xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตำนานกบฎเมืองไทย! หัวหน้าคณะ ๒ ผู้ร่วมอีก ๑๘ คน ต้องเข้าหลักประหาร!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค


ขณะจอมพล ป.ถูกคุมตัวลงจากเรือขุดแมนฮัตตัน
ประเทศไทย ตั้งแต่ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา อยู่กันด้วยความสงบสุขโดยตลอด แต่พอเริ่มได้กลิ่นไอประชาธิปไตยในสมัยรัชกาลที่ ๕ พอสมัยรัชกาลที่ ๖ ก็เกิดกบฎครั้งแรกขึ้น คือ

“กบฎ ร.ศ.๑๓๐”
ใน พ.ศ. ๒๔๕๔ หรือ รัตนโกสินทร์ศก ๑๓๐ นายทหารหนุ่มกลุ่มหนึ่งซึ่งหัวหน้าคณะอายุเพียง ๒๘ ปี สมาชิกบางคนอายุยังไม่ครบ ๒๐ ได้คบคิดกันที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยวิธีรุนแรงถึงขึ้นจะปลงพระชนม์รัชกาลที่ ๖ โดยมี ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) แพทย์ประจำพระองค์สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถและหม่อมคัธรีน ซึ่งมีอาวุโสที่สุดในกลุ่มจึงถูกยกให้เป็นหัวหน้า แต่สมาชิกที่จับสลากได้ว่าจะต้องเป็นผู้ลงมือปลงพระชนม์กลับเกรงกลัวความผิด ความเลยแตก ทหารหนุ่มหัวรุนแรงทั้งหมดถูกจับ ๙๑ คน ถูกศาลทหารตัดสินลงโทษตั้งแต่ประหารชีวิตจนถึงจำคุก ๑๒ ปี

แต่เมื่อคณะตุลาการศาลทหารได้นำคำพิพากษาขึ้นทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้ลดโทษผู้ประทุษร้ายต่อพระองค์ลงมาขั้นหนึ่ง ทำให้ไม่มีผู้ใดถูกประหารชีวิต และหลังจากได้รับโทษมา ๑๒ ปี ก็พระราชทานอภัยโทษทั้งหมด ต่อมาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.๒๔๗๕ กบฎกลุ่มนี้ก็ได้รับพระราชทานนิรโทษกรรมรับยศคืน

“กบฎบวรเดช”
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ ได้เพียงปีเศษ ในวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๗๖ ได้เกิดกบฏครั้งรุนแรงที่สุดขึ้น ทำให้เลือดไทยนองแผ่นดินไทย ขนอาวุธหนักเข้าถล่มกันจนถึงประจัญบานด้วยดาบปลายปืน ปล่อยหัวจักรรถไฟเข้าชนกันจนตกรางไปด้วยกันทั้งคู่ ทรัพย์สินของชาติย่อยยับ ทหารของชาติต้องสังเวยชีวิตให้กับศึกชิงอำนาจ

หัวหน้ากบฏในครั้งนี้ก็คือ นายพลเอกพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดชกฤดากร อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยนายทหารซึ่งส่วนใหญ่ถูกปลดออกเมื่อครั้งมีการยึดอำนาจในวันที่ ๒๔ มิถุนายน แต่ยังมีอิทธิพลอยู่ในกองทัพ ได้ติดต่อทหารที่ยังจงรักภักดีต่อพระองค์เจ้าบวรเดชฯ และเกลี้ยกล่อมทหารในอีกหลายจังหวัดให้เข้าร่วมยกทัพเข้ามากรุงเทพฯ ฝ่ายรัฐบาลได้ตั้งรับที่บางเขนและตอบโต้ฝ่ายกบฎจนถอยร่นไปแตกหักที่ปากช่อง พ.อ.พระยาสิทธสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) แม่ทัพกบฎเสียชีวิตในที่รบ พระองค์เจ้าบวรเดชฯเสด็จโดยเครื่องบินเล็กจากโคราชไปลี้ภัยในอินโดจีนของฝรั่งเศสถึง ๑๑ ปีเศษ จึงได้รับพระราชทานอภัยโทษ กลับมาสิ้นพระชนม์ในเมืองไทย

“กบฎนายสิบ”
การปฏิวัติรัฐประหารในประเทศไทยนั้น ผู้ที่เป็นแกนนำในการเข้ายึดอำนาจจะต้องเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ แม้บางคนจะเป็นนายทหารนอกประจำการก็ยังต้องมีอิทธิพลอยู่ในกองทัพ สามารถสั่งนายทหารที่คุมกำลังได้ หัวหน้าคณะปฏิวัติรัฐประหารที่ผ่านมาจึงมักมียศเป็นนายพลกันทั้งนั้น ที่ต่ำสุดก็ต้องระดับพันเอก แต่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ นายทหารชั้นประทวนได้คบคิดกันทำรัฐประหาร

เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงน้อยพระทัยคณะราษฎรจนสละราชสมบัติ ไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎร์ที่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ ได้โกรธแค้นคณะราษฎรที่ยึดอำนาจและสร้างความบีบคั้นสะเทือนพระราชหฤทัย นายทหารประทวนกลุ่มหนึ่งจึงได้คบคิดกันจะยึดอำนาจด้วยวิธีการรุนแรง สังหารบุคคลสำคัญฝ่ายรัฐบาล เช่น นายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นบุคคลที่คุมกำลังทหารและเป็นแม่ทัพที่ปราบกบฏบวรเดชจนย่อยยับ นอกจากนั้นก็มี พ.ต.อ.หลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้เกรงกลัวคณะราษฎร พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกหาว่าเป็นเจ้าที่ไปเข้ากับคณะราษฎร สำหรับ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฏร ผู้ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ที่ทุกฝ่ายให้ความเคารพนั้น กลุ่มนายทหารประทวนไม่คิดจะสังหาร แต่จะจับไว้เป็นตัวประกัน จากนั้นจะถวายราชบัลลังก์คืนแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ราชันย์ผู้นิราศ

ความคิดที่จะใช้วิธีการรุนแรงด้วยการสังหารบุคคลสำคัญ ผู้ร่วมคบคิดบางคนไม่เห็นด้วย ทำให้ผู้บังคับบัญชาของแต่ละกรมกองรู้ข่าว จึงเข้าจู่โจมจับทหารในสังกัดของตนที่คิดกบฏ มีผู้ถูกจับเป็นนายทหารประทวน ๒๐ นายและพลเรือน ๑ คน ซึ่งศาลได้ตัดสินให้ประหารชีวิต สิบเอกสวัสดิ์ มะหะหมัด หัวหน้าคณะ นอกนั้นจำคุกตลอดชีวิต

“กบฎเสนาธิการ”
หลังจากที่คณะรัฐประหาร พ.ศ.๒๔๙๐ เข้าครองอำนาจ นายทหารใหญ่ต่างก็เข้าครองตำแหน่งทางการเมืองและเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางธุรกิจกันเป็นล่ำเป็นสัน แทบทุกกิจการจะต้องมีทหารเข้าเกี่ยวข้องด้วย แม้แต่ยามหน้ากระทรวงต่างๆก็ต้องใช้ทหาร การใช้ทหารอย่างพร่ำเพรื่อทำให้บางคนในคณะรัฐประหารเองก็ไม่พอใจ พล.ท.หลวงกาจสงคราม หนึ่งในบุคคลสำคัญของคณะรัฐประหาร ถึงกับไปไล่ทหารยามหน้ากระทรวงการคลังกลับกรมกอง ไม่ยอมให้มาเป็นทหารยามหน้ากระทรวง ทำให้ พล.ท.สุข ชาตินักรบ รมต.กลาโหม ถึงกับเต้นผางที่ถูกฉีกหน้า บอกว่างั้นไปจ้างแขกยามมาเฝ้าหน้ากระทรวงกลาโหมเสียซี

ระยะนั้นมีข่าวคราวด้านลบของทหารออกมาหลายเรื่อง ทำให้ทหารอาชีพกลุ่มหนึ่งเกิดความรู้สึกว่า เกียรติภูมิของทหารตกต่ำเพราะเข้าไปยุ่งกับอำนาจทางการเมือง จึงคิดที่จะทำรัฐประหารเพื่อขับไล่ทหารออกจากการเมือง ปรับปรุงความเสื่อมโทรมของกองทัพ

นายทหารกลุ่มนี้ล้วนแต่ระดับเสนาธิการของกองทัพ อย่างเช่น พล.ต.เนตร เขมะโยธิน นายทหารที่เคยได้รับความไว้วางใจอย่างสูงจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม มอบหมายภารกิจสำคัญของชาติ คือราชการลับติดต่อกับกองทัพจีนของจอมพลเจียงไคเช็คในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่ง พล.ต.เนตร เมื่อครั้งยังมียศเป็นพันเอกก็ทำงานสำเร็จลุล่วงด้วยดี ทำให้กองทัพพายัพประสานกับกองทัพจีนในยูนานได้ในฐานะพันธมิตร วางแผนยุทธการร่วมกันที่จะต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่น โดยจะใช้เพชรบูรณ์เป็นฐานทัพ แต่ทว่าแผนการนี้ได้เลิกล้มไปเสียก่อนเมื่อจอมพลป.หมดอำนาจ

แผนการก่อรัฐประหารของนายทหารกลุ่มนี้จะส่งทหารเข้ายึดสวนพุดตานในเวลา ๒๐.๐๐ น. ของวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๙๑ ซึ่งจะมีพิธีมงคลสมรสระหว่าง พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายทหารกำลังหลักของคณะรัฐประหาร กับนางสาววิจิตรา ชลทรัพย์ ซึ่งจะมีบุคคลในคณะรัฐประหารและคณะรัฐบาลมาร่วมงานกันพร้อมหน้า โดย พ.ท.โพยม จุลานนท์ได้รับมอบหมายให้นำกำลังเข้าควบคุมตัวเจ้าบ่าวผู้มีตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่ ๑ แต่ทว่าขณะนายทหารฝ่ายยึดอำนาจซุ่มรอเวลาที่จะปฏิบัติการอยู่ในศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม ความได้แตกเสียก่อน

พล.ต.ต.เผ่า ศรียานนท์ได้นำกำลังบุกเข้าจับกุม โดยมีเจ้าบ่าวนำทหารมาโอบล้อมภายนอก มีการยิงตอบโต้กันอยู่ระยะหนึ่ง ฝ่ายกบฏจึงยอมวางอาวุธ ส่วนบุคคลสำคัญของฝ่ายกบฏอีกหลายคนได้หลบหนีออกไปได้ แต่ต่อมาก็ถูกจับได้ที้งหมด

เป็นที่ยอมรับกันว่า คณะกบฏชุดนี้ไม่ใช่กลุ่มที่มีความทะเยอทะยานทางการเมือง หากทำลงไปเพราะไม่อาจทนดูความเสื่อมของกองทัพจากทหารเข้าไปเล่นการเมืองและใช้อิทธิพลทำธุรกิจได้

“กบฎวังหลวง”
ในช่วงที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม กลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากที่พรรคพวกทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งอยู่ในฝ่ายขั้วอำนาจนายปรีดี พนมยงค์ ทำให้ปรีดีต้องลี้ภัยออกไปอยู่ฮ่องกงและจีน โดยมีข้อหาพัวพันคดีสวรรคตรัชกาลที่ ๘ ปักหลังไปด้วย เมื่อฝ่ายปรีดีหมดอำนาจ นักการเมืองที่สนับสนุนปรีดีซึ่งเคยครองเสียงข้างมากในสภามาตลอดก็ถูกทำลายด้วยวิธีต่างๆ ทั้งยังถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ นักการเมืองกลุ่มนี้ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นพลเรือน จึงลงมือทำรัฐประหารเพื่อกู้เกียรติภูมิของฝ่ายตนขึ้นในเช้าตรู่ของวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒

เหตุที่พลเรือนกล้าคิดที่จะทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลทหาร ก็เพราะคนส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้เป็นอดีตเสรีไทยและยังมีอาวุธสมัยเสรีไทยสะสมอยู่ ทั้งยังได้รับความสนับสนุนจากทหารเรือซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับฝ่ายปรีดีมาตลอด จนทำให้เกียรติภูมิของกองทัพเรือตกต่ำลงเมื่อจอมพล ป.กลับมา ถูกลดอำนาจและกีดกันออกจากการเมือง ทำให้ทหารเรือคิดจะกู้ศักดิ์ศรีเช่นกัน

ฝ่ายก่อการได้กำหนดใช้พื้นที่ของกระทรวงการคลังในพระบรมมหาราชวังเป็นกองบัญชาการ ด้วยเหตุผลว่ามีชัยภูมิที่มั่นคงยากแก่การถูกปราบปราม ทั้งเมื่อเกิดเพลี่ยงพล้ำก็ยังถอยออกไปทางแม่น้ำได้ง่าย แต่การดำเนินการครั้งนี้ได้เกิดความผิดพลาดที่สำคัญขึ้นกับกำลังหลักของฝ่ายก่อการ คือนาวิกโยธินจากสัตหีบซึ่งกำหนดจะมาถึงกรุงเทพฯ ราว ๑๗.๐๐ น. ของวันที่ ๒๘ แต่ตอนนั้นสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกงที่ท่าข้ามซึ่งถูกระเบิดในระหว่างสงครามโลกยังไม่ได้สร้างใหม่ ต้องอาศัยแพขนานยนต์ขนรถได้เที่ยวละ ๔ คัน ขบวนทหารนาวิกโยธินเคลื่อนมาถึงท่าข้ามขณะน้ำลงพอดี แพเทียบท่าไม่ได้ ต้องรอน้ำขึ้นอีก ๖-๗ ชั่วโมง ทำให้กำหนดนัดผิดพลาด มาถึงเอาเมื่อราว ๙ โมงเช้าเมื่อฝ่ายรัฐบาลยึดกองบัญชาการที่วังหลวงไปได้แล้ว ทำให้ฝ่ายเสรีไทยอ่านว่าทหารเรือส่วนนี้ไม่เต็มใจที่จะเข้าร่วม มีแต่ทหารเรือที่กองสัญญาณ ข้างสวนลุมพินี

หลังจากการปราบปรามกบฏวังหลวงได้ราบคาบ พลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็เป็นดาวรุ่งพุ่งขึ้นมาเป็นขุนศึกคู่บัลลังก์จอมพล ป.พิบูลสงคราม ส่วน พลตำรวจตรีเผ่า ศรียานนท์ ซึ่งเป็นนายทหารติดตามมาตั้งแต่เป็นร้อยเอก ก็สร้างความดีความชอบด้วยการกำจัดขั้วอำนาจฝ่ายตรงข้ามไม่ให้เหลือ หลังจากนั้นฝ่ายเสรีไทยก็ถูกกำจัด อย่าง ๔ อดีตรัฐมนตรีถูกย้ายที่คุมขังกลางดึก แล้วถูกยิงตายเรียบที่ใกล้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน หรือนายเตียง ศิริขันธ์ เสรีไทยอดีตรัฐมนตรีคนสำคัญ เจ้าของฉายา “ขุนพลภูพาน” ก็ถูกตำรวจจับที่บ้านแล้วหายไป จนพบศพถูกเผาอยู่ในป่าเมืองกาญจน์

ยังมีอีกหลายคนที่ถูกฆ่าตายอย่างทารุณ คนที่เคยเป็นเสรีไทยต่างก็ต้องเก็บตัวเงียบ ยุคทมิฬได้ครอบคลุมประเทศไทย ขั้วฝ่าย ดร.ปรีดี พนมยงค์ ถูกทำลายล้างจนหมดสิ้น เหลือขั้วการเมืองเพียงขั้วเดียวคือฝ่ายของจอมพล ป.พิบูลสงคราม แต่ต่อมาก็แตกออกเป็น ๒ ขั้วตามวัฏจักรของการช่วงชิงอำนาจ และแย่งอำนาจกันเอง
นี่แหละประชาธิปไตยของเมืองไทยก่อนที่จะมาถึงวันนี้

“กบฏแมนฮัตตัน”
การกบฏครั้งนี้ที่มีชื่อเป็นภาษาต่างประเทศ ก็เพราะฝ่ายกบฏถือโอกาสในพิธีรับมอบเรือขุดสันดอนปากน้ำเจ้าพระยามีชื่อว่า “แมนฮัตตัน” ที่ท่าราชวรดิฐ เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๔๙๔ ซึ่งองค์กรช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาให้ไทย โดยมี จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับมอบ

บรรยากาศบ้านเมืองในขณะนั้น มีทหารเรือกลุ่มหนึ่งไม่พอใจที่เกียรติภูมิของทหารเรือถูกคุกคามหลังการเกิด “กบฏวังหลวง” โดยรัฐบาลและทหารบกของคณะรัฐประหารเข้าแทรกแซงกิจการภายในของกองทัพเรือ จนมีการประชุมออกแถลงการณ์คัดค้านกันมาแล้ว และมีการเตรียมพร้อมคุมเชิงกันตลอดมา

