MGR Online - ย้อนตำนาน “สันติ พร้อมพัฒน์” ผู้ขออาสาเสียบ “ขุนคลัง” แทน “ปรีดี ดาวฉาย” พบเคยถูกลบชื่อออกจากนักศึกษา ม.รามคำแหง เมื่อปี 42 เหตุให้ผู้อื่นปลอมบัตรนักศึกษา-ใบขับขี่ทุจริตการสอบวิชาปรัชญาเบื้องต้น แต่อธิการบดียุค “รังสรรค์” ล้างมลทินให้จนจบทั้ง ป.ตรี และ ป.โท ภายหลังโดนอาจารย์แจ้งความข้อหาปลอมแปลงเอกสาร พ่วงอดีตอธิการบดี ม.157
จากกรณีที่นายปรีดี ดาวฉาย อดีต รมว.คลัง ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่ามีปัญหาด้านสุขภาพ ท่ามกลางกระแสข่าวว่ามีความขัดแย้งกับนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง และนายทุนใหญ่พรรคพลังประชารัฐ กรณีการแต่งตั้งข้าราชการในกระทรวงการคลังที่ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซง จนทำให้นายปรีดีไม่พอใจ ภายหลังนายสันติออกมาปฏิเสธว่าขัดแย้ง และอ้างว่านายปรีดีโทรศัพท์มาขอโทษที่ทำให้ข่าวออกไปแบบนั้น ขณะเดียวกันยังประกาศตัวว่าพร้อมที่จะดำรงตำแหน่ง รมว.คลัง เพื่อชาติบ้านเมือง ขึ้นอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความกังขาของสังคมที่นายสันติพยายามผลักดันตัวเองให้มาคุมกระทรวงสำคัญ กลับพบว่าในอดีตเคยมีเรื่องที่ผิดจริยธรรมอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการทุจริตในการสอบ โดยพบว่ามีหนังสือคำสั่ง มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ 1170/2542 เรื่องลงโทษลบชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา ซึ่งหนังสือดังกล่าวระบุว่า ในการสอบไล่ภาคฤดูร้อนปีการศึกษา 2541 หัวหน้าตึกสอบ PRB201 รายงานว่า ในการสอบกระบวนวิชา PY103 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2542 คาบสอบที่ 1 ได้ตรวจพบนายสันติ พร้อมพัฒน์ รหัสประจำตัว 410 6562624 ได้ให้บุคคลอื่นเข้าสอบแทนโดยการปลอมบัตรประจำตัวนักศึกษา และใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลตลอดชีพ ของกรมการขนส่งทางบก และใช้เป็นหลักฐานในการเข้าสอบ
มหาวิทยาลัยได้นำเรื่องนี้เสนอที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาของสภามหาวิทยาลัย (ทปม.) ในการประชุมครั้งที่ 23/2542 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2542 ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำดังกล่าวของ นายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ 664/2537 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2537 เรื่องข้อปฏิบัติในการสอบไล่ข้อ 1.20 ซึ่งได้ประกาศให้ทราบโดยทั่วกันแล้ว อันเป็นการประทำผิดวินัยนักศึกษาอย่างร้ายแรงตามข้อ 6 แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าด้วยวินัยนักศึกษา พ.ศ. 2522 จึงมีมติให้ลงโทษลบชื่อ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รหัสประจำตัว 4106562624 ออกจากทะเบียนนักศึกษา ทั้งนี้ ตั้งแต่สอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2541 เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2542 ลงชื่อ ศาตราจารย์รังสรรค์ แสงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง
เรื่องนี้ พ.อ.วินัย สมพงษ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ (ขณะนั้น) เคยนำมาอภิปรายเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2551 ในช่วงที่นายสันติดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม ในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช จากพรรคพลังประชาชน ระบุว่า รับไม่ได้กับปัญหาทางด้านคุณธรรมจริยธรรมของ รมว.คมนาคมคนนี้ โดยเฉพาะในกรณีการถูกลบชื่อออกจากการเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อปี 2542 เนื่องจากให้คนอื่นเข้าสอบแทน นายสันติได้เป็น รมว.คมนาคม แต่มีปัญหาเรื่องปลอมใบขับขี่ จะมองหน้ากันกับอธิบดีกรมการขนส่งทางบกได้อย่างไร
