หากพูดถึงชื่อของ ‘เจ-มณฑล จิรา’ ภาพจำแรกสุดของใครหลายคน ย่อมที่จะหนีไม่พ้นเรื่องของการเป็นดารานักแสดงที่บางคนได้ชื่นชอบจนเป็นที่จดจำ แต่ในขณะเดียวกันแล้ว ถ้าเป้นนักฟังเพลงไทย เขาคนเดียวกันนี้ ก็เป็นโปรดิวเซอร์เพลง ผู้อยู่เบื้องหลังงานดนตรีต่างๆ จนกลายเป็นที่ยอมรับและเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ฟังเพลงและนักดนตรี
ซึ่งขณะเดียวกัน การกลับมาทำงานเพลงของตัวเองครั้งแรกในรอบ 15 ปี หรืออาจจะถอยหลังไปไกลกว่า 24 ปี ในเพลงภาษาไทย กับผลงานอัลบั้มชุด “ด้วยความเคารพ” ที่จะสะท้อนตัวตนทางดนตรีของผู้ชายคนนี้
ห่างจากผลงานมา 15 ปี อยู่ดีๆ ทำไมคุณถึงมาปล่อยผลงานในช่วงนี้ครับ
น่าจะด้วยการทำงานเบื้องหลัง ได้เก็บงานประสบการณ์จากคนอื่นมา ก็รู้สึกว่า มันถึงเวลาที่เราจะเอา ความรู้ต่างๆ จากการทำงานกับคนอื่น มาสร้างผลงานของตัวเอง อีกทั้งน่าจะปี 2017 มังครับ เราได้คุยกับเล็ก (จุลจักร จักรพงษ์) หลังจากที่เขาได้ทำคอนเซปต์ภาษาแม่ ว่าเราจะเริ่มทำงานของตัวเองแล้ว หลังจากนั้นมา ผมก็ค่อยๆ เริ่มหาทิศทาง เริ่มฝึกในการเขียน แต่งเนื้อเพลงเป็นภาษาไทย ก็น่าจะมาจากจุดนี้แหละครับ
ตอนที่คุณบอกว่าจะทำงานของตัวเอง ก็คือปรึกษากับเล็กในเรื่องแต่งเพลงอย่างเดียว
ตอนนั้น เราอาจจะไม่ได้ปรึกษาตรงนั้น แต่เมื่อเราทำงานกับเล็กมาค่อนข้างเยอะ ตั้งแต่ชุด Deep in a Long Glass ชุด ดำสนิท ไปจนถึง ชุด Lacuna การที่เราทำงานตรงนั้น เราก็ได้เห็นทั้งวิธีการและการต้อนับเพลงหลายๆ แบบ ไม่ว่าจะมาจากเพลงภาษาอังกฤษ และ เพลงภาษาไทย ของเล็ก และได้ออกไปเล่นโชว์ร่วมกับเล็กอยู่เรื่อยๆ แล้วได้เห็นผลตอบรับจากคนฟังต่างๆ ว่าเพลงในแต่ละภาษาเขาจะฟังมากน้อยแค่ไหน อย่างมันจะมีเพลงฮิตของเขาอยู่แล้ว ซึ่งเราได้เห็นว่า คนฟังอยากจะฟังเพลงเก่าๆ ของวงสิบล้อ หรือว่าเพลงใหม่ของเล็ก บางคนก็มีความสนใจ สิ่งที่แปลกก็คือเพลง 99 ploblem คนจะรู้จักค่อนข้างเยอะ แต่ว่าในการที่เรามาทำเพลง มาวิเคราะห์กัน
รวมถึงมีช่วงหนึ่งที่มาทำเพลงให้คนอื่น เรากับเล็กก็มาทำให้เพลงหลายๆ คน และมาใช้เวลาในการแต่งเพลง และมาวิเคราะห์ว่า ทำไมคนฟังเพลงนี้มาก คนฟังเพลงนี้น้อย มีคนชอบไม่ชอบ เหมือนเราก็ได้เห็นว่า การที่เรามาเน้นในเรื่องการแต่งเนื้อและทำนองมันเป็นอะไรที่สำคัญสำหรับคนไทย คนไทยมักจะชอบเน้นในส่วนตรงนี้มากที่สุด ผมก็เลยอยากจะลองเอาตรงนี้มาทำงานของตัวเองด้วยว่า ถ้าเราจะมาเน้นในส่วนของการแต่งเนื้อร้องภาษาไทย เขียนทำนองที่มันฟังไม่ยาก แล้วมาสร้างผลงานตัวเองแล้วจะเป็นยังไง ซึ่งก่อนหน้านั้น งานที่เราทำจะเป็นเพลงบรรเลง เราชอบในการสร้างเสียง มาในส่วนของโปรแกรมมิ่ง ส่วนซินธิไซซิสต่างๆ เราชอบทำอยู่แล้ว แต่ว่ามีอยู่ช่วงหนึ่งที่เราออกไปแสดงงานที่ตัวเองทำ แต่ว่ามันจะขาดการเชื่อมต่อกับคนฟัง ในเมื่อไม่มีทำนองและเสียงร้อง เราสก็เลยจะเอาตรงนี้มาเพิ่มว่า ถ้าเรามาเสริมตรงนี้ คนฟังเขาจะต้อนรับผลงานของเรามากขึ้นหรือเปล่า