ในตอนเสร็จสิ้นพิธีมอบเรือขุดแมนฮัตตัน จอมพล ป.ได้ขึ้นไปชมเรือโดยมีกัปตันชาวอเมริกันเป็นผู้อธิบาย น.ต.มนัส จารุภา ผู้บังคับการเรือหลวงรัตนโกสินทร์ ได้นำทหารเรือจำนวนหนึ่งซึ่งทุกคนมีปืนกลมือแมดเสนเป็นอาวุธ ซึ่งยืนรักษาการณ์คอยจังหวะอยู่โคนต้นมะขามริมเขื่อน ได้วิ่งขึ้นไปบนเรือท่ามกลางการตกตะลึงของแขกในงานทั้งไทยและเทศ คุมตัวจอมพล ป.และผู้ติดตามทั้ง ๖ คน ลงเรือเปิดหัวยกพลขึ้นบกไปขึ้น ร.ล.ศรีอยุธยา ซึ่งจอดทอดสมออยู่ที่หน้าวัดราชาธิวาส สามเสน จากนั้นก็นำเรือล่องมาตามลำน้ำ โดยมีที่หมายกรมสรรพาวุธทหารเรือบางนา ซึ่งเป็นที่นัดชุมนุมพล และจะใช้ ร.ล.ศรีอยุธยาเป็นกองบัญชาการ แต่ทว่าหน่วยนาวิกโยธินเกิดผิดพลาดไม่สามารถยึดสพานพุทธเปิดให้ ร.ล.ศรีอยุธยาผ่านออกไปได้ ประกอบกับระบบการบังคับเรือเกิดขัดข้อง จึงต้องทิ้งสมอที่หน้าพระราชวังเดิม กลายเป็นเป้านิ่งให้ถูกยิงถล่มจากฝั่งตรงข้าม ทั้งเครื่องบิน เอที. ๖ ลำหนึ่งบินมาสังเกตการณ์เห็นว่า ร.ล.ศรีอยุธยาเป็นเป้านิ่งแล้ว จึงปลดระเบิดใส่จนเกิดเพลิงลุกไหม้ ทหารเรือกลุ่มหนึ่งได้พาจอมพล ป.หลบลงน้ำใส่ชูชีพว่ายขึ้นฝั่ง

การปราบปรามกบฏอย่างรุนแรงถึงขั้นทิ้งระเบิดใส่นี้ นอกจากจะทำให้ ร.ล.ศรียอุธย ต้องจมลงแบบไม่สามารถกู้กลับขึ้นมาได้แล้ว ยังทำให้เสียชีวิตทหาร ๑๗ คน ตำรวจ ๘ คน พลเรือน ๑๐๓ คน และบาดเจ็บกว่า ๕๐๐ คน

ลูกหลงทำให้ประชาชนที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวตายมากกว่าคนที่รบกันทุกครั้ง

ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ ทำให้ทหารเรือถูกจับ ๑,๐๐๐ กว่าคน กองทัพเรือถูกลดทอนอำนาจมากมายทั้งด้านกำลังพลและอาวุธ หลายหน่วยงานถูกยึดไปขึ้นกับกองทัพบกและกองทัพอากาศ เช่นกองบินนาวี แม้สถานที่อย่างกองสัญญาณทหารเรือที่ข้างสวนลุมพินี ก็ถูกยึดไปเป็นของทหารบกและเป็น ร.ร.เตรียมทหารในเวลาต่อมา เขตอิทธิพลของทหารเรือในจังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ชลบุรี จันทบุรี ระยอง ตราด ถูกกองทัพบกเข้าแทนที่ ไล่ทหารเรือให้ปฏิบัติการทางทะเลเท่านั้น
“กบฏ ๒๖ มีนา”
ในการปฏิวัติรัฐประหารของประเทศไทยที่ผ่านๆมา จะมีประเพณีที่ยึดถือกันอย่างเคร่งครัดในหมู่ผู้ที่ถืออาวุธว่า จะไม่เล่นกันแรงถึงฆ่าแกงกัน ถ้าใครเพลี่ยงพล้ำ ฝ่ายชนะก็จะปล่อยให้หนีหรือจับเนรเทศไปให้พ้นหูพ้นตา ไม่ให้อยู่เป็นขวากหนามต่อไป และถ้าใครพลาดท่าถูกจับในข้อหากบฏ ก็จะคุมขังเอาไว้สักระยะเพื่อหาจังหวะเหมาะที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ เพราะถ้าเล่นแรงเอากันถึงตาย พรรคพวกก็จะผูกพยาบาทกันไม่เลิก ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ตัวเองจะเสียท่าคนอื่นเข้าบ้าง ประเพณีนี้จึงยึดถือกันตลอดมา

แต่การก่อรัฐประหารที่ผิดประเพณี ได้เกิดขึ้นในเช้าตรู่ของวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๒๐ โดยมีทหารจากกองพล ๙ จังหวัดกาญจนบุรีประมาณ ๓๐๐ คน ยกขบวนกันมาด้วยรถ ยี.เอ็ม.ซี ๒๐ คัน มีทั้งอาวุธหนักอาวุธเบาและปืนต่อสู้รถถัง หัวหน้าคณะรัฐประหารชุดนี้เป็นที่เปิดเผยต่อมาคือ พลเอกฉลาด หิรัญศิริ เสนาธิการคนสำคัญของกองทัพซึ่งถูกปลดจากประจำการ และไปบวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศ เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๑๙ แต่ได้สึกออกมาในเวลา ๖ น.ของวันนั้น

พล.ต.อรุณ ทวาทศิน ผู้บัญชาการกองพล ๑ ซึ่งจะเป็นมูลเหตุสำคัญให้มีการเข่นฆ่ากันครั้งนี้ ได้ทราบข่าวว่าทหารจากกองพล ๙ เมืองกาญจน์ฯ เคลื่อนกำลังออกมาโดยลูกน้องทางกองพล ๙ โทรศัพท์มาบอกที่บ้าน จึงได้เดินทางไปที่กองพล ๑ เห็นว่าผู้ใต้บังคับบัญชาของตัวยังอยู่ในกรมกองอย่างปกติ ไม่ได้ร่วมกับฝ่ายกบฏด้วย มีแต่ถูกฝ่ายกบฏล้อมไว้โดยรอบเท่านั้น และเมื่อได้รับโทรศัพท์เรียกให้ไปรายงานตัวที่สวนรื่นฯ พลตรีอรุณจึงเดินทางไปโดยไม่มีอาวุธติดตัวไปด้วย และยังแวะทักทายกับทหารกองพล ๙ ที่ล้อมอยู่ว่า

“ใจเย็นๆ นะไอ้น้องชาย พวกเราพวกเดียวกันทั้งนั้น....”

เมื่อเข้าไปในสวนรื่นฯ พลตรีอรุณก็ได้พบกับพลเอกฉลาด แต่พลตรีอรุณปฏิเสธที่จะร่วมมือด้วย จึงเกิดการโต้เถียงกัน ขณะที่กลุ่มผู้ก่อการใช้ปืนเอ็ม ๑๖ จี้พลตรีอรุณควบคุมตัวไปนั้น พลตรีอรุณพูดขึ้นว่า

“เอากันถึงขนาดนี้เชียวหรือ?”

ทันใดพลเอกฉลาดก็ชักปืนพกยิงใส่ร่างของพลตรีอรุณถึง ๙ นัด

ทหารฝ่ายรัฐบาลได้เคลื่อนกำลังเข้าล้อมฝ่ายกบฏ ทำให้เกิดสถานการณ์ตึงเครียดเมื่อทหารฝ่ายกบฏไม่ยอมจำนน เพราะยังงงที่ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุของเรื่อง ทำให้ทหารทั้ง ๒ ฝ่ายตั้งปืนจังก้าเข้าหากัน

ราว ๑๑ น. เศษ รัฐบาลก็ส่งเครื่องบิน แอล. ๑๙ ติดเครื่องขยายเสียง บินเหนือสวนรื่นฯ และจุดที่ถูกยึด เกลี้ยกล่อมให้ทหารฝ่ายกบฏวางอาวุธ ขณะเดียวกันทหารที่ล้อมอยู่ก็เขียนจดหมายขว้างไปให้ทหารฝ่ายที่ถูกล้อม ส่งน้ำใจในฐานะเพื่อนทหารที่ร่วมชะตากรรมเช่นเดียวกันแต่คนละฝ่าย ประชาชนที่มุงดูก็ช่วยเกลี้ยกล่อม ทำให้ทหารจากกาญจนบุรีได้ทราบเรื่องราวจึงทยอยกันวางอาวุธ ทหารบางคนเมื่อวางอาวุธเข้ามอบตัวกับทหารฝ่ายรัฐบาลก็โผเข้ากอดกัน เพราะเป็นพี่น้องกัน แต่เกือบจะต้องมาฆ่ากันเพราะถูกชักพาให้มาอยู่คนละฝ่าย

ประมาณ ๑๙ น.วันนั้น พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดและเลขาธิการสภาที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเข้าไปสวนรื่นฯ ดึงมือพลเอกฉลาดไปคุยกันสองต่อสองฐานะเพื่อน ในที่สุดพลเอกฉลาดยอมจำนนแต่ขอเดินทางออกนอกประเทศพร้อมกับแกนนำอีก ๔ คน พลเอกเกรียงศักดิ์จึงพาออกจากสวนรื่นฯตรงไปสนามบินดอนเมือง ขึ้นเครื่องบินของบริษัทไชน่าแอร์ไลน์มุ่งสู่กรุงไทเป แต่เมื่อพลเอกฉลาด พร้อมด้วย พ.ท.สนั่น ขจรประศาสน์ พ.ต.วิศิษฐ์ คงประดิษฐ์ และพ.ต.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ แต่พอเครื่องบินเที่ยวนี้จะออก ได้มีรถยนต์ลึกลับคันหนึ่งแล่นขวางรันเวย์ เปิดไฟสว่างจ้าไม่ให้กัปตันนำเครื่องขึ้น ในที่สุดพลเอกฉลาดกับคณะได้ถูกนำลงจากเครื่องบินไปควบคุมตัว

