xs
xsm
sm
md
lg

รู้ผล ธ.ค.! แบริเออร์หุ้มยางพารา ทนร้อน-ลดแรงกระแทกกว่า 80%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เผย ธ.ค.นี้รู้ผลคุณภาพแบริเออร์หุ้มยางพารา ก่อนส่งทดสอบมาตรฐานที่เกาหลี เผยคุณสมบัติพิเศษ ความหนา 2 นิ้ว พบทนความร้อนได้มากกว่า 100 องศา ลดแรงกระแทกกว่า 80% อายุใช้งานกว่า 5 ปี


เมื่อวันที่ 9 พ.ย. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์เพื่อติดตามความก้าวหน้าและรับฟังปัญหาการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ โดยได้สั่งการและมอบนโยบายให้แต่ละหน่วยงานไปดำเนินการ พร้อมเน้นย้ำถึงความคุ้มค่า การประหยัดงบประมาณ เกิดประโยชน์ต่อประชาชน และได้รับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ในพื้นที่

กรมทางหลวง (ทล.) ได้รายงานผลการดำเนินการตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ เช่น โครงการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ โดยก่อสร้างขยายผิวจราจร ทางหลวงหมายเลข 2445 ตอน บุรีรัมย์-แสลงโทน อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จ 100% และประยุกต์ใช้อุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยด้วยวัสดุยางพารา เป็นต้น

ด้านกรมทางหลวงชนบท (ทช.) รายงานความคืบหน้าการทดสอบแบริเออร์หุ้มด้วยยางพารา ซึ่งคาดว่าจะทดสอบในประเทศไทยแล้วเสร็จกลางเดือนธันวาคม 2562 จากนั้นจะส่งไปทดสอบยังต่างประเทศ คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายเดือนธันวาคมนี้

ทล.-ทช.แจงแบริเออร์แปะยางพาราทนไฟ และสามารถแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุเป็นไปตามมาตรฐานสากล

นายปฐม เฉลยวาเรศ รองอธิบดีกรมทางหลวงชนบท รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้มอบนโยบายให้ ทล.และ ทช.เร่งทำการศึกษา วิเคราะห์ และวิจัยการดำเนินการทดสอบแผ่นยางพาราครอบแบริเออร์ (Rubber Fender Barrier) โดยได้เน้นย้ำความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและความเหมาะสมในการประยุกต์ใช้ในประเทศไทยเป็นสำคัญ รวมถึงจะต้องช่วยเกษตรกรชาวสวนยางพาราให้สามารถขายยางพาราได้มากขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของทางรัฐบาล

ดังนั้น กระทรวงคมนาคมจึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ตลอดจนร่วมมือกับการยางแห่งประเทศไทย ดำเนินการศึกษา ทดลอง และพัฒนา แผ่นยางพาราครอบแบริเออร์ให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยสากล มีความเหมาะสมและเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน

จากผลการศึกษาการเกิดอุบัติเหตุต่อกิโลเมตรที่ความเร็วต่างๆ บนทางหลวงที่เป็นเกาะกลางประเภทต่างๆ ในบริเวณพื้นที่กรณีศึกษา (Case Study) ของ ชัยยุทธ์ ศรีสุด มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (2557) และสินีนาฏ โอจารุทิพย์ ดร.สุพรชัย อุทัยนฤมล (2562)

พบว่า เกาะกลางถนนเกาะสี หากมีการขับรถยนต์ส่วนบุคคลเกินความเร็วที่ออกแบบจะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูงกว่า 35.20% และการเกิดอุบัติเหตุมีความรุนแรงมากถึง 55.16% ของทุกประเภทเกาะกลางถนน แต่เกาะกลางถนนที่ติดตั้งแท่ง Concrete Barriers หากมีการขับรถยนต์ส่วนบุคคลเกินความเร็วที่ออกแบบจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ 6.11%

ดังนั้น จึงสามารถสรุปได้ว่าเกาะกลางที่เป็น Concrete Barriers จะสามารถแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุและควบคุมความเร็วได้ดีที่สุด

ในส่วนของมาตรฐานแท่ง Concrete Barriers ปัจจุบันประเทศไทยจะใช้รูปแบบที่เรียกว่า
New Jersey Type Barrier เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานของ AASHTO สำหรับแบริเออร์แบบเรียบ (Single-Slope Barrier) ที่ออกแบบโดยกรมทางหลวงชนบท ปรากฏว่าผลการทดสอบการชนรถยนต์จะสามารถเปลี่ยนทิศทาง (Redirection) ได้อย่างปลอดภัยและเป็นไปตามมาตรฐาน AASHTO เช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีผลการทดลองแผ่นยางพาราครอบแบริเออร์ในห้องปฏิบัติการของ วว. โดยมีรายงานผลการทดลองการทดสอบคุณสมบัติพิเศษของแผ่นยางพาราครอบแบริเออร์สามารถทนความร้อนได้มากกว่า 100 องศาเซลเซียส และสามารถลดแรงกระแทกได้กว่า 80% ที่ความหนา 2 นิ้ว ในส่วนของความต้านแรงยึดเหนี่ยวระหว่างคอนกรีตกับแผ่นยางสามารถรับแรงดึงที่มากกว่า 1 ตัน/ตารางเมตร ซึ่งเป็นแรงดึงที่สูงมาก และความเสื่อมสภาพของแผ่นยางพาราครอบแบริเออร์ ได้มีการทดลองในทุกสภาวะอากาศที่อุณหภูมิเปลี่ยนแปลง ทุกวัน และทุกฤดูกาล จะมีอายุการใช้งานไม่น้อยกว่า 5 ปี

กระทรวงคมนาคมได้ตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนมาโดยตลอด ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานกระทรวงจะนำวัสดุพร้อมแท่ง Concrete Barriers ไปทดสอบต่อที่ประเทศเกาหลี

กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทจึงขอยืนยันว่าการดำเนินการตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดและมีความเหมาะสมในการประยุกต์ใช้ในประเทศไทย อีกทั้งการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหายางพาราตกต่ำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพาราและนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชาชนคนไทยตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม








กำลังโหลดความคิดเห็น