เพจ “ศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี” เผยเคสผู้ป่วยในต่างประเทศด้วยอาการภาวะหัวใจโตจากถุงซีสต์ตัวอ่อนพยาธิตืดสุนัข มีอาการปวดท้อง น้ำหนักลด ตัวเหลือง ปวดหน้าอก หายใจถี่ และการไอ ซึ่งพบได้น้อย คาดมาจากสาเหตุการได้รับไข่พยาธิเข้าไป อาจจะด้วยสาเหตุกินอาหาร น้ำ ผักผลไม้โดยบังเอิญ หรือการคลุกคลีกับสัตว์ที่ติดเชื้อ
เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้ออกมาโพสต์ข้อความเตือนภัยถึงกลุ่มผู้รักสุนัขควรเพิ่มความระมัดระวังในการเล่นกับสุนัขหรือสัมผัสใกล้ชิดสุนัข โดยยกเคสมาจากผู้ป่วยในต่างประเทศ ทั้งนี้ พบผู้ป่วยรายดังกล่าวมีอาการหายใจลำบากจากภาวะหัวใจโต พบเกิดจากพยาธิตืดสุนัขอยู่เต็มภายในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ อันเกิดจากก้อนซีสต์ไฮดาติดของพยาธิตืดสุนัขอยู่เต็มภายในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ จากสาเหตุการได้รับไข่พยาธิเข้าไป อาจจะด้วยสาเหตุกินอาหาร น้ำ ผักผลไม้โดยบังเอิญ หรือการคลุกคลีกับสัตว์ที่ติดเชื้อ
Nagaraja Moorthy และคณะ (2013) ตีพิมพ์เคสผู้ป่วยรายหนึ่งที่มีหัวใจโตอันเกิดจากซีสต์ตัวอ่อนพยาธิตืดสุนัข Echinococcus granulosus ในวารสารวิชาการ J Am Coll Cardiol ที่มีรายงานน้อย ส่วนมากพบผู้ป่วยติดเชื้อนี้ที่ตับและปอด ผู้ป่วยชายอายุ 25 ปี มาโรงพยาบาลด้วยอาการหายใจลำบากมานานเป็นเวลา 6 เดือน ผลการตรวจร่างกาย มีภาวะหัวใจเต้นเบามาก ส่วนการทดสอบสัญญาณไฟฟ้าของหัวใจพบเป็นปกติ ผลการเอ็กซ์เรย์ทรวงอก พบหัวใจโตผิดปกติ เห็นภาพทึบขอบเขตชัดเจน การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจทางหน้าอกและการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงผ่านทางหลอดอาหาร พบซิสต์จำนวนมาก มีลักษณะเหมือนรังผึ้ง ทำให้ห้องหัวใจไม่สามารถมองเห็นได้ในการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง การตรวจหัวใจด้วยเครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า พบถุงซีสต์ขนาดใหญ่และซีสต์เล็กๆจำนวนมากอยู่ในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ ขนาดซีสต์วัดได้ประมาณ 10 × 11 × 12 ซม. ผ่าออกมามีซีสต์เล็กๆจำนวนมากกว่า 200 ซีสต์ เคสผู้ป่วยรานนี้ได้รับการวินิจฉัยเป็นภาวะหัวใจโตจากถุงซีสต์ตัวอ่อนพยาธิตืดสุนัข intrapericardial echinococcosis
สำหรับโรคที่เกิดจากพยาธิตืด Echinococcuss พบรายงานในหลายพื้นที่ทั่วโลก ผู้ติดเชื้อนี้ราวๆ หนึ่งล้านคน เสียชีวิตของผู้ป่วยประมาณ 1200 ราย อุบัติการณ์ของโรคเริ่มลดน้อยลงในปัจจุบัน คนติดเชื้อได้โดยการกินอาหารหรือน้ำที่มีไข่ของพยาธิปะปนอยู่ หรือการอยู่ใกล้หรือสัมผัสกับสุนัขที่ติดเชื้อ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ เริ่มแรกจะไม่แสดงอาการและอาจไม่มีอาการนานร่วมปี อาการที่เกิดขึ้นมักขึ้นอยู่กับตำแหน่งและขนาดของถุงซิสต์ เช่น ตับ ผู้ป่วยมักมีการปวดท้อง น้ำหนักลด และตัวเหลือง การติดเชื้อที่ปอด อาจมีอาการปวดที่บริเวณหน้าอก หายใจถี่ และการไอ การรักษา โดยการผ่าเอาถุงซิสต์ออกแล้วตามด้วยการให้ยา อาทิ อัลเบนดาโซล การป้องกัน รักษาสุนัข แกะ โดยให้ยาถ่ายพยาธิเป็นประจำ รักษาสุขวิทยาส่วนบุคลเมื่อคลุกคลีกับสุนัข รับประทานผัก อาหาร น้ำที่สะอาด