แสดงว่า การเก็บข้อมูล และ การสื่อสารระหว่างคนฟังกับคนเล่น ทำให้เป็นผลลัพธ์มาเป็นงานชุดนี้
ก็มีอย่างอื่นด้วยแหละ อย่างว่า หลายๆ คนจะชอบถามว่า เมื่อไหร่จะมีผลงานของตัวเอง ในเมื่อเราก็ทำงานอยู่เบื้องหลัง ซึ่งเราก็ถือว่ามันก็เป็นงานของเรานะ แต่ว่าพอผลงานมันออกไปแล้ว คนจะไม่รู้ว่าเป็นงานของเรา มันก็จะเป็นงานของคนอื่นที่มีชื่อผมไปแปะอยู่ เราก็รู้สึกว่าอย่างที่บอก แต่อธิบายไปคนก็อาจจะไม่เข้าใจ ก็ยังคงมาถามเราอยู่ดีว่า เมื่อไหร่จะมีงานของตัวเองล่ะ ตรงนี้ก็จะอาจจะเป็นว่า ในเมื่อกระบวนการหลายๆ ส่วนเราทำอยู่แล้ว เหลือแค่ส่วนสุดท้าย ที่ไม่ได้เป็นหน้า ชื่อ และเสียงของเรา เราก็เลยเอาตรงนี้มาเสริม เพื่อที่จะให้เป็นงานของเรา (เหมือนกับเวลาที่ผ่านมามันเป็นการผลึก) ใช่ครับ เหมือนเราค่อยๆ เรียนรู้และเก็บประสบการณ์ เพื่อที่จะเรียนรู้ว่า ระยะเวลา 2-3 ปีหลังสุดว่าเหมือนกับตัวเองพร้อมแล้ว ในการทำงานครั้งนี้
พอลงรายละเอียดผลงานตัวเองแล้ว จากการทำงานให้คนอื่นมา แล้วมาทำงานของตัวเอง มีความรู้สึกยังไงบ้างครับ
มันก็มีความรู้สึกกังวลว่ามันจะเป็นแบบไหน เราอยากจะทำเพลงแบบไหน กำหนดทิศทางว่าไปทางไหน แล้วในเมื่อเวลาที่จะมาทำงานตรงนี้มันน้อย เราใช้เวลาในการเรียนรู้เรื่องการบันทึกเสียงที่ใช้เวลานาน แต่มาเน้นในเรื่องของการแต่งเนื้อเพลงมันมีแค่ 2-3 ปีที่ผ่านมา เราก็เลยหาวิธีที่จะเรียนรู้ตรงนี้ให้มันเร็วที่สุด เพื่อให้มันอยู่ในระดับเดียวกับในส่วนของการทำดนตรี แต่พอทำไปเรื่อยๆ มันก็จะเหมือนกับเป็นสไตล์ของเรามั้ง อีกทั้งก็จะค่อยๆ คุ้นเคยในการทำงานตรงนี้ เรารู้สึกว่าเซ็ทแรกที่ปล่อยออกมา มันก็เป็นจุดเริ่มต้นแหละ มันคงต้องมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ
ในเมื่อเราทำเพลงออกมาเรื่อยๆ ซึ่งมันก็เป็นประสบการณ์ที่สนุกดี แล้วก็เป็นความรู้สึกที่สร้างผลงานด้วยตัวเองทั้งหมดแล้วเนี่ย มันเป็นอะไรที่แบบ ‘โอ้ เราทำได้’ โดยก่อนที่เราเริ่ม เราก็ไม่รู้ว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน และขั้นตอนมันจะเป็นยังไง เพราะในส่วนก่อนหน้านั้น เราจะเป็นคนที่ค่อนข้างทำงานเร็วอยู่แล้ว ซึ่งเราก็มีความรู้สึกว่า เมื่อไหร่เขาจะเอาเนื้อร้องมาให้ซะที จนตัวเองเพิ่งมาเข้าใจทีหลังว่า ขั้นตอนนี้เป็นส่วนที่ช้าที่สุด เนื่องจากมีการคิดแล้วคิดอีก มีเวอร์ชั่นต่างๆ และทำการแก้ไขอยู่เรื่อยๆ
