xs
xsm
sm
md
lg

“ปานเทพ” ยกคำพิพากษาศาลฎีกา ชี้ชัดคำสั่งไม่ฟ้อง “บอส” กลับความเห็นอัยการสูงสุดคนเก่าผิดกฎหมาย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ปานเทพ” ยกคำพิพากษาศาลฎีกาในอดีต ชี้ชัดคำสั่งให้ฟ้องของอัยการสูงสุดเป็นอันถึงที่สุด อัยการสูงสุดคนใหม่ไร้อำนาจรื้อฟื้นคดีขึ้นมาชี้ขาดใหม่ได้ คำสั่ง “เนตร นาคสุข” ไม่ฟ้อง “บอส” จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมตั้งคำถามอัยการและตำรวจ “เป็นโขยง” ที่ร่วมขบวนการนี้จะมีจุดจบลงอย่างไร ?

วันที่ 6 ส.ค. 2563 ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า ...

เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา คำสั่ง “ไม่ฟ้อง” กลับความเห็นของอัยการสูงสุดคนเก่า ผิดระเบียบ ผิดกฎหมาย

กรณีที่ นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ไปดำเนิน “การสอบสวนเพิ่มเติม” ใน “ประเด็นเดิม” พยานเดิมและหลักฐานเดิม แล้วได้ลงนามในคำสั่ง “ไม่ฟ้อง” เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2563 โดยอ้างว่าเป็นการกลับคำสั่งของ “อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้” เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2560 นั้น...

เป็นการกระทำความผิด ข้อ 48 และ ข้อ 6 วรรคท้าย ของ ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547

เพราะกรณีนี้ได้มีการร้องขอความเป็นธรรมจนเสร็จสิ้นในระดับ “อัยการสูงสุด” ไปแล้ว

กรณีเช่นนี้จึงไม่ใช่การ “กลับความเห็น” หรือ “กลับคำสั่ง” ของ “อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้”

แต่เป็นการ “กลับความเห็น และ กลับคำสั่ง ของ ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด ที่ได้ดำเนินการยุติในการร้องขอความเป็นธรรมแล้ว

ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุดคนเก่า “ไม่กลับความเห็น” คำสั่งฟ้องของ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ตามระเบียบฯข้อ 48

อีกทั้งยังเห็นชอบให้ เจ้าพนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ดำเนินการเพื่อขอศาลให้ออกหมายจับต่อไปตามระเบียบข้อ 48 ของ ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 ที่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ไปแล้ว

ยืนยันด้วยคำสัมภาษณ์ของ ร.ท.สมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2560 ความตอนหนึ่งว่า
“ได้เคยมีการร้องขอความเป็นธรรมและได้พิจารณา “ยุติ” เรื่องร้องขอความเป็นธรรมแล้ว สำหรับความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานเดิม จึงให้ “ยุติ” เรื่องร้องขอความเป็นธรรมและ “ให้” อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ แจ้งพนักงานอัยการที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อให้ได้ตัวนายวรยุทธ มาฟ้องตามคำสั่งต่อไป” แต่เนื่องจากรณีมีการร้องขอความเป็นธรรมไปถึง ร.ต.ต.พงษ์นิวัติ ยุทธภัณฑ์ อัยการสูงสุดไปแล้ว

นายสุทธิ กิตติศุภพร อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ จึงต้องส่งหนังสือของนายวรยุทธ อยู่วิทยา เรื่องการขอเลื่อนคำสั่งฟ้องของอัยการโดยอ้างว่าติดภารกิจต่างประเทศ ไปให้ “อัยการสูงสุด” พิจารณาเพื่อขอศาลอาญากรุงเทพใต้ “ออกหมายจับ” ต่อไป
ปรากฏหลักฐาน คำสัมภาษณ์ของ นายสุทธิ กิตติศุภพร อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2560 ความว่า:

