xs
xsm
sm
md
lg

“ตู่” วอน “บิ๊กตู่” มีเมตตาธรรม ห่วงชุมนุมไร้แกนนำหวั่นสูญเสีย-“คำนูณ” แนะต้องแก้ด้วยการเมือง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อดีตประธาน นปช. ห่วงสถานการณ์หลังผู้ชุมนุมคณะราษฎร 2563 ถูกสลาย ชี้รัฐคิดแบบสงครามในอดีต ห่วงไล่จับแกนนำหมด ม็อบมาแบบไม่มีแกนนำหวั่นสูญเสีย แนะบิ๊กตู่ คิดใหม่ มีเมตตาธรรม หลังมองผู้ชุมนุมเปลี่ยนไปคำนูณ ชี้ สถานการณ์ยังไม่จบ รัฐต้องทบทวนว่าเป็นการชุมนุมแบบใหม่ แนะต้องแก้ด้วยการเมือง

เมื่อวันที่ 16 ต.ค. นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในรายการตอบโจทย์ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กรณีการชุมนุมของคณะราษฎร 2563 ว่า การชุมนุมที่ผ่านมา ทั้ง นปช. กปปส. และพันธมิตรฯ เป็นการชุมนุมที่ยืดเยื้อ ไม่ใช่ลักษณะที่ไป-กลับ ดังนั้น วิธีการรับมือจะใช้เวลา กว่าที่จะจู่โจมและปรามปรามในลักษณะนี้ แต่สิ่งที่น่าห่วงใยถัดจากนี้ไป คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจไปขออนุมัติหมายจับแกนนำที่เหลือ จึงเป็นห่วงสถานการณ์ การชุมนุมที่เป็นปัญหา คือ การชุมนุมที่ไม่มีแกนนำ

ทั้งนี้ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ทันทีที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ถูกจับ และออกหมายจับองคาพยพทั้งหมด เมื่อเวลา 15.00 น. ของวันที่ 18 พ.ค. 2535 หลังจากนั้น เวลาพลบค่ำ ต่างคนต่างมา ไม่มีใครนำใคร นำไปสู่ความตายมากที่สุด เพราะการที่มีแกนนำ แกนนำจะมีหน้าที่ห้ามปราม เตือนว่าอย่าไปปะทะ และคอยเจรจา แต่ว่าหลักคิดของฝ่ายรัฐไม่เป็นแบบนั้น

“เวลารัฐคิด เขาคิดแบบสงครามในอดีต จัดการผู้นำทัพอีกฝ่ายหนึ่งได้ก็ชนะเลย แต่ว่าในการต่อสู้ของประชาชนไม่ได้เป็นเฉกเช่นนั้น สมมติว่า ในคืนนี้เป็นลักษณะการปฏิบัติตามปกติ วันพรุ่งนี้สิน่าห่วงใยกว่า เพราะว่าการชุมนุมที่ไร้แกนนำอะไรก็เกิดขึ้นได้ โรคแทรกซ้อน การตรวจตรา การระมัดระวังต่างๆ ก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก สถานการณ์ถัดจากวันนี้ไปน่าห่วงใย สงครามนี้เอาน้ำฉีด แสบตา ระคายผิว แล้วก็ถอยร่น เขาก็กลับบ้าน แต่ว่ากลับมาใหม่พรุ่งนี้มันคนละเรื่องแล้ว” นายจตุพร กล่าว

นายจตุพร กล่าวว่า พอการย้ายพื้นที่ ฝ่ายผู้มีอำนาจรู้สึกว่าเขาเสียหน้า ในวันนี้เชื่อว่า ยังไม่ถึงขั้นมุ่งร้ายถึงชีวิต หรือได้รับบาดเจ็บ เพียงแค่ส่งสัญญาณ แต่เป็นสัญญาณที่น่าห่วงใย เพราะปรากฏการณ์แต่ละวันไม่เหมือนกัน วันที่ 14 ต.ค. คนต่างจังหวัดจะมามาก 15 ต.ค. เป็นคนชั้นกลางในเมือง กับปัญญาชน คล้ายกับพฤษภา 35 วิวัฒนาการวันนี้ใครว่าเรียบร้อยแล้วผิดหมด ยิ่งไปจับแกนนำด้วยยิ่งจะจบหนักไปใหญ่

ในตอนหนึ่ง นายจตุพร กล่าวว่า ในการชุมนุมครั้งต่อไป ผู้ชุมนุมจะรู้ว่าต้องรับมืออย่างไร ถ้าฉีดน้ำหรือใช้แก๊สน้ำตา ก็จะเพิ่มอุปกรณ์ ฝ่ายรัฐถ้าคุมตบะไม่ได้ ก็จะเพิ่มความรุนแรงตามลำดับ เป็นธรรมชาติของการปกป้องตนเอง ตนอยากให้รัฐได้ประเมินเสียใหม่ว่า อย่าไปจับกุมแกนนำเพิ่ม เอาไว้ควบคุมดูแลจะเป็นประโยชน์มากกว่า แต่ว่าถ้าไม่เหลือเลย วันพรุ่งนี้ก็จะเหมือนวันที่ 18 พ.ค. 2535 คือ ไม่มีใครเป็นแกนนำ เป็นวันที่มีความสูญเสียมากที่สุด

ส่วนการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายจตุพร กล่าวว่า ควรจะยกเลิกตั้งแต่หลังผู้ชุมนุมพ้นจากทำเนียบรัฐบาล เพราะผู้ชุมนุมเป็นผู้ยุติตามคำสั่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่มีการกระทบกระทั่งใดๆ ความจริงก็ไม่มีเหตุผลลากยาวมาถึงวันนี้ แล้วจะต้องไปลงมือตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะประกาศเมื่อไหร่ ยกเลิกเมื่อไรก็ได้ ตนพยายามขีดเส้นใต้ให้เหลือเพียงข้อเดียว คือ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลาออก แล้วสองข้อที่เหลือแทบไม่มีความจำเป็น แม้กระทั่งการประชุมสภาสมัยวิสามัญ อีกสองสัปดาห์ก็จะเปิดประชุมอยู่แล้ว

สิ่งสำคัญที่สุดคือ เหตุการณ์ดังกล่าวต้องมีคนรับผิดชอบทั้งสองส่วน ทั้งส่วนที่ไปกระทำการ คือ แกนนำผู้ชุมนุม กับส่วนที่เป็นกลไกรัฐ คือ นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่แค่นายตำรวจ 3 คน ซึ่งการเอาเหตุการณ์หนึ่งมาจัดการกับอีกเหตุการณ์หนึ่งมันไม่ใช่ เพราะไม่เป็นธรรมต่อสถาบันกษัตริย์ เป็นคนละเรื่องกัน ตอนนี้เชื่อว่าวิธีการจัดการถือเป็นการเริ่มต้น กระทบกระทั่งเริ่มต้น ด้วยความหวังว่าต้องใช้เมตตาธรรม ผู้ปกครองต้องมีเมตตาธรรมขั้นสูงสุด อย่าไปมองว่ากำลังท้าทายกับมัจจุราช เพราะภาษาแบบนี้มันหนักไป ไม่เป็นประโยชน์ เชื่อว่า ชุมนุมเสร็จก็กลับ นายกรัฐมนตรีต้องใช้ความอดทนสูงสุด ที่เหลือคือการแก้ไขปัญหาด้วยการเมือง เจรจาร่วมกันหาทางออกที่เป็นจุดร่วม โดยต้องมองเด็กเหมือนลูกหลาน ต้องให้โอกาส

“การนัดหมายการชุมนุมในยุคนี้เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เพราะโลกสมัยนี้ปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว ยิ่งจะสร้างความโกรธอีกถ้าคุมอารมณ์ไม่ได้ ยุคสมัยของคนรุ่นนี้ตามทันยาก แต่ต้องพยายามเข้าใจเขา เชื่อว่า ในโซเชียลมีเดียจะมีความหลากหลาย หลังจากนั้นอาจจะนัดสิบจุด ยี่สิบจุด มันก็จะเกิดความวุ่นวายไปหมด ถ้ารัฐบาล พอนายกฯ มาท้าทายบอกว่ามาท้าทายมัจจุราช ยิ่งสร้างแรงกดดัน ภาวะนี้เป็นภาวะที่น่าห่วงใยมากที่สุด ผมว่าควรเปิดพื้นที่ให้แต่ละฝ่ายได้พูดคุยและร่วมหาทางออก อย่างน้อยก็ได้คุยกัน วันนี้ยังไม่มีพื้นที่การพูดคุยกันเลย เพราะว่าอีกมุมหนึ่งการมอง จากเดิมมองอย่างลูกอย่างหลาน แล้ววิวัฒนาการการมองคนละรูปแบบแล้ว” นายจตุพร กล่าว

ด้าน นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา อดีตคนเดือนตุลาฯ กล่าวว่า คิดว่าสถานการณ์ยังไม่จบ ทุกคนคิดว่าเรียบร้อยตั้งแต่คนน้อยเมื่อวันที่ 14 ต.ค. พอเช้ามืดวันที่ 15 ต.ค. ก็สลายก็คิดว่าจบ โดยภาพรวมผู้ครองอำนาจรัฐยังใช้วิธีแบบเดิม ใช้กฎหมายตัวเดิม การฝึกอบรมแบบเดิม ในขณะที่ประเทศไทยเปลี่ยนไปแล้ว ชนิดที่ว่าผู้ใหญ่อย่างเราไม่มีประสบการณ์มาก่อน วันนี้สลายการชุมนุมได้ แต่ว่าพรุ่งนี้นัดที่ราชประสงค์ก็บล็อกเขา นัดที่ปทุมวันก็บล็อกเขา สมมติเขานัดสีลม พอบล็อกก็ไปอนุสาวรีย์ชัย ถ้าเป็นแบบนี้ทุกวันเป็นยังไง

“สมัย 14 ตุลา 16 ในยุคนั้นใช้วิธีปิดโปสเตอร์ตอนกลางคืน พอพฤษภา 35 ก็เป็นแฟกซ์ เป็นมือถือ แต่พอยุคนี้เป็นยุคโซเชียลมีเดีย การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง อำนาจรัฐสามารถทำได้กว้างขวาง รวมถึงบล็อกการสื่อสาร แต่ถ้าทำมากเกินไป ก็จะไปจำกัดเสรีภาพของประชาชนเกินไป ผลที่ได้กลับมาก็จะเป็นอีกทางหนึ่ง จึงเห็นว่า สถานการณ์เฉพาะหน้าก็ว่าไป แต่ผมว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นการเมือง ต้องแก้ด้วยการเมือง” นายคำนูณ กล่าว

นายคำนูณ ยังกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีวิวัฒนาการในการจัดการต่อการชุมนุมได้อย่างมีอารยะ ขณะที่สื่อนั้น การถ่ายทอดสดคือ การบอกเล่า เจ้าหน้าที่ก็ใช้วิธีการจากเบาไปหาหนัก วันนี้สูงสุดแค่ฉีดน้ำหรือใช้เสียงบ้าง และการเดินเข้าไปไม่ได้ไปตีหรือไปหวด เพียงแต่ว่าต้องการที่จะรักษาพื้นที่ เพื่อที่จะไม่ให้มีการชุมนุมเกิน 5 คน ซึ่งก็ต้องรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของการประกาศห้ามชุมนุม เพียงแต่ว่าถึงจะพยายามอย่างไรก็ตาม วันต่อไปอุบัติเหตุมีโอกาสเกิดขึ้นได้ เชื่อว่าเจ้าหน้าที่หรือรัฐก็ต้องระมัดระวังสูงสุด เพราะต่อหน้าที่สื่อถ่ายทอดแบบนี้ ใครที่มีภาพเป็นผู้ใช้ความรุนแรงก่อนเป็นผู้แพ้ทันที

ในตอนหนึ่ง นายคำนูณ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เป็นจุดพลิกผัน คือ เย็นวันที่ 14 ต.ค. ที่มีเหตุเกิดขึ้นกับขบวนเสด็จฯ ซึ่งเลยจากข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แต่เป็นการดูหมิ่นเหยียดหยาม อาฆาตมาดร้ายองค์พระราชินี และการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 15 ต.ค. มีการตะโกนกระทบกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องนี้ต้องยอมรับว่า ผู้คนจำนวนมากของประเทศมีความจงรักภักดี และไม่เห็นด้วยกับการกระทำที่กระทบต่อสถาบันฯ เชื่อว่า นิสิต นักศึกษา หรือผู้ชุมนุมจะเรียกร้องทางการเมือง หนักหนาสาหัสอย่างไรก็เรียกร้องไป

แต่เรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ ข้อนี้ทำให้ผู้คนที่จะเข้าร่วมถอยไประดับหนึ่ง และทำลายข้อเรียกร้องอื่นๆ ลงไป อีกทั้งท่าทีการปราศรัยหรือการแสดงออกของผู้ชุมนุมบางส่วนเป็นการทำลายตัวเอง ภาพที่ปรากฏออกมาไม่ใช่เรื่องปฏิรูปแล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้นมา ในมุมหนึ่งถ้านายกรัฐมนตรี หรือรัฐบาลอยู่เฉยๆ ปล่อยไปโดยไม่มีท่าทีแข็งขันออกมา ประชาชนอีกจำนวนหนึ่งก็ไม่ยอม ก็จะเห็นการระดมพลของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ก็จะเกิดเหตุการณ์อีกรูปแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นเป็นที่มาที่ทำให้นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ประกาศแล้วก็ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ในมุมมองของผู้ใช้กฎหมาย