ผลงานชุดนี้ ทำไมถึงเป็น “ด้วยความเคารพ”
ตอนแรก เราเห็นว่าเรื่องราวทั้งหมดของเพลง หลักๆ ก็จะเป็นเรื่องความรัก ความสัมพันธ์ทั่วไป หลายๆ แบบ หลายๆมุมมอง ผมเลยเสนอว่าทำอัลบั้มโดยมีอะไรที่มันตรงไปตรงมากับคนฟังเลย ผมเลยหาคำที่ปิดท้ายเหมือนเราได้เขียนเรื่องราว จนมาเป็นคำว่า ‘ด้วยความเคารพ’ ปิดท้ายจดหมายว่ามาจากผมนะครับ ซึ่งในการไปหาคำตรงนี้ที่ให้มันตรงกับ surely for, sinly for มันอาจจะเป็นทางการไป แต่คำว่า ‘ด้วยความเคารพ’ มันอาจจะมีความหมายหลายๆ แบบ ด้วยวิธีการทำงานและกระบวนการที่จะทำ
ผมพยายามแบบเคารพตัว vision ที่เรามีอยู่ โจทย์ที่เราตั้งให้เราทำทุกขั้นตอนเองนะ มันควรจะเป็นภาษาไทยนะ ตรงนั้นก็มีส่วนที่ให้พยายามเคารพระบบตรงนั้น อย่างเล็กเขาก็บอกว่ามันมีอะไรที่น่าสนใจ ก่อนที่เราจะพูดอะไร เราจะพูดประโยคนี้ก่อน แล้วเรามักจะพูดในสิ่งเราต้องการจะพูด โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าเขาคิดอะไร เพราะเราให้ความเคารพมาก่อนแล้ว ไม่ว่าจะด่า หรือว่าคำพูดอะไร แต่ของเรามันไม่ได้มีคำหยาบตรงนั้นอยู่ ในการสร้างผลงานตรงนี้ ว่า ด้วยความเคารพ ว่าเราขอเสนอตรงนี้ช่วยฟังหรือไม่ฟัง เราก็อยากให้คนที่ฟัง เขาฟังด้วยความเคารพเหมือนกันหลายๆ อย่าง
พอทำงานชุดนี้เสร็จแล้วเรียบร้อย มีความรู้สึกผ่อนคลายจากการทำงานที่ผ่านมาด้วยมั้ย
ที่ถามว่า ระหว่างการทำงานให้คนอื่น กับ การทำงานของตัวเอง ในส่วนแรก มันจะมีในเรื่องของ input ของคนอื่นบ้าง บางทีที่เราติด หรือ คิดอะไรไม่ออก เราก็จะหันไปถาม ถ้าเขาบอกว่า ‘แล้วแต่’ หรือเขาไม่ติด เราก็อาจจะไม่ติดอะไร หรือว่าถ้าเราเกิดชอบ ก็จะถามคนอื่นว่า ‘คิดเห็นยังไง’ มันจะช่วยในการตัดสินใจของเรา แต่บางครั้งเรามีไอเดียที่เขาไม่ชอบ อาจจะขัดๆ อยู่นิดนึงเหมือนกัน แต่พอเราทำงานคนเดียวแล้ว จากที่ว่ามา มันจะหายไปหมดเลย ไม่มีปฎิกิริยาที่ว่ามาเมื่อกี้ (หัวเราะ) เราก็ต้องตัดสินใจแล้วว่า ชอบ หรือ ไม่ชอบ แล้วจะทำยังไงต่อ เหมือนกับเรามาฝึกตัดสินใจทุกๆ อย่าง ให้โปรเจกต์มันเดินไปต่อได้ ไม่งั้นมันก็จะติดนั่นนี่ เราอยากให้ทุกอย่างมันราบรื่นและวิ่งต่อไป
คล้ายกับสิ่งที่เราค้างคา ได้สำเร็จไปด้วย
ใช่ครับ ถ้าเรามาดูจริงๆ เราตั้งใจกับโปรเจกต์นี้มานานมากแล้ว แต่ด้วยงานที่มีอยู่บางอย่าง อีกทั้งในเรื่องความพร้อม ที่ยังไม่กำหนดทิศทางว่าจะเป็นยังไง อย่างก่อนหน้านั้น เรามีการทำดนตรีมาก่อนด้วยซ้ำ แต่พอมาในส่วนการเขียนเนื้อร้องนั้น เราก็ไม่รู้ว่าจะเขียนถึงอะไร (หัวเราะ) เราก็มีการคิดแบบนี้เหมือนกันนะว่าจะเขียนถึงอะไรดี หรือจะมีความรู้สึกว่า ไม่ได้เขียนถึงเรื่องอะไรเลย มันสนุกในการทำงานดนตรี แต่ไม่ได้มีเรื่องที่จะเล่าหรือไปแชร์กับใคร จนสุดท้าย เพลงในส่วนตรงนั้น ก็ถูกเก็บเอาไว้ จนมาอัลบั้มนี้ ตอนแรกก็มีความรู้สึกที่ว่ามาเหมือนกัน น่าจะ 4 ปีก่อนหน้านั้น เราเอาเรื่องราวที่คนเขารู้กันอยู่แล้ว ในส่วนของเพลงพวกนี้ ก็เป็นเรื่องที่คนเขาแต่งเพลงมา 1000 เพลง แต่เราแค่มาปรับให้อยู่ในมุมมองของเราเอง
