วันที่ 30 ก.ย.63 นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา และคณะ ได้แก่ นายชนศวรรตน์ ธนศุภรณ์พงษ์ นายนำพล คารมปราชญ์ นายภัทรพล ณ หนองคาย คณะอนุกรรมาธิการศึกษาเสนอแนะการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างด้านการบริหารจัดการทรัพยากรนำ้และที่ดิน เดินทางไปบ้านท่าข้าม ต.หัวนา อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี ร่วมกับนายชัชวาลย์ คงอุดม หัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไทย ในฐานะกรรมาธิการแก้ไขหนี้สินแห่งชาติ รับฟังปัญหา ข้อมูล เสนอแนะแลกเปลี่ยนประชุมเวทีเครือข่ายเกษตกรสามัคคีแห่งประเทศไทย (คกส.) ที่ประกอบด้วยตัวแทนเกษตรกรจากจังหวัดสุพรรณบุรี นครราชสีมา สกลนคร นครศรีธรรมราช กำแพงเพชร ประมาณ 550 คน โดยมี นายชูชีพ พงษ์ชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี นายชัชวาลย์ สิงห์สถิตย์ สำนักงานจังหวัดสุพรรณบุรี และนายบรรเจิด จีนสุขแสง กำนันตำบลหัวนา เข้าร่วมรับฟังด้วย
นายชัชวาลย์ คงอุดม กล่าวต่อที่ประชุมเสวนาว่า ปัญหาที่ประชาชนต้องมีภาระหนี้สินเกิดจากความจำเป็นในชีวิตประจำวันที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายในครัวเรือนใช้จ่ายกับหน้าที่การงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานภาคการเกษตร แต่ด้วยสภาพของดินฟ้าอากาศ ส่งผลให้แทบทุกพื้นที่ต้องประสบกับปัญหาภัยแล้ง ประชาชนต้องประสบปัญหาความยากจน ซึ่งตนพยายามจะหากองทุนมาแก้ปัญหาภาระหนี้สินให้กับประชาชน
จากนั้นได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรเสนอปัญหา ข้อมูล ข้อเสนอแนะ และแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์อย่างกว้างขวาง โดยสรุปสาระหลักได้ว่า ปัญหาหนี้สินเกิดจากรายได้ไม่ต่อเนื่อง ต้องกู้ก่อหนี้ไปเรื่อยๆ ทำการเกษตรต้องใช้ยา สารเคมีทำให้ต้นทุนสูง ที่สำคัญการขาดน้ำ สุพรรณบุรีเจอภาวะแล้ง 3 ปี
ด้านนายสังศิต ได้เสนอความเห็นต่อที่ประชุมว่า จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศไทย แต่ว่าเกษตรกรขาดแคลนน้ำ การขาดแคลนน้ำเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พี่น้องเกษตรกรเป็นหนี้สิน มีบางพื้นที่ที่ถูกเรียกว่า “อีสานภาคกลาง” เช่น ในเขตพื้นที่อำเภอหนองหญ้าไซ เป็นต้น
“จังหวัดสุพรรณบุรีแหล่งน้ำที่มาจาก 3 แหล่ง ขาดแคลนน้ำที่มาจากแหล่งกาญจนบุรี แล้วไม่มีน้ำ ถ้าจะทำให้มีน้ำต้องขึ้นไปทำฝายถึงกาญจนบุรี ส่วนน้ำที่มาจากชัยนาท ก็ต้องขึ้นไปบล็อกน้ำจากข้างบนลงมา ซึ่งจังหวัดสุพรรณบุรีจะต้องใช้วิธีหาน้ำหลายวิธี แต่เป็นวิธีที่ยาก เพราะว่าในดินส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีน้ำ ซึ่งพี่น้องเกษตรกรน้ำแล้งมา 3 ปีแล้ว ทำการเกษตรไม่ได้ ทำให้มีหนี้สิน เพราะฉะนั้นเราต้องมาคิดว่าจะแก้ไขปัญหาหนี้สินของพี่น้องเกษตรกร โดยการสร้างแหล่งน้ำให้พี่น้องเกษตรกร”
ทั้งนี้ ฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยจังหวัดสุพรรณบุรีได้ประกาศพื้นที่ประสบภาวะขาดน้ำ แห้งแล้ง สืบเนื่องตั้งแต่ 2562 -2563 ซึ่งในพื้นที่ประสบสภาวะแห้งแล้งสามอำเภอ ได้แก่ อำเภอหนองหญ้าไซ อำเภอดอนเจดีย์ และอำเภออู่ทอง และอำเภอเดิมบางนางบวช (http://pvlo-spr.dld.go.th/webnew/index.php/th/news-menu-2/warnning-menu/379-disaster-area)
