xs
xsm
sm
md
lg

อันตราย! “หมอมนูญ” เผยหากหัวใจเต้นผิดจังหวะ เสี่ยงเกิดโรคหัวใจเต้นพลิ้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ โพสต์ข้อความเผยเคสของผู้ป่วยหญิงไทยอายุ 82 ปี หัวใจเต้นผิดจังหวะไม่สม่ำเสมอ หรือโรคหัวใจเต้นพลิ้ว พบบ่อยที่เส้นเลือดในสมองทำให้สมองตายเป็นอัมพาต

วันนี้ (25 มิ.ย.) เฟซบุ๊ก “หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC” หรือ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียู เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความเผยผลข้างเคียงของโรคหัวใจเต้นพลิ้ว (Atrial fibrillation) โดยระบุว่า “การเต้นพลิ้วของหัวใจทำให้การบีบตัวของหัวใจห้องบนเสียไป ทำให้ไม่สามารถบีบตัวผลักดันเลือดจากหัวใจด้านบนได้ เกิดลิ่มเลือดในหัวใจห้องบน หากลิ่มเลือดหลุดเข้าไปในกระแสเลือดและไปอุดเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญ พบบ่อยที่เส้นเลือดในสมองทำให้สมองตาย เป็นอัมพาต พบน้อยไปที่เส้นเลือดโคโรนารีย์ของหัวใจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

มีผู้ป่วยหญิงไทยอายุ 82 ปี เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง ปกติแข็งแรงดี ครึ่งชั่วโมงก่อนมาโรงพยาบาลมีอาการเจ็บหน้าอกข้างซ้ายรุนแรงเฉียบพลัน ร้าวไปแขนซ้าย ไม่เคยมีประวัติหัวใจเต้นผิดจังหวะมาก่อน ไม่มีอาการเหนื่อย ตรวจร่างกาย ความดัน 150/ 90 หัวใจเต้นผิดจังหวะไม่สม่ำเสมอ 79 ครั้ง/นาที ฟังปอดปกติ ขาไม่บวม ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ECG พบเต้นผิดจังหวะ 79 ครั้ง/นาที มีลักษณะกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายตายเฉียบพลัน ตรวจค่า Troponin T ในเลือดบวกชัดเจน 4,082 (ค่าปกติน้อยกว่า 14 ) เข้าได้กับกล้ามเนื้อหัวใจตาย เอกซเรย์ปอดพบหัวใจโต ได้สวนหัวใจและหลอดเลือดทันที ฉีดสารทึบรังสีไปยังหลอดเลือดหัวใจเพื่อหาตำแหน่งที่ตีบตัน เพื่อทำการเปิดหลอดเลือดที่ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย

ตรวจพบลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดโคโรนารีย์ไปเลี้ยงหัวใจด้านซ้ายแขนง left anterior descending coronary artery (ดูรูป) หลังดึงลิ่มเลือดออกจากหลอดเลือด พบเส้นเลือดโคโรนารีย์ปกติ (ดูรูป) ไม่ต้องขยายหลอดเลือดหัวใจหรือใส่ขดลวดค้ำยัน (stent) ตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงของหัวใจ Echocardiogram พบผนังหัวใจด้านหน้าและบริเวณผนังกั้นห้องหัวใจ ไม่บีบตัว การทำงานของหัวใจห้องล่างลดลงเหลือ 40% ไม่พบร่องรอยของลิ่มเลือดในหัวใจห้องบนซ้าย

หลังสวนหัวใจเอาลิ่มเลือดออกจากเส้นเลือดโคโรนารีย์ คนไข้อาการดีขึ้นกลับบ้านได้ภายใน 6 วัน ให้กินยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดเพื่อป้องกันภาวะลิ่มเลือดหลุดไปอุดตันในอวัยวะส่วนอื่นของร่างกายอีก ได้เลือกให้ ยา Apixaban เป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดรับประทานกลุ่มใหม่ (NOACS) ร่วมกับ clopidogrel ทำให้ไม่ต้องเจาะเลือดเพื่อตรวจประสิทธิภาพของยา ติดตามคนไข้ 2 เดือน อาการทั่วไปดีขึ้น”








กำลังโหลดความคิดเห็น