเดินขบวนทั่วประเทศต่อต้านจนข่าวกระจายไปทั่วโลก ฝรั่งเศสก็ส่งเครื่องบินเข้ามาทิ้งระเบิดที่นครพนม เป็นการสำทับคำข่มขู่ กองทัพไทยที่ได้กำลังใจจากประชาชนจึงถือโอกาสลุยเข้าไปทันที ฝรั่งเศสก็หางจุกตูดวิ่งไปขอให้ญี่ปุ่นช่วยเจรจาสงบศึก ยอมปรับปรุงเขตแดนใหม่ และคืนมณฑลบูรพา คือเสียมรา๙ พระตะบอง และศรีโสภณที่ยึดไปให้ไทยด้วย

ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไทยถูกกองทัพลูกพระอาทิตย์ยกพลขึ้นบกตลอดฝั่งตะวันตกของอ่าวไทยอย่างกระทันหัน จะขอเดินทัพผ่านไปตีมลายูและพม่าของอังกฤษ ครั้นจะบอกล่วงหน้าก็กลัวความแตก ไทยจึงจำใจต้องร่วมหัวไปกับญี่ปุ่น แต่ไม่ร่วมจมท้ายด้วย เพราะคนไทยส่วนใหญ่ขมขื่นกับวิธีการที่ญี่ปุ่นบุก จึงเกิดขบวนการเสรีไทยร่วมมือกับฝ่ยสัมพันธมิตรต่อต้านญี่ปุ่นขึ้น เมื่อสงครามสงบญี่ปุ่นเป็นฝ่ายปราชัย แต่เสรีไทยกลับสวนสนามที่ถนนราชดำเนินร่วมกับทหารฝ่ายสัมพันธมิตรในฐานะผู้ชนะสงคราม

ส่วนสงครามที่ถือว่าไทยเป็นฝ่ายแพ้ ก็ตือ “ศึกร่มเกล้า” ที่เกิดความขัดแย้งเรื่องเขตแดนกับลาว จากสนธิสัญญาที่ทำไว้กับฝรั่งเศส กำหนดว่าเขตแดนด้านหลวงพระบางกับไทยให้ใช้แม่น้ำเหืองที่ไหลลงมาจากภูเมี่ยงเป็นเส้นแบ่ง ไทยจึงถือเอาแม่น้ำเหืองง่าที่ต้นกำเนิดจากภูเมี่ยงเป็นหลัก แต่ลาวว่าแม่น้ำเหืองมี ๒ สาย อีกสายคือแม่น้ำเหืองป่าหมัน ต้นกำเนิดอนู่ที่ภูสอยดาว ซึ่งลาวอ้างว่าเป็นเทือกเขาเดียวกับภูเมี่ยง ทำให้ล้ำเขตเข้ามา ๗๐ ตารางกิโลเมตร ระบุว่าพื้นที่นี้อยู่ในเขตปกครองตาแสง เมืองบ่อแตน แขวงไชยะบุรี

เดิมบริเวณนี้เป็นฐานของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย เมื่อรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ใช้นโยบายให้คนเหล่านี้กลับมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ในราวปี ๒๕๒๖ ได้จัดสรรให้เป็นที่อยู่อาศัยของชาวม้ง มีชื่อว่า “บ้านร่มเกล้า” ประชากรเพียง ๑๐๐ ครอบครัว ราว ๖๘๐ คน

ต่อมาในปี ๒๕๒๘ รัฐบาลได้เปิดสัมปทานทำป่าไม้ในพื้นนี้ให้บริษัทเอกชน โดยให้กองทัพภาคที่ ๓ เป็นผู้ดูแล ต่อมากองทัพภาคที่ ๓ ได้มอบให้กรมทหารพรานเป็นผู้ดูแลต่อ

การเข้าไปตัดไม้ในบริเวณนี้ทำให้ฝ่ายลาวไม่พอใจ มีการยื่นหนังสือประท้วงในท้องถิ่นให้ถอยออกไป มิฉะนั้นจะผลักดันตามกฎหมาย

ความรุนแรงได้เริ่มขึ้นในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๓๐ เมื่อทหารลาวได้ยิงรถแทรกเตอร์ของบริษัทตัดไม้ ๓ คัน รถจิ๊ป ๑ คัน ทำให้คนงานเสียชีวิต ๑ คน ทหารพรานจึงส่งกำลังเข้าช่วยเหลือ

ต่อมาในวันที่ ๘ สิงหาคม ทหารลาว ๒๐๐-๓๐๐ คนโจมตีทหารพรานที่ฐานปฏิบัติการร่มเกล้า สถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจ กองทัพภาคที่ ๓ จึงส่งกำลังเข้าเสริม และส่งมอบภารกิจให้ทหารพรานจู่โจม ค่ายปักธงชัย ๕ กองร้อยเข้าปฏิบัติการออกลาดตระเวนในพื้นที่ จนเกิดปะทะกันตลอด

การปะทะรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ทหารลาวได้รุกเข้ามาตั้งฐานในเขตไทย กองทัพไทยจึงเริ่ม “ยุทธการสอยดาว” นำกองร้อยปืนใหญ่เข้าปฏิบัติการ แต่จนถึงเดือนธันวาคมก็ยังไม่สามารถขับไล่ทหารลาวออกไปได้ เข้าตั้งมั่นบนเนินต่างๆอย่างเข้มแข็ง ต่างฝ่ายต่างโถมกำลังเข้าหากัน ลาวเป็นฝ่ายได้เปรียบยึดชัยภูมิที่สูงไว้ได้ และมีข่าวว่าลาวได้รับการสนับสนุนทางอาวุธจากประเทศที่ ๓ ทั้งยังมีทหารเวียดนามและคิวบามาร่วมด้วย ไทยจึงใช้เครื่องบินทั้ง เอฟ ๕ อี และไอวี ๑๐ เข้าทิ้งระเบิด แต่ภาคพื้นดินยังไม่สามารถรุกเข้าไปได้ เพราะเป็นทางสูงชันและวิบาก ทั้งมีการวางกับระเบิดไว้จำนวนมาก

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ผบ.ทหารสูงสุดและ ผบ.ทหารบก ได้อนุมัติให้กองทัพทำการรุกออกนอกประเทศได้ และประกาศว่า

“เป็นที่ประจักษ์โดยแน่ชัดแล้วนะครับว่า ประเทศลาวก็ตาม ประเทศที่สนับสนุนก็ตาม ได้เลือกใช้วิธีปฏิบัติทุกหนทาง หนทางที่กำลังใช้อยู่ในขณะนี้ก็ได้มีการแทรกซึมเข้ามาเป็นจำนวนมาก เข้ามาในพื้นที่ของเราแล้วสร้างปัญหาต่างๆให้แก่พี่น้องประชาชนคนไทยโดยทั่วไป…เราจะปล่อยให้สถานการณ์นี้เนิ่นนานไปไม่ได้ แต่เราจะต้องใช้วิธีแบบฝ่ายตรงข้าม ก็คือไม่คำนึงถึงขอบเขตและวิธีการทั้งสิ้น ซึ่งกองทัพบกจะเริ่มดำเนินการในลักษณะเต็มที่ในระยะเวลาที่จะถึงนี้”

จากนั้นได้เกิดการปะทะกันหนักทำให้ทั้งสองฝ่ายต่างสูญเสียอย่างมาก ฝ่ายไทยส่งทหารราบ ทหารปืนใหญ่ ทหารพราน และกองทัพภาคที่ ๓ เสริมกองพันทหารม้าอีก ๑ กองพันรุกพื้นที่มาได้มาก โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศ แต่ฝ่ายลาวใช้ปืนต่อต้านอากาศยานและจรวดแซม ยิงเครื่องบิน เอฟ-๕ อี และโอวี ๑๐ ของไทยร่วงอย่างละ ๑ ลำ

สถานการณ์ดำเนินไปอย่างไม่มีทีท่าว่าฝ่ายใดจะได้รับชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จ จนกระทั่ง พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายวงศ์ พลนิกร อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางไปประเทศลาวอย่างเงียบๆ เข้าพบนายไกรสอน พรหมวิหาร นายกรัฐมนตรีลาว เพื่อปูทางเจรจาหยุดยิง

ต่อมา วันที่ ๑๖-๑๗ กุมภาพันธ์ ตัวแทนของทั้งสองฝ่ายได้แก่ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ และพลเอกสีสะหวาด แก้วบุนพัน ประธานคณะเสนาธิการทหารสูงสุด กองทัพประชาชนลาว เปิดเจรจากันที่กองบัญชาการกองทัพอากาศ และได้ข้อตกลงให้หยุดยิงในเวลา ๐๘.๐๐น. ของวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑

มีข่าวลือในช่วงท้ายของสงครามว่า การโจมตีทางอากาศของไทยเกิดผิดพลาด ก่อความสูญเสียอย่างหนักแก่ทหารไทยด้วยกันเอง โดยทิ้งระเบิดใส่หน่วยที่กำลังจะบุกขึ้นยึดเนินแห่งหนึ่ง ถึงขนาด “ละลายเกือบทั้งกองพัน” ซึ่งต่อมาผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เปิดเผยว่า ความจริงระเบิดไม่ได้ทิ้งพลาด ใช้เลเซอร์นำวิถีลงตรงเป้าหมาย แต่การสื่อสารเกิดผิดพลาด ฝ่ายที่บุกขึ้นไปถอยลงมาไม่ทันเพราะทางแคบและวิบาก ทั้งยังมีระเบิดที่กลิ้งลงมาจากเนินอีก จึงทำให้การสูยเสียเกิดขึ้นมาก

หากว่าความขัดแย้งที่นักล่าอาณานิคมวางไว้นี้ ถ้าทั้งสองฝ่ายหันหน้าคุยกันอย่างพี่น้อง หมู่บ้านชายแดนเล็กๆที่ไม่มีความสำคัญมากนักแห่งนี้ ก็จะไม่เป็นเหตุให้ต้องล้มตายเสียหายกันยับเยินแบบนี้





บ้านร่มเกล้าในปัจจุบัน


กำลังโหลดความคิดเห็น