xs
xsm
sm
md
lg

ชลประทานยืนยันสามารถป้องกันน้ำเค็มทะลักเข้าคลองในราชบุรีได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ราชบุรี - สำนักชลประทานที่ 13 กรมชลประทาน ยืนยันป้องกันน้ำเค็มทะลักเข้าพื้นที่คูคลองใน อ.ดำเนินสะดวก และอำเภอใกล้เคียงได้ หลังจากหลายพื้นที่ประสบกับปัญหาเรื่องของน้ำเค็มที่ทะลักเข้าไปตามแม่น้ำลำคลองต่างๆ ส่งผลกระทบในหลายด้าน

จากกรณีที่หลายพื้นที่ประสบกับปัญหาเรื่องของน้ำเค็มที่ทะลักเข้าไปตามแม่น้ำลำคลองต่างๆ ส่งผลกระทบในหลายด้าน ทั้งเรื่องการอุปโภคบริโภค การเกษตร และเลี้ยงสัตว์ สาเหตุมาจากปัญหาภัยแล้ง ซึ่งมีปริมาณน้ำน้อยทำให้ช่วงน้ำทะเลหนุนจะไม่มีน้ำจืดผลักดันน้ำเค็มให้ออกไปนั้น ในส่วนของ จ.ราชบุรี เป็นอีกจังหวัดหนึ่งซึ่งเคยเกิดปัญหาน้ำเค็มทะลักเข้าพื้นที่เมื่อปี พ.ศ.2558

ในช่วงนั้นส่งผลให้ประชาชนที่ปลูกพืชผักได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง จึงทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมชลประทานได้นำเอาปัญหาน้ำเค็มรุกพื้นที่ ในปี พ.ศ.2558 มาเป็นโมเดลในการแก้ไขปัญหา และเป็นแนวทางในการป้องกันน้ำเค็มทะลักเข้าตามคูคลองต่างๆ เนื่องจาก จ.ราชบุรี มีพื้นที่ติดต่อกับ 2 จังหวัดที่อยู่ติดกับทะเล คือ จ.สมุทรสาคร และ จ.สมุทรสงคราม

นายเฉลิมวรรษ อินทชัยศรี นายช่างชลประทานอาวุโส และเป็นหัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาดำเนินสะดวก เปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องน้ำเค็มและปัญหาภัยแล้งว่า เรื่องปัญหาน้ำเค็มรุกเข้าพื้นที่นั้น ทางสำนักชลประทานที่ 13 ได้นำปัญหาน้ำเค็มรุกเข้าพื้นที่เมื่อปี พ.ศ.2558 มาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางป้องกัน จนทำให้ในปีนี้ที่อื่นอาจจะได้รับผลกระทบจากน้ำเค็มที่ทะลักเข้ามา แต่ในพื้นที่ จ.ราชบุรี ขอยืนยันได้ว่าขณะนี้น้ำเค็มนั้นยังไม่ทะลักเข้ามาในพื้นที่ เพราะมีการสร้างประตูระบายน้ำในคลองสายหลักหลายแห่งที่ติดต่อกับพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม และ จ.สมุทรสาคร

เพื่อปิดกั้นน้ำเค็มทะลักเข้ามา และจะมีการตรวจวัดค่าความเค็มในน้ำทุกวัน ถ้ามีน้ำเค็มเข้ามามากเกินไป ทางชลประทานก็จะสามารถปล่อยน้ำจืดจากเขื่อนใน จ.กาญจนบุรี เข้ามาไล่น้ำเค็มออกได้ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร ประกอบกับในช่วงนี้น้ำทะเลไม่หนุนจึงยังไม่มีผลกระทบอะไรกับประชาชน ทั้งในพื้นที่ อ.ดำเนินสะดวก และ อ.บางแพ จะเป็น 2 อำเภอที่มีลำน้ำคูคลองเชื่อมต่อกับอยู่กับ 2 จังหวัดที่ติดชายทะเลดังกล่าว

ส่วนเรื่องของภัยแล้งนั้น กรมชลประทานได้มีการวางแผนการบริหารจัดการน้ำไว้เป็นช่วงระยะเวลา คาดการณ์น้ำต้นทุนของเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณในช่วงฤดูแล้งมีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 9,200 ล้าน ลบ.ม. วางแผนจัดสรรน้ำไว้ทั้งหมด 5,700 ล้าน ลบ.ม. แยกเป็นการเกษตร 3,180 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการอุปโภคบริโภค 460 ล้านลบ.ม. และรักษาระบบนิเวศ รวมทั้งระบบอื่นๆ 2,060 ล้าน ลบ.ม. สนับสนุนการเพาะปลูกประมาณ 2.07 ล้านไร่ คาดว่าตามแผนที่ทางกรมชลประทานวางไว้จะทำให้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ราชบุรี ไม่น่าจะส่งผลกระทบมากนัก

จากนั้น นายเฉลิมวรรษ อินทชัยศรี นายช่างชลประทานอาวุโส พร้อมด้วยนายเกียรติพงษ์ วาณิชย์เจริญ หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม และนายนรุตม์ เดชศิริ หัวหน้าส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบประตูระบายน้ำในลำคลองสายเชื่อมต่อพื้นที่ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี และ ต.ท่าคา อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ถึงประตูระบายน้ำลำประโดง ต.ท่าคา อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ได้พบกับนายสัญญา อี้โค้ว อายุ 74 ปี อยู่บ้านเลขที่ 12 หมู่ 3 ต.ท่าคา อ.อัมพวา ที่กำลังใช้งานประตูระบายน้ำอยู่

นายสัญญา กล่าวว่า ตนเป็นเกษตรกรที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอมในเขตรอยต่อ ระหว่าง จ.ราชบุรี และ จ.สมุทรสงคราม บอกว่า ตั้งแต่ทางชลประทานมาสร้างประตูกั้นน้ำเค็ม ทำให้น้ำเค็มนั้นไม่เข้ามาในพื้นที่ ถึงแม้จะมีมาบ้างแต่ก็น้อย ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไร เพราะตนเองปลูกมะพร้าวน้ำหอมจึงไม่มีผลอะไร แต่ถ้าเข้ามามากๆ ก็จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่ปลูกพืชล้มลุก








กำลังโหลดความคิดเห็น