ต่อมาในวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๒๐ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีได้ใช้ ม.๒๑ ของธรรมนูญการปกครองฯ ซึ่งให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเช่นเดียวกับ ม.๑๗ สมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ สั่งประหารชีวิต พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ และจำคุกตลอดชีวิตแกนนำอีก ๔ คน

เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ร่วมทำรัฐประหารและพ่ายแพ้ตกเป็นกบฏในครั้งนี้ รวมทั้งฝ่ายพลเรือนอีกหลายคน เมื่อพ้นโทษแล้วได้หันกลับมาต่อสู้ตามระบอบประชาธิปไตยด้วยการเลือกตั้ง ก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงทางการเมือง
“กบฏเมษาฮาวาย”
๐๒.๐๐ น.ของวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๒๔ ขณะที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผู้มีอิทธิพลในกองทัพเป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีปฏิวัติรัฐประหารเกิดขึ้นอีกครั้ง ผู้ลงมือโค่น “ป๋า” ก็ล้วนแต่เป็นลูกน้องคนสนิทของ “ป๋า”เองทั้งนั้น โดยมีพลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา รองผู้บัญชาการทหารบก ถูกยกให้เป็นหัวหน้าคณะ แต่กลุ่มผู้ลงมือปฏิบัติการก็คือ “ขบวนการยังเติร์ก” กลุ่มนายทหารหนุ่มที่มีบทบาทสำคัญในกองทัพ อาทิเช่น พ.อ.มนูญ รูปขจร พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร ทั้งยังมี พล.ท.วศิน อิศรางกูร ณ อยุธยา แม่ทัพภาคที่ ๑ ซึ่งถือว่าเป็นกองกำลังสำคัญที่คุมกรุงเทพฯ เป็นฐานอำนาจทางการเมืองของรัฐบาลทหารมาทุกยุค เข้าร่วมก่อการด้วย

ทหารของฝ่ายปฏิวัติได้เคลื่อนกำลังออกคุมจุดสำคัญทั่วกรุงเทพฯตั้งแต่ ๒ นาฬิกาเป็นต้นมา ตั้งกองบัญชาการที่หอประชุมกองทัพบก ในเวลา ๑๐.๐๐ น.ของวันที่ ๑ เมษายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาซึ่งมีหมายกำหนดการวันประสูติ ๒ เมษายน และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ได้เสด็จออกจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐานโดยรถพระที่นั่ง มุ่งสู่จังหวัดนครราชสีมา มีรายงานข่าวว่า ในขบวนเสด็จนี้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ได้ร่วมโดยเสด็จไปด้วย

เวลา ๑๓.๓๐ น. ขบวนเสด็จถึงค่ายสุรนารี กองทัพภาคที่ ๒ พลเอกเปรมได้ทูลเชิญประทับที่สโมสรรื่นเริงชัย นำแม่ทัพภาคที่ ๒ และแม่ทัพภาคที่ ๓ เข้าเฝ้า ๑๕.๐๐ น.พลตรีอาทิตย์ กำลังเอก รองแม่ทัพภาคที่ ๒ ได้ให้นายเลิศ หงส์ภักดี ผู้ว่าราชการจังหวัด เรียกผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ทุกฉบับในจังหวัดและเจ้าหน้าที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยมาพบที่บ้านพัก เพื่อให้พลเอกเปรมแถลงข่าว นักข่าวพากันตื่นเต้นไปตามกันเมื่อเหลือบไปเห็นสมเด็จพระเทพฯ ประทับปฏิสันถารกับคณะผู้ตามเสด็จอยู่อีกห้อง

นอกจากยึดสถานีวิทยุเป็นกระบอกเสียงแล้ว ทั้งฝ่ายปฏิวัติและฝ่ายรัฐบาลต่างประกาศเรียกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นักธุรกิจ นายธนาคาร และผู้นำแรงงานเข้ารายงานตัวที่กองบัญชาการ เพื่อแสดงพลังของฝ่ายตนว่ามีคนสนับสนุนมากกว่า ทำเอาหลายคนยืนเซ่อไม่รู้จะไปทางไหน แต่เมื่อรู้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์ประทับอยู่ที่โคราชแล้ว ทุกคนจึงมุ่งไปที่โคราชโดยไม่ลังเล บางคนอย่าง พล.ต.อ.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น อธิบดีกรมตำรวจ ไปนั่งแถลงร่วมกับคณะปฏิวัติเสร็จ ก็หาทางลี้ไปรายงานตัวที่โคราช

การทำรัฐประหารครั้งนี้ยังมีรูปแบบที่แปลกกว่ารัฐประหารทุกๆครั้ง คือนอกจากจะถือปืนเข้ายึดอำนาจแล้ว ยังนัดชุมนุมประชาชนที่ท้องสนามหลวงในเวลา ๑๕.๓๐ น.ของวันที่ ๒ เมษายน ซึ่งก็มีคนไปร่วมจำนวนหมื่น พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร ขึ้นปราศรัยเป็นคนแรก

จุดจบของการรัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นในวันต่อมา เมื่อทหารฝ่ายรัฐบาลยึดกระทรวงการต่างประเทศและย่านนั้นไว้แล้ว ฝ่ายรัฐประหารก็ยังไม่ทราบ ฉะนั้นเมื่อ พล.ต.ทองเติม พบสุข พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร และ พ.อ.สาคร กิจวิริยะ นั่งรถจิ๊ปออกตรวจแนวทหารฝ่ายปฏิวัติ มาถึงไฟแดงสี่แยกตรงมุมพระราชวังสวนจิตรฯ กับสนามม้าด้านทางรถไฟ จึงเข้าตรวจแนวทหารที่รักษาการณ์อยู่แถวนั้นด้วยโดยคิดว่าเป็นทหารฝ่ายตน เลยถูกทหารฝ่ายรัฐบาลควบคุมตัวได้อย่างคาดไม่ถึง

คงจะเป็นข่าวนี้เองที่ทำให้ พ.อ.มนูญ รูปขจรนำทหารใต้บังคับบัญชากลับเข้ากรมกอง และ พล.ท.วศิน อิศรางกูร ณ อยุธยา แม่ทัพภาคที่ ๑ รองหัวหน้าคณะปฏิวัติได้โทรศัพท์ติดต่อ พล.อ.เปรมขอมอบตัว และเดินทางไปถึงโคราชด้วยเฮลิคอปเตอร์เมื่อเวลา ๑๓.๕๓ น.ในสภาพอิดโรยหม่นหมอง พร้อมด้วยภรรยาคู่ชีวิต

ส่วน พล.อ.สัณห์ หัวหน้าคณะปฏิวัติหลบขึ้นเฮลิคอปเตอร์ให้ไปส่งกลางป่า เพื่อเดินเท้าเข้าพม่าทางด้านกาญจนบุรี
เนื่องจากการปฏิวัติครั้งนี้จบลงอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง และเกิดขึ้นในเดือนเมษายนซึ่งเป็นเดือนจัดงานรื่นเริงสโมสรที่เวทีลีลาศสวนลุมพินีในชื่อ “เมษาฮาวาย” เป็นประจำ หนังสือพิมพ์ทั้งหลายจึงให้ฉายากบฏครั้งนี้ด้วยอารมณ์ขันว่า “เมษาฮาวาย”ไปด้วย

“กบฏ ๙ กันยา”
การทำรัฐประหารส่วนใหญ่จะใช้รถถังเป็นกำลังหลัก แค่เคลื่อนรถถังออกมาจอดตามสี่แยกไม่กี่คัน ก็ยึดอำนาจรัฐบาลที่ไม่มีทหารสนับสนุนได้แล้ว แต่การทำรัฐประหาร ๙ กันยาดูจะแปลกกว่าทุกครั้ง นอกจากจะมีรถถังแล้วยังมีรถไฟ รถเมล์ มาร่วมขบวนแล้ว ทั้งยังมีเจ้ามือแชร์ที่กำลังโด่งดังหอบเงินสดเป็นฟ่อนๆมาเป็นค่าน้ำมัน การทำรัฐประหารครั้งนี้แม้จะสามัคคีกันหลายฝ่าย แต่เพียงแค่ ๑๐ ชั่วโมงก็ต้องแพ้ราบคาบ ผู้ก่อการทั้งหลายกลายเป็นกบฏไป และถูกขนานนามหลายชื่อ เช่น “กบฏ ๙ กันยา” บ้าง บางทีก็เรียกว่า “กบฏเจ้ามือแชร์”

เหตุการณ์ได้เริ่มขึ้นตอนกลางดึกของคืนวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๒๘ ขณะที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี เพิ่งเดินทางไปเยือนอินโดเนเซีย และพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุด เพิ่งขึ้นเครื่องบินไปฝรั่งเศสตอน ๒๓.๓๐ น.ของคืนนั้น

