เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๖ องค์การยูเนสโกแห่งสหประชาชาติ ได้ลงมติประกาศอย่างเป็นทางการให้ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ ๑ เป็นมรดกแห่งความทรงจำของโลก และการพิจารณาว่าสิ่งใดเป็นมรดกโลกนั้น คณะกรรมการยูเนสโกจะต้องพิจารณาในด้านมีคุณค่าสำหรับสากล เป็นของหายาก สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นของแท้ และเผยแพร่ให้ประชาชนเข้าถึง ไม่ว่าจะเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติหรือทางวัฒนธรรมก็ตาม ทั้งนี้ก็โดยพิจารณาจากข้อเสนอของคณะกรรมการชาติผู้เป็นเจ้าของ
ศิลาจารึกที่พบในประเทศไทยนั้น ตามหนังสือประชุมศิลาจารึกสยาม ปรากฏว่ามีถึง ๒๐๐ กว่าหลักและแผ่น ขุดพบทั่วทุกภาคในประเทศไทย ซึ่งได้จารึกไว้ในเวลาต่างๆกัน ส่วนศิลาจารึกของกรุงสุโขทัยขุดพบได้เพียง ๑๔-๑๕ หลัก มีทั้งภาษามคธ มอญ และเขมร หลักของพ่อขุนรามคำแหงเป็นหลักแรกที่ใช้ภาษาไทย จึงถือกันว่าเป็นหลักที่ ๑ ซึ่งจารึกไว้ในสมัยที่ไทยปลดแอกจากขอมได้ใหม่ๆ มีจ้อความ ๑๒๔ บรรทัดอยู่ทั้ง ๔ ด้านของหลัก กล่าวถึงการเมือง การปกครอง ความเป็นอยู่ของเมืองสุโขทัย การสงคราม กฎหมาย ประเพณี เศรษฐกิจ ผังเมือง ปรัชญา การพระพุทธศาสนา การประดิษฐ์อักษรไทย และอื่นๆอีกหลายอย่าง รวมทั้งเรื่องการถือผี
หลักศิลาจารึกส่วนใหญ่จะกล่าวถึงเรื่องศาสนา แต่ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงเป็นหลักเดียวก็ว่าได้ ที่กล่าวถึงเรื่องการเมืองการปกครอง ในยุคนั้นการปกครองบ้านเมืองล้วนแต่ใช้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช คนเผ่าไทยที่เคยปกครองอาณาจักรน่านเจ้ามาก่อนก็ใช้การปกครองแบบนครรัฐ แต่ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงกลับเป็นแบบพ่อปกครองลูกเหมือนