xs
xsm
sm
md
lg

“เขื่อนขุนด่านปราการชล” เปิดสปิลเวย์ 10-11 ต.ค.ชมความงามของสายธาร ขาวนวลเป็นยองใย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นครนายกเมืองน้ำตกจริงๆ แม้แต่สปิลเวย์เขื่อนขุนด่านปราการชลยังงดงาม สายธารขาวนวลเป็นยองใย หลังปล่อยน้ำเมื่อสัปดาห์ก่อนแห่ชมสะพัด ล่าสุด เตรียมปล่อยน้ำอีกครั้ง 10-11 ต.ค.นี้ ก่อนกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง

วันนี้ (8 ต.ค.) รายงานข่าวจากจังหวัดนครนายก ระบุว่า บรรดาชาวเน็ตต่างให้ความสนใจเยี่ยมชมและถ่ายภาพขณะที่เขื่อนขุนด่านปราการชล บ้านท่าด่าน ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ปล่อยน้ำล้นผ่านทางระบายน้ำล้น (สปิลเวย์) เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชมความสวยงามของเขื่อน เมื่อวันที่ 3 และ 4 ต.ค. ที่ผ่านมา ก่อนที่จะปิดทางระบายน้ำล้น เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค การเกษตร และการผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำบางปะกงในช่วงฤดูแล้ง

โดยพบว่า มีบรรดานักท่องเที่ยวที่ไปเยือนจังหวัดนครนายก ให้ความสนใจชมสายน้ำที่ไหลจากสปิลเวย์ลงสู่คลองด้านล่าง ซึ่งเป็นสายน้ำสีขาวสวยงามราวกับน้ำตกขนาดยักษ์ พร้อมถ่ายภาพเก็บความประทับใจและเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดียเป็นที่บอกต่อจำนวนมาก ทั้งนี้ ทางเขื่อนขุนด่านปราการชล ได้ประกาศว่า จะเปิดระบายน้ำผ่านอาคารระบายน้ำล้น เพื่อรักษาระดับน้ำในเขื่อน และเพื่อการท่องเที่ยว ระหว่างวันที่ 10-11 ต.ค. 2563 ส่วนช่วงเวลาจะแจ้งประกาศให้ทราบอีกครั้ง


สำหรับความกังวลถึงความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนขุนด่านปราการชลนั้น นายเจษฎา บุญสุยา ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาขุนด่านปราการชล ชี้แจงผ่านเพจ “ที่นี่ นครนายก” ระบุว่า เขื่อนขุนด่านปราการชล เป็นเขื่อนคอนกรีตบดอัดแน่น (Roll Compacted Concrete หรือ RCC DAM) ก่อสร้างเมื่อปี 2542 แล้วเสร็จเมื่อปี 2547 ใช้งานมาถึงปัจจุบันเป็นเวลา 16 ปี เขื่อนมีความจุ 224 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ระดับเก็บกัก ตัวเขื่อนมีความมั่นคงแข็งแรง มีเครื่องตรวจสอบวัดพฤติกรรมเขื่อน ประมาณ 800 ชิ้น สำหรับวัดการไหลซึมของเขื่อน วัดการเคลื่อนตัวของตัวเขื่อน และวัดอุณหภูมิภายในตัวเขื่อน ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้มีการตรวจสอบเขื่อนตลอดเวลา

สถานการณ์น้ำในเขื่อน เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา ปริมาณน้ำในเขื่อน 213.38 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 95.26% ซึ่งทางโครงการฯ ได้วางแผนที่จะกักเก็บน้ำให้ได้ 100% เมื่อสิ้นฤดูฝน ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ไว้ว่าจะสิ้นฤดูฝนประมาณกลางเดือนตุลาคม 2563 ถ้าโครงการฯ สามารถกักเก็บน้ำได้ 100% จะเป็นผลดีอย่างมากกับชาวนครนายกและจังหวัดใกล้เคียงเพื่อช่วยเหลือในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึงโดยกิจกรรมสำคัญที่ใช้น้ำจากเขื่อนในช่วงฤดูแล้ง ได้แก่ 1. กิจกรรมภาคเกษตร ช่วยพื้นที่ภาคเกษตรของขุนด่านปราการชล 20,000 ไร่ และช่วยพื้นที่ภาคเกษตร โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายก 100,000 ไร่ 2. กิจกรรมเพื่อการอุปโภคบริโภค ประปานครนายก ประปาหมู่บ้าน ศูนย์ภูมิรักษ์ มูลนิธิชัยพัฒนา และราษฎรที่ติดแม่น้ำนครนายก 3. กิจกรรมระบบนิเวศ ในการผลักดันน้ำเค็ม เจือจางน้ำเสีย ในแม่น้ำนครนายก เป็นหลัก 4. กิจกรรมประมงในแม่น้ำนครนายก 5. กิจกรรมท่องเที่ยว ของจังหวัดนครนายก

ในเรื่องการระบายน้ำของเขื่อน มีเครื่องมือ 3 ตัวเป็นหลักในการระบาย คือ 1. อาคารระบายน้ำ หรือ สปิลเวย์ (Spillway) 2. อาคารท่อระบายน้ำลงลำน้ำเดิม (River Outlet) 3. อาคารระบายน้ำ (Bottom Outlet) ทั้ง 3 เครื่องมือสามารถระบายน้ำได้ 1,678 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือประมาณชั่วโมงละ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งสามารถบริหารจัดการน้ำในตัวเขื่อนได้ และไม่ให้มีผลกระทบด้านท้ายน้ำ ในช่วงนี้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาขุนด่านปราการชล ขอยืนยันว่า เขื่อนขุนด่านปราการชล มีความมั่นคง บริหารจัดการน้ำได้ไม่มีปัญหาทั้งในเขื่อนและท้ายเขื่อน และได้ประโยชน์ทุกกิจกรรม

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สำหรับอาคารระบายน้ำล้น หรือสปิลเวย์ (Spillway) ของเขื่อนขุนด่านปราการชลนั้น เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 1,530 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ผ่านช่องระบาย 4 ช่อง มีรูปลักษณะเป็นฝายที่ระดับ 103.50 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งควบคุมด้วยประตูเหล็ก (Radial Gate) 4 ชุด ขนาดชุดละ 10 x 8.40 เมตร ส่วนเขื่อนหลัก (Main Dam) เป็นเขื่อนคอนกรีตบดอัด สูง 92 เมตร ระดับสันเขื่อน 112 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ความยาว 2,658 เมตร ปริมาตรคอนกรีต 5.47 ล้านลูกบาศก์เมตร

สำหรับการเข้าชมความงามของเขื่อนขุนด่านปราการชล และอาคารระบายน้ำล้นนั้น สามารถเดินทางเข้าสู่เขื่อนได้ 2 ทาง คือ จากตัวเมืองนครนายก ไปตามถนนนครนายก-น้ำตกนางรอง ถึงแยกน้ำตกสาริกาเลี้ยวขวา ถึงแยกเขื่อนท่าด่านเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงชนบท น.ย. 4016 ไปอีก 3 กิโลเมตร เส้นทางนี้เป็นถนน 4 ช่องจราจรตลอดสาย อีกทางหนึ่งจากถนนสุวรรณศร ไปตามถนนชลประสิทธิ์ ผ่านแยกศรีนาวา ตรงไปตามทางหลวงหมายเลข 3239 ถึงวัดท่าด่านให้เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงชนบท น.ย. 4016 ไปอีก 1 กิโลเมตร จะถึงลานจอดรถใต้เขื่อน







กำลังโหลดความคิดเห็น