การสร้างสรรค์เสียงเพลงเป็นสิ่งที่นักดนตรีทุกคนรักและต้องการทำให้ดีที่สุด เพราะท่วงทำนองในเพลงนั้นย่อมสื่อความหมายในแง่มุมต่างๆ นักดนตรีเองนั้นจะต้องมีความรู้ในเรื่องคีย์เสียงและการเทียบเสียงคำร้องกับเครื่องดนตรีด้วย อาชีพนี้อาจกำลังตรงกับความใฝ่ฝันของใครหลายคน สารรังสิตอยากพามารู้จักกับ บุคคลเบื้องหลังที่สร้างสรรค์เสียงเพลงอันจากภาพยนตร์เรื่อง ซีซันส์เชนจ์ เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย (Seasons Change) อยากให้รู้จักคนนี้ไปด้วย อาจารย์บุญรัตน์ ศิริรัตนพันธผู้แต่งเพลงประกอบเพลงภาพยนตร์เพลงนี้นั่นเอง
จุดเริ่มต้นของคนชอบดนตรีเกิดขึ้นเมื่อไหร่?
อาจารย์บุญรัตน์ ศิริรัตนพันธ อาจารย์ประจำวิทยาลัยดนตรี และอาจารย์ดีเด่นประจำปี 2563 มหาวิทยาลัยรังสิต ศิษย์เก่าสาขาการประพันธ์เพลง (MUSIC COMPOSITION) หลักสูตรดุริยางคศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งอาจารย์เรียนจบระดับชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนโรงเรียนเทพศิรินทร์เป็นเด็กกรุงเทพโดยกำเนิด ที่โรงเรียนแห่งนี้เองเป็นโรงเรียนที่มีวงโยธวาทิต (Military Band) อาจารย์สมัครเข้าวงเพราะอยากเป็นดรัมเมเยอร์ แต่กลายเป็นว่าไม่ใช่สิ่งที่ถนัด จึงหันไปเล่นดนตรีแทน ด้วยความที่เล่นดนตรีไปด้วย อ่านหนังสือไปด้วย ซึ่งจะมีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งชื่อว่า คีตกวี ปรัชญาเมธีแห่งภาษาสากลเป็นหนังสือที่อ่านแล้วทำให้เกิดแรงบันดาลใจ ทำให้อยากเป็นคนแต่งเพลงเมื่อหนังสือกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจ จึงเริ่มต้นความอยากเป็นนักดนตรีด้วยการเริ่มลอกเพลง จากบทเพลงนั้นบทเพลงนี้ ลอกโน้ต ลอกวิธีการแต่ง ทดลองแต่งและให้เพื่อนช่วยเล่นให้ เรียกว่าลองแต่งไปลองเล่นไปจนทำให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น กลายเป็นความชอบและแต่งเพลงได้ตั้งแต่ตอนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เป็นต้นมา จากเพลงสั้นๆไม่กี่นาทีจนสามารถแต่งได้ความยาว 40-50 นาที จนช่วงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ได้รู้จักกับรุ่นพี่ CU Brand ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังหาคนเล่นดนตรีเครื่องดนตรีทรอมโบน (Trombone) จึงได้เขาไปเล่นประจำตั้งแต่นั้นมา