มันก็เลยทำให้สิ่งที่ค้างคามาตลอด ก็ได้มาทำในที่สุด
ใช่ครับ แล้วก่อนหน้านั้น พอเราทำงานมันก็จะมีทั้งงานของคนอื่น และงานของตัวเอง ในเวลาว่าง เราก็จะมาทำงานตรงนี้ให้เสร็จ แต่เราเพิ่งมารู้ในเวลาต่อมาว่าเราทำพร้อมกันไม่ได้ เพราะงานที่เขาจ้างมา ยังไงก็ต้องทำให้ก่อน จะมาทำงานของตัวเองพร้อมกันไม่ได้ เพราะถ้าเราทำงานของเราเลย มันจะไม่มีรายได้อะไรเข้ามา แต่พอเราทำงานให้เขา เราก็โอเค ต้องทำตรงนี้ก่อน แต่พอทำงานตรงนี้เสร็จ ก็จะมีงานอื่นเขามาอีก จนพอเรามาเข้าใจว่า ถ้าเราไม่ปฎิเสธงานทุกอย่าง งานของเราจะไม่เคยเสร็จ จน 2 ปีที่แล้ว เราตัดสินใจเลยว่า จะไม่รับงานอะไรเลย จนกว่าผลงานของเราเสร็จ แล้วพอมาถึงช่วงอายุแล้ว เราคิดว่าถ้าอยากจะทำ ก็ควรทำได้แล้ว เพราะถ้าไม่ทำในตอนนี้ เราอาจจะมองกลับมาด้วยความเสียดายก็ได้ เราคิดว่าสิ่งตรงนี้มันสำคัญกว่า เราทำงานตรงนั้น บางทีเรามองกลับมาว่า ถ้าเวลาผ่านไป เราก็ไม่คิดถึงมันอยู่ดี แต่ว่าการที่เราปฎิเสธตรงนั้นไป แล้วมามุ่งทำตรงนี้ พอได้ผลงานตรงนี้ออกมา เรารู้สึกว่า เราได้สร้างผลงานออกมาที่มันเป็นของเรา
13 เพลงในอัลบั้มนี้ ก็คือตามที่คุณต้องการนำเสนอพอดี
ใช่ครับ เพราะทุกอย่างที่เราทำมันอยู่ในโลกของเราเองเลย ซึ่งตรงนี้มันเป็นอะไรที่สำคัญกับเรา ทุกคนก็ขอฟัง เราก็บอกเดี๋ยวๆ ก่อน ค่อยฟังทีเดียว ส่วนมากเราก็ไม่พูดถึงด้วยแหละ อีกอย่างเราก็ไม่อยากสร้างความคาดหวัง ไม่อยากให้ influenct วิธีการทำงานของเราด้วย เราทำทุกอย่างคนเดียวให้มันเสร็จ พอมันถึงจุดนั้นแล้ว ถึงเราออกมาเสนอให้คนฟัง แต่ตอนนี้ คนจะออกมาบอกความรู้สึกต่างๆ เราก็แล้วแต่แล้ว แต่ก่อนนั้น เราแน่ใจว่างานที่เราได้ทำออกมามันตรงกับสิ่งที่เราต้องการ
แน่นอนว่า ในพาร์ทของการทำงานเบื้องหลังเองที่อยู่กับศิลปิน คุณรับมือในส่วนนี้ยังไงบ้าง
ก็แล้วแต่เลยครับ ในหน้าที่โปรดิวเซอร์ เราก็ต้องไปดูว่า ผลงานนั้นมันขาดอะไร เพราะแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน อย่างบางงาน ทางศิลปินก็ทำงานเกือบเสร็จแล้ว เขาแค่ต้องการคำแนะนำว่า เปลี่ยนนิดหน่อย ยกตัวอย่าง เช่น 25 Hours ชุด Mom & Popshop คือตัวอัลบั้มเสร็จหมดแล้ว แต่พวกเขายังรู้สึกว่า เสียงที่เขาได้ตรงนั้น เขาคิดว่ามันยังไปได้อีก เราให้คำแนะนำว่า ควรจะไปอัดอะไรใหม่ เปลี่ยนเสียง หรือ บันทึกเสียงที่มันแตกต่างกัน มันก็อาจจะเปลี่ยนการฟังเพลงบางส่วนของเขาไป แต่โดยรวม เขาเป็น unit ที่สร้างงานได้อยู่แล้ว
