xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.ดิเรกฤทธิ์ ชี้ประชุมสภาสมัยวิสามัญ ถกปัญหาม็อบ ไม่เกี่ยวแก้ รธน.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.ว.ดิเรกฤทธิ์ ชี้เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ 26-27 ต.ค. นี้ ถกปัญหาม็อบเท่านั้น ไม่เกี่ยวแก้รัฐธรรมนูญ เพราะจะไปอยู่ในประชุมสภาสมัยสามัญ 1 พ.ย. นี้อยู่แล้ว ปัด ส.ว.ร่วมมือรัฐบาลยื้อแก้รัฐธรรมนูญ แจงเพราะมีเรื่องที่ยังไม่ชัดเจน ทั้ง 6 ร่าง ที่เสนอมามีข้อขัดแย้งกันเอง และห่วงว่าจะขัดรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องตั้งกรรมาธิการศึกษาก่อน



วันที่ 21 ต.ค. 2563 ดร.ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “เปิดสภา แก้ปัญหาม็อบ เป็นทางออกได้หรือไม่?”

โดย ดร.ดิเรกฤทธิ์ กล่าวถึงการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ที่จะมีขึ้นวันที่ 26-27 ต.ค. นี้ ว่า การเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อแก้ปัญหาการชุมนุม เป็นการที่รัฐบาลอยากหารือ ถามความเห็น รัฐสภา ซึ่งก็จะมีการรับฟังทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว. และให้รัฐบาลได้ชี้แจง ได้นำปัญหามาหารือต่อรัฐสภา

ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะไม่ได้นำเข้าสู่การพิจารณา เพราะจะไปอยู่ในประชุมสภาสมัยสามัญ ที่จะเปิด 1 พ.ย. นี้ 120 วัน ในการพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาอยู่แล้ว

ในคราวก่อนปิดสมัยประชุม การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีการเสนอมา 6 ร่าง ขณะนั้นยังไม่ได้ลงมติรับหลักการกัน เพียงแต่มีมติให้ตั้งกรรมาธิการศึกษา 30 วัน เราต้องรอรายงานนี้ ซึ่งก็จะเสร็จใน 22 ต.ค.นี้ พร้อมเสนอต่อสภาในการประชุมสมัยสามัญ

ดร.ดิเรกฤทธิ์ กล่าวอีกว่า การประชุมสภาสมัยวิสามัญ ก็จะหารือกันถึงสิ่งที่ประชาชนเรียกร้อง แล้วรัฐบาลทำโดยชอบหรือไม่ ทำไมต้องสลายม็อบ ต้องอธิบายกัน แล้วจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ อย่างไร คิดว่าเป็นประโยชน์มากที่ได้คุยกันรอบด้าน และให้ข้อเสนอแนะกันและกัน

ข้อเรียกร้องผู้ชุมนุมมีหลายประการ ต้องดูข้อนั้นๆ ว่า ใครรับผิดชอบ ใครเกี่ยวข้อง อย่างจะให้นายกฯ ลาออก มันไม่ใช่เรื่องของสภา นายกฯ เองต้องคิดด้วยเหตุด้วยผล ว่าควรลาออกหรือไม่ การอภิปรายก็เอาความประสงค์ของผู้ชุมนุมมาอภิปรายกัน ว่า มีเหตุมีผลหรือไม่ ชอบด้วยกฎหมายไหม ทำได้หรือไม่ แล้วถ้าทำได้ ต้องให้ไปไปทำ เป็นเวทีที่ให้รัฐบาลได้อภิปราย แสดงความคิดเห็น แสดงข้อเท็จจริง ให้ซักถามได้ โต้แย้งได้ เอาพยานหลักฐานมาคุยกันได้ การประชุมครั้งนี้ไม่มีการลงมติ นายกฯ เอาการอภิปรายไปประกอบการพิจารณาของท่านต่อไป

ดร.ดิเรกฤทธิ์ ยังกล่าวถึงการยื้อเวลาแก้รัฐธรรมนูญ ว่า ไม่ได้เป็นการดึงเวลา วันที่ 23-24 ก.ย. มีการอภิปรายเยอะถึงญัตติที่เสนอเข้ามา ทั้งแก้เป็นรายมาตรา ร่างฉบับใหม่ทั้งฉบับ แก้มาตราย่อยๆ อีกหลายเรื่อง ในเรื่องที่เสนอมา มี 2 เรื่อง ที่ต้องมีข้อชัดเจนก่อนลงมติ เพราะ 6 ร่าง มีข้อขัดแย้งกันเองอยู่ก็มี บอกร่างทั้งฉบับโดยมี สสร. แต่ก็เสนอแบบรายมาตรามาด้วย มันขัดแย้งกันว่าจะเอาแบบไหนกันแน่

เรื่องข้อกฎหมายก็สำคัญ รัฐธรรมนูญให้ทำได้หรือไม่ เมื่อ 2 เรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน อาจมีคนไม่รับหลักการเยอะก็ได้ ซึ่งก็จะตกไปเลย การตั้งกรรมาธิการศึกษาก่อนลงมติ จึงเป็นเรื่องที่ดี เพื่อความรอบคอบ ไม่ใช่ยื้อเวลา


กำลังโหลดความคิดเห็น