ช่วงมหาวิทยาลัยนั้นอาจารย์บุญรัตน์ สอบเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีภาควิชาการภาพยนตร์และภาพนิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งในตอนนั้นเองเข้าใจว่าเป็นสาขาที่พอจะเข้ากับการแต่งเพลงที่สุด ระหว่างเรียนมหาวิทยาลัยมีโอกาสได้แต่งเพลงให้กับละครนิเทศศาสตร์จุฬาฯ ในยุคของ ไก่-สมพล ปิยะพงศ์สิริ และ ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม แต่งเพลงละครมิวสิคัล (Musical)เต็มรูปแบบ และสมัยนั้นเป็นการเขียนเพลงแบบไม่ใช้เทคโนโลยี เขียนมือทุกเพลง เหล่านี้เป็นประสบการณ์ที่สนุก ทำให้มีโอกาสรับเขียนเพลงให้งานต่างๆ อาทิ จุฬาฯวิชาการ เป็นต้น
ประตูสู่เส้นทางนักแต่งเพลงอาชีพเต็มรูปแบบ
เมื่อเดินทางสายแต่งเพลงมาถูกทาง เริ่มจริงจังกับอาชีพนี้มากขึ้นได้ลงเรียนวิชา Music Theatre ขณะนั้นผู้สอนคือ อาจารย์บรูซ แกสตัน (Bruce Gaston) และส่วนตัวอยากทำเพลงผสมผสานระหว่างดนตรีของไทยกับดนตรีแนวตะวันตก จากการได้เรียนกับไอดอลหลังจับการศึกษาปริญญาตรี อาจารย์บรูซ ได้ชักชวนให้ไปอยู่วงดนตรีฟองน้ำ ที่นี่ทำให้เราเรียนรู้อะไรใหม่ๆ มากขึ้น จากที่เคยเห็นการทำงานแบบมือสมัครเล่นได้มาศึกษาสัมผัสกับมืออาชีพ นักร้อง นักดนตรี นักแต่งเพลง ศิลปินแห่งชาติ ทำให้ยกระดับความคิดเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ตลอด 4 ปีที่ทำงานกับวงฟองน้ำ งานแรกที่ได้ทำคือการทำเพลงร็อคโอเปร่า"อิเหนา-จรกา" ให้กับ ภัทราวดี เธียเตอร์ จากนั้นได้ร่วมงานกับอาจารย์มานพ มีจำรัส ศิลปินศิลปาธรสาขาศิลปะการแสดงจนปัจจุบัน
การทำงานที่วงฟองน้ำในฐานะนักแต่งเพลงเสมือนเป็นแบบฝึกหัดมากกว่าการทำงาน เพราะหลายต่อหลายครั้งเพลงที่เขียนดีก็ได้รับคำชมเขียนไม่ดีก็มีคอมเม้นท์บ้าง ตรงนี้เองทำให้เกิดการเรียนรู้สะสมมาเรื่อยๆ การทำงานกับศิลปินนักดนตรีระดับชั้นครูทั้งในและต่างประเทศ อาทิ อาจารย์ดนู ฮันตระกูล ศิลปินศิลปาธร สาขาคีตศิลป์ อาจารย์สมเถา สุจริตกุล ศิลปินศิลปาธร สาขาดนตรี ,อาจารย์จิรพรรณ อังศวานนท์ ทำให้เกิดการต่อยอดงานด้านต่างๆ ได้รู้จักการทำอีเว้นท์ คุณจก เสริมคุณคุณาวงศ์ รู้จักการทำแสง สี เสียง รวมถึงมาตรฐานการทำงานของคนดนตรีคุณภาพต่างๆ มากมาย เป็นประสบการณ์ที่หาซื้อไม่ได้ที่เราต้องตักตวงเก็บไว้เป็นประสบการณ์ และสุดท้ายได้มีโอกาสรับงานแต่งเพลงเอง (Freeland) เริ่มรับงานจากเพื่อนๆ เครือข่ายกันเองจนปัจจุบัน
ประสบการณ์ที่ดีมีไว้แบ่งปัน ส่งต่อคนดนตรีรุ่นใหม่