หรืออย่างเคสของเล็ก เขาจะมีคอร์ดกีต้าร์และทำนอง มันก็มีการเรียนรู้ว่า มาหาจุดที่เขาขาดว่า เราจะไปเสริมตรงไหน ซึ่งเป็นหน้าที่ของโปรดิวเซอร์ทั่วไป เพราะถ้าเราเข่ามาเป็นส่วนอื่นในการทำเพลง มันก็เป็นอีกหน้าที่หนึ่ง บางทีเราก็เอามารวมกัน แต่หน้าที่ของโปรดิวเซอร์นั้น จะเป็นคนที่เข้ามาช่วยตัดสินใจว่า เพลงหรือ อัลบั้มนั้นมันขาดหรือจะเปลี่ยนอะไรบ้าง ใช้การตัดสินใจที่เราคิดว่ามันสร้างสรรค์ แล้วจะพาเพลงต่างๆ ไปสู่จุดที่มันสูงกว่า มากกว่า
ขณะเดียวกัน จากการทำงานโปรดิวเซอร์ของคุณเอง มันเหมือนกับเป็นการทดลองทางดนตรีของตัวเองด้วยมั้ยครับ
ใช่ครับ เหมือนกับเรามี Influence จากเพลงที่เราฟัง คอนเสิร์ตที่เราไปดู หรือ ศิลปินที่เราชอบ เหมือนทุกอย่างที่เราเก็บมา แล้วพอเราเก็บมาตรงนี้ และโปรดิวซ์งานวงต่างๆ เราก็ดึงจากสิ่งพวกนี้เอามาใช้ ว่าเรามาลองแบบนี้ดูมั้ย บางทีทางฝั่งศิลปินก็มีความเห็นตรงกัน ว่าเอาในส่วนนี้มาใช้ หรือบางทีถ้าใส่ลงไปแล้วมันอาจจะแปลกไป บางทีเราก็อาจจะรู้สึกว่าไม่เข้า พอเราได้ทดลองมาแล้ว มันก็จะมีในบางส่วนที่เราใช้อยู่ เราจะมาใช้ซ้ำๆ ได้ มันก็จะเป็นลายเซ็นของตัวเอง แล้วตรงนั้นก็จะมาใช้กับงานของตัวเองด้วย แต่ว่าทุกงานที่เราทำงานกับศิลปินคนอื่น มันก็เหมือนกับการทดลองวิธีการต่างๆ
เรียนรู้จากเขาและก็นำมาใช้
คือถ้าเรามาดูอัลบั้มแรกๆ ที่ผมทำงานให้กับศิลปินไทย คือ Slot Machine อัลบั้ม Cell ชุดนี้ ผมช่วยเขาอัดเสียง มีส่วนในการเรียบเรียง และดูในส่วนของการร้อง งานของ 25 Hours และ งานของเล็ก ก็เหมือนกัน แต่พอมาเป็นชุด ดำสนิท จะเป็นชุดแรกที่ช่วยในการเรียบเรียงอัด บันทึกเสียง และมิกซ์เสียงด้วย พอทำหน้าที่ในชุดนี้ก็รู้สึกว่ามีความพอใจในขั้นตอนตรงนั้นที่เราทำเอง พอถึงจุดนั้นแล้ว ก็รู้สึกว่า ตอนนี้ ในเรื่องข้อจำกัดนั้น มันไม่มีแล้ว ถ้าเราทำงานของตัวเอง เราสามารถที่จะไม่ไปรบกวนคนอื่นแล้ว ตอนนั้นก็อย่างที่บอกว่า เราพร้อมหมดแล้ว ขาดแค่ส่วนที่สำคัญที่สุดนั่นแหละ คือเราเก็บขั้นตอนที่คิดว่ามันง่ายตามลำดับ จนมาถึงการแต่งเนื้อร้อง ที่น่าจะสำคัญที่สุด เป็นส่วนสุดท้าย พอตรงนี้ได้ปุ๊บ ที่เหลือก็ง่ายแล้ว เลยทำให้ความสมบูรณ์ที่เล่ามา ก็สามารถผลิตงานได้เรื่อยๆ แล้ว
ซึ่งก็รวมถึงโปรเจกต์ LYRA ด้วย