ในเวลา ๐๓.๓๐ น.ของวันที่ ๙ กันยา กำลังทหารอากาศโยธินจำนวนหนึ่งก็บุกเข้าปลุกพลอากาศเอกประพันธ์ ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ซึ่งกำลังหลับสนิทอยู่ที่บ้านพัก และคุมตัวไปกองบัญชาการคณะปฏิวัติที่สนามเสือป่า พร้อมๆกันนั้น รถถังจำนวน ๒๒ คันก็เคลื่อนออกจาก ม.พัน ๔ เกียกกาย กระจายกันเข้าคุมจุดสำคัญต่างๆ พอสว่างรถถังพร้อมทหารอาวุธครบมือ กระจายกำลังกันเข้ายึดสถานที่สำคัญหลายแห่ง จากนั้นก็ออกประกาศคณะปฎิวัติ ลงชื่อ พลเอกเสริม ณ นคร เป็นหัวหน้า
พอคนทั้งหลายได้ยินชื่อ พลเอกเสริม ณ นคร เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ ต่างก็งงไปตามกัน เพราะพลเอกเสริมเป็นอดีตผู้บัญชาการทหารบกที่เกษียณราชการไป ๔ ปีแล้ว และคิดว่า “แก่เกินแกง” ที่จะมาเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ

ต่างฝ่ายต่างก็ช่วงชิงสถานีวิทยุตอบโต้กัน ฝ่ายรัฐประหารดูจะยึดสถานีวิทยุได้มากกว่า ส่วนฝ่ายรัฐบาลใช้สถานีวิทยุกองพลที่ ๑ เป็นหลัก สั่งให้ทุกสถานีถ่ายทอดเสียงจากสถานีนี้เพียงแห่งเดียว ฝ่ายรัฐประหารจึงเล่นแรง เคลื่อนรถถังไปที่หน้ากองพล ๑ ใช้ปืนรถถังยิงถล่มเข้าไปที่กองพล ๑ และยังหันปากกระบอกปืนไปที่จานถ่ายทอดสัญญาณบนเสาอากาศของสถานีวิทยุกองพล ๑ สอยร่วงลงมาพร้อมกับเสาอากาศ ๒ ต้นขาดกระจุย ทำให้สถานีแม่ข่ายของฝ่ายรัฐบาลต้องหยุดออกอากาศทันที
พร้อมกันนี้รถถังฝ่ายรัฐประหารอีก ๔ คันก็เคลื่อนจะเข้าไปยึดสถานีวิทยุ กรป. ๙๑๙ ซึ่งอยู่ที่ถนนพิษณุโลกใกล้กับกองพล ๑ แต่ได้รับการต่อต้านอย่างเหนียวแน่น ทั้ง ๒ ฝ่ายต่างสาดกระสุนเข้าใส่กันด้วยปืนประจำรถถัง ปืนใหญ่ ปืนกลหนัก และเอ็ม ๑๖

การเอาอาวุธขนาดหนักมายิงกันกลางเมืองอย่างเมามันเพื่อแย่งชิงอำนาจกัน โดยไม่คำนึงว่าจะไปถูกคนที่ไม่รู้ไม่เห็นด้วยนั้น ผลปรากฏว่าลูกหลงไปโดนคนบาดเจ็บล้มตายไปหลายคน ในจำนวนนี้มี นายนีล เดวิส ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ เอ็นบีซี.ของออสเตรเลีย โดนกระสุนปืนกลเข้ากลางหลังตายคาที่ ส่วน นายวิลเลียม แลทช์ ชาวอเมริกันวัย ๓๔ ผู้ทำหน้าที่บันทึกเสียงให้นายนีล ถูกยิงที่ขา ไปตายที่โรงพยาบาลมิชชั่นเนื่องจากเสียเลือดมาก ทั้งยังมี นายนาโอกิ มาบูชิ ชาวญี่ปุ่น ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าว เอบีซี. ถูกยิงที่ขาเช่นกัน แต่ไม่สาหัส

กระสุนนัดหนึ่งเข้าใจว่าเป็นกระสุนรถถังที่ยิงมาจากทางด้านกองพล ๑ ผ่านหน้าบ้านพลเอกเปรมไปทางแยกสี่เสา พอดีกับรถเมล์ ปอ.๖ จากปากเกร็ดจะไปพระประแดงผ่านมาพอดี เลยโดนเข้ากลางคันอย่างจัง ผู้โดยสาร ๔๐ คนบาดเจ็บกันหลายคน สะเก็ดระเบิดยังทะลุไปโดนผู้หญิงคนหนึ่งนั่งอยู่ในแท็กซี่ตายคาที่ ทราบว่าผู้ตายได้ข่าวว่ามีรัฐประหารจึงเป็นห่วงลูกชายที่เรียนอยู่ ร.ร.วัดบวรมงคล ฝั่งตรงข้ามกับท่าน้ำเทเวศร์ ขอลางานมารับลูก แท็กซี่เกือบจะถึงเทเวศร์อยู่แล้ว มาเจอเอาลูกปืนรถถังเข้าเลยไม่มีโอกาสได้เห็นหน้าลูก

แม้จะรบกันหนักแถวกองพล ๑ แต่เล่นของหนักกันทั้งปืนใหญ่ ปืนรถถังแบบนี้ ประชาชนที่อยู่ห่างไกลออกไปถึงย่านฝั่งธน นนทบุรี ถนนงามวงวาน ก็ยังไม่วายต้องรับเคราะห์ บ้านพังไป ๑๔ หลัง คนตายไปอีก ๕ ตน บาดเจ็บเข้าโรงพยาบาลอีก ๖๔ คน

ในที่สุดเป็นที่เปิดเผยว่า ผู้ที่เป็นตัวการในครั้งนี้ก็คือ พ.อ.มนูญ รูปขจร อดีต ผบ.ม.พัน ๔ ซึ่งถูกปลดประจำการเมื่อครั้งทำกบฏ “เมษาฮาวาย” และลี้ภัยไปอยู่สหรัฐอเมริกา เพิ่งกลับมาก่อนที่ทำรัฐประหารเพียง ๓ วัน กองอำนวยการรักษาความสงบภายในเห็นว่า ถ้าจะปราบปรามการก่อรัฐประหารครั้งนี้อย่างเด็ดขาด ก็คงจะต้องเสียเลือดเนื้อกันมาก เพราะทหารที่จงรักภักดีต่อ พ.อ.มนูญจะสู้อย่างจนตรอก “บิ๊กเสือ” พล.ท.พิจิตร กุลละวณิชย์ แม่ทัพกองทัพภาคที่ ๑ ซึ่งเคยเป็นอาจารย์ของ พ.อ.มนูญ จึงส่ง “เสธ.แฮงค์” พ.อ.พีระพงศ์ สรรพากย์พิสุทธิ์ บุกเดี่ยวเข้าไปเจรจากับ พ.อ.มนูญถึงในกองบัญชาการปฏิวัติ ในที่สุด พ.อ.มนูญก็ยอมที่จะยุติการต่อสู้ในเวลา ๑๓.๓๐ น. โดยฝ่ายกองอำนวยการรักษาความสงบฯรับเงื่อนไขที่จะจัดเครื่องบินไปส่งให้ไปลี้ภัยในต่างประเทศ หลังจากนั้นได้ไปลี้ภัยอยู่เยอรมันจนได้รับนิรโทษกรรม

หลังจากเหตุการณ์ยุติลงได้มีการสอบสวน จึงได้ทราบว่าการรัฐประหารครั้งนี้ไม่ได้มีแต่รถถัง แต่ผู้นำสหภาพแรงงานขนส่งมวลชน หรือ ขสมก. และผู้นำสหภาพรถไฟ ได้ชักชวนผู้ใช้แรงงานมาเข้าร่วมกับทหารในการเข้ายึดอำนาจด้วย โดยมี นายเอกยุทธ อัญชันบุตร เจ้ามือแชร์ชาร์เตอร์ที่กำลังโด่งดังในตอนนั้น หอบเงินมาให้เป็นค่าใช้จ่ายอีกด้วย

นายพิเชษฐ์ สถิรชวาล ผู้อำนวยการ ขสมก.ได้ให้สัมภาษณ์ที่กองอำนวยการรักษาความสงบฯในเย็นวันที่ ๙ กันยานั้นว่า ได้ถูกขู่บังคับให้ลงนามในคำสั่งให้นำรถ ขสมก. จำนวน ๑๗ คันออกใช้ในการก่อความไม่สงบ และในขณะที่ตนถูกควบคุมอยู่ในกองบัญชาการปฏิวัติ ได้พบนายเอกยุทธ อัญชันบุตร เจ้าของวงแชร์ชาร์เตอร์ ซึ่งหายตัวหนีแชร์ไป ปรากฏตัวที่นั่นด้วยอย่างร่าเริง บอกตนอย่างอารมณ์ดีว่าคราวนี้คงสบายแล้ว แต่หลังจากที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป นายเอกยุทธได้แสดงอาการหัวเสีย กล่าวว่า เนื่องมาจากกลุ่มสหภาพขนส่งทางน้ำที่จะมาร่วมรายการ ได้ถูกสกัดไว้

