สื่อท้องถิ่นของจีนเผยภาพขบวนรถไฟฟ้าโมโนเรล “สายสีชมพู-เหลือง” สองคันแรก ที่ประกอบเสร็จแล้ว เตรียมนำเข้ามายังประเทศไทย จากยอดสั่งซื้อทั้งหมด 288 ขบวน ยี่ห้อบอมบาร์ดิเอร์ รุ่นอินโนวา โมโนเรล 300 สุดทันสมัยขับเคลื่อนได้เองโดยไม่ต้องมีคนบังคับ
วันที่ 4 ก.ย. เว็บไซต์สื่อท้องถิ่น AHRB.COM.CN ในมณฑลอานฮุย ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน รายงานว่า ขบวนรถไฟฟ้าโมโนเรลสองคันแรก ที่ใช้สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ที่ผลิตจากโรงงานในเขตพัฒนาเศรษฐกิจอู่หู ของบริษัท ซีอาร์อาร์ซี ปู่เซิน บอมบาร์ดิเอร์ ได้รับการประกอบแล้วเสร็จและเตรียมจะส่งมอบไปยังประเทศไทย จากยอดสั่งซื้อทั้งหมด 288 ขบวน โดยคาดว่าจะทยอยส่งมอบทั้งหมดภายในปี 2565 หลังจากก่อนหน้านี้ได้ส่งมอบรถไฟฟ้าระบบเอพีเอ็ม (APM) ให้กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง (กรุงธนบุรี-คลองสาน) ไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ขบวนรถไฟฟ้าที่นำมาใช้คือยี่ห้อบอมบาร์ดิเอร์ รุ่นอินโนวา โมโนเรล 300 เป็นรถปรับอากาศขนาดกว้าง 3.147 เมตร ยาว 11.8-13.2 เมตร สูงประมาณ 4.06 เมตร ความจุ 356 คนต่อตู้ ต่อพ่วงแบบ 4 ตู้ต่อขบวน ใช้ไฟฟ้ากระแสตรง 750 โวลท์ ป้อนระบบขับเคลื่อนรถ ขบวนรถสามารถขับเคลื่อนจากจุดจอดแต่ละสถานีได้เองโดยไม่ต้องใช้คนควบคุมหรือสั่งการ สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 15,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง โดยรถไฟฟ้ารุ่นนี้ได้นำมาใช้กับรถไฟฟ้าสาย 15 (สายสีเงิน) ที่เมืองเซาเปาโล ประเทศบราซิล และเตรียมที่จะนำมาใช้กับโครงการโมโนเรลย่านการเงิน คิง อับดุลเลาะห์ (KAFD) ประเทศซาอุดิอาระเบีย, โมโนเรลสาย 1 และ 2 ในเมืองอู่หู ประเทศจีน และโมโนเรลในกรุงไคโร ประเทศอียิปต์
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ดำเนินโครงการโดยบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร จำนวน 32 สถานี เริ่มต้นที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (รถไฟฟ้าสายสีม่วง) ไปตามถนนรัตนาธิเบศร์ ถนนติวานนท์ ถนนแจ้งวัฒนะ ถนนรามอินทรา ถนนสีหบูรานุกิจ สิ้นสุดเส้นทางที่สถานีมีนบุรี (โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม) ถนนรามคำแหง ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ดำเนินโครงการโดย บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด ระยะทาง 32 กิโลเมตร จำนวน 23 สถานี เริ่มต้นที่สถานีรัชดา (รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีลาดพร้าว) ไปตามถนนรัชดาภิเษก ถนนลาดพร้าว ถนนศรีนครินทร์ ถนนเทพารักษ์ สิ้นสุดเส้นทางที่สถานีสำโรง (รถไฟฟ้าสายสุขุมวิท หรือสายสีเขียว)
โดยทั้งสองบริษัท เจ้าของสัมปทานคือ กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ประกอบด้วย กลุ่มบริษัทบีทีเอส, กลุ่มบริษัทซิโน-ไทย และกลุ่มราชกรุ๊ป (ผลิตไฟฟ้าราชบุรี) ภายใต้สัญญาร่วมลงทุนโครงการและสัญญาสัมปทานกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ระยะเวลาสัมปทาน 33 ปี 3 เดือน สิ้นสุดในปี 2594