นอกจากนี้ยังมีข้อสงสัยว่า ในเมื่อนายสันติถูกลบชื่อออกจากการเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ในปี 2542 แล้ว แต่กลับจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ในปี 2545 และจบปริญญาโทอีกในปี 2547 ทั้งที่ตามระเบียบแล้วคนที่ถูกลบชื่อออกจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงจะไม่มีสิทธิกลับเข้ามาเรียนใหม่ได้ อีกทั้งนายรังสรรค์ แสงสุข อธิการบดีในช่วงนั้น ขณะนี้ได้เป็นกรรมการอิสระในบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เท่ากับว่า คนที่มีคำสั่งลบชื่อนายสันติออกจากการเป็นนักศึกษารามคำแหงแล้วได้กลับมาเรียนใหม่ก็ได้ไปเป็นบอร์ดการบินไทย รมว.คมนาคมคนนี้มีคำถามเรื่องคุณธรรมจริยธรรม
ด้านนายสันติได้ชี้แจงว่า ตนไม่เคยทำใบขับขี่ตลอดชีวิตและไม่เคยดำเนินการใดๆ อย่างที่มีการกล่าวหาว่าตนถูกลบรายชื่อออกจากการเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และทางมหาวิทยาลัยก็ไม่เคยมีปัญหาอะไรกับตนเลย ตนได้เข้าเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงและจบเมื่อปี 2543 และจบปริญญาในปี 2545 และได้เรียนต่อปริญญาโทจนจบใน 2 ปีถัดมา ดังนั้น เรื่องที่มีการปลอมใบขับขี่หรือกระทำการใดๆ นั้นตนไม่เคยทำ ส่วนที่มหาวิทยาลัยจะดำเนินการสิ่งใดนั้นตนไม่ทราบ
อย่างไรก็ตาม นายรังสรรค์ แสงสุข อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวชี้แจงว่า กรณีการสอบแทนกันเกิดขึ้นจริงแต่เป็นบุคคลอื่นที่ชื่อคล้ายนายสันติ พร้อมพัฒน์ คือ ชื่อ นายสานติ พรมพัฒน์ และจับผู้ที่สอบแทนนายสานติได้ ชื่อ นายสวัสดิ์ และดำเนินคดีไปแล้ว ส่วนกรณีนายสันตินั้นเป็นข้อผิดพลาดของฝ่ายวินัย ซึ่งไม่ได้มีการสอบสวน และเสนอชื่อนายสันติมาให้ตนลงนามคัดชื่อออก เมื่อนายสันติทราบเรื่องก็มาต่อว่ามหาวิทยาลัยว่าไม่ได้มีการสอบสวนก่อน และในปี 2542 เป็นปีที่ครบรอบ 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ สภามหาวิทยาลัยได้ออกระเบียบว่าด้วยการล้างมลทินเนื่องในมหามงคลพระชนมพรรษา ๖ รอบ ในระเบียบระบุให้ล้างมลทินให้แก่บรรดานักศึกษาที่ผู้ถูกลงโทษทางวินัย หรือผู้ถูกกล่าวหาว่าทำผิดวินัยนักศึกษา ให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกกล่าวหา หรือถูกลงโทษ หรือถูกลงทัณฑ์ทางวินัย นายสันติจึงใช้ช่องทางนั้นและได้รับโอนหน่วยกิตคืนมาทั้งหมด และจบการศึกษาในปี 2545
ยืนยันว่านายสันติจบการศึกษาถูกต้อง มีทรานสคริปต์ (ใบรับรองผลการเรียน) ครบถ้วน โดยการนิรโทษกรรมนักศึกษาในปี 2542 มีทั้งหมด 44 คน โดยที่เราไม่รู้ว่าเป็นนายสันติหรือไม่ เพราะตอนนั้น ไม่มีใครรู้จักนายสันติ และการล้างมลทินลักษณะนี้ก็สอดคล้องกับกฎหมายล้างมลทิน ซึ่งก็ล้างมลทินให้กับข้าราชการที่ทุจริต สามารถกลับเข้ารับราชการได้ และอีกประการหนึ่ง เป็นเพราะทางมหาวิทยาลัยไม่ได้ตั้งกรรมการสอบสวนนายสันติ อาจมีการกลั่นแกล้งกันหรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่ใครจะทะเลาะอะไรกัน ก็อย่ามาเอามหาวิทยาลัยรามคำแหงไปเป็นเหยื่อ ส่วนกรณีเป็นบอร์ดการบินไทยนั้น ขอให้ไปตรวจสอบว่าในแต่ละปีอาจารย์และนักศึกษารามฯ ใช้บริการการบินไทยมากแค่ไหน เรื่องนี้อย่ามาดูถูกกัน และผู้แต่งตั้งตนก็คือ กระทรวงการคลัง
