โซเชียลแชร์ภาพเม็ดใสๆ อยู่ในเห็ดหูหนู พร้อมคำถาม?ว่าเกิดจากอะไร สามารถรับประทานได้ไหม อ.เจษฎ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยาคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เผยคือสัตว์จำพวกไรไม่ควรทาน เพราะอาจมีเชื้อโรคพร้อมแนะเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงเห็ดหูหนูควรกำจัดทิ้ง
เมื่อวันที่ 22 ก.ย.เพจ “อ๋อมันเป็นอย่างนี้นี่เอง byอาจารย์เจษฎ์” หรือ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาโพสต์ให้ความรู้ หากพบเห็ดหูหนูมีเม็ดใสๆขึ้นอยู่บนนั้น ไม่ต้องตกใจ คือ ไรไข่ปลา สัตว์จำพวกไรอีกชนิด เป็นศัตรูสำคัญของการเพาะเลี้ยงเห็ดหูหนู
โดยระบุว่า มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้โพสต์ถามในกลุ่ม “siamensis.org” ว่า เห็ดหูหนูที่เลี้ยงเอาไว้ในกล่องมีเม็ดใสๆ ขึ้นอยู่บนนั้นบีบแตกได้ชิมแล้วไม่มีรสอยากรู้ว่ามันคืออะไร” ระบุว่าคือ “ไรไข่ปลาบนเห็ดหูหนูตอนแรกสมาชิกท่านอื่น บางท่านเข้าใจว่าอาจจะเป็นไข่ของหอยทากมาวางไข่ไว้ แต่ไข่ของหอยทากปกติจะสีขาวขุ่นๆ ไม่ใช่ใสแบบนี้ และเจ้าของโพสต์บอกว่าเป็นกล่องที่ปิดมิดชิด ไม่น่าจะมีอะไรเข้ามาได้ และคำตอบที่น่าจะเป็นไปได้มากกว่า ก็คือ เป็น “ไรไข่ปลา” สัตว์จำพวกไร (mite) อีกชนิดหนึ่งที่พบว่าเป็นศัตรูสำคัญของการเพาะเลี้ยงเห็ดหูหนู โดยมันอยู่ในระยะที่กำลังกินอาหารและตั้งท้องกำลังจะออกลูก เลยดูลักษณะเป็นเม็ดกลมใสคล้ายไข่ปลา ซึ่งเท่าที่หาข้อมูลไม่พบว่ามันมีพิษอะไรที่คนกินเข้าไปจะเป็นอันตราย แต่ก็คงไม่น่าจะเอามากิน เพราะก็อาจจะมีเชื้อโรคติดมากับตัวมันก็ได้ จึงไม่ควรชิมเล่น
ทั้งนี้ ไรไข่ปลา หรือ mushroom mite (ชื่อวิทยาศาสตร์ Luciaphorus perniciosus Rack) เป็นศัตรูที่สำคัญมากของเห็ดหูหนู สามารถเข้าทำลายก่อให้เกิดความเสียหายได้ทุกระยะของการเพาะเห็ด ทำให้ผลผลิตลดลงอย่างมาก เนื่องจากเห็ดจะไม่ออกดอก โดยเกาะกินน้ำเลี้ยงทำให้ดอกเห็ดแคระแกรน และไรไข่ปลาสามารถกินเส้นใยเห็ดขอนขาว เห็ดหูหนู เห็ดกระด้าง เห็ดหลินจือ และเห็ดเข็มเงิน แต่ไม่สามารถกินเส้นใยเห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม เห็ดนางรมภูฏาน เห็ดนางรมฮังการี เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดหอม และเห็ดแครง ซึ่งไรไข่ปลาในระยะก่อนท้อง จะเป็นระยะแพร่พันธุ์สามารถแพร่กระจายสู่ภายนอก และเข้าทำลายก้อนเชื้อเห็ด เนื่องจากไรมีขนาดเล็กมาก จึงมองเห็นเหมือนฝุ่นละอองเกาะอยู่ทั่วๆ ไป บริเวณปากถุง และชั้นวางถุงเห็ดเมื่อไรไข่ปลาพบแหล่งอาหารจะเริ่มเกาะนิ่งบริเวณข้างถุง และตั้งท้องออกลูกมองเห็นเป็นเม็ดใสกลมคล้ายไข่ปลา
และควรมีวิธีการควบคุมทำความสะอาดตู้เขี่ยเชื้อเห็ดและโรงเรือนให้ปราศจากไรไข่ปลาระวังการปนเปื้อนของไรไข่ปลาในทุกขั้นตอน โดยเฉพาะการผลิตหัวเชื้อเห็ดทำลายก้อนเชื้อที่มีไรไข่ปลา โดยนำไปทิ้งให้ห่างจากโรงเรือนไม่ให้เป็นแหล่งแพร่พันธุ์ หากพบว่ามีไรไข่ปลาเข้าทำลายอยู่ในถุงก้อนเชื้อ ให้พ่นสารไพริดาเบน, อะบาเมคติน, ไตรอะโซฟอส ข้อควรระวัง คือใช้พ่นในระยะบ่มเส้นใยเท่านั้น เพื่อไม่ให้พิษของสารฆ่าไรตกค้างในดอกเห็ด