แม้จะมีการแก้ไขกฎมนทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันติวงศ์ใน พ.ศ.๒๔๖๗ สมัยรัชกาลที่ ๖ กำหนดให้ยกเว้นพระบรมวงศานุวงศ์ที่มีพระชายาเป็น “นางต่างด้าว” ไม่มีสิทธิในการขึ้นครองราชย์ แต่ก่อนหน้านั้นปรากฏว่ามีพระสนมเป็นนางต่างด้าวมาแล้วหลายพระองค์ แต่ไม่ใช่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากยุโรป เป็นเพื่อนบ้านในเอเซียและอยู่ในปกครองของไทย หรือคนไทยที่มีเชื้อสายต่างชาติ ทั้งด้วยเหคุผลทางการเมืองและความรัก ทายาทของพระสนมท่านหนึ่งที่สืบเชื้อสายมาจากสุลต่านมุสลิมยังได้ขึ้นครองราชย์ด้วย
ในสมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นที่ทราบกันว่าสนมคนโปรดในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก็คือ “เจ้าจอมแว่น” อดีตนางพระกำนัลของพระอัครมเหสีในสมเด็จพระเจ้าสิริบุญสาร มีนามเดิมว่า “คำแว่น”เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯขณะดำรงพระยศสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกในสมัยกรุงธนบุรี ได้ยกทัพไปปราบกบฏเวียงจันทร์และกวาดต้อนผู้คนมา ในจำนวนนี้มีนางคำแว่นร่วมมาด้วย และโปรดถึงกับนำเข้าอยู่ในทำเนียบสมเด็จเจ้าพระยา ทำให้ ท่านผู้หญิงนาค ซึ่งเป็นลูกสาวคหบดีชาวอัมพวา รับไม่ได้กับเรื่องนี้ จึงเกิดความแตกร้าวขึ้นในครอบครัว แม้สมเด็จเจ้าพระยาปราบดาภิเษกและสถาปนาพระบรมมหาราชวังขึ้นแล้ว ท่านผู้หญิงก็ไม่เคยมาประทับในพระบรมมหาราชวัง ทุกครั้งที่เสด็จมาเยี่ยมพระราชธิดาในพระบรมมหาราชวัง ก็จะกลับออกไปประทับอยู่ที่พระราชวังเดิมกรุงธนบุรีกับเจ้าฟ้าชายฉิม พระราชโอรสองค์โต จึงทำให้เจ้าจอมแว่นซึ่งได้รับโปรดเกล้าฯ ให้รับใช้ใกล้ชิดเป็น พระสนมเอก ได้รับการบันทึกบทบาทในพงศาวดารไว้มากกว่าสมเด็จพระราชินี
ในสมัยรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงเป็นศิลปินและนักรัก เมื่อครั้งยังเป็น เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ขณะพระชนมายุได้ ๑๙ พรรษาได้เสด็จโดยเรือพระที่นั่งผ่านไปทางจังหวัดนนทบุรี ทอดเพระเนตรเห็นเด็กผู้หญิงคนหนึ่งเล่นน้ำอยู่กับเพื่อนที่หน้าบ้านเจ้าเมือง ทรงบังเกิดรักแรกพบ ต่อมาจึงทรงทราบว่าเธอมีชื่อว่า มาเรียม เป็นธิดาของพระยานนทบุรี จึงทรงสู่ขอมาเป็นภรรยาคนที่ ๒
พระยานนทบุรีศรีมหาอุทยาน (บุญจัน) นั้นเป็นชาวไทย เดิมอยู่ย่านบางเชือกหนัง ธนบุรี ส่วนคุณหญิงเพ็งภรรยา เป็นธิดาของ พระยาราชวังสัน (หวัง) มุสลิมที่สืบเชื้อสายมาจากสุลต่านสุลัยมาน ชาวเปอร์เซียที่อพยพลี้ภัยฮอลันดามาจากชวา ขึ้นฝั่งตั้งถิ่นฐานที่เขาหัวแดง เมืองสงขลา และช่วยปราบปรามโจรสลัดซึ่งชุกชุมถึงขั้นเข้าปล้นเมืองได้ จนย่านนั้นสงบราบคาบ แต่ในสมัยพระเจ้าปราสาททองขึ้นครองราชย์ สุลัยมานเห็นว่าทรงอำมหิตที่สังหารพระราชโอรสของพระเจ้าทรงธรรมที่ตนนับถิอถึง ๒ พระองค์ จึงแข็งเมืองตั้งตัวขึ้นเป็นสุลต่าน มีอำนาจปกครองไปถึงปัตตานี กลันตัน และไทรบุรี แต่พอถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สิ้นสุลต่านสุลัยมาน อำนาจของกลุ่มสุลต่านสุลัยมานก็ถูกปราบปราม จนยอมสวามิภักดิ์ ทายาทได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าเมืองพัทลุงต่อมาถึง ๔ ชั่วคน สืบเชื้อสายอยู่ในเมืองไทยจนถึงปัจจุบัน
เจ้าจอมเรียมมีโอรส ๓ องค์ ๒ องค์หลังเสียชีวิตแต่เยาว์วัย จึงทรงทุ่มเทความรักเลี้ยงดูโอรสองค์แรก คือ หม่อมเจ้าทับ ด้วยความทนุถนอม เมื่อพระราชบิดาขึ้นครองราชย์ หม่อมเจ้าทับอยู่ในวัย ๒๒ ก็เข้าช่วยงานราชการจนได้รับโปรดเกล้าฯ เป็น กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงประชวรหนักปลายรัชกาล กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์มีพระชนม์ ๓๗ พรรษาแล้ว และเป็นกำลังสำคัญในการว่าราชการแทนพระราชบิดา ส่วน เจ้าฟ้ามงกุฎฯ พระราชโอรสที่ประสูติจากสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ซึ่งมีสิทธิสืบทอดราชบัลลังก์ตามกฎมนเทียรบาล เพิ่งมีอายุ ๒๐ พรรษา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ จึงทรงรับสั่งให้เจ้าฟ้ามงกุฏซึ่งมีพระชนมายุครบบวชพอดี ให้รีบอุปสมบถโดยไม่ต้องมีพิธีรีตองตามราชประเพณี