ส่วน นายบันยง ศรลัมพ์ ผู้ว่าการรถไฟ ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ ๑๒ กันยายนว่า ตนได้รับรายงานเรื่องพนักงานรถไฟบางคนถูกสันติบาลจับไปแล้ว แต่ที่จับไปเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น เท่าที่ตนสอบสวนมา มีพนักงานรถไฟเข้าร่วมในการปฏิวัติครั้งนี้ถึง ๒๐๐-๓๐๐ คน ซึ่งตนได้ชื่อหมดแล้ว เป็นพนักงานโรงงานซ่อมบำรุงมากที่สุด นอกนั้นก็มีพนักงานโรงงานมักกะสันและโรงรถจักรบางซื่อ ขณะนี้ทางรถไฟได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องนี้แล้ว

สำนักข่าวทั่วโลกต่างวิพากษ์วิจารณ์ “กบฏ ๙ กันยา” กันอย่างสนุกสนาน และชี้ว่าเรื่องนี้ต้องมีเบื้องหลังอย่างแน่นอน ไม่เชื่อว่าพลเอกแก่ๆ จะซื่อบื้อประกาศตัวเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ ทั้งที่มีกำลังอยู่เพียง ๑๐๐ กว่าคน มีรถถัง ๒๒ คัน ทั้ง เอพี. เอเอฟพี. และเอ็นเอชเค.ของญี่ปุ่น ต่างเอาเรื่องกบฏครั้งนี้ไปเผยแพร่เป็นเรื่องครื้นเครง และตั้งประเด็นสงสัยว่าจะต้องมีนายทหารระดับคุมกำลังอีกหลายคนเข้าร่วมด้วย แต่ทำไมเมื่อถึงเวลากลับไม่มาตามนัด

“กบฏ ๑๘ ศพ”
ก่อนขึ้นครองอำนาจเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีบทบาทยาวนานที่สุดในประเทศไทย จนได้ฉายาว่า “นายกตลอดกาล” จอมพล ป.พิบูลสงคราม นับว่าเป็นนักการเมืองที่มีคนปองร้ายมากที่สุด ในขณะที่ทั้งมิตรและศัตรูยอมรับในความมีคุณธรรมและสมถะของ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ศัตรูของคณะราษฎรทั้งหลายจึงต่างพุ่งเป้าไปที่ พ.ท.หลวงพิบูลสงคราม ผู้ก้าวขึ้นมาเป็นเสือตัวที่ ๒ หรือมือขวาของพระยาพหลฯ กุมอำนาจทางการทหารไว้ได้โดยเด็ดขาด ศัตรูทั้งหลายไม่อาจต่อสู้ด้วยการเผชิญหน้าได้ จึงต้องใช้วิธีลอบสังหาร

ในวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๗ ขณะที่หลวงพิบูลฯได้เลื่อนยศเป็นนายพันเอก มีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ไปมอบถ้วยรางวัลให้แก่ทีมชนะเลิศฟุตบอลทหารที่สนามหลวง ขณะเดินกลับมาขึ้นรถท่ามกลางคนติดตามล้นหลามและหน่วยคุ้มกันรอบด้าน ชายคนหนึ่งก็แหวกวงล้อมเข้าลั่นกระสุน ๒ นัดเข้าใส่ขณะท่านรัฐมนตรีก้าวขึ้นนั่งในรถ เป็นจังหวะเดียวกับที่หลวงพิบูลฯ เอี้ยวตัวหยิบกระบี่จะส่งให้เลขานุการ แต่พอเลขานุการได้ยินเสียงปืนหันไปดูก็เห็นชายคนนั้นถือปืนสั้นควันยังกระจายอยู่ที่ปากกระบอก กำลังจะลั่นนัดที่ ๓ จึงกระโดดเข้าปัดมือจนกระสุนผิดเป้าหมาย ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ติดตามก็กรูกันเข้าล็อคตัวมือปืนไว้ได้ ท่านรัฐมนตรีมีเลือดอาบที่ใบหน้าและอก ถูกนำส่งโรงพยาบาลทหารบก พญาไท ปรากฏว่ากระสุนนัดหนึ่งเข้าทางแก้มซ้ายทะลุออกทางด้านหลังที่ต้นคอ อีกนัดหนึ่งเข้าไหล่ขวาด้านหน้าทะลุออกด้านหลัง ไม่ถูกส่วนสำคัญ นอนโรงพยาบาล ๑ เดือนก็กลับบ้านได้

มือปืนผู้บุกสังหารมีชื่อว่า นายพุ่ม ทับสายทอง ให้การว่ารับจ้างมาจากนายพันตำรวจเอกพระยาธรณีนฤเบศร์ในราคา ๑,๐๐๐ บาท พระยาธรณีฯและพรรคพวกอีกหลายคนจึงถูกจับ ศาลตัดสินประหารชีวิต แต่ลดโทษด้วยเหตุควรปราณีเป็นจำคุกตลอดชีวิต และลดโทษฐานสารภาพให้อีกเหลือจำคุก ๒๐ ปี ส่วนมือปืนถูกตัดสินจำคุก ๑๖ ปี

ต่อมาในวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๘๑ เวลา ๑๙.๐๐ น. ขณะที่ พ.อ.หลวงพิบูลสงครามกำลังยืนแต่งตัวอยู่หน้าโต๊ะเครื่องแป้งในห้องนอนชั้นบนของบ้านพักในกรมทหารปืนใหญ่ บางซื่อ เตรียมจะไปงานเลี้ยงที่กระทรวงกลาโหม ทันใดมีเสียงปืนดังขึ้น ๑ นัด นายร้อยตรีผล สมงาม นายทหารติดตาม รีบวิ่งขึ้นไป พอถึงบันไดชั้นบนก็ได้ยินเสียงปืนอีก ๑ นัด เห็นหลวงพิบูลฯ วิ่งออกมาจากห้องโดยมีนายลี บุญตา วิ่งตามมาในระยะ ๑ เมตร หลวงพิบูลฯ ร้องว่า “ตาลียิง” ร.ต.ผลจึงผลักหลวงพิบูลฯเข้าไปอีกห้องแล้วหันมาปัดปืนที่นายลียกขึ้นจะยิงซ้ำ และชกนายลีล้มลงแย่งปืนไว้ได้ พอดี ร.อ.เผ่า ศรียานนท์ เลขานุการ รมต.กลาโหม เข้ามาช่วยจับนายลีไว้ได้ ส่งให้ตำรวจ

นายลี บุญตา เป็นชาวโคราชที่หลวงพิบูลสงครามให้ความอุปการะเลี้ยงดูมา ๗ ปีแล้ว เป็นที่ไว้วางใจให้ทำหน้าที่ขับรถให้บุตรและภรรยา นายลีให้การกับศาลเมื่อตกเป็นจำเลยร่วมในคดี “กบฏ ๑๘ ศพ”ว่า ที่ยิงนั้นเพราะเมา และไม่ได้ตั้งใจยิง ไม่ยอมบอกว่ามีใครจ้างวานมา

ต่อมาอีกเดือนเดียว ในวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๔๘๑ ขณะที่ท่านรัฐมนตรีกลาโหมรับประทานอาหารกลางวันอยู่ที่บ้านในกรมทหารปืนใหญ่ บางซื่อ พร้อมกับท่านผู้หญิงละเอียด และพรรคพวกที่เป็นบุคคลสำคัญทางการเมือง ขณะที่คุยกันอย่างเพลิดเพลินนั้น หลวงพิบูลฯรู้สึกตัวร้องบอกว่า “ผมถ้าจะกินยาพิษเข้าไปแล้ว” พร้อมกับตัวสั่นหน้าซีด เหงื่อโทรมตัว คนอื่นๆที่ร่วมโต๊ะก็เกิดอาการเหมือนกัน จึงรีบนำส่งโรงพยาบาล หมอล้างท้องช่วยชีวิตไว้ได้ทันทุกคน ปรากฏว่ายาพิษที่ผสมอยู่ในอาหารนั้นคือสารหนู ยาพิษชนิดร้ายแรง

นางเสงี่ยม ปลุกใจเสือ แม่ครัว ยอมรับสารภาพว่าเป็นคนใส่ “ผงสีขาว” ลงในอาหารเอง โดยได้รับมาจากพันจ่าตรีทองดีผู้เป็นชู้รัก ซึ่งได้รับมาจาก ร.ท.ณเณร ตาละลักษณ์ ส.ส.พระนคร

นอกจากนี้ยังมีรายงานจากตำรวจสันติบาลว่า ได้มีการดักยิงหลวงพิบูลสงครามอีกหลายครั้ง ตำรวจรู้ก่อนไปดักจับจนเกิดการต่อสู้กันบ้าง ยิงไม่ทันเพราะรถเร็วบ้าง สถานการณ์ไม่อำนวยบ้าง พฤติการณ์ของฝ่ายตรงข้ามเหล่านี้ พ.ต.อ.หลวงอดุลเดชจรัส เพื่อนสนิทของหลวงพิบูลสงครามตั้งแต่เป็นนักเรียนนายร้อยมาด้วยกัน และย้ายมาเป็นรองอธิบดีกรมตำรวจ ได้ติดตามสืบสวนมาตลอด จะลงมือจับกุมกวาดล้างครั้งใหญ่ แต่พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรียับยั้งไม่ยอมให้จับ จนกระทั่งหลวงพิบูลสงครามขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเองในวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๔๘๑ แผนการกวาดล้างของหลวงอดุลฯ จึงเริ่มปฏิบัติการในวันที่ ๒๙ มกราคมต่อมา มีผู้ถูกจับกุมราว ๑๐๐ คน ส่งฟ้อง ๕๐ คน มีผู้เสียชีวิตขณะจับกุม ๓ คน

