xs
xsm
sm
md
lg

เร่งนโยบายแก้แล้งปี 63 "มหาดไทย" เวียน 77 ผู้ว่าฯ ปรับแผนเผชิญเหตุ ขยับกลไกระบบบัญชาการ 3 ภารกิจ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มาแล้ว! คำสั่งเตรียมแผนป้องกัน/แก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 2563 "มหาดไทย" เวียน 77 ผู้ว่าฯ ปรับแผนเผชิญเหตุภัยแล้งทั้งในภาพรวม/เฉพาะเหตุ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ดูกลไกระบบบัญชาการ 3 ภารกิจ "กลุ่มพยากรณ์ -บริหารจัดการนํ้า -กลุ่มปฏิบัติรแก้น้ำปัญขาดแคลน" ย้ำขยยายแก้มลิงชั่วคราวเป็นกักเก็บน้ำถาวร พ่วงจัดทำ"ธนาคารน้ำใต้ดิน"

วันนี้ (6 ม.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) เวียนหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อดำเนินการตามแผนเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 2563 ภายหลังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้งสถานการณ์ภัยแล้ง ระหว่างปี 2562-63 ตามคำสั่งกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.)

โดยแผนดังกล่าว เพื่อให้ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทุกจังหวัด ปรับแผนเผชิญเหตุภัยแล้งทั้งในภาพรวม และเฉพาะเหตุที่อาจ จะเกิดขึ้นให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยให้ดำเนินการตามแนวทาง ดังนี้

1. ใช้กลไกระบบบัญชาการเหตุการณ์ตามกฎหมายและแผนว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในการมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มภารกิจหลัก ประกอบด้วย

1.1 กลุ่มพยากรณ์ โดยมีคณะทำงานติดตามสถานการณ์ ของศูนยบัญชาการเหตุการณ์จังหวัด ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานด้านการคาดการณ์สภาพอากาศ และหน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนฝ่ายปกครองในพื้นที่ทำหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ สภาพน้ำท่า และระดับนํ้าในแหล่งเก็บน้ำขนาดต่าง ๆ ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด

เพื่อวิเคราะห์ และประเมินสถานการณ์น้ำต้นทุน และความต้องการใช้น้ำในด้านต่าง ๆ โดยหากมีแนวโน้มเกิดการขาดแคลนน้ำในกรณีต่าง ๆ ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศน์ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ให้เร่งเสนอผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการสั่งการหน่วยงานเข้าดำเนินการแก้ไขปัญหาในทันที

1.2 กลุ่มบริหารจัดการนํ้า โดยดำเนินการในรูปแบบคณะกรรมการ/คณะทำงาน ของจังหวัด มีหน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำเป็นฝ่ายเลขานุการ เพื่อให้การวางแผนการใช้น้ำในลักษณะต่าง ๆ ทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศน์ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม รวมทั้งการกำหนดแนวทาง ในการระบายน้ำ และกักเก็บน้ำไวัใช้ประโยชน์ เป็นไปอย่างครอบคลุม สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่

1.3 กลุ่มปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนนํ้า โดยบูรณาการหน่วยปฏิบัติการ จากทั้งฝ่ายพลเรือน หน่วยทหาร ตลอดจนภาคเอกชน เข้าดำเนินการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนนํ้าให้ ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหากรณีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนเป็นอันดับแรก พร้อมทั้งกำหนดแบ่งพี้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบ และมอบหมายหน่วยงาน/ภารกิจ ตลอดจนหน่วยสนับสนุนให้ครอบคลุมในแต่ละพื้นที่

2. ให้สำรวจตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค พร้อมทั้ง กำหนดมาตรการรับมือ อาทิ การจัดทำแผนสำรองน้ำ การหาแหล่งน้ำสำรอง การขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล ในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำดิบ การขุดขยายสระพักน้ำดิบ เพื่อสำรองปริมาณน้ำในการอุปโภคบริโภค

รวมถึง การสูบส่งน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียงไปยังระบบการผลิตน้ำประปา และให้กำหนดพื้นที่ที่เหมาะสม เป็นพื้นที่นำร่อง การพัฒนาพื้นที่รับน้ำ (แก้มลิง) ชั่วคราว ที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เป็นพื้นที่กักเก็บน้ำถาวร ตลอดจนการพิจารณา จัดทำ"ธนาคารน้ำใต้ดิน"ที่มีการควบคุมคุณภาพน้ำ ที่กักเก็บให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน มีความสะอาด ปลอดภัย เพียงพอสำหรับการใช้ประโยชน์

3. ในส่วนของการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร ให้สนับสนุนมาตรการควบคุมการใช้น้ำในพื้นที่ โดยขอความร่วมมือไม่ให้เกษตรกรทำการปิดกั้นลำน้ำ หรือสูบน้ำเข้าพื้นที่การเพาะปลูก ตามแผนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อลดผลกระทบการขาดแคลนน้ำด้านอุปโภคบริโภคในพื้นที่

พร้อมทั้ง ประสานกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการจัดทำฝนหลวงในพื้นที่ เมื่อสภาวะอากาศเอื้ออำนวย เพื่อกักเก็บปน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด

4. เฝ้าระวัง และควบคุมไม่ให้มีการปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ คู คลอง หรือแหล่งน้ำต่าง ๆ เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำดีไล่น้ำเสีย และให้มอบหมายหน่วยงานที่รับผิดขอบเส้นทางคมนาคมที่มีแนวติดคลอง ลำน้ำ หรือแม่น้ำต่าง ๆ ในการสำรวจ และกำหนดมาตรการรองรับกรณีการพังทลายของตลิ่ง

4. รณรงค์ประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้ประชาชนภาคส่วนต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการประหยัดน้ำ และทราบถึงมาตรการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ รวมถึงเชิญชวนประชาชนจิตอาสาในพื้นที่ เข้ามามีส่วนร่วมในการก่อสร้าง/ซ่อมแซมแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็ก เพื่อเป็นการปลุกจิตสำนึกให้ประชาชน ใช้น้ำอย่างประหยัด และรู้คุณค่า

ทั้งนี้ คำสั่งฉบับนี้สั่งการ กปภ.จังหวัด ในช่วงที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ยังเป็น ผบ.กปภ.ช. ก่อนมีมติ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม จะรับนั่งเป็น ผู้บัญชาการอำนวยการแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำและกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) การป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำ ตามกรอบรายละเอียดโครงสร้างศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำ ซึ่งครม.จะให้ความเห็นชอบในวันที่ 7 ม.ค.นี้.


กำลังโหลดความคิดเห็น