xs
xsm
sm
md
lg

แปะใส่ข้างฝา! งบการเงินแบงก์ชาติมีแต่หนี้พันธบัตร ไม่ใช่หนี้สาธารณะอย่างที่เขาหลอกลวง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ข่าวดรามาตัวเลขเศรษฐกิจมาประจำ นักวิชาการสุดเอือม อธิบายอีกรอบ งบการเงินประจำสัปดาห์ของธนาคารแห่งประเทศไทย มีแต่หนี้พันธบัตร ไม่ใช่หนี้สาธารณะ ชี้จำเป็นต้องมีเพื่อรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ

วันนี้ (25 ต.ค.) จากกรณีที่ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง รายงานฐานะทางการเงินประจำสัปดาห์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ทุนสำรองเงินตรา และกิจการพันธบัตร โดยสื่อมวลชนบางสำนักลงข่าวว่า ฐานะการเงินไทยล่าสุด ขาดทุนสะสม 1 ล้านล้านบาท สร้างความสับสนให้แก่สังคมเป็นจำนวนมาก

เรื่องนี้ น.ส.นงนุช ตันติสันติวงศ์ นักวิชาการด้านเศรษฐกิจ การเงินและการคลังและภาษี โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Dr. Nuch Tantisantiwong ยืนยันว่า รายงานฐานะทางการเงินดังกล่าวไม่ใช่หนี้สาธารณะ ซึ่งรายงานฐานะทางการเงินประจำสัปดาห์ใส่แค่หนี้สินอื่น แต่ความจริงคือ ผลรวมของหลายประเภท ได้แก่ ยอดขายพันธบัตรแบบมีเงื่อนไขรับซื้อคืน, พันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย, หนี้สินอื่นๆ และเงินสำรองอันเกิดจากการตีราคาสินทรัพย์และหนี้สิน

สำหรับตัวเลขหนี้พันธบัตรนั้น จำเป็นต้องมี เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ทำหน้าที่ดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ ซึ่งนโยบายการเงินของไทยขึ้นอยู่กับ “อัตราเงินเฟ้อ” (inflation targeting policy) หมายความว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่ อยู่ที่มุมมองต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของประเทศ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ

“ถ้าเศรษฐกิจเติบโต คนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ก็จะมีอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น แต่ถ้าเศรษฐกิจชะลอตัว คนก็มีกำลังซื้อลดลง อัตราเงินเฟ้อก็จะลดลง หากธนาคารแห่งประเทศไทย คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงต่ำกว่าเป้าหมาย ก็จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ” น.ส.นงนุช ระบุ

น.ส.นงนุช กล่าวว่า สิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ คือ นโยบายการเงินไม่ได้มีแค่การปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ยังมีการปรับเพิ่มหรือลดอัตราเงินสำรอง (required reserve rate) ที่กำหนดให้ธนาคารถือสำรองไว้ รวมถึงอัตราซื้อลดตราสารหนี้ (discount rate) นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย มีการปฏิบัติงานที่สำคัญ คือ รักษาเสถียรภาพของปริมาณเงินในระบบและค่าเงินบาท ซึ่งไม่ได้แปลว่าให้ค่าเงินบาทคงที่ โดยยังต้องอาศัยการขายและซื้อตราสารหนี้เพื่อรักษาระดับปริมาณเงินในระบบไม่ให้ผันผวนจนเกินไป นักเศรษฐศาสตร์การเงิน เรียกการซื้อขายนี้ว่า market operation

ทั้งนี้ การขายตราสารหนี้ เช่น พันธบัตร จะช่วยดูดซับปริมาณเงินเกินในตลาด ซึ่งช่วยพยุงอัตราดอกเบี้ยไม่ให้ตกต่ำ ในขณะที่การซื้อพันธบัตรเป็นการปล่อยเงินเข้าระบบ ทำให้อัตราดอกเบี้ยหรื้อต้นทุนการกู้ยืมตลาดต่ำลง เปรียบได้กับการใช้มาตรการผ่อนคลายในเชิงปริมาณทางการเงิน (quantitative easing หรือ QE) ของสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น ซึ่งมีลักษณะเป็นการซื้อพันธบัตร เพื่อดึงต้นทุนการกู้ยืมให้ต่ำลง เพราะภาวะดอกเบี้ยต่ำไม่ได้ดีเสมอไป อย่างที่เห็นมาร่วม 10 ปี

“การขายตราสารหนี้ แปลว่า แบงก์ชาติมีภาระจ่ายเมื่อครบกำหนด ก็คือหนี้ แต่ถ้าไม่มีพันธบัตรที่ออกโดยแบงก์ชาติในตลาดเลย เครื่องมือนโยบายทางการเงินของแบงค์ชาติจะหายไปซึ่งไม่ดีแน่ ดังนั้น ธนาคารกลางของแต่ละประเทศจะต้องมีการขายและซื้อตราสารหนี้ และยังไงก็ต้องมียอดหนี้สินนี้ ส่วนจะมากหรือน้อย อยู่ที่เศรษฐกิจของชาติช่วงที่ผ่านมา” น.ส.นงนุช ระบุ

น.ส.นงนุช กล่าวว่า ยิ่งเศรษฐกิจดีและมีปริมาณเงินในระบบเกินมาก่อน ก็ยิ่งมีตัวเลขหนี้พันธบัตรนี้สูง เพื่อดูดซับสภาพคล่องส่วนเกิน แต่ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี ปริมาณเงินหายจากระบบ เช่น ช่วงที่มีนักลงทุนไม่แน่ใจในเศรษฐกิจและกลัวจนถอนเงินออกจากกองทุนต่างๆ ธนาคารกลางก็สามารถออกมารับซื้อคืนพันธบัตรเพื่อปล่อยเงินกลับเข้าระบบ ตัวเลขหนี้พันธบัตรนี้ก็จะลดลง หรือถ้ารับซื้อพันธบัตรเอกชนด้วยอย่างใช้มาตรการผ่อนคลายในเชิงปริมาณทางการเงิน ในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ตัวเลขการถือครองพันธบัตรฝั่งที่เป็นสินทรัพย์ (assets) ก็จะเพิ่มขึ้น

“เวลาดูตัวเลขงบการเงินของแบงก์ชาติ จะเห็นว่า เขาแยกงบเงินทุนสำรองเงินตรา และกิจการพันธบัตรออกมา เราต้องดูประกอบด้วย อย่าเลือกแต่จะดูแค่บางส่วน เรื่องนี้อธิบายเคสนี้ทุกปี ที่ข่าวออกมาบอกตัวเลข โดยที่ไม่เข้าใจหน้าที่และการลงบัญชีขององค์กร ที่ไม่ใช่องค์กรเอกชน” น.ส.นงนุช ระบุ

อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่
กำลังโหลดความคิดเห็น