“อัยการยืนยันว่า จะไม่ยอมให้เลื่อนรับฟังคำสั่งฟ้องได้อีกแล้ว ทั้งนี้ ได้ส่งหนังสือขอเลื่อนดังกล่าว ให้ “อัยการสูงสุด” พิจารณา เพื่อออกหมายจับนายวรยุทธต่อไป คาดว่าจะมีความชัดเจนเรื่องการนำตัวนายวรยุทธดำเนิคดีช่วงบ่ายวันนี้”

สอดคล้องและยืนยันด้วยคำสัมภาษณ์ของ ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2560 ความตอนหนึ่งว่า :

“ที่ผ่านมา อัยการได้พิจารณาให้ความเป็นธรรมกับผู้ต้องหามาตลอดถึง 6 ครั้ง หาก “สั่งคดี” ล่าช้าอีก อาจเกิดความเสียหายต่อคดี เป็นที่เคลือบแคลงของสังคม และกระทบภาพลักษณ์ของสำนักงานอัยการสูงสุดได้”

ซึ่งตามระเบียบข้อ 48 และข้อ 6 วรรท้าย ของระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 ไม่มีข้อกำหนดให้ “รองอัยการสูงสุด” กลับความเห็น หรือ กลับคำสั่ง ของ “อัยการสูงสุด”ได้

ดังนั้น หนังสือของ “นายอรรถพล ใหญ่สว่าง” ประธานคณะกรรรมการอัยการ (ก.อ.) จะได้ทำหนังสือถึง นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์” อัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อทักท้วงว่า “รองอัยการสูงสุด” กลับความเห็น และกลับคำสั่งของ “อัยการสูงสุดคนเก่า”นั้นไม่ได้ อันเป็นผลทำให้คำสั่ง “ไม่ฟ้อง” นี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย...

ซึ่งแนวทางความเห็นของ นายอรรถพล ใหญ่สว่าง นั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว “เฉพาะในประเด็นแรก”

แต่หนังสือ นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรรมการอัยการ (ก.อ.) กลับเปิดช่องว่า หากจะมีพนักงานอัยการผู้มีอำนาจพิจารณาดำเนินการสั่งคดีดังกล่าวได้อีกก็มีแต่เฉพาะ “อัยการสูงสุด” เท่านั้น !!!

ซึ่งในประเด็นหลังนี้ที่ว่า อัยการสูงสุดคนปัจจุบันสามารถ “กลับความเห็น” หรือ “กลับคำสั่ง” อัยการสูงสุดคนเก่าก็ไม่น่าจะกระทำได้เช่นกัน

เหตุผลก็เพราะว่า ข้อ 48 และ ข้อ 6 วรรคท้าย ของ ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 ไม่มีข้อความใดให้ อัยการสูงสุด “กลับความเห็น” หรือ “กลับคำสั่ง” ของอัยการสูงสุดได้เช่นเดียวกัน !!!

โดยเฉพาะเรื่องนี้มีการร้องขอความเป็นธรรม อีกทั้งมีการพิจารณาขอความเป็นธรรมไปถึงขั้นอัยการสูงสุดเป็นที่ยุติแล้วตั้งแต่สมัย ร.ต.ต.พงษ์นิวัติ ยุทธภัณฑ์บริภาร เป็นอัยการสูงสุด และได้มีการยุติการร้องขอความเป็นธรรมด้วยการให้มีการสั่งฟ้องและขอหมายจับต่อ ศาลอาญากรุงเทพใต้

และศาลอาญากรุงเทพใต้ ก็ได้พิจารณาและใช้ดุลพินิจด้วยการออกหมายจับให้ตามที่ เจ้าพนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ร้องขอ และการผู้พิพาษาพิจารณาแล้วออกหมายจับให้นั้น

ย่อมแสดงว่า ผู้พิพากษา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ย่อมเห็น “เหตุ” ว่า “มีหลักฐานตามสมควรว่านายวรยุทธ อยู่วิทยา น่าจะได้กระทำความผิดอาญา” อันเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญามาตรา 66