สำหรับ พ.อ.พระยาทรงสุรเดช เสนาธิการผู้วางแผนยึดอำนาจในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ และเป็นคู่อริคนสำคัญของหลวงพิบูลสงคราม ถูกจับในครั้งนี้ด้วย แต่คนที่นิยมพระยาทรงก็มีไม่น้อย จึงได้รับข้อเสนอว่าจะขึ้นศาลหรือจะไปอยู่ต่างประเทศ ซึ่งพระยาทรงฯ เลือกข้อหลัง จึงถูกคุมตัวขึ้นรถไฟพร้อมกับ ร.อ.สำรวจ กาญจนกิจ นายทหารคนสนิทซึ่งถูกข้อหาเดียวกัน ไปอรัญประเทศเพื่อเข้าสู่อินโดจีนของฝรั่งเศส และหลังจากนั้นอีก ๖ ปีต่อมา เสนาธิการชั้นยอดของกองทัพบก ผู้สำเร็จมาจาก ร.ร.เสนาธิการทหาร เยอรมัน ก็ต้องจบชีวิตลงที่ชานกรุงพนมเปญ ด้วยโรคของความยากจน

การพิจารณาคดีกบฏสำคัญคดีนี้ รัฐบาลได้จัดตั้งศาลพิเศษพิจารณาคดี ซึ่งศาลที่มีนายพันเอกมังกร พรหมโยธี เพื่อนนักเรียนนายร้อยของนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน อ่านคำพิพากษาในวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๘๒ ให้ประหารชีวิต ๒๑ คน มี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๕ อยู่หัวขบวน รวมทั้งนายลี บุญตา ผู้ลั่นกระสุนหมายสังหาร พ.อ.หลวงพิบูลสงครามในบ้านพัก แต่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร และ นายพลโทพระยาเทพหัสดิน แม่ทัพไทยที่นำทหารไปร่วมรบสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในยุโรป กับนายพันเอกหลวงชำนาญยุทธศิลป เคยทำคุณงามความดีมาก่อน มีเหตุควรได้รับความปราณี จึงลดโทษให้ ๑ ใน ๓ คงให้จำคุกจำเลยทั้ง ๓ นี้ไว้ตลอดชีวิต ส่วนอีก ๒๒ คนให้จำคุกตลอดชีวิตเช่นกัน ยกฟ้อง ๗ คน ส่วน ๑๘ คนที่รับโทษประหาร ต้องใช้เวลาถึง ๓ วันจากวันที่ ๒๙ พฤศจิกายนถึงวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๔๘๒ จึงประหารได้หมด

นี่เป็นผลของการเมืองที่เล่นกันด้วยวิธีรุนแรง จึงตอบโต้กันด้วยวิธีรุนแรงเช่นนี้

ในช่วงปี ๒๔๙๑ จนถึงปี ๒๕๐๐ ที่จอมพล ป.พิบูลสงครามกลับเข้ามามีอำนาจทางการเมืองอีกครั้ง หลังจากรอดพ้นคดีอาชญากรสงครามที่ร่วมรบกับญี่ปุ่น ได้เกิดกบฏขึ้นมากมายหลายครั้ง ทั้งที่เป็นกบฏจริงเพื่อชิงอำนาจ และกบฏใส่ความเพื่อขจัดศัตรูทางการเมือง ในช่วงนั้นจึงมีกบฏชื่อแปลกๆ อย่างเช่น กบฏสันติภาพ กบฏอดข้าว กบฏน้ำลาย กบฏทัศนาจร เป็นต้น
“กบฏอดข้าว”
ในกลางปี ๒๔๙๘ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีผู้ใช้อำนาจเผด็จการมาเสียนาน จนลืมการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่อ้างไว้ตอนยึดอำนาจมาจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อปี ๒๔๗๕ เริ่มเห็นว่าอำนาจเผด็จการคงไปไม่รอดแล้ว เพราะลูกน้องที่ปั้นขึ้นมาไว้คอยคุ้มครองบัลลังก์ ทำท่าจะชิงบัลลังก์เสียเอง จึงจำต้องหันมาหาความนิยมกับประชาชนเพื่อเป็นเกราะคุ้มครองป้องกันลูกน้องโค่นอำนาจ ว่าแล้วก็นำคนใกล้ชิดกลุ่มใหญ่ไปทัศนาจรรอบโลก อ้างว่าเพื่อหาวิธีการเป็นประชาธิปไตยรูปแบบใหม่ๆมาให้ประชาชน

เมื่อกลับมาจอมพล ป.ก็บวกลบคูณหารให้ฟังว่า ใช้เงินภาษีของประชาชนซึ่งตอนนั้นมีเพียง ๑๘ ล้านคนไป ๔ ล้านเศษๆ ตกคนละสลึงเดียวเท่านั้น แต่ได้ของดีมาฝากมากมาย

หนึ่งในของดีที่ได้มาสำหรับการเป็นประชาธิปไตยก็คือ “ไฮด์ปาร์ค” ต้นตำรับไฮด์ปาร์คนี้อยู่ที่อังกฤษ เปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีความอัดอั้นตันใจสามารถจะไประบายด้วยการวิพากษ์วิจารณ์หรือจะด่ารัฐบาลก็ได้ที่สวนสาธารณะไฮด์ปาร์คกลางกรุงลอนดอน แต่ห้ามใช้เครื่องขยายเสียงและตั้งเวที ซึ่งคนที่ไปปราศรัยมักจะใช้ลังสบู่เป็นที่ยืนรองพูด แต่ไฮด์ปาร์คของจอมพล ป.เหนือกว่าไฮด์ปาร์คของเจ้าตำรับเสียอีก ให้ตั้งเวทีกลางสนามหลวงและใช้ไมโครโฟนได้ เลยเปิดโอกาสให้คนที่อยากดังทางการเมืองแต่หาเวทีโผล่หน้าไม่ได้ มาใช้เวทีไฮด์ปาร์คเป็นที่โชว์โวหาร ประชาชนที่ตื่นประชาธิปไตยก็มาฟังกันแน่น เพราะนักพูดไฮด์ปาร์คมันจะพูดเอามันกันลูกเดียว ถึงอกถึงใจคนฟัง บางนัดมีเรื่องราวเป็นข่าวอยู่ในหน้า นสพ.เป็นที่สนใจของประชาชน ก็มีคนมาฟังไฮด์ปาร์ควิพากษ์วิจารณ์กันแน่นขนัด

ไฮด์ปาร์คสนามหลวงครั้งแรกเกิดขึ้นตอนแดดร่มลมตกในวันเสาร์ที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๔๙๘ โดยมีนายทองอยู่ พุฒพัฒน์ อดีต ส.ส.ธนบุรี เป็นผู้ริเริ่มจัดรายการ เลยได้รับฉายาว่า “โต้โผไฮด์ปาร์ค” นายทองอยู่มีความปรารถนาอยู่อย่างเดียวคือ ขอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเสียใหม่ เลิกบทเฉพาะกาล เลิก ส.ส.ประเภท ๒ เลิกปฏิวัติรัฐประหารกันเสียที เมื่อพูดครั้งใดไม่ว่าที่ไหน นายทองอยู่ก็จะยืนยันในหลักการนี้ไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งยังประกาศว่า เมื่อถึงพุทธศักราช ๒๕๐๐ ที่ว่าเป็นกึ่งพุทธกาล จะขอกราบลาไปอุปสมบทตลอดชีวิต ช่วงเวลาที่เหลือนี้จะขอต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างสุดชีวิต นายทองอยู่เห็นว่าการเรียกร้องของตนหลายครั้งหลายหนยังไม่มีผลใดๆเกิดขึ้น เวลาที่จะถึงงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษก็ใกล้เข้ามาแล้ว จึงตัดสินใจที่จะแลกหมัดเพื่อให้บรรลุอรหันต์ประชาธิปไตย โดยประกาศจะอดข้าวในวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์เป็นต้นไป จนกว่าจะได้ความเป็นประชาธิปไตยตามคำเรียกร้อง

เมื่อถึงวันที่กำหนด นายทองอยู่ก็แบกกลดแบบพระธุดงค์ไปปักที่หน้าทำเนียบรัฐบาลแต่เช้าตรู่ พร้อมป้ายประกาศเจตนารมณ์เรียกร้องติดไว้ มีสาวกที่อยู่ในกลุ่มนักพูดไฮด์ปาร์คเข้าร่วมขบวนด้วยหลายคน แต่อดกันได้วันเดียว รุ่งขึ้นบรรดาสาวกทั้งหลายก็ถอดใจลาโรงกันไปเกือบหมด