สำหรับการทำงานกับ LYRA มันเริ่มมาจากการเป็นที่ปรึกษาในค่าย Universal Thailand เขาก็จะเข้ามาถามเรื่องเพลงกับเราอยู่บ่อยๆ เขาก็มาถามว่า เพลงนี้เป็นอย่างไรบ้าง มันอาจจะมีทฤษฎีหน่อย เราก็เข้ามาช่วยตรงนั้น จนกระทั่งมาถึงช่วงที่ค่าย ไปคุยกับทาง ค่าย Iam ในเรื่องโปรเจกต์นี้ขึ้นมา ซึ่งทางผู้บริหารก็เรียกเราเข้ามาพูดถึงในเรื่องของการช่วยกันทำงาน เพราะว่ามีส่วนในเรื่องของระดับสากลเข้ามาแล้ว จนพอเราได้รับในส่วนของเพลงต่างๆ เราก็เอาโครงเพลงที่คนแต่งที่นี่ ไปเสนอกับโปรดิวเซอร์ต่างๆ ที่ต่างประเทศ เราคิดว่าเนื้อเพลงและทำนองเพลงไทยให้ต่างชาติเขาทำโปรดักชั่นกลับมา ก็จะเป็นอะไรที่เราต้องการ ในเรื่องของเสียงที่มีความสดใหม่ แต่ก็ยังมีความเป็นไทยอยู่
ซึ่งในช่วง 2-3 เดือนแรก เราก็พยายามติดต่อโปรดิวเซอร์ที่ว่านี้ แต่ปรากฏว่ามันยังไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ ซึ่งทางผู้บริหารของทั้ง 2 ค่าย ก็คิดแบบเดียวกับเราว่า มันยังไม่ใช่เหมือนกัน เราก็มานั่งวิเคราะห์ว่า เพราะอะไรถึงยังไม่ตรงกับสิ่งที่เขาต้องการ แถมเวลาในช่วงนั้นมันก็จะใกล้หมดแล้ว ซึ่งตอนแรกสุด ยูนิตนี้ จะทำการบินไปที่แอลเอ แต่ก็มาเจอวิกฤตโควิด-19 ซะก่อน ทุกอย่างก็ถูกพักไป แต่ตารางงานทั้งหมด ก็ยังดำเนินการต่อไปอยู่ ผมก็เลยถามทางผู้บริหารค่ายว่า ให้เราเข้าไปลองดูมั้ย เพราะว่า เราอยากลองดู แต่งและโปรดิวซ์ 1 เพลง ซึ่งก็คือเพลง LYRA นี่แหละ แล้วเราก็นึกถึง Richard Cracker เขาเป็นโปรดิวเซอร์และเอ็นจิเนียร์ทางด้านเสียงที่เก่ง ก็เลยถามว่า สนใจที่จะมาร่วมงานกันมั้ย ผมก็เลยไปทำเดโมกับเขา แล้วส่งกลับมาทางค่าย ปรากฏว่าทางค่ายชอบ และคิดว่ามันจะใช่ เพราะเราตอบโด้กับทางต่างประเทศมาตลอด 2 เดือน เราคิดตลอดว่า อยากจะใส่อะไรในตัวเพลงที่เราทำกันมา ซึ่งบังเอิญเขาก็ชอบกัน หลังจากนั้นก็มีการเผยแพร่ให้ฟัง ทั้งในค่าย รวมถึงตัวน้องๆ ทั้ง 6 คน ผลตอบรับก็ดี ซึ่งเราจำได้ว่า เหลืออีกแค่ 2 อาทิตย์ที่จะเข้าไปบันทึกเสียงแล้ว ผมเลยบอกว่า เดี๋ยวจะเข้าไปทำเพลงกับริชาร์ดอีกเพลง ปรากฏว่าทางค่ายก็โอเคอีก เราก็เริ่มเข้าใจวิธีตรงนี้แล้ว เลยนำเพลงนี้มาทำเพิ่มเติม รวมเป็น 3 เพลง
ทั้งๆ ที่ เราก็ไม่ได้อยากจะมาทำตรงนี้นะ เพราะว่ามันก็ไม่ใช่หน้าที่ของเรานะ เขาแค่เรียกเราเข้ามาช่วยติดต่อโปรดิวเซอร์คนอื่นมาช่วย ซึ่งในบางช่วงเราก็เข้าใจนะว่าเขาต้องการอะไร ถ้าเราลงมือทำ มันจะเร็วกว่า แต่เราก็พยายามไม่ทำตรงนั้น เพราะอย่างที่บอกว่า มันไม่ใช่หน้าที่ของเรา แต่ในที่สุด เราก็เสนอไปว่า ให้เราลองทำดูมั้ย ปรากฏว่าทุกฝ่ายโอเค เลยได้มาทำตรงนี้ ซึ่งดดยส่วนตัวเราเองนั้น ถือว่าไม่ได้เป็นแนวที่เราถนัด เพราะเราไม่ได้ทำแนวป็อป หรือ แนวไอดอล มาก่อน เราแค่มาศึกษาว่า เพลงลักษณะนี้ มันควรจะเป็นแบบไหน การที่มาแบ่งส่วนในการร้องให้กับเด็กสาวทั้ง 6 คน มันควรจะเป็นยังไง ซึ่งผมก็ต้องมาแบ่งให้เท่าๆ กันนะ เพราะอาจทำให้แฟนๆ อาจจะรู้สึกไม่ดี ซึ่งมันมี system ที่น่าสนใจดี จนพอทำมา 3 เพลง ก็เริ่มเข้าใจมันมากขึ้น
