xs
xsm
sm
md
lg

ไฟไหม้ศาลาเฉลิมกรุง! คนออกได้หมดใน ๓ นาที ไม่มีบาดเจ็บแม้แต่คนเดียว แค่ทิ้งรองเท้าไว้เป็นพัน!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค



ศาลาเฉลิมกรุง ไม่ใช่โรงภาพยนตร์ธรรมดา แต่เป็นโรงมหรสพที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ๙ ล้านบาท สร้างขึ้น โดยมีพระราชประสงค์จะให้เป็นโรงมหรสพที่เชิดหน้าชูตาของประเทศ และเป็นที่ระลึกในงานฉลองกรุงเทพฯ ๑๕๐ ปี เช่นเดียวกับสะพานพระพุทธยอดฟ้า เสด็จวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๗๓ โปรดเกล้าฯ ให้ ม.จ.สมัยเฉลิม กฤดากร สถาปนิกจากฝรั่งเศส เป็นผู้ออกแบบ แต่ศาลาเฉลิมกรุงเสร็จไม่ทันงานฉลองกรุงเทพฯ ๑๕๐ ปี มาเปิดในวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๔๗๖ ซึ่งได้เสด็จไปประทับที่อังกฤษ

ศาลาเฉลิมกรุงถือได้ว่าเป็นโรงภาพยนตร์ที่ทันสมัยที่สุดในเอเชียขณะนั้น เป็นโรงแรกของไทยที่มีเครื่องปรับอากาศและฉายภาพยนตร์เสียงในฟิล์ม ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ ซึ่งมีโอกาสเข้าดูหนังที่ศาลาเฉลิมกรุงตอน ๗ ขวบ บอกว่าหนาวสั่น ขนาดหน้าหนาวของเมืองไทยยังไม่หนาวเท่าแอร์ของศาลาเฉลิมกรุง

ในวันเปิดศาลาเฉลิมกรุง คนตื่นของใหม่ไปชมโรงกันอย่างเนืองแน่น นสพ.“ศรีกรุง”รายงานไว้ว่า การจราจรบนถนนรอบเฉลิมกรุงต้องหยุดชะงัก ส่วนพิธีในโรงนั้น เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ฯ ผู้แทนพระองค์เป็นผู้กดสวิทช์เปิดม่าน พอม่านลายเทพพนมคลี่ออกก็ปรากฏพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ ๗ บนจอพร้อมกับเพลงสรรเสริญพระบารมี ประชาชนพากันยืนขึ้นถวายความเคารพ เมื่อเพลงสรรเสริญพระบารมีจบ บนจอก็เล่นแสงสีให้คนดูตื่นตาตื่นใจ จากนั้นจึงปรากฏภาพ ม.จ.สมัยเฉลิม กฤดากร ผู้ออกแบบ คนดูต่างปรบมือให้

คนที่เข้าไปชมภาพยนตร์ที่ศาลาเฉลิมกรุงพากันกล่าวว่า เพียงแค่เข้าไปสัมผัสไอเย็น ชมความวิจิตรภายในโรง รวมทั้งได้ดูการเล่นแสงสีและฟังเพลงตอนก่อนหนังฉาย ก็คุ้มค่าดูแล้ว

โครงสร้างศาลาเฉลิมกรุง มีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ใช้แทนการใช้ฝารับน้ำหนักแบบเก่า รอบห้องโถงกลางจะแบ่งเป็นห้องเล็กๆ และใช้เสาย่อยของห้องเป็นตัวช่วยพยุงน้ำหนัก อีกทั้งเหล็กที่ใช้ทำโครงก็เป็นเหล็กชนิดเดียวกับที่ใช้สร้างสะพานพุทธฯ และใช้วิธีขันน็อตเช่นเดียวกัน โครงสร้างของศาลาเฉลิมกรุงจึงมีความมั่นคงแข็งแรง คนในสมัยนั้นมีความเชื่อถือความแข็งแรงของศาลาเฉลิมกรุงกันมาก ขนาดตอนสงคราม พอหวอสัญญาณภัยทางอากาศดังขึ้น ยังวิ่งเข้าไปหลบภัยในศาลาเฉลิมกรุง ทั้งๆที่เฉลิมกรุงไม่มีคุณสมบัติในด้านรับลูกระเบิดเลย

ด้านข้างของศาลาเฉลิมกรุงทั้ง ๒ ด้านติดถนน ผู้ออกแบบจึงทำฝาโรงเป็นบานประตูแฝดบานใหญ่เป็นคู่ๆ ข้างละ ๕ คู่ ยาวตลอดเป็นทางออกทั้ง ๒ ด้าน พอหนังเลิกเพียงแค่ยกเหล็กร้อยกลอนก็ผลักบานประตูออกไปได้ ระบายคนเต็มโรงออกหมดในเวลาเพียง ๓ นาที จึงอยู่ในขั้นปลอดภัยมากหากมีเหตุไฟไหม้

กายสิทธิ์ ตันติเวชกุล ผู้รับตำแหน่งผู้จัดการศาลาเฉลิมกรุงตั้งแต่ปี ๒๔๙๙-๒๕๑๖ ยาวนานถึง ๑๗ ปี เล่าว่า ในวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๐๖ ขณะฉายหนังเรื่อง “ตะวันหลั่งเลือด” ของมารุตฟิล์มในรอบ ๑๖.๓๐ น.มีคนดูชั้นล่างเต็ม ชั้นบนก็เกือบเต็ม หนังเหลืออีก ๒ ม้วนจะจบอยู่แล้ว ก็มีคนตะโกนขึ้นว่า

“ไฟไหม้!”

ทำให้คนดูเกือบ ๑,๕๐๐ แตกตื่นแย่งกันออกจากโรงเพื่อเอาชีวิตรอด แต่บานประตูของเฉลิมกรุงทั้ง ๒ ด้านเปิดได้ทันที ทั้งชั้นบนนอกจากจะมีทางออกด้านหน้าแล้ว ด้านข้างยังมีทางลงไปนอกโรงด้วย จึงระบายคนออกได้รวดเร็วโดยไม่มีใครบาดเจ็บเลย ถ้าเป็นที่อื่นก็คงมีการเหยียบกันถึงตาย แต่ศาลาเฉลิมกรุงที่สร้างมาแต่สมัยรัชกาลที่ ๗ กลับมีความปลอดภัยในเรื่องนี้อย่างยอดเยี่ยม แม้แต่โรงภาพยนตร์ที่สร้างในสมัยนี้ก็ยากที่จะเทียบได้
“แต่พอออกไปพ้นโรงแล้วหันมาดูก็ไม่เห็นแม้แต่ควัน พยายามสอบถามคนดูก็ไม่มีใครเห็นคนตะโกน เลยหาตัวไม่ได้ แล้วก็ไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร พอผมสั่งพนักงานโรงเข้าเคลียร์พื้นที่ โอ้โฮ...เก็บรองเท้ามาได้เป็นกองพะเนินเกือบพันคู่”

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป แหล่งชุมนุมของวัยรุ่นและคนดูหนังเคลื่อนย้ายจากย่านเฉลิมกรุงและวังบูรพาไปย่านสยามสแควร์ โรงหนังในวังบูรพาปิดตัวลง เอ็มไพร์ที่ปากคลองตลาดก็ต้องเปลี่ยนธุรกิจไป เฉลิมไทยถูกทุบทิ้ง ศาลาเฉลิมกรุงก็ต้องซบเซาไปตามยุคสมัย แม้บริษัทเอแพคซ์ผู้ปลุกโรงหนังย่านสยามสแควร์จนรุ่งเรือง ได้เข้ามาเช่าบริหารศาลาเฉลิมกรุง ก็ไม่อาจฝืนกงล้อของยุคสมัยได้

ในที่สุดศาลาเฉลิมกรุงก็ต้องปิดตัวเองลงในปี ๒๕๓๕ แต่ไม่ได้ปิดเพื่อทุบทิ้งหรือเปลี่ยนวัตถุประสงค์ไปทำธุรกิจอื่น เพราะศาลาเฉลิมกรุงมีความหมายมากกว่าเป็นโรงภาพยนตร์ เป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาประเทศ เป็นสถานที่ผูกพันและเป็นตำนานของวงการบันเทิงไทยมายาวนาน จึงเปลี่ยนโฉมให้สมกับเป็นอาคารล้ำค่า โดยบริษัท เฉลิมกรุงมณีทัศน์ จำกัด เข้ามารับปลุกเฉลิมกรุงให้มีชีวิตขึ้นมาอีก แต่ไม่ใช่ทำเพื่อการค้าหากำไร หากเพื่ออนุรักษ์และเปิดบทบาทใหม่ของศาลาเฉลิมกรุง เป็น “เฉลิมกรุงรอยัลเธียร์เตอร์” ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมด้านการแสดงของไทยและสากล พลิกฟื้นศาลาเฉลิมกรุงให้กลับมามีชีวิตตามพระราชปณิธานชองล้มเกล้าฯรัชกาลที่ ๗ ผู้พระราชทานศาลาเฉลิมกรุงให้ปวงชนชาวไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น