ด้วยเหตุนี้เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เสด็จสวรรคตหลังจากที่เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชได้ ๑๕ วัน ขุนนางข้าราชการจึงอัญเชิญพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ขึ้นครองราชย์ ด้วยความเหมาะสมกับสถานการณ์
แม้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงมีเชื้อสายจากสุลต่านสุไลมานมาจากฝ่ายพระราชมารดาก็ตาม แต่ก็ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง กล่าวกันว่าคนที่สร้างวัดเป็นคนโปรดในรัชกาลนี้ และพระองค์ก็ทรงสร้างพระพุทธรูปและวัดขึ้นหลายวัด หนึ่งในจำนวนนี้ก็คือ วัดเฉลิมพระเกียรติ ที่จังหวัดนนทบุรี บนนิวาสสถานเดิมซึ่งเป็นที่พบรักของพระราชมารดากับพระราชบิดา เป็นการเฉลิมพระเกียรติพระอัยกาพระอัยกี หรือตากับยาย กับพระราชมารดาซึ่งได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระศรีสุลาลัย
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ปรากฏชื่อเจ้าจอมต่างชาติ ๓ องค์ คือ เจ้าจอมกำโพชราชสุดาดวง พระราชธิดาในสมเด็จพระนโรดม พรหมบริรักษ์ และเจ้าจอมตนกูสุเปีย พระธิดาสุลต่านมุฮัมมัด มูอัซซัมชาห์ แห่งเมืองลิงงา ในมลายู กับเจ้าจอมมารดาดวงคำ หรือ เจ้าหนูมั่นแห่งเวียงจันทน์
หลังจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เจ้าจอมกำโพชราชสุดาดวงได้กราบบังคมทูลลาออกจากพระบรมมหาราชวัง ไปเป็นพระชายาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธ์ ส่วนเจ้าจอมตนกูสุเปียก็สมรสใหม่กับเติงกูลงบิน เติงกู กูดิน ที่รัฐตรังกานู
ในปี พ.ศ.๒๔๓๑ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเยี่ยมมลายู สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงบันทึกในจดหมายเหตุไว้ว่า
“๓ โมงเช้า ๔๗ มินิต (๐๙.๔๐ น.) ถึงเมืองตรังกานู พระยาตรังกานูกับรายามุดาศรีตวัน กรมการมาคอยรับเสด็จพร้อมกัน ประทับอยู่ครู่หนึ่งแล้วเสด็จลงเรือไปประทับบ้านพระยาตรังกานู มีแขกแต่งเป็นคู่แห่เหมือนเมืองกลันตัน ถึงบ้านมีผู้หญิงแต่งตัวคลุมหัวมาคอยรับอยู่มาก มีตนกูสะเปียซึ่งเคยเข้ามาเป็นเจ้าจอมทูลหม่อมปู่เป็นต้น...”
สำหรับเจ้าจอมเจ้าจอมกำโพชราชสุดาดวงและเจ้าจอมตนกูสุเปีย ทั้งสองท่านหากมีพระราชบุตรก็จะได้รับการยกขึ้นเป็นเจ้าฟ้า เพราะถือว่าเป็นขั้นพระราชธิดา แต่ทว่าก็ไม่มีพระราชบุตรทั้งสองพระองค์
ส่วนเจ้าจอมมารดาดวงคำ เป็นธิดาของเจ้าคลี่ พระโอรสเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ เมื่อคราวเจ้าอนุวงศ์ก่อการกบฏขึ้นในรัชกาลที่ ๓ เจ้าคลี่ไม่ได้ร่วมด้วย จึงพาครอบครัวเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร เจ้าหนูมั่นเกิดที่กรุงเทพฯ ครั้นเมื่อถวายตัวเป็นพระสนมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า ดวงคำ ทรงตรัสเรียกว่า มั่นดวงคำ
เจ้าจอมมารดาดวงคำให้ประสูติกาลพระราชธิดา ๒ องค์ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านารีรัตนา กับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐาสารี
เชื้อสายไทยในวันนี้ จึงมีทั้ง มอญ ลาว จีน เขมร มลายู และหลากหลายเขื้อชาติ เช่นเดียวกับทุกประเทศในโลกที่หาเชื้อชาติเดียวคงไม่ได้แล้ว แต่สำหรับสังคมไทย แม้จะต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา เราก็อยู่ร่วมกันอย่างสันติ มุ่งยึดถือแต่แผ่นดินเกิดแผ่นดินอาศัย ที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อความสงบสุข ความมั่นคง และความเจริญก้าวหน้า เป็นเอกลักษณ์ของความเป็นไทย