จากการทำงานวงฟองน้ำสู่วงกอไผ่ ซึ่งมีหัวหน้าวงคือ อาจารย์อานันท์ นาคคง ศิลปินศิลปาธร สาขาดนตรีประจำปี 2562 ซึ่งเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทาบทามให้ไปเป็นอาจารย์พิเศษบรรยายเกี่ยวกับดนตรีประกอบภาพยนตร์ จากบทบาทนักแต่งเพลง ได้เข้าสู่สายวิชาการเป็นอาจารย์อีกหนึ่งบทบาท ได้นำความรู้และประสบการณ์มาแบ่งปันนักศึกษาในเรื่องของการทำโปรดักชั่นของดนตรี และประวัติศาสตร์ดนตรีตะวันตก อยู่ประมาณ 6 ปี จากนั้นได้ย้ายมาสอนที่วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต จนปัจจุบันสอนที่มหาวิทยาลัยรังสิตได้ 10กว่าปีแล้ว
สิ่งที่พยายามปลุกปั้นให้กับนักศึกษาที่วันหนึ่งเขาจะเป็นนักดนตรี หรือคนในสายอาชีพดนตรี โดยเฉพาะในสายโปรดักชั่นว่า “อาจารย์เปรียบเสมือนลูกค้า นักศึกษาต้องทำงานส่งให้ทัน ถ้าคุณไม่มีงานให้กับลูกค้าพึงคิดว่าลูกค้าจะทำอย่างไรกับคุณ?” ฉะนั้น แรงบันดาลใจเป็นเรื่องที่ควรนำมาใช้เวลาทำงานสัก 5% ที่เหลือคือแรงงาน เพราะฉะนั้นแรงบันดาลใจคิดได้โดยใช้เวลาไม่นาน เพราะเกิดขึ้นได้ทุกช่วงเวลาขอให้จดบันทึกเอาไว้ หลังจากนั้นคือการลงมือทำ เราต้องเคารพงานของเราหมายความว่าเมื่อเราเป็นคนสร้างสรรค์งานได้แล้ว เราต้องเป็นคนลงมือทำเพื่อสนับสนุนงานสร้างสรรค์นั้นด้วย ฉะนั้นเราต้องเคารพวิธีคิด มีวินัย ทำงานแบบไม่ต้องรอแรงบันดาลใจ แล้วจะได้งาน แม้ว่าเราทำงานแล้วแต่งานนั้นออกมายังไม่ดีพอ ไม่ได้หมายความว่ามันใช้ไม่ได้ แต่เราได้ลงมือทำ ได้ลงมือฝึกแล้ว หากฝึกทุกวัน ทำทุกวัน งานที่ดีจะตามมาโดยไม่ต้องรอ ความชำนาญความเป็น Creative จะตามพร้อมกันอีกด้วย
เทคนิคการสอนนักศึกษาด้านดนตรี
การสอนดนตรีให้เด็กดนตรีเกิดจากความรู้ที่ได้รับมาจากอาจารย์บรูซ เนื่องจากวิธีการสอนของอาจารย์ท่านนี้คล้ายกับบ้านปี่พาทย์ของดนตรีไทยหมายถึงการได้ไปอยู่กับครู เรียนกับครู จะมีทั้งคำติชมต่างๆนานา ตรงนี้แหละเรียกว่าเป็นการเรียนรู้และวิชาที่ได้รับมาคือการเขียนเพลงสมัยใหม่ เพลงคลากสิก พื้นฐานของดนตรีตะวันตกที่ค่อนข้างเข้มข้น ด้วยมาตรฐานที่ค่อนข้างสูงส่งผลให้เรานำข้อดีมาใช้ในคลาสการเรียนการสอน โดยบรรยากาศการเรียนจะเน้นความเป็นกันเอง ในฐานะนักแต่งเพลงที่มาเป็นอาจารย์ด้วย อาจารย์บุญรัตน์มองว่า ทฤษฎีทุกอย่างที่เกิดขึ้นให้เราได้นำมาใช้นั้นเป็นเพียงแค่ชุดเครื่องมือในการนำมาแก้ไขปัญหา เราเจอเรื่องนี้ใช้ทฤษฎีนี้ดี