ดังนั้นไม่เพียงแต่คดีนี้ได้ยุติในระดับ “อัยการสูงสุด” ว่าให้ “สั่งฟ้อง” และ “ขอศาลเพื่ออกหมายจับ” เท่านั้น

แต่คดีนี้ยังเห็นชอบโดยศาลในการออกหมายจับ เพราะมีเหตุว่า “มีหลักฐานตามสมควรว่านายวรยุทธ อยู่วิทยา น่าจะได้กระทำผิดอาญา” ด้วย

อันเป็นไปตามการดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

จึงไม่ใช่เรื่องที่อัยการคนใด ไม่ว่าจะเป็น อธิบดี รองอัยการสูงสุด หรืออัยการสูงสุด จะได้ดำเนินการ “กลับความเห็น” หรือ “กลับคำสั่ง” เอาเอง โดยใช้กฎหมายในระดับ “ระเบียบ” ภายในองค์กรอัยการมาหักล้าง “ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” ได้
จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามอย่างยิ่งเมื่อปรากฏต่อมาว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการทำเรื่องร้อง “ขอถอนหมายจับ”นายวรยุทธ อยู่วิทยา ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้แล้ว

แต่ปรากฏว่า ผู้พิพากษา ศาลอาญากรุงเทพได้แจ้งว่าการขอถอนหมายจับครั้งนี้จะต้อง “มีการไต่สวน”เรื่องนี้ ตามคำร้องขอของ นางสาวรสนา โตสิตระกูล ที่ได้ยื่นคำร้องเอาไว้ก่อนหน้านี้ต่ออธิบดี ศาลอาญากรุงเทพใต้ เป็นผลทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจถอนเรื่องดังกล่าวออกไปก่อน

ทั้งนี้ ปรากฏคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3278/2522 ความตอนหนึ่งเกี่ยวกับคำสั่ง “อธิบดีกรมอัยการ” ที่ได้เคยมีคำสั่งไปแล้ว ซึ่งปัจจุบันก็คือ “อัยการสูงสุด” เปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ ความตอนหนึ่งว่า

“เมื่ออธิบดีกรมอัยการชี้ขาดให้ฟ้องคดีตามความเห็นแย้งของอธิบดีกรมตำรวจแล้ว คำสั่งชี้ขาดให้ฟ้องคดีของอธิบดีกรมอัยการเป็นอันถึงที่สุด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 ซึ่งแก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 33 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ข้อ 1 พนักงานอัยการต้องฟ้องไปตามนั้น

เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ให้อำนาจอธิบดีกรมอัยการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาชี้ขาดใหม่ได้ อธิบดีกรมอัยการจึงไม่มีอำนาจที่จะชี้ขาดกลับคำสั่งของตนได้อีก”

นอกจากนี้ ยังปรากฏคำพิพากษาศาลฎีกาอีกคดีหนึ่งที่ 2040/2523 ความตอนหนึ่งว่า

“คดีนี้ทั้งสามสำนวนนี้ นายโปร่ง เปล่งศรีงาม อธิบดีกรมอัยการได้มีคำสั่งชี้ขาดให้ฟ้องตามความเห็นแย้งของอธิบดีกรมตำรวจไว้แล้ว ครั้นนายโปร่ง เปล่งศรีงาม ลาออกจากราชการไปแล้ว

แม้ นายอรุณ อิศรภักดี จะเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการ ก็ไม่มีอำนาจที่จะสั่งชี้ขาดใหม่เป็นไม่ฟ้อง คำสั่งของนายอรุณ อิศรภักดีที่สั่งไม่ฟ้องครั้งหลังนี้จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

ชัดที่สุด คำสั่ง “ไม่ฟ้อง” ของนายเนตร นาคสุข น่าจะผิดระเบียบ และไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สำคัญกว่านี้คืออัยการและตำรวจ “เป็นโขยง” ที่ร่วมขบวนการนี้จะมีจุดจบลงอย่างไร?

ด้วยความปรารถนาดี



กำลังโหลดความคิดเห็น