xs
xsm
sm
md
lg

“อุตรดิตถ์-สุโขทัย-ลำพูน” เร่งสร้างฝาย “แกนซอยซีเมนต์” รับมือแล้ง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ท้องถิ่นเริ่มแล้ว อุตรดิตถ์-สุโขทัย-ลำพูน รอไม่ได้ รับมือแล้ง สร้างฝายแกนซอยซีเมนต์ ตุนน้ำ

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา พร้อมด้วย นายเกียว แก้วสุทอ คณะกรรมาธิการ นายภัทรพล ณ หนองคาย อนุกรรมาธิการ และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการบรรเทาภัยแล้งจากน้ำ นายชนศวรรตน์ ธนศุภรณ์พงษ์ เดินทางเพื่อรับฟัง เสนอแนะ ให้ความรู้ ในเวทีเสวนาเรื่อง “แนวทางแก้ไขปัญหาอุทกภัย/ภัยแล้งต่อเนื่องอย่างยั่งยืน” เส้นทาง 3 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดสุโขทัย และ จังหวัดลำพูน ระหว่างวันที่ 11-13 กันยายน 2563

ในแต่ละเวที ทั้ง 3 จังหวัด นายสังศิต มอบให้ นายภัทรพล ณ หนองคาย อนุกรรมาธิการ และ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการบรรเทาภัยแล้ง แนะนำให้ความรู้ นวัตกรรม การสร้างฝายกักเก็บน้ำด้วยแกนซอยซีเมนต์ และ อีก 10 แนวทางซึ่งสามารถจัดเก็บน้ำจัดหาแหล่งน้ำเพราะปลูกยามหน้าแล้งได้

ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เรื่องการทำฝายแกนซอยซีเมนต์ ร่องแกนเติมน้ำ (สำหรับขวางทางน้ำ ดักน้ำลงใต้ดิน ชะลอน้ำท่วมน้ำหลากได้) มีการสอบถามระหว่างการบรรยายเป็นเวลากว่าชั่วโมง


นอกจากนี้ หน่วยราชการทั้งระดับจังหวัด อำเภอ ยังมี นายบุญส่ง ไคร้แค ผู้ประสานงานศูนย์ประสานเครือข่ายชุมชนแก้ไขปัญหาราษฎร (ศคป.) ซึ่งเป็นที่รู้จักคุ้นเคยกับภาคประชาชนและหน่วยราชการในพื้นที่อย่างดี ทั้งจากตัวแทนภาคประชาชน องค์กรปกครองท้องถิ่น และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ เป็นต้น มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน ผลักดัน การแก้ปัญหาภัยแล้งในกลุ่ม 3 จังหวัด (อ่านเพิ่มเติม : https://www.facebook.com/1765804180301361/posts/2685336405014796/?d=n)

จากการศึกษา รับฟังปัญหา และ การให้ความรู้ และข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา จึงเป็นมิติทางสังคม ทำให้เกิดการประสานพลังการมีส่วนร่วมของภาคราชการและภาคประชาชน ทำให้เกิดผลการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมในระยะเวลาอันรวดเร็ว


ทั้งนี้ นายภัทรพล ณ หนองคาย อนุกรรมาธิการ และ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการบรรเทาภัยแล้ง รายงานว่า นายบุญส่ง ไคร้แค ผู้ประสานงานศูนย์ประสานเครือข่ายชุมชนแก้ไขปัญหาราษฎร (ศคป.) ได้ประสานขับเคลื่อนได้ข้อสรุป ดังนี้

1. อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 23 กันยายน 63 เวลา 14.00 น. ณ อบต.นาทราย อ.ลี้ จ.ลำพูน คณะประสานงานได้ร่วมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาอุทกภัย/ภัยแล้งต่อเนื่องอย่างยั่งยืน ต่อยอดจากการศึกษาดูงานของคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำวุฒิสภา ด้วยการทำฝายแกนซอยซีเมนต์ ซึ่งที่ประชุมมีข้อสรุปให้ดำเนินการในห้วยแม่แตะ ซึ่งมีความยาวประมาณ 10 กิโลเมตรก่อนไหลลงรวมแม่น้ำลี้ มีต้นน้ำอยู่ หมู่ 2, หมู่ 7, หมู่ 5, หมู่ 20, หมู่ 4, หมู่ 6, หมู่ 16 และหมู่ 1 โดยกองช่างโยธาของ อบต.จะออกสำรวจจุดที่เหมาะสมร่วมกับผู้นำท้องถิ่นท้องถิ่น รวมไปถึงการทำประชาคม/หนังสือยินยอมผู้ทำกินใกล้เคียงจุดก่อสร้าง


การสำรวจความเหมาะสมและออกแบบงานก่อสร้างจะได้ประสานศูนย์ปฏิบัติการบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำให้คำปรึกษา ส่วนการขออนุญาตใช้พื้นที่จะได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกันในประมาณกลางเดือนตุลาคม 2563 ด้านงบประมาณการก่อสร้างฝายต้นแบบ 2-3 ตัว ได้ประสานความร่วมมือภาคธุรกิจในจังหวัดลำพูนให้การสนับสนุน ซึ่งน่าจะได้ข้อสรุปก่อนกลางเดือนนี้

2. จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายการทำงาน แม่น้ำปาด ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อำเภอบ้านโคก/อำเภอฟากท่า/อำเภอน้ำปาด ชุดประสานในพื้นที่ได้ประสานงานทางนายอำเภอฟากท่า เป็นเจ้าภาพเชิญองค์กปกครองส่วนท้องถิ่น/ส่วนราชการ/ผู้นำท้องถิ่นท้องที่ ในเขตอำเภอฟากท่าทั้งสี่ตำบล หารือแนวทางบริหารจัดการน้ำร่วมกันและการแก้ไขปัญหาอุทกภัย/ภัยแล้งต่อเนื่องอย่างยั่งยืน ลุ่มน้ำปาด พื้นที่อำเภอฟากท่า ด้วยฝายแกนซอยซีเมนต์ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 มีความคืบหน้าจะรายงานให้ทราบต่อไป และ

3. อำเภอศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ชุดประสานงานได้หารือร่วมกันในหลายท้องถิ่น ตกลงให้ นางรุ่งอรุณ คำโมง นายกเทศมนตรีตำบลหาดเสี้ยว เป็นเจ้าภาพเชิญ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในลุ่มน้ำยมพื้นที่อำเภอศรีสัชนาลัย ประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาอุทกภัย/ภัยแล้งต่อเนื่องอย่างยั่งยืน โดยกำหนดการประชุมในต้นเดือนตุลาคม 2563 ความคืบหน้าจะรายงานให้ทราบต่อไป










กำลังโหลดความคิดเห็น