xs
xsm
sm
md
lg

“หมอธีระ” ลั่นคุมโควิด-19 ต้องมีมาตรฐานเดียวเท่าเทียมกัน แนะปิดรับนักท่องเที่ยวไปก่อน 6 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“หมอธีระ” ลั่นควบคุมโรคโควิด-19 ต้องมีมาตรฐานเดียวเท่าเทียมกัน คือ คัดกรอง-กักกัน-ติดตาม แต่อาจปรับกระบวนการให้เหมาะสมในแต่ละกลุ่ม แนะพับโครงการทราเวล บับเบิล ปิดรับท่องเที่ยวไปก่อน 6 เดือน พร้อมช่วยเหลือเยียวยาภาคธุรกิจท่องเที่ยว เตือนหากปล่อยระบาดระลอก 2 จะรุนแรง คุมยาก

วันที่ 14 ก.ค. 63 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “ศบค.การ์ดตก #โควิดระลอก 2 มาแน่ ?”

โดย นพ.ธีระ กล่าวถึงกรณี 2 ชาวต่างชาติ ติดโควิด-19 เดินทางเข้าไทย ว่า ไวรัสนี้ยังไม่มียา ไม่มีวัคซีน และมันร้าย แพร่กระจายเร็ว ฉะนั้น มาตรฐานการควบคุมป้องกัน ควรมีมาตรฐานเดียว คือ คัดกรอง กักกันหรือกักตัว และติดตาม เพียงแต่ 3 ขั้นนี้ อาจมีการปรับกระบวนการไปตามกลุ่มเป้าหมาย เช่น แขกของรัฐบาลมาแค่ไม่กี่วัน ไม่สะดวกที่จะกักตัว เราก็ต้องให้คนที่สัมผัสใกล้ชิดกักตัวแทน

หรือกรณีลูกของคณะทูต เห็นว่าทราบตั้งแต่ที่สนามบินแล้วว่าเป็นโรค ที่จริงต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่สามารถให้ไปโต๋เต๋ได้ แทนที่จะไปอยู่ในที่กักกัน แต่ให้กลับไปคอนโด มีการใช้ลิฟต์ ซึ่งอาจเหมือนที่ปักกิ่งก็ได้ ที่คนติดโรคจากากรใช้ลิฟต์ร่วมกัน

จึงเกิดข้อครหาว่า 2 มาตรฐานหรือเปล่า เพราะทางการแพทย์ การควบคุมโรคมีมาตรฐานเดียว

นพ.ธีระ กล่าวอีกว่า 11 กลุ่มเป้าหมาย ที่ได้รับกการยกเว้น ให้เดินทางเข้าไทยได้ กฎระเบียบดันมีความลักลั่น มาตรฐานไม่เหมือนกัน ซึ่งน่าจะเรียนรู้จาก 2 กรณีนี้ได้ว่า ระบบที่่เรามั่นใจ มันมีช่องโหว่ กฎระเบียบมันมีการลักลั่น มีโอกาสหลุดได้ แล้วหลุดมันเป็นเรื่องใหญ่โตเสียหายมาก

สถานการณ์ตอนนี้ ทั่วโลกรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้น ไม่ปลอดภัย ถ้าไทยจะเปิดรับต่างชาติเข้ามาโดยที่ไม่มีระบบเฝ้าระวังที่ดีพอ

นพ.ธีระ ยังกล่าวถึงกรณี ทราเวล บับเบิล (การจับคู่ด้านการท่องเที่ยวของกลุ่มประเทศที่มีความมั่นใจในความปลอดภัยของโรคโควิด-19 โดยเข้าออกประเทศระหว่างกันได้โดยไม่ต้องกักตัว 14 วัน) ว่า ตามหลักวิชาการ ประเมินดูแล้ว จากการระบาดของโรคอื่นๆ ในอดีต เราอาจต้องรออีกอย่างน้อย 6 เดือน โครงการนี้ควรพับเก็บไว้ก่อน แล้วระหว่างนี้ก็ประคับประคองช่วยเหลือเยียวยากันไป

โอกาสที่จะทำได้ในทางปฏิบัติแล้วไม่หลุด คิดว่ายากมาก เพราะเราก็เรียนรู้มาเยอะว่าผลตรวจไม่เจอต้นทาง มาเจอในประเทศเราก็มี หรือตรวจในประเทศเราไม่เจอ เวลาผ่านไปค่อยเจอ ในแง่แนวคิดไม่กักกันตัว เป็นแนวคิดที่อันตรายมาก โอกาสหลุดมีสูงมาก

นอกจากนี้ เราต้องยอมรับความจริง ว่าอดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่มีงานลักษณะไหนเลยที่กลไกภาครัฐจะสามารถติดตามสถานการณ์ได้ทันท่วงที สถานการณ์ของโลกอาจจะเปลี่ยนแปลงวันต่อวัน วันนี้ดี พรุ่งนี้ผู้ติดเชื้ออาจพุ่งสูงก็เป็นได้ เวลาไปทำสัญญา มันผูกพันสัญญามากมาย อาจทำให้เกิดเคสหลุด กว่าจะรู้ตัวก็สายเกินไป

นพ.ธีระ กล่าวอีกว่า แนะนำจริงๆ นายกฯ และ ศบค. ตอนนี้ยืนหยัดอยู่ แง้มประตูประเทศ หยุดเอาไว้ที่ 11 กลุ่มเป้าหมายนี้ เมดิคัล ทัวร์ริสซึม ก็ทำไป แล้วก็ทำให้เข้มแข็ง แต่ว่าในแง่ของการรับนักท่องเที่ยว คิดว่าปิดประตูไปก่อน 6 เดือน แล้วก็ช่วยเหลือเยียวยาภาคธุรกิจท่องเที่ยว

การระบาดระลอก 2 หากปล่อยให้เกิดขึ้นแล้ว จะรุนแรงกว่าระลอกแรก คุมได้ยากกว่า แม้ใช้มาตรการคล้ายๆ กัน ด้วยเหตุผลที่ว่าเวลาเกิดระลอก 2 มักเกิดในเป้าหมายที่ค่อนข้างดื้อหรือไม่ค่อยเชื่อ กว่ารัฐจะออกมาตรการอะไรไปให้เขาทำตาม มันก็ยากในการที่จะควบคุม


กำลังโหลดความคิดเห็น