กลายเป็นว่า เพลงแนวนี้ ก็ทลายกำแพงส่วนตัวของคุณด้วย
ใช่ครับ เพราะในการที่เราไม่ถนัดเนี่ย มันเปิดโอกาสให้เราทำอะไรที่มันใหม่ ซึ่งพอทำออกมาแล้ว คนฟังก็จะรู้สึกว่า นี่มันคืออะไร ซึ่งถ้าเกิดความตื่นเต้นในหมู่คนฟังแล้ว ที่เหลือก็ไม่สำคัญแล้วว่ามันจะตามรูปแบบหรือเปล่า ถ้าเขาฟังแล้วเชื่อมต่อกับมันได้ ส่วนของเสียงดนตรี และวิธีการร้อง เมโลดี้ต่างๆ ตรงนี้ พอเรามีโอกาสที่ได้มาทำในสิ่งที่มันแตกต่างนิดนึง ผมว่ามันทำให้เพลงมันแข็งแรงกว่า ซึ่งหลังจากซิงเกิลปล่อยออกไป ก็จะมี 2 กลุ่ม หนึ่ง คนที่ชอบทีมนี้อยู่แล้ว จากแฟนๆ BNK48 ที่เขาฟังแล้วชอบ กับอีกกลุ่มคือ คนที่ฟังเพลง เขาก็จะมีคำถามว่า ใครทำเพลงนี้ จนเขาไปหาเครดิตคนทำ แล้วตกใจว่า มณฑลมาทำเพลงนี้เหรอ มาอยู่ตรงนี้ได้ยังไง (หัวเราะ)
อย่างที่บอกว่า เราทำงานตรงนี้มันมีลายเซ็นอยู่ แต่ตรงนี้ บางทีมันก็แบบเราไม่ได้ดึงอะไรมาจากงานอื่นๆ เลย ในส่วนโปรดักชั่นของเพลง มันจะดูมีความเงา อีกอย่างเราได้โจทย์มาว่า มันฟังแล้วดูอินเตอร์ได้ แต่มีรสชาติในความเป็นเพลงไทย นอกเหนือจากเนื้อ เราก็เลยเอาเครื่องดนตรีต่างๆ มีแคน มีพิณมาใส่ โดยที่ไม่ได้เน้นตรงนั้นเกินไป แทนที่จะมาแบบโดดๆ เราก็หาวิธีใส่เข้าไป พอดีได้ต้น จากต้นตระกูล มาเล่นให้ มันเลยกลายเป็นผลลัพธ์ให้คนจากที่นี่ และสื่อต่างประเทศอยากจะรู้ว่าเครื่องดนตรีนี้คืออะไร และเป็นเรื่องใหม่สำหรับเขาด้วย ว่ามีเครื่องดนตรีแบบโบรารณมาอยู่ในเพลงด้วย เขาเลยเริ่มมาเรียกว่าเป็น T-POP จริงๆ
ในหมู่นักฟังเพลงไทย เขาบอกว่างานที่คุณเป็นโปรดิวเซอร์นั้นถือว่าเป็นงานคุณภาพ โดยส่วนตัวแล้วอะไรที่ทำให้เป็นปัจจัยเหล่านั้น และโดยส่วนตัวแล้วถือว่าเป็นความสำเร็จของตัวเองด้วยมั้ยครับ
(นิ่งคิด) ถ้าคนฟังแล้วชอบมันก็แล้วแต่นะว่าจะมองยังไง แต่สำหรับผม ผมว่ามันมีความแตกต่างอยู่ เพราะโปรดิวเซิอร์แต่ละคนที่ทำเพลงออกมามันจะไม่เหมือนกันหรอก แต่ละคนฟังเพลงที่ไม่เหมือนกันอยู่ดี สำหรับคนที่ฟังผลงานแล้วเขาชอบ เราก็ต้องไปดูว่าเขาชอบในส่วนไหน แต่ที่เราได้ยินมาจะเป็นแบบว่า มันจะมีการสร้าง texture ในเสียงที่เป็นเอกลักษณ์กับวิธีการทำงานของเรา เหมือนเป็นลายเซ็นของเรา วึ่งบางคนเขาก็ชอบตรงนั้น
