รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยผลวิเคราะห์น้ำในขวดที่นักวิ่งถูกวางยาในสวนสาธารณะ จ.นนทบุรี พบ สาร “ไซลาซีน” (Xylazine) ที่นิยมใช้ในการวางยาสลบในสัตว์ เผย ไม่มีรส ไม่มีกลิ่น ไม่มีสี และดูดซึมได้เร็วทางกระเพาะอาหาร มิจฉาชีพนิยมใช้ผสมน้ำแล้ว “มอมยา”
จากกรณี หนุ่มนักวิ่งโพสต์เล่าเหตุการณ์ไว้สำหรับเป็นอุทาหรณ์ หลังตนเองโดนวางยาในขวดน้ำที่วางไว้ก่อนจะไปวิ่งออกกำลังกายในสวนสาธารณะ จนต้องเข้าโรงพยาบาล โชคดีไม่อันตรายถึงชีวิต เตื่อนเพื่อนนักวิ่งเพิ่มความระมัดระวัง
ล่าสุด วันนี้ (25 มิ.ย.) รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ อาจารย์อ๊อด อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความหลังได้ทำการทดลองตรวจหาสารพิษที่อยู่ในขวดน้ำ ที่นักวิ่งได้ดื่ม ซึ่งทาง อ.อ๊อด ได้เผยว่าในน้ำเจอสาร “ไซลาซีน” (Xylazine) ยาสลบที่ใช้ในม้า วัว ควาย และสัตวแพทย์ชอบใช้ในแมว นอกจากนี้ ยังได้ระบุข้อความเพิ่มเติมว่า
“มิจฉาชีพชอบใช้สารไซลาซีนชนิดน้ำ หยอดน้ำมอมเมายาเหยื่อตามสถานที่ต่างๆ ก่อนที่จะปลดทรัพย์ “สารไซลาซีน” อันตราย! ไม่มีรส ไม่มีกลิ่น ไม่มีสี และดูดซึมได้เร็วทางกระเพาะอาหาร ใช้สำหรับเป็นยาสลบให้สัตว์ เตือนระวังมิจฉาชีพลักลอบผสมน้ำแล้ว มอมยา”
นอกจากนี้ เพจ “Drama-addict” ได้ออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ยาชนิดดังกล่าว ปัจจุบันมีขายตามเว็บขายยามอมสาวกันอย่างโจ๋งครึ่ม ซึ่งการใช้ยาตัวนี้ในคน อาจทำให้ความดันต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ จนถึงแก่ชีวิตได้ อันตรายมาก นี่เป็นครั้งแรกที่เจอเคสสงสัยว่าใช้เข็มฉีดยาเจาะขวดน้ำแล้วฉีดยาตัวนี้เข้าไปในขวดน้ำของเหยื่อเพื่อมอมยา จากนี้ไปใครจะไปวิ่งอะไรในที่สาธารณะ แล้วพกขวดน้ำไป ต้องระวัง อย่าไปวางขวดน้ำทิ้งไว้เพราะอาจเจอเหตการณ์แบบเดียวกันนี้ก็ได้ ถ้าใครสงสัยว่าทำไมมันใช้เข็มเจาะแล้วฉีดยาเข้าไป แทนที่จะเปิดขวด เพราะวิธีนี้ต่อให้ขวดน้ำยังซีลอยู่ มันก็ใส่ยาเข้าไปได้ แล้วคนดื่มก็อาจคิดว่าปลอดภัยเพราะขวดมันซีลอยู่
ก่อนหน้านี้ นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผย ภายหลังจากประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนปัจจุบันสำหรับสัตว์ ว่า จากกรณีการเสนอยกระดับ ยาไซลาซีน (Xylazine) เป็นยาควบคุมพิเศษ หลังจากมีมิจฉาชีพ นำยาดังกล่าวไปใช้ในการก่ออาชญากรรมนั้น คณะอนุกรรมการฯ มีมติเห็นชอบยกสถานะยาสำหรับสัตว์ที่เป็นยาสงบประสาทจาก “ยาอันตราย” เป็น “ยาควบคุมพิเศษ” จำนวน 4 กลุ่ม คือ กลุ่มอัลฟ่า-2-อะเดล เนอจิค อะโกนิสต์ (alpha-2-adrenergic agonist) กลุ่มเบนโซไดอะซีปีน เดริเวทีฟ (Benzodiazepine derivative) กลุ่มบิวทีโรฟีโนน เดริเวทีฟ (Butyrophenone derivative) และกลุ่มฟีโนไทอาซีน เดริเวทีฟ (Phenothiazine derivative) โดยกำหนดให้แสดงข้อความในฉลากและเอกสารกำกับยา ดังนี้ “ขายยาตามใบสั่งผู้ประกอบการการบำบัดโรคชั้นหนึ่งเท่านั้น และใช้ภายใต้การกำกับดูแลโดยผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ชั้นหนึ่งเท่านั้น”
หากผู้รับอนุญาตฝ่าฝืนกฎระเบียบดังกล่าว จะได้รับโทษปรับ ตั้งแต่ 2,000-10,000 บ. และหากเป็นเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการประจำร้านขายยา หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ประจำร้านขายยา จะได้รับโทษปรับ ตั้งแต่ 1,000-5,000 บ. อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคพบเห็นการขายผลิตภัณฑ์ยา โดยไม่ใช่ร้านขายยา หรือขายยาโดยไม่มีใบสั่งจากสัตวแพทย์ สามารถร้องเรียนมาที่สายด่วน อย. 1556 ได้ เพื่อที่จะได้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวดต่อไป