อุบลราชธานี - อธิบดีกรมชลประทานสั่งอีสานตอนล่าง 4 จังหวัดหลัก นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ รับมือภัยแล้งที่กำลังมาเยือน เพราะปีนี้น้ำน้อยกว่าปีก่อนมาก ไม่ให้กระทบพื้นที่เพาะปลูกข้าวกว่า 30 ล้านไร่ พร้อมเร่งโครงการขยายพื้นที่อ่างเก็บน้ำที่มีอยู่เดิมให้กว้างขึ้น ลดผลกระทบน้ำแล้งน้ำท่วมในอนาคต
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่สำนักงานชลประทานที่ 7 จ.อุบลราชธานี นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประชุมเจ้าหน้าที่กรมชลประทานระดับจังหวัดและระดับเขตภาคอีสานตอนล่าง เพื่อวางแผนรับมือภัยแล้งที่กำลังจะเกิดขึ้นหลังฤดูฝนที่ผ่านไปในเดือนตุลาคม 2563 ซึ่งพบว่าปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาทั้งประเทศ ภาคอีสานมีค่าเฉลี่ยน้อยถึงร้อยละ 16 และเมื่อเทียบกับค่าน้ำฝนของปีที่แล้วก็น้อยกว่า 15%
ส่งผลทำให้สถานการณ์น้ำของภาคอีสานมีน้ำเก็บกักอยู่เพียงร้อยละ 37 น้อยกว่าปี 2562 ซึ่งมีถึง 59% น้อยกว่าปีที่ผ่านมาถึง 22%
ซึ่งประเทศไทยกำลังจะสิ้นสุดฤดูฝนในกลางเดือนตุลาคมนี้ จึงสั่งการให้ทุกภาคส่วนรับมือในการใช้น้ำในครัวเรือน หรือการใช้น้ำเพาะปลูก เพื่อรับมือภัยแล้งที่จะมาถึง โดยภาคอีสานมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปีกว่า 34 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 98 ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด แต่มีปริมาณฝนน้อยกว่าปีที่ผ่านมา และการเก็บเกี่ยวจะเสร็จสิ้นในเดือนธันวาคม
เมื่อมีปริมาณฝนน้อย สวนทางกับความต้องการน้ำของต้นข้าว จึงต้องวางแผนสนับสนุนส่งน้ำช่วยเลี้ยงต้นข้าว โดยให้มีการเตรียมเครื่องสูบน้ำทำการถ่ายเทน้ำจากแหล่งน้ำเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ปลูกข้าวไม่ให้เสียหายในการเพาะปลูกปีนี้
สำหรับอ่างเก็บน้ำหนองช้างใหญ่ ในอำเภอม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เป็นต้นแบบตามโครงการเหลียวหลัง ใช้ในการพัฒนาเพิ่มความจุแหล่งน้ำที่มีอยู่เดิมแล้วให้เต็มศักยภาพ เพื่อนำไปขยายผลใช้กับแหล่งน้ำอื่นที่มีอยู่ทั่วทุกภูมิภาค
ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำหนองช้างใหญ่มีพื้นที่จัดเก็บอยู่กว่า 7 ลูกบาศก์เมตร กรมชลประทานวางแผนจะเพิ่มพื้นที่จัดเก็บเป็น 23 ล้านลูกบาศก์เมตร จากการขุดและเพิ่มสันสปิลเวย์ของน้ำล้น ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วร้อยละ 30 ซึ่งวางแผนจะสามารถเพิ่มพื้นที่การจัดเก็บที่เหลือไม่เกิน 2 ปี
แต่ความต้องการใช้น้ำของประชาชนมีมากขึ้น จึงได้มาเร่งรัดให้ทำเร็วขึ้นภายในปี 2564 เพื่อจะได้ใช้น้ำได้เต็มประสิทธิภาพของพื้นที่ที่ได้มีการปรับปรุง
สำหรับจังหวัดอีสานที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษคืออีสานตอนล่าง ตั้งแต่จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ สถานการณ์น้ำยังมีน้อย ส่วนภาคอื่นโดยเฉพาะตามลุ่มน้ำเจ้าพระยามีแนวโน้มดีขึ้น แต่ก็มีปริมาณน้อยกว่าปีที่ผ่านมากว่าพันล้านลูกบาศก์เมตร
เพราะปีนี้มีน้ำใช้การได้เพียง 3,100 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปีที่แล้วมีถึง 4,100 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ต้องจับตาเฝ้าระวังอยู่ในขณะนี้
ส่วนภาคใต้ ภาคตะวันออกจะเข้าสู่ฤดูฝนปลายเดือนตุลาคม ภาคอีสานจึงเป็นพื้นที่น่าห่วงเรื่องสถานการณ์ภัยแล้ง เพราะน้ำในเขื่อนต่างๆ มีน้อย
สำหรับการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำของภาคอีสาน เจ้าหน้าที่ชลประทานจะเข้าหาชุมชนสอบถามความต้องการคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ กลุ่มผู้ใช้น้ำ และอาสาสมัครชลประทาน เพื่อเข้าแก้ไขปัญหากับกลุ่มผู้ใช้น้ำ
โดยกรมชลประทานพร้อมเข้าสนับสนุนทันทีที่ได้รับการร้องขอ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำจากที่มีปริมาณน้ำน้อยของปีนี้