กรมชลประทานชวนทำความรู้จัก สองอ่างเก็บน้ำแห่งลุ่มน้ำชีตอนบน ปราการสำคัญที่บรรเทาปัญหาภัยแล้งซึ่งเรื้อรังมานาน ทั้งยังสร้างรอยยิ้มด้วยคุณภาพชีวิตดีขึ้นของชาวบ้านด้วย
นายพงศ์ศักดิ์ ณ ศร ผู้อำนวยการโครงการชลประทานชัยภูมิ ให้ข้อมูลว่า การบริหารจัดการน้ำในจังหวัดชัยภูมิ ที่มีพื้กรมชลประทานงมาก ในการที่จะเก็บกักน้ำไว้ เนื่องจากปริมาณน้ำในจังหวัด มีศักยภาพในการพัฒนาแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำผิวดินหรือแหล่งน้ำใต้ดิน และระบบส่งน้ำชลประทาน ประชาชนในพื้นที่ส่วนมากประกอบอาชีพเกษตรกรรม การพัฒนาแหล่งน้ำจึงมีความสำคัญ โดยที่น้ำจากลำน้ำชี และอ่างเก็บน้ำทั้งสองแห่งจะช่วยให้ความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น ประชาชนในพื้นที่ส่วนมากประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทั้งปลูกข้าว อ้อย มันสำปะหลัง มะม่วง และอินทผลัม โดยที่น้ำจากลำน้ำชีและอ่างเก็บน้ำทั้งสองแห่งจะช่วยหล่อเลี้ยงพืชผลของพวกเขา
“ทางด้านลำสะพุง ถ้าเป็นที่ลุ่มเขาจะทำนา ถ้าเป็นที่ดอนจะปลูกพืชไร่ เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ถ้ามีน้ำเพียงพอเขาจะปลูกพืชอื่นๆ ได้ อย่างบริเวณท้ายลำสะพุงมีสวนมะม่วงน้ำดอกไม้ ซึ่งปกติเขาจะปลูกมะม่วง ดูแลเป็นอย่างดี และทำการส่งออกเพื่อขายไปยังต่างประเทศ
ส่วนที่ตอนล่างเกษตรกรปลูกพืชไร่เพราะไม่ต้องการน้ำมาก แต่ถ้ามีน้ำต้นทุนแล้ว เกษตรกรอาจจะปรับเปลี่ยนเป็นการปลูกพืชใช้น้ำชลประทาน เช่น ผลไม้ต่างๆ ก็จะเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากขึ้น”
นายสนฑ์ จินดาสงวน ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 13 รับผิดชอบ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนบน จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อช่วยเหลือราษฎรโดยน้อมนำพระราชดำริ ของรัชกาลที่ 9 เมื่อ 5 เมษายน 2526 มาเป็นแนวทางการศึกษาและวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำ โดยพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำหรือฝายทดน้ำทางบริเวณต้นน้ำลำน้ำชี และตามลำน้ำสาขาต่างๆ ของลำน้ำชี เพื่อจัดหาน้ำช่วยเหลือราษฎรหมู่บ้านต่างๆ ในพื้นที่ที่จะเป็นอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีเดิมให้สามารถมีน้ำ ทำการเพาะปลูกได้ทั้งในระยะฤดูฝน-ฤดูแล้ง และมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดปี เพิ่มศักยภาพการกักเก็บน้ำและบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับการเกษตรในพื้นที่ให้สามารถส่งน้ำในเขตพื้นที่ชลประทาน รวมทั้งการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ กระตุ้นให้เห็นความสำคัญมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม พัฒนาการเกษตรทั้งทางตรงและทางอ้อมในพื้นที่โครงการ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากโครงการได้เต็มศักยภาพ
