นายแพทย์ มนูญ ลีเชวงวงศ์ เผยเคสผู้ป่วยชายที่มีไข้เรื้อรัง จากการติดเชื้อวัณโรคในเยื่อบุช่องท้อง เผยว่า พบได้น้อยมาก และวินิจฉัยยาก วิธีการรักษาเหมือนวัณโรคปอด
วันนี้ (30 มิ.ย.) เฟซบุ๊ก “หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC” หรือ นายแพทย์ มนูญ ลีเชวงวงศ์ เป็นหัวหน้าห้องไอ.ซี.ยู เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความเผยเคสผู้ป่วยวัณโรคเยื่อบุช่องท้องอย่างเดียว เผยว่า พบได้น้อยมาก วินิจฉัยยาก รักษาเหมือนวัณโรคปอด โดยระบุว่า
“ผู้ป่วยชายไทยอายุ 84 ปี เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ ไตวาย ฟอกไตต่อเนื่องนาน 4 ปี มาโรงพยาบาลด้วยอาการไข้ 1 สัปดาห์ ไอนิดหน่อย ไม่ปวดท้อง น้ำหนักไม่ลด ตรวจร่างกาย มีไข้ 38 องศาเซลเซียส อย่างอื่นปกติ เจาะเลือด เม็ดเลือดขาวปกติ ส่งเลือดเพาะเชื้อไม่พบเชื้อแบคทีเรีย เก็บตัวอย่างจากหลังโพรงจมูกตรวจหาพันธุกรรมของเชื้อไวรัสทั่วไป และไวรัสโควิด-19 ให้ผลลบ ย้อมเสมหะไม่พบเชื้อวัณโรค เอกซเรย์ปอดปกติ ตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงของหัวใจ echocardiogram ปกติ ทำคอมพิวเตอร์ปอดและช่องท้อง มีน้ำในช่องท้องเล็กน้อย อย่างอื่นปกติ
ไม่พบสาเหตุของไข้ ได้ทำการตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ (PET Scan) พบน้ำในช่องท้องเล็กน้อย มีผนังบุช่องท้องหนาตัว เป็นตุ่มๆ หลายตำแหน่ง สงสัยมีการติดเชื้อและอักเสบในเยื่อบุช่องท้อง ได้ทำการส่องกล้องผ่านรูเล็กๆ ที่เจาะผ่านผนังหน้าท้องเข้าไปในช่องท้อง เพื่อดูอวัยวะต่างๆ ในช่องท้อง พบมีน้ำในช่องท้องไม่มาก มีตุ่มเล็กๆ ที่เยื่อบุช่องท้องหลายตุ่ม หลายตำแหน่ง ได้ตัดเยื่อบุช่องท้องบริเวณนั้น ส่งตรวจพยาธิวิทยา พบมีการอักเสบเรื้อรังและมีลักษณะสงสัยวัณโรคส่งชิ้นเนื้อย้อมเชื้อไม่พบเชื้อวัณโรค ตรวจรหัสพันธุกรรมของชิ้นเนื้อจากเยื่อบุช่องท้องพบเชื้อวัณโรค ผลการเพาะเชื้อวัณโรคของชิ้นเนื้อจากเยื่อบุช่องท้อง พบเชื้อวัณโรคไวต่อยารักษาวัณโรคทุกตัว
สรุป ผู้ป่วยรายนี้มีไข้เรื้อรังจากการติดเชื้อวัณโรคในเยื่อบุช่องท้องอย่างเดียว วินิจฉัยจากการตัดชิ้นเนื้อของเยื่อบุช่องท้อง หลังจากให้ยารักษาวัณโรค ไข้เริ่มลง อาการดีขึ้นกลับมาเป็นปกติภายในเวลา 6 สัปดาห์ ผู้ป่วยรายนี้ไตวาย ต้องปรับยารักษาวัณโรคตามการทำงานของไต และต้องให้ยารักษาวัณโรคต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน”