เอ็นไวโร เตือนนักการตลาดระวังชุมชน Marketplace การซื้อขายสินค้ารูปแบบใหม่ ส่งผลเทรนด์และพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนช่วงสถานการณ์โควิด-19 พร้อมเปิดโผ 8 ข้อความสำเร็จของ Marketplace คือ 1. trust หรือความไว้วางใจ 2. เจ้าของมาเอง 3. เกื้อกูล เธอซื้อฉัน ฉันซื้อเธอ 4. รู้สึกดี 5. สนุก 6. ประหยัด 7. สินค้าหลากหลาย 8. เกิดช่วงหยุดเชื้อช่วยชาติ หลังมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด แนะนักการตลาดต้องตีโจทย์และจับตา Marketplace ใกล้ชิด
นางสาวสรินพร จิวานันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นไวโร (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ปรากฏการณ์ The new normal หรือ The new reality ล้วนเป็นศัพท์ใหม่ที่ได้ยินกันติดหูมากในช่วงนี้ เนื่องจากสถานการณ์โควิดส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนบริบทใหม่แบบล้างไพ่กันจริงๆ ซึ่งแค่ technology disruption ก็เหนื่อยแล้ว มาเจอโควิดอีก นักการตลาดก็ต้องรีบปรับตัวกันยกใหญ่นะคะ เพราะโควิดได้สร้างรูปแบบการซื้อขายแบบใหม่ที่เราเรียกกันว่ามาร์เกตเพลซในรูปแบบชุมชน (community based) เช่น ธรรมศาสตร์มาร์เกตเพลส จุฬามาร์เกตเพลส เป็นต้น ซึ่งมาร์เกตเพลซเป็นที่ขายสินค้า ฝากร้านกันอย่างเมามัน ใครอยากซื้อ อยากขาย มองหาสินค้าและบริการอะไรก็สามารถมาแลกเปลี่ยนกันไว้ในกลุ่มได้เลย” ซึ่งจุดสำเร็จของมาร์เกตเพลซ ตามบทวิเคราะห์ของบริษัท เอ็นไวโร ไทยแลนด์ บริษัทที่ปรึกษาด้านพฤติกรรมผู้บริโภค ดังนี้
1. trust หรือความไว้วางใจ ในหมู่ผู้ซื้อ ขาย ว่าจะขายของดีให้ community เพราะเปิดเผยตัวตน จับต้องได้ รู้ที่มาที่ไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริโภครู้สึกว่าไม่ได้รับจากแบรนด์ที่เน้นทำตลาดเพื่อขายสินค้า
2. ส่วนใหญ่เจ้าของมาเอง เป็นการส่งต่อความรู้สึกการันตีกลายๆ ว่า ของมีคุณภาพ เพราะไม่มีใครอยากเสียชื่อ
3. เกื้อกูล เธอซื้อฉัน ฉันซื้อเธอบ้าง หรือช่วยบอกต่อ เปรียบเสมือนการ Barter หรือสังคมแบบแลกเปลี่ยนสิ่งของในสมัยก่อน ทำให้เกิดการซื้อ ขายอย่างต่อเนื่อง
4. รู้สึกดี เพราะความรู้สึกได้เกื้อกูล เอื้ออาทรกัน สร้างความรู้สึกดีๆ ที่ทำให้อยากสนับสนุนกันต่อไป เหมือนเพื่อน ซึ่งเราก็อยากขายของดีมีคุณภาพให้เพื่อน
5. สนุก เพราะมีทั้งการประมูลแข่งกันด้วย
6. ประหยัด ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการโฆษณา แต่สามารถเข้าถึงคนเป็นแสนๆ
7. สินค้าหลากหลาย
8. ช่วงหยุดเชื้อเพื่อชาติ มีเวลาเข้าไปซื้อขายกัน จึงทำให้เกิดพฤติกรรมที่จุดติดได้ง่าย
จากข้อดีดังกล่าว ส่งผลให้ชุมชนมาร์เกตเพสซมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างแข็งแรงและก้าวกระโดดแบบออร์แกนิก ที่เป็น word of mouth (การบอกต่อ ปากต่อปาก) จากพลังของผู้บริโภคเอง ซึ่งมันจะเหมือนโดมิโนเอฟเฟกต์ที่ส่งต่อพลังกันไปเรื่อยๆ และไม่ได้มีการปั่นโดยนักการตลาด ดังนั้นเราจะเห็นกลุ่มชุมชนมาร์เกตเพสซหลายกลุ่มมากขึ้น และแน่นอน ทำสินค้า ซื้อขายกันเอง และเป็นกลุ่มที่แข็งแรงมากเพียงพอที่จะทำให้นักการตลาดขายยากขึ้น โจทย์นี้เป็นโจทย์ใหม่ และยากมาก ต่อไปการวางแผนการตลาดที่จะทำให้คนออกจากบ้านไปชอปปิ้ง และซื้อสินค้าของเรา เพราะหลังจากนี้ผู้บริโภคอาจไม่ชอปสินค้าตามห้าง ไม่กินตามร้านอาหาร แม้กระทั่งไม่ซื้อสินค้าออนไลน์ แต่เลือกซื้อหรือชอปปิ้งกันเองใน community ซึ่งสินค้าที่จะโดนก่อน คือประเภทสินค้าที่สามารถผลิตได้เอง เช่น อาหาร เสื้อผ้า ของประดับ ของใช้ส่วนตัวออร์แกนิก (เช่น สบู่ แชมพู ยาสระผม) สินค้าที่ใช้ในครัวเรือนแบบออร์แกนิก (เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยาถูพื้น) เป็นต้น อันจะส่งผลกระทบไปยังธุรกิจอื่นๆ เช่น ธุรกิจมีเดีย ที่จะได้ค่าโฆษณาลดลง เอเยนซีที่ไม่มีคนจ้างผลิตโฆษณา เป็นต้น ทั้งนี้ ก็ฝากไว้เป็นโจทย์สำหรับนักการตลาดว่าจะรับมือกับ community based marketplace อย่างไร เชื่อว่าคงไม่ยากเกินความคิดสร้างสรรค์ของนักการตลาดบ้านเรา