การประท้วงด้วยการอดข้าวแบบไฮด์ปาร์คนี้ ไม่ใช่นั่งอดกันเฉยๆ แต่ยังด่ารัฐบาลสลับรายการไปด้วย โดยมีคนไม่หิวมายืนเชียร์ให้อดต่อไปเพื่อประชาธิปไตยให้ถึงที่สุด

คงจะเป็นเพราะพวกสอพลอไปรายงานยกเมฆกับจอมพล ป.ว่า พวกนี้อดข้าวไม่จริง กลางคืนแอบกินก๋วยเตี๋ยว เย็นวันนั้นบรรดานักอดข้าวและกองเชียร์ที่ตั้งแถวอยู่คนละฝั่งคลองก็ต้องแปลกใจไปตามกัน เมื่อเห็นคนกลุ่มหนึ่งแบกโต๊ะพร้อมเก้าอี้ออกมาจากทำเนียบ แล้วตั้งลงข้างกลดของนักอดข้าว พร้อมกับนำผ้าขาวมาปูอย่างเรียบร้อย จากนั้นก็มีคนอีกกลุ่มแบกจานอาหารออกมาเป็นขบวน แล้วตั้งลงบนโต๊ะพร้อมด้วยหม้อข้าว จานข้าวและช้อนส้อม ทำเอานักอดเป็นเดือดเป็นแค้น เผอิญมีหมาแม่ลูกอ่อนอยู่แถวนั้น พอได้กลิ่นอาหารก็เดินมาที่โต๊ะ บรรดาดาวไฮด์ปาร์คเลยยกจานอาหารบนโต๊ะลงมาวางที่พื้น อาหารอภินันทนาการจากนายกรัฐมนตรีจึงกลายเป็นอาหารอันโอชะของหมาแม่ลูกอ่อนตัวนั้น ท่ามกลางเสียงเชียร์ของแฟนไฮด์ปาร์คอย่างสนุกสนาน

รุ่งเช้า ภาพหมาแม่ลูกอ่อนนมโตงเตงกำลังกินอาหารในจานจากทำเนียบรัฐบาล ก็ปรากฏหราอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์รายวันเกือบทุกฉับ ทำให้ประชาชนยิ้มกันทั้งประเทศ ซึ่งทำให้จอมพล ป.รู้สึกว่าถูกพวกไฮด์ปาร์คตอกกลับมาอย่างแรง

ตอนเย็นของวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์นั้น ตำรวจก็กระจายกำลังกันจับนักอดข้าวทั้งที่หน้าทำเนียบรัฐบาลและที่สนามหลวงไปใส่ห้องขังทั้งหมด ด้วยข้อหาว่าเป็นกบฏภายในราชอาณาจักรตามกฎหมายอาญามาตรา ๑๐๔
แค่อดข้าวประท้วงรัฐบาลก็เป็นกบฏได้ นี่คือประชาธิปไตยของเมืองไทยในยุคที่มืดครึ้ม

“กบฏสันติภาพ”
ในระยะปี ๒๔๙๒ เป็นต้นมา เป็นช่วงที่ไทยส่งทหารไปร่วมรบในสงครามเกาหลี มีประชาชนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของรัฐบาล มีการแสดงความเห็นด้วยการพูด การเขียนกันอย่างกว้างขวาง ฉะนั้นเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ ตำรวจสันติบาลจึงออกกวาดล้างหลายระลอก ในขั้นแรกได้มีการเสนอต่อ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ขอจับประมาณ ๑๐๐ คน แต่ถูกส่งฟ้องศาล ๔๒ คนในข้อหากบฏ ซึ่งเรียกกันว่า “กบฏ ๑๐ พฤศจิกา” หรือ “กบฏสันติภาพ” และศาลได้ตัดสินจำคุก ๓๘ คนเป็นเวลา ๑๓ ปี ๖ เดือน อาทิเช่น นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ เจ้าของนามปากกา “ศรีบูรพา” นายเทพ โชตินุชิต ส.ส.ศรีสะเกษ หัวหน้าพรรคแนวร่วมสังคมนิยม นายเปลื้อง วรรณศรี บก.นิตยสาร “ปิตุภูมิ” และมีระดับชาวบ้านที่สนับสนุนความคิดนี้หลายคน แต่ผู้ต้องขังในคดีนี้ถูกจำคุกอยู่เพียง ๔ ปีเศษก็ได้รับนิรโทษกรรมเป็นพุทธบูชา ในงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ซึ่งมีการล้างคุกนักโทษการเมืองทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม หลังจากถูกปลดปล่อย “กบฏสันติภาพ” หรือที่เรียกกันว่า “สันติชน” หลายคนยังถูกตำรวจสันติบาลสะกดรอยตามแม้จะได้รับนิรโทษกรรมมาแล้ว บ้างก็ถูกจับกลับไปเข้าคุกอีกในคดีแบบเดิมๆ บางคนเบื่อหน่ายคุก จึงตัดสินใจลี้ภัยไปอยู่นอกประเทศจนจบชีวิตในต่างแดน อย่างนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ และนายเปลื้อง วรรณศรี เป็นต้น

“กบฏทัศนาจร”
ก่อนหน้าที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในฐานะนายกรัฐมนตรี จะฝ่ากฎหมายป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พาคณะแหวกม่านไม้ไผ่ไปเปิดสัมพันธไมตรีกับ “จีนแดง” ในปี ๒๕๑๘ ได้มีนักการเมือง นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ผู้นำกรรมกร ตลอดจนศิลปินและนักกีฬา เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนหลายคณะ โดยได้รับเชิญอย่างเป็นทางการ ส่วนใหญ่ของคนที่ไปก็ด้วยความอยากรู้อยากเห็นประเทศที่ได้รับฉายาว่า “หลังม่านไม้ไผ่” ไม่ค่อยได้เปิดเผยต่อโลกภายนอก อีกทั้งยังได้รับการโฆษณาชวนเชื่อจากโลกเสรีให้ดูน่ากลัวต่างๆ นานา
ทุกคนที่ไปต่างก็รู้ดีว่าเมื่อกลับมาจะได้รับผลเช่นไร เพราะมีกฎหมายป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์คอยขัดขวางอยู่ แต่เพราะความอยากรู้อยากเห็นความจริง และถือว่าไม่ได้ไปเพราะนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ อีกทั้งยังเห็นว่าการห้ามเช่นนี้เป็นการปิดกั้นเสรีภาพ จึงพร้อมที่จะรับผลจากการกระทำที่ตัวเองเห็นว่าไม่ได้ทำความผิด
ในวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๙ คณะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและนักคิดนักเขียน นำโดย นายเทพ โชตินุชิต อดีต รมต.และ ส.ส.ศรีสะเกษ ซึ่งได้รับเชิญให้ไปเยือนจีนแดงคณะแรกก็บินกลับมาถึงดอนเมือง นอกจากจะมีบรรดาญาติมิตรไปรอรับกันอย่างคับคั่งแล้ว ยังไม่ผิดหวังที่มีตำรวจสันติบาลอีกกลุ่มใหญ่ไปตั้งแถวรอรับด้วย และควบคุมคณะทั้งหมดไปควบคุมในข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์และกบฏนอกราชอาณาจักร

แม้คณะแรกนี้จะถูกจับเป็นตัวอย่างแล้ว ต่อมาก็มีคณะผู้แทนจากวงการต่างๆ ได้รับเชิญไปเยือนจีนแดงอีกหลายคณะ ซึ่งก็ไม่มีใครเกรงกลัวการตกเป็นผู้ต้องหา บางคณะเดินทางต่อไปเวียดนามเหนือ แล้วกลับมาทางลาว พอข้ามโขงกลับเข้าไทย ก็มีสันติบาลไปเข้าแถวต้อนรับที่หนองคายเช่นกัน

แต่ก็น่าแปลกใจที่บางคณะกลับเข้ามาอย่างปลอดภัยไม่ถูกจับ ทั้งๆกฎหมายที่ใช้จับคณะอื่นก็ยังใช้อยู่ ทั้งนี้ก็เพราะนโยบายบางขณะก็วูบวาบไปมาตามกระแสการเมือง

พวกที่ไปเที่ยวแล้วกลับมาเข้าคุกด้วยข้อหากบฏเหล่านี้ เรียกกันว่า “กบฏทัศนาจร”

นี่ก็เป็นตำนานข้อหากบฎในประเทศไทย รวมทั้งการทำรัฐประหารที่พ่ายแพ้ก็ต้องเป็นกบฎไปด้วย

ในวันที่กบฎ ร.ศ.๑๓๐ ได้รับพระราชทานยศคืน

เรือรบไทยถูกเรือบินไทยถล่มระเบิดใส่

ขนอาวุธหนักใส่รถไฟไปยิงไทยกันเอง

รัฐประหารที่ไม่ได้ใช่แค่ปืน ยังใช้ปากชิงอำนาจ


กำลังโหลดความคิดเห็น