กรมชลประทาน จึงได้วางแผนและดำเนินการก่อสร้าง อ่างเก็บน้ำขนาดกลางตามลำน้ำสาขาลำน้ำชีตอนบน ตามแนวพระราชดำริดังกล่าวหลายแห่ง ซึ่งปี พ.ศ.2561 ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขนาดความจุ 46.9 ล้าน ลบ.ม. เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับพื้นที่ชลประทาน 40,000 ไร่ และปี พ.ศ. 2562 ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขนาดความจุ 70.21 ล้าน ลบ.ม. เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับพื้นที่การเกษตรตามลำน้ำชีบริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำรวมประมาณ 75,000 ไร่ นอกจากนี้อ่างเก็บน้ำทั้ง 2 แห่ง ยังเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับการอุปโภคบริโภค แหล่งทำการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ตลอดจนเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนใกล้พื้นที่โครงการ
นายมหิทธิ์ วงศ์ษา หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ 2 สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำหรือฝายทดน้ำทางบริเวณต้นน้ำลำน้ำชี และตามลำน้ำสาขาต่างๆ ของลำน้ำชี เป็นการจัดหาน้ำช่วยเหลือราษฎรหมู่บ้านต่างๆ ในพื้นที่ที่จะเป็นอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีเดิม ให้มีน้ำเพื่อการเพาะปลูก ทั้งในฤดูฝน-ฤดูแล้ง และมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดปี เนื่องจากเป็นพื้นที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับการเกษตรมาตั้งแต่อดีต
“ที่นี่มีความสำคัญคือ อยู่เหนือสุดของพื้นที่รับประโยชน์ ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว เพราะฉะนั้นการส่งน้ำจึงส่งให้พื้นที่ท้ายน้ำไปช่วยประปาในเขตอำเภอหนองบัวแดง ช่วยการเกษตรในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนบน เพราะอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ตอนบนสามารถช่วยเหลือพื้นที่ได้ค่อนข้างเยอะ และอีกอย่างคือช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้ป่าไม้ เป็นแหล่งน้ำให้สัตว์ป่าด้วย เพราะอยู่ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ได้ประโยชน์ทั้งคนและสัตว์ป่า”
นอกจากแก้ไขปัญหาโดยตรงแล้ว กรมชลประทานยังให้ความรู้ ความเข้าใจ กระตุ้นให้เห็นความสำคัญของมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม รณรงค์ให้การสนับสนุนและพัฒนาการเกษตรผ่านโครงการพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนบน เพื่อให้ใช้ประโยชน์จากโครงการได้เต็มศักยภาพ
“อีกเรื่องนึ่งที่สำคัญของลำสะพุงคือเวลาฤดูแล้ง ปกติที่ไม่มีอ่างเก็บน้ำ น้ำที่มาทำประปาของอำเภอหนองบัวแดง มีปัญหาเยอะมาก ยิ่งช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ปัญหาภัยแล้งที่ฝนไม่ตกต่อเนื่อง ทำให้แหล่งน้ำประปาขาดแคลน โครงการนี้จะช่วยเรื่องน้ำประปา น้ำอุปโภคบริโภคค่อนข้างยั่งยืน