เจออีกปัญหาต้องเปลี่ยนอีกทฤษฎี เป็นต้น การเขียนหรือแต่งเพลงก็เช่นกัน หากเราจะสอนให้นักศึกษาเขียนเพลงคลาสสิกเราต้องใช้ทฤษฎีนี้ ยุคไหน สมัยไหน เพื่อให้ตรงกับงานที่เราต้องการจะสร้างสรรค์ ตัวอย่าง การสอนนักศึกษาที่ถนัดเพลงร็อควิธีการคือให้เขาใช้ชุดเครื่องมือที่เขาถนัดเสียก่อน แล้วนำมาแชร์กันว่าเครื่องมือนี้ใช้ทำอะไรได้บ้าง จากนั้นจึงเติมในส่วนอื่นเพิ่มเติม เสมือนเราเป็นคนป้อนชุดเครื่องมือให้นักศึกษาเพื่อนำไปสร้างสรรค์งานของเขา แต่สิ่งที่สำคัญคือเราต้องเคารพงานของนักศึกษา
ผลงานการแต่งเพลงที่หลายคนคุ้นหูคุ้นตา
“งานแต่งเพลงการแสดง แสง สี เสียง ปราสาทหินนครวัด ประเทศกัมพูชา ที่มีเนื้อภาษาไทยและภาษาอังกฤษ งานแต่งเพลงชื่อว่าEpisode of E.O.D.ซึ่งเป็นเพลงคลาสสิกเรื่องราวของหน่วยเก็บกู้ระเบิด (ความยาว 50 นาที) ได้ถูกนำไปเล่นในต่างประเทศ อาทิ เยอรมัน สวิสเซอร์แลนด์ แอฟริกาใต้ ไต้หวัน และญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีเพลงที่หาฟังได้ง่ายๆ อย่างเพลงประจำทางช่อง Thai PBS เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง ซีซันส์เชนจ์ เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย (Seasons Change) เป็นดนตรีประกอบเพลง Weather Dance และ “ฤดูที่แตกต่าง” (Seasons Change)
อยากเรียนเป็นนักแต่งเพลงอาชีพต้องเตรียมตัวอย่างไร?
ก่อนอื่นเราต้องถามตัวเองว่า เราสามารถใช้เวลาอยู่กับสิ่งนี้ได้ทั้งวันทั้งคืนหรือเปล่า ให้เริ่มว่าเราอยากเป็นคนเขียนเพลงจริงๆหรือเปล่า? หรืออยากเป็นดารา อาชีพนักแต่งเพลงอย่างดนตรีคลาสสิก หรือเพลงประกอบภาพยนตร์ ในความเห็นของอาจารย์คิดว่ามีความละม้ายคล้ายคลึงกับนักวิทยาศาสตร์มากกว่า นั่นคือ อยู่ในห้องแลปต้องอยู่กับวงดนตรี เครื่องดนตรีนั้นๆ อยู่ระยะหนึ่งเพื่อทดลองฟังเสียงเหล่านั้น วิเคราะห์เสียงเหล่านั้น เราเจออะไร? เรารู้จักเสียงเหล่านั้นมากน้อยแค่ไหนเพื่อที่จะนำมาใช้ในเพลงของเรา เพื่อให้ผลงานดนตรีที่เราเขียนหรือสร้างขึ้นมีอารมณ์ ความรู้สึก ที่ผู้ฟังสัมผัสได้
ดังนั้น การแต่งเพลงจะแต่งอย่างไรก็ได้ จะแต่งให้คนรักก็ได้ คนเกลียดก็ได้ แต่ทำอย่างไรก็ได้ให้เขาฟังเพลงคุณ จะแต่งเพลงรักให้เขารักที่สุด จะแต่งเพลงเกลียดต้องเกลียดให้ถึงกึ๋น แต่อย่าให้ผู้ฟังรู้สึกเฉยๆ นั่นหมายความว่าคุณไม่ประสบความสำเร็จ นี่คือ อาชีพนักแต่งเพลง ที่คนอยากเป็นต้องเข้าใจ