อย่างถ้าพูดถึง LYRA นั่นคือวิธีการที่เราจะทำเพลงป็อป แล้วเราเข้าไปถึงจุดนั้นรึเปล่า เราก็ไม่รู้ มันจะคล้ายความเป็นเพลงป็อปตรงนั้น แต่มันก็มีความแตกต่างอยู่ ในการสร้างผลงานของตัวเอง เราอาจจะไม่ได้มีจุดที่เราพยายามตามแบบนั้นอยู่ เราพยายามสร้างอะไรที่มันมีความผสมผสานหลายๆ แนวมาเข้าอยู่ด้วยกัน แล้วพอตัวเองรู้สึกว่าตรงนั้นมันครบและเสร็จแล้ว อย่างน้อยเราก็รู้ว่า สิ่งที่ทำตรงนี้ มันเป็นการรวบรวมประสบการณ์ต่างๆ จากผลงานที่เราฟังมา มาอยู่ในงานชิ้นเดียว
พอมันมีผลงานนี้แล้ว เราหวังว่า คนที่ฟังงานของเราจะรู้ว่าอะไรที่มันยืนอยู่ในโลกของมันเองได้ คนส่วนน้อยที่อาจจะอยากมาฟังอัไรที่มันแปลกแบบนี้ แต่อย่างน้อยคนที่ฟัง เขาเห็นคุณค่าของงาน เขาเลยชื่นชมตรงนี้ และถือว่ามันสำเร็จในมุมส่วนตัว ตั้งแต่ที่บอกว่า ‘ผ่าน’ เรามีความสุขกับตรงนี้แล้ว แต่ถ้าเขามาฟังแล้วไม่ชอบ หลังจากนั้น เราก็มาวิเคราะห์ว่าในขั้นตอนคร่าวก่อนนั้น มันขาดอะไรอยู่ เราจะมีการเปลี่ยนมั้ย หรือในตอนนั้นเรามั่นใจว่าสิ่งที่เราทำมันถูกแล้ว เราก็ต้องทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แน่นอนว่ามันจะมีบางเพลงที่เชื่อมกับคนฟังได้มากกว่าเพลงอื่น แต่ขอให้ทุกเพลงที่เราทำ ขอให้รู้สึกว่า มันจบในตัวมันเองแล้ว
กับคำนิยามที่ว่า คุณเป็นนักวิทยาศาสตร์ในห้องแล็ปทางดนตรี คิดว่ามีสิ่งไหนที่อยากจะทดลองอยู่บ้างครับ
มันมีหลายปัจจัยที่เราเอามาใช้อยู่เรื่อยๆ ยังอัลบั้มชุดนี้ พอมันถึงเวลาที่จะทำ มันมีบางส่วนที่เราเอามาลองได้ จนมาถึงช่วงที่เราทำงานใกล้เสร็จแล้ว มันก็ควรที่จะให้ออกมา มันมีบางขั้นตอนที่เราอยากจะใช้เวลาเล่นให้นานกว่านี้ ซึ่งพอถึงเวลานั้น เราจึงนำเวลาเล่นหรือทดลองในส่วนของการเก็บเสียงต่างๆเพื่องานลำดับต่อๆไป เราก็เอามาเล่นกับตรงนี้ มันเหมือนกับเราได้ทดลองและเรียรู้กับสิ่งตรงนี้เยอะกว่าคนอื่น เพราะความสนใจของเรามันมาจากตรงนี้ไง เราชอบสร้างเสียงที่มันแตกต่างหรือเปล่า เราพยายามที่จะเรียนรุ้ตรงนั้น แล้วก็ให้ความสำคัญกับตรงนั้นสูงหน่อย
แต่บางทีมันก็มากเกินไป จนคนฟังอาจจะคิดว่าไม่สำคัญ ซึ่งก็มีเพื่อนโปรดิวเซอร์เขาก็มาบอกเราเหมือนกันนะว่า ความสำคัญมันอยู่ตรงเพลง เขาไม่สนหรอกว่าเสียงสแนร์มันอยู่ตรงไหน แล้วสิ่งหนึ่งคือ ถ้าเพลงมันดัง คนเขียนเพลงนั้นเขาคือเจ้าของตลอดไป คนอื่นจะมาอัดใหม่ เสียงสแนร์อาจจะเปลี่ยนไป แต่เพลงมันเหมือนเดิม หรือมีโปรดักชั่นใหม่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่เพลงมันก็ยังเป็นเพลง เราก็เลยต้องมาแบ่งตรงนี้เอา แต่ในระยะเวลา 10-20 ปี ที่ผ่านมา เราไปเน้นในเรื่องการสร้างเสียง นั่นมันก็อยู่กับเราแล้ว มันเป็นวิชาที่เราเก็บเอาไว้ในการทำงาน ไม่ว่าจะเน้นในการแต่งคำร้อง-ทำนอง หรือ แต่งเพื่อเป็นการบรรเลงโดยที่ไม่มีเนื้อร้องเลย
เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : ธนิดา อิ่มเอก และ ณัฐพล ด่านรักษา