ส่วนอ่างเก็บน้ำลำน้ำชี ชื่อเดิมคือ ยางนาดี จะเป็นแหล่งเก็บน้ำที่กระจายน้ำไปยังตอนท้ายของลำน้ำชีได้ โครงการนี้อยู่เหนืออำเภอเมือง จึงบรรเทาอุทกภัยได้ระดับหนึ่ง และนอกจากนี้ยังมีหลายโครงการที่เกี่ยวข้อง เพราะการพัฒนาลุ่มน้ำชีนั้นตอนล่างไม่สามารถพัฒนาแหล่งน้ำได้ การพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนบนทำให้มีแหล่งเก็บกักน้ำขนาดกลางอีกหลายแห่ง”
ปัญหาภัยแล้งที่เคยเกิดขึ้นมาช้านานทำให้ประชาชนเดือดร้อนอย่างมาก ครูอ้อม – นางนวกชมณ ชนะพาล เจ้าของสวนผลไม้ในพื้นที่เล่าว่านับว่ายังโชคดีที่สวนของเธออยู่ใกล้แม่น้ำชีและอ่างเก็บน้ำ ทำให้มีแหล่งน้ำสองแห่งให้ใช้เพื่อการเกษตร แต่เกษตรกรรายอื่นต้องเดือดร้อนจากภาวะฝนทิ้งช่วงแทบทุกปี
“ที่สวนปลูกข้าว มะม่วง และอินทผลัม มีเนื้อที่เฉพาะแปลงเพาะปลูกประมาณ 50 กว่าไร่ ได้ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำมาทดน้ำเข้านาข้าว ส่วนรดน้ำมะม่วงกับอินทผลัมส่วนมากจะใช้น้ำชี เพราะว่าอินทผลัมต้องใช้น้ำเยอะ และเราไม่ได้รดตลอด แต่นาข้าวเราไม่แค่ทำเป็นก๊อกปิด-เปิด ต่อมาเข้านาข้าว
ส่วนสวนแถวนี้จะใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำทั้งหมดเลย โดยเฉพาะเวลาแห้งแล้งแต่ก่อนสวนเราก็ใช้ แต่ของเราเลือกได้ระหว่างน้ำชีกับอ่างเก็บน้ำเพราะมันอยู่ใกล้กัน ทีนี้สวนมะม่วงสวนผลไม้แถวนี้เขาใช้ประโยชน์จากตรงนี้หมดเลย แล้วที่นี่มีปัญหาแล้ง มีฝนทิ้งช่วงนาน มะม่วงยืนต้นตายก็มี พอมีอ่างเก็บน้ำเขาก็ได้ใช้ประโยชน์ตรงนี้”
ในมุมมองของเกษตรกรการเพาะปลูกที่ได้ผลผลิตดีย่อมหมายถึงรายได้ที่งอกงาม แต่ในมุมมองของชาวบ้าน นี่คือวิถีชีวิตที่ถูกยกระดับให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“เราเป็นคนที่นี่ เกิดมาก็เห็นอ่างเก็บน้ำ มีคนมาหาปลา ทำมาหากิน ใช้น้ำในการเกษตร ข้าวที่เราปลูกเป็นการปลูกกินในครัวเรือน เพราะทำแค่สองทุ่งเล็กๆ ปลูกเอาไว้กินเอง ไม่ต้องซื้อข้าวที่อื่นกิน เป็นวิถีชีวิตปกติของเรา แต่ก่อนนาข้าวจะเยอะมาก แล้วข้าวก็เหลือกินเพราะถึงเราจะขายบ้างอะไรบ้างก็ยังเหลือเยอะ แล้วข้าวค้างปีมันไม่อร่อย ก็เลยทำเป็นทุ่งเล็กๆ เอาไว้กินเอง แล้วไปเน้นปลูกมะม่วงกับอินทผลัมเพื่อค้าขายแทน การที่ชาวบ้านมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี พวกเขาก็จะเพาะปลูกได้ตลอด และพวกเขาจะมีกิน มีความสุข” ครูอ้อม กล่าว
จากอดีตที่ภัยแล้งมาตีกรอบชีวิตของประชาชนในพื้นที่ จนถึงตอนนี้ที่กำลังจะสร้างอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีและอ่างเก็บน้ำลำสะพุง ที่จะเข้ามาช่วยทลายข้อจำกัด นายพงศ์ศักดิ์ ณ ศร บอกว่าที่ผ่านมาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านอาจจะไม่ดีนัก แต่ต่อไปนี้จะดีขึ้น
“เมื่อก่อนหน้าแล้งก็แล้งไปเลย ไม่มีน้ำทำเกษตร หรือทำแบบเสี่ยงๆ เช่นทำนาแล้วน้ำไม่มาตามฤดูกาลก็เกิดความเสี่ยง ผลผลิตได้ไม่เต็มที่ ถ้ามีอ่างเก็บน้ำ เมื่อพืชต้องการน้ำเราก็ปล่อยน้ำให้ได้ เพราะฉะนั้นคุณภาพชีวิตเขาดีขึ้นแน่นอน”