เลย - ผู้ว่าฯเลยสั่งการทุกภาคส่วนเร่งรณรงค์ให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดและพร้อมรับมือปัญหาแล้งหนัก หลังพบปริมาณน้ำฝนปีนี้ตกแค่600มิลลิเมตรน้อยสุดในรอบ65ปี ย้ำต้องงดปลูกพืชที่ใช้น้ำ ให้มีน้ำกินน้ำใช้จนพ้นหน้าแล้ง
นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สั่งการไปยังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น นายอำเภอทั้ง 14 อำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ประหยัดน้ำ งดปลูกพืชที่ใช้น้ำมาก หวั่นขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และให้เตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือประชาชน ที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก เนื่องจากมีปริมาณน้ำฝนตกลงมา คาดน้อยที่สุดในรอบ 65 ปี ลำน้ำต่างๆ ลำน้ำเลยแห้งถึงก้น ไม่มีน้ำ อ่างเก็บน้ำน้ำหมาน แทบจะไม่มีน้ำเหลือเช่นกัน
นายชัยวัฒน์ ระบุว่าจากข้อมูลนับแต่มีการก่อตั้งสถานีอุตุนิยมวิทยามาในปี พ.ศ.2497 เราวัดน้ำฝนมาตลอดปรากฏว่า ปริมาณน้ำฝนในจังหวัดเลยปีนี้วัดได้ 600 กว่ามิลลิเมตร ซึ่งต่ำที่สุดที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งสถานีอุตุนิยมมา เมื่อน้ำฝนน้อยเราต้องช่วยกันบริหารจัดการว่า จะช่วยให้พ้นแล้งในปีนี้ไปได้อย่างไร อย่างแรกคือต้องช่วยกันประหยัดน้ำ โดยเฉพาะน้ำกินน้ำใช้ และการเกษตรที่จำเป็นต้องประหยัดกันให้สุดๆ
ส่วนการบริหารลุ่มน้ำเลยและน้ำโขง ได้วางหลักเกณฑ์โดยจะแบ่งน้ำ เพื่อใช้เพื่อบริโภค อุปโภค และรักษาระบบนิเวศน์ เดิมเราได้ระบายน้ำเลยไว้ที่ 200,000 ลบ.ม.และได้ลดลงมาเหลือแค่ 140,000 ลบ.ม. ซึ่งในขณะนี้เราได้ระบายเหลือ 100,000 ลบ.ม. และแบ่งไปทำประปา 20,000 กว่า ลบ.ม.นอกนั้นเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ น้ำต้นทุนจะต้องบริหารให้ได้ถึงเดือน เมษายน พฤษภาคมและมิถุนายน ส่วนในเรื่องของการประหยัดน้ำกลุ่มผู้ปลูกพืช ต้องร้องขอประชาชนขอให้ใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด
ขณะที่น้ำกินน้ำใช้ก็จะต้องให้ทางประปา จัดหาแหล่งน้ำสำรองและสำรวจแหล่งน้ำใต้ดิน เช่นการเจาะน้ำบาดาลขึ้นมาสำรองใช้เป็นต้น โดยภาพรวมต้องช่วยกันทุกภาคส่วน ไม่ว่าคนผลิตน้ำ คนใช้น้ำ หรือพี่น้องประชาชนผู้ใช้น้ำก็อยากจะเชิญชวนให้ความร่วมมือทุกภาคส่วน เพื่อให้สถานการณ์น้ำพ้นภัยแล้งไปได้
นายชัยวัฒน์กล่าวอีกว่า ทางจังหวัดได้วางมาตรการรณรงค์สร้างการรับรู้ว่าให้กับประชาชนถึงสถานการณ์น้ำว่าเป็นอย่างไรบ้าง เน้นย้ำว่าปริมาณน้ำฝนตกภายในจังหวัดเลยรวมกันแล้วในปีนี้แค่ 600 มิลลิเมตร ในขณะปีก่อนอยู่ที่ระดับ 1,200 มิลลิเมตรและปีก่อนๆ 1,800 มิลลิเมตร เพื่อจะได้เกิดความตระหนักรู้ช่วยกันประหยัดน้ำ
ขณะเดียวกัน ก็ได้จัดทำแผนการใช้น้ำเพื่อที่จะบริหารน้ำลุ่มน้ำเลย ลุ่มน้ำต่างๆและลุ่มน้ำโขง โดยเอาวิกฤติตรงนี้ถือเป็นโอกาสในการบริหารจัดการน้ำ โดยสรุปก็ต้องทำทั้งระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง และระยะยาวด้วย