“แม้ว่าสุพรรณบุรีจะแก้ไขปัญหายาก เพราะน้ำทั้ง 3 ทิศทางที่จะมาเติมไม่ค่อยมี แต่แก้ปัญหาได้ สามารถใช้งบประมาณของ อบต.ได้ หรือถ้าหากนายก อบจ. สนับสนุน ก็สามารถใช้งบของ อบจ.ได้ หรือทางจังหวัดจะช่วย โดยให้ผลในเรื่องภัยพิบัติ ภัยแล้ง ก็สามารถนำงบมาทำเรื่องแหล่งน้ำได้ เช่นกัน”
“สิ่งที่ผมจะลงมาทำ ไม่ใช่การสร้างเขื่อน หรือสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ แต่เป็นการทำแหล่งน้ำขนาดเล็ก เรียกว่า ฝายแกนซอยซีเมนต์ เพื่อกักเก็บน้ำให้พี่น้องเกษตรกรไว้ใช้ทั้งปีและการทำแก้มลิงอยู่ใต้ดิน เนื่องจากพื้นดินของสุพรรณบุรีแห้งแล้งมาก การขาดแคลนน้ำ ซึ่งเป็นต้นเหตุของความยากจน และหนี้สิน ผมตั้งใจจะมาทำเรื่องแหล่งน้ำให้กับพี่น้องเกษตรกรสุพรรณบุรี ถ้าพี่น้องเกษตรกรมีน้ำไว้ใช้ทำการเกษตรตลอดปี ก็จะแก้ไขปัญหาหนี้สินได้
“ผมจะพยายามทำให้พี่น้องเกษตรกรมีน้ำใช้ตลอด 365 วัน เพื่อที่จะได้มีโอกาสทำงานตลอดทั้งปี เมื่อมีน้ำแล้วก็อยากจะขอร้องพี่น้องเกษตรกรว่าช่วยทำการเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกพืชหลายๆ ชนิด เพื่อไว้ขายเป็นรายได้ประจำวัน และอย่าใช้สารเคมี เพื่อที่จะสร้างโอกาสให้พี่น้องเกษตรกรมีชีวิตดีขึ้นกว่าเดิม มีความมั่นคงในอาชีพ ไม่ต้องออกไปรับจ้าง สามารถทำงานอยู่ที่บ้านได้ตลอด 365 วัน เราจึงต้องทำเรื่องน้ำกัน” นายสังศิต กล่าวในที่สุด
นายนิมิตร สมบูรณ์วิทย์ ประธานสถาบันพัฒนาประชาสังคมภูมิภาค (RCDI) ในฐานะคณะกรรมการลุ่มน้ำท่าจีน ยืนยันข้อมูลว่า ในส่วนที่เรียกว่า ‘อีสานของภาคกลาง’ นั้นประกอบด้วย อำเภอหนองหญ้าไซ ห้วยกระเจา (อ.อู่ทอง) เลาขวัญ ซึ่งมีลักษณะดินปนทราย เป็นพื้นที่สูง ไม่มีแหล่งน้ำ การชลประทานไปไม่ถึง การแก้ปัญหา ต้องสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ ไม่ต้องใหญ่ กระจายทั่วพื้นที่ ซึ่งจะสร้างความชุ่มชื้นให้แผ่นดินได้ นายนิมิตร กล่าว
จากนั้นได้มอบให้นายภัทรพล ณ หนองคาย อนุกรรมาธิการศึกษา เสนอแนะ การแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและที่ดิน ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ ได้ให้ความรู้ แนะนำการใช้รูปแบบ 10 แนวทางพัฒนาเพื่อท้องถิ่นพึ่งพาตนเอง ในการแก้ไขปัญหาเรื่องของน้ำขาดแคลนนั้น หากเรารู้หลักและเข้าใจธรรมชาติของน้ำ ก็จะสามารถมีน้ำสำหรับใช้ประโยชน์ตลอดทั้งปีและเกิดความยั่งยืนในชีวิต มีความสุขกับการประกอบอาชีพ ปลอดจากภาระหนี้สินได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังได้มอบหนังสือ 10 แนวทางพัฒนาเพื่อท้องพึ่งพาตนเอง ให้กับกลุ่มเกษตรกร ซึ่งได้รับความสนใจต่างกรูเข้ามารับเอกสาร จนจำนวนหนังสือไม่เพียงพอ เนื่องจากชาวบ้านที่มาร่วมในเวทีเสวนาจำนวนไม่ต่ำกว่า 550 คน มีความต้องการหนังสือทั้งหมด
จนเมื่อหลังเลิกการประชุมแล้ว ปรากฎยังมีพี่น้องเกษตรกรเข้ามาแสดงเจตจำนงค์ แจ้งชื่อที่อยู่ให้กับนายภัทรพล ณ หนองคาย หรือ ผอ.ดี้ เพื่อส่งหนังสือ 10 แนวทางพัฒนาเพื่อท้องพึ่งพาตนเองให้ในภายหลังต่อไป