“แต่เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้แล้ว ผู้ถือครองอำนาจรัฐก็ต้องทบทวนและคิดใหม่ ตัดสินให้ดีว่าวิธีคิดแบบเดิมที่รัฐสั่งการเด็ดขาด เราใช้กำลังทางกฎหมายใช้อำนาจแล้วจะทำได้หรือไม่ และจะแก้ปัญหาได้อย่างไร เชื่อว่า ตามกฎหมาย พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ถ้าหมดสภาวะแบบนั้นก็สามารถเลิกได้ทันที เสนอว่า รัฐจะต้องทบทวนว่า ท่านกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์การชุมนุมแบบใหม่ ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เราประกาศแบบนี้ ห้ามชุมนุมอย่างนี้ แล้วมีชุมนุมทุกวัน แล้วสลายกันทุกวัน จะเดินหน้าไปแบบนี้หรือ” นายคำนูณ กล่าว

ในตอนหนึ่ง นายคำนูณ กล่าวว่า จุดยืนอย่างหนึ่งคือ ในเมื่อจะเป็นประชาธิปไตยระบบรัฐสภา เวทีของสภาก็เป็นเวทีที่พูดคุย ขัดแย้งกันได้ เถียงกันได้ แต่สามารถจะเป็นเวทีประนอมอำนาจได้ ถ้าเรามีรัฐสภาอยู่ รัฐสภาควรเป็นที่นำความขัดแย้งข้างนอกรัฐสภาเข้ามาไว้ข้างใน ส.ส.แต่ละพรรค รวมทั้ง ส.ว. ล้วนแล้วแต่เป็นตัวแทนความคิดของแทบทุกกลุ่มในสังคมไทย ตนเคยเสนอว่าให้รัฐบาลเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ เนื่องจากเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ทุกรัฐบาลใช้หมดแล้วเวลาเกิดเหตุการณ์รุนแรง ปี 2552, 2553 แล้วจะตั้งกรรมาธิการก็ได้ เป็นกรรมาธิการวิสามัญรัฐสภา มาจากสัดส่วน ส.ส. ของแต่ละพรรคและ ส.ว. จะเอาคนภายนอกมาก็ได้ แต่ไม่ใช่เอาคู่ขัดแย้งมาเผชิญหน้าโดยตรง ก็หาทางออกไป แล้วหากติกาที่เราจะโอนอ่อนผ่อนปรนในระดับหนึ่ง ที่จะอยู่ร่วมกันให้ได้ในวันข้างหน้า แล้วค่อยมาถึงเรื่องรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาเคยเสนอไปแต่ไม่เป็นผล

แต่ขณะนี้สถานการณ์พัฒนาแล้ว รัฐสภาไปพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมถึง 6 ฉบับ ขณะนี้ปิดอภิปราย เหลือแค่ขั้นตอนลงมติ ตั้งกรรมาธิการก่อน รับหลักการไป ชัดเจนอยู่ว่าสรุปไม่ได้ ก็คงเสนอความเห็นเข้ามาทั้งสองแนวทาง จะไปเอาวาระอื่นมาคั่นก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องพิจารณาตามความเป็นจริงที่ปรากฎอยู่ คือ รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ข้อเรียกร้อง และเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ กรรมาธิการพิจารณาก่อนรับหลักการ ก็เลยหยุดประชุม 2 วัน

นายสุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า สถานการณ์ยังไม่จบ เพราะปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งสิ่งที่เรียกร้องและสิ่งที่ฝันถึง ที่สำคัญ เหตุการณ์วันนี้ที่น่าวิตกคือ ทัศนคติของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีต่อผู้ชุมนุม จากเดิมที่มองผู้ชุมนุมเป็นลูกหลาน เป็นฝ่ายถูกกระทำ สัญญาณน้ำวันนี้อาจจะเป็นสิ่งที่รุนแรงเพิ่มขึ้นไปอีก สายตาของนายกฯ ที่มองผู้ชุมนุมเป็นคนละข้าง ส่วนผู้ปฏิบัติงานวันนี้ถ้าไม่เต็มที่ จะเหมือนนายตำรวจ 3 คนที่ถูกย้ายเมื่อวาน

ส่วนการชุมนุมระยะหลังนั้นผิดไปจากการชุมนุมครั้งก่อนที่พร้อมจะตอบโต้ หลังๆ ยอมง่ายๆ ผูกโบขาว ที่ผ่านมาเห็นด้วยว่าการจะหาความรับผิดชอบ เอาคนผิดมาลงโทษ แต่ครั้งนี้นายกฯ กล่าวขอบคุณ แต่ตำรวจไล่จับ ความจริงตำรวจต้องเอาดอกไม้ไปขอบคุณเขา การเล่นกับมวลชนหรือการดูแลสถานการณ์ การเมืองต้องแก้ปัญหาด้วยการเมือง ไม่ใช่เอาหลักนิติศาสตร์มาใช้ตลอด ถ้าจะทำผิดกฎหมายบ้าง แต่ไม่เกิดความเสียหายต่อส่วนรวม ไม่ควรไปเอาเรื่อง



กำลังโหลดความคิดเห็น