อีกด้านหนึ่ง นายวิวัฒน์ชัย กุลมาตย์ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวถึงกรณีที่นายรังสรรค์ออกมายืนยันความบริสุทธิ์ของนายสันติ โดยระบุว่าผู้ที่ถูกจับได้ว่าให้คนอื่นเข้ามาสอบแทนนั้นไม่ใช่นายสันติ แต่เป็นนายสานติ พรมพัฒน์ ข้อเท็จจริงก็คือ ช่วงนั้น นายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็น ส.ส.เพชรบูรณ์ พรรคความหวังใหม่ เป็นนักการเมืองที่มีชื่อเสียง และช่วงนั้นกรณีนี้ดังมากเพราะมีการตรวจสอบพบ ส.ส.ทุจริตเลือกตั้ง ไม่น่าเป็นไปได้ว่า มีความผิดพลาดของฝ่ายวินัยที่ใส่ชื่อผิดตามที่นายรังสรรค์อ้าง นอกจากนี้ ในการพิจารณากรณีดังกล่าวมีคณะกรรมการซึ่งเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยรามคำแหงประชุมถึง 40 คน จะผิดพลาดได้อย่างไร
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ตรวจสอบไม่อยาก ให้ดูว่ารหัสนักศึกษา 4106562624 นั้นชื่อนายสันติหรือไม่ ที่สำคัญหัวหน้าคุมสอบวันนั้นเป็นใคร สามารถตรวจสอบได้ว่ามีความผิดพลาดจริงหรือไม่ และวิชา PY103 (ปรัชญาเบื้องต้น) ที่สอบเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2542 มีชื่อนายสันติ หรือสานติหรือไม่ และได้คะแนนเท่าไหร่ สิ่งเหล่านี้สามารถตรวจสอบได้ เพราะมหาวิทยาลัยต้องเก็บเอกสารเหล่านี้ไว้ ส่วนที่นายรังสรรค์ระบุว่า ได้ดำเนินคดีกับนายสานติ และนายสวัสดิ์ ผู้ซึ่งเข้าสอบแทนนั้น แจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจไหน ศาลรับฟ้องหรือไม่ มีหมายเลขคดีหรือไม่ และผลการตัดสินเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้ตรวจสอบไม่อยากเพื่อจะได้รู้ว่าใครพูดจริงใครพูดเท็จ สำหรับการออกระเบียบเรื่องล้างมลทินแก่นักศึกษาที่ถูกลงโทษในกรณีนี้นี้นั้นก็หาไม่อยาก เพราะจะต้องนำเข้าสภามหาวิทยาลัย สามารถขอดูได้เช่นกัน
นอกจากนี้ นายวิวัฒน์ชัยยังมอบอำนาจให้นายโลมิรันดร์ บุตรจันทร์ ทนายความ เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.ในขณะนั้น เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับ นายสันติ ในข้อหาปลอมแปลงเอกสารทางราชการและใช้เอกสารปลอม และนายรังสรรค์ แสงสุข ข้อหาละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 โดยระบุว่า ในการสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2541 หัวหน้าตึก PRB ตรวจพบว่า นายสันติ ได้ให้บุคคลอื่นเข้าสอบแทน โดยปลอมบัตรประจำตัวนักศึกษาและใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลตลอดชีพ ของกรมการขนส่งทางบก นำมาใช้เป็นหลักฐานเข้าห้องสอบ และมีมติให้ลบชื่อ นายสันติ ออกจากทะเบียนนักศึกษา
ต่อมานายสันติซึ่งถูกลบชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษาไปแล้ว ได้บังอาจสมัครเป็นนักศึกษาใหม่มหาวิทยาลัยรามคำแหงอีก ทั้งที่รู้อยู่ว่าตนถูกลบชื่อไปแล้ว และไม่มีสิทธิสมัคร ซึ่งในเวลาดังกล่าว นายรังสรรค์ เป็นอธิการบดี เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของพนักงานมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน มีอธิการบดีปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2541 ได้มีการช่วยเหลือหรือสนับสนุน หรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจปฏิบัติ โดยได้ให้นายสันติได้รับการรับสมัครเป็นนักศึกษาใหม่ ระดับปริญญาตรี และเรียนต่อระดับปริญญาโทจนจบ จึงเป็นการกระทำผิดตามระเบียบมหาวิทยาลัย เพราะเมื่อนายสันติถูกลบชื่อก็มีสิทธิสมัครเป็นนักศึกษา หรือจนกว่าจะขาดอายุความ 15 ปี
นอกจากนั้น จากการที่มหาวิทยาลัย หรืออธิการบดี ไม่ดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติของนายสันติ ขณะเดียวกัน ก็มีหน้าที่ต้องดำเนินคดีกับนายสันติ แต่กลับไม่ดำเนินการใดๆ อีกทั้งยังสนับสนุนให้สมัครเรียนปริญญาตรีภาคพิเศษ จนจบปริญญาโท ทั้งที่มีกฎหมายให้ตรวจสอบและปฏิบัติ ถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอาญามาตรา 157 ขณะที่นายสันติ ถือว่าขาดจริยธรรมสำหรับข้าราชการการเมือง
อนึ่ง นายรังสรรค์ แสงสุข อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2560 เนื่องจากโรคมะเร็งปอด รวมอายุได้ 73 ปี