xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก “บ่อบาดาลยักษ์” แห่งแรกในไทย เกิดขึ้นที่หาดท่าเสาเมืองชัยนาท มีน้ำกินใช้ตลอดปี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดชัยนาท
ต้นแบบบ่อน้ำบาดาลยักษ์แห่งแรกในไทย เกิดขึ้นแล้วที่ชัยนาท สร้างด้วยงบประมาณ 38 ล้าน เจาะบ่อ 24 นิ้ว ลึก 48 เมตร สูบน้ำใต้ดินที่มีน้ำบาดาลร่วมกับน้ำผิวดิน ริมฝั่งแม่น้ำ ให้มีน้ำกินน้ำใช้ตลอดปี เตรียมนำไปใช้ในภาคอีสานแก้ปัญหาภัยแล้ง

ข่าวกรอบเล็กๆ ที่น้อยคนนักจะสนใจ แต่อาจจะเป็นความหวังในการแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 21 ต.ค. โครงการพัฒนาน้ำบาดาลขนาดใหญ่ (Riverbank Filtration หรือ RBF)ที่บ้านธัญญอุดม หมู่ 6 ต.หาดท่าเสา อ.เมืองฯ จ.ชัยนาท ได้เปิดใช้อย่างเป็นทางการ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการส่งมอบบ่อน้ำบาดาลแก่ประชาชนในพื้นที่ และกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการจัดการด้านน้ำสำหรับอุปโภค บริโภคให้กับประชาชนในทุกฤดู

โดยทำควบคู่ทั้งแนวทางการกักเก็บน้ำฝนในแบบ “น้ำผิวดิน” และ “น้ำใต้ดิน” ให้มากที่สุด เพื่อรองรับภัยแล้งฤดูกาลหน้า

ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดชัยนาท
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ทำโครงการพัฒนาน้ำบาดาลขนาดใหญ่ เพื่อนำน้ำบาดาลบริเวณใกล้แม่น้ำที่มีปริมาณมาก เป็นน้ำบาดาลคุณภาพดี เนื่องจากผ่านการกรองโดยธรรมชาติมาใช้พัฒนาเป็นแหล่งน้ำต้นทุน ไม่ส่งผลกระทบต่อน้ำผิวดิน

โดยเริ่มในพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัด คือ ชัยนาท ราชบุรี สุพรรณบุรี ซึ่งภาพรวมจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผน กำหนดทิศทางการพัฒนาและการบริหารจัดการน้ำบาดาลร่วมกับน้ำผิวดินบริเวณพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำสายหลักของประเทศด้วย

ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดชัยนาท
สำหรับโครงการพัฒนาน้ำบาดาลขนาดใหญ่ (RBF) แห่งแรกของประเทศไทย กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก่อสร้างตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 แล้วเสร็จเมื่อเดือนตุลาคม 2563 ใช้งบประมาณ 38.89 ล้านบาท

บ่อบาดาลดังกล่าว มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 24 นิ้ว หรือ 60 เซนติเมตร เท่ากับไม้บรรทัดสองอันรวมกัน ลึกประมาณ 48 เมตร สามารถสูบน้ำได้ 250 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง หรือ 4,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน

การขุดเจาะและก่อสร้างบ่อบาดาลขนาดใหญ่ ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า RBF สูบน้ำผสมน้ำบาดาลร่วมกับน้ำผิวดิน บริเวณริมฝั่งแม่น้ำสายหลัก ก่อสร้างโดยเหล็ก ท่อรับทราย กรวด ชั้นหิน และท่อกรองน้ำ พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำบาดาลขนาด 125 แรงม้า

ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดชัยนาท
นอกจากนี้ ยังก่อสร้างหอถังเหล็กเก็บน้ำ ขนาดความจุ 300 ลูกบาศก์เมตร ความสูง 30 เมตร และถังกรองสนิมเหล็ก เชื่อมกับระบบประปาเดิมของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นหอถังเก็บน้ำคอนกรีต สำหรับสถานีอนามัยหรือประปาในชุมชน

ถือเป็นบ่อน้ำบาดาลยักษ์แห่งแรกของประเทศไทย เทียบเท่าระบบประปาบาดาลขนาดใหญ่ของอังกฤษ รองรับประชาชน 8 หมู่บ้าน รวม 1,484 ครัวเรือน ประชากรกว่า 5,000 คน ให้มีน้ำอุปโภค-บริโภค และทำการเกษตร 6,200 ไร่ตลอดทั้งปี

นอกจากนี้ ยังสามารถบริหารระบบกระจายน้ำ และส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ ที่มีปริมาณน้ำที่สามารถพัฒนาได้กว่า 1,460 ลูกบาศก์เมตรต่อปี เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุน สร้างความมั่นคงด้านเกษตรกรรม ไม่น้อยกว่า 6,200 ไร่

ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดชัยนาท
นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ระบุว่า ตอนนี้ พล.อ.ประวิตร และ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งการแล้วว่าให้เน้นไปที่ภาคอีสาน เพราะภาคอีสานแห้งแล้งกว่าภาคอื่น

ทั้งนี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กำลังสำรวจที่จะดำเนินการก่อสร้างระบบบ่อบาดาลขนาดใหญ่ โดยเฉพาะริมแม่น้ำโขง และริมแม่น้ำมูล เพื่อให้ประชาชนได้มีน้ำกินน้ำใช้ที่สะอาดและมีคุณภาพดี

ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เพื่อให้ประชาชนคนไทย มีน้ำกินน้ำใช้ตลอดทั้งปี สิ่งสำคัญก็คือ ประชาชนต้องช่วยกันให้ความสำคัญกับน้ำใต้ดิน หากช่วยกันกักเก็บน้ำเติมลงสู่ใต้ดินได้ ก็จะมีน้ำต้นทุนกักเก็บไว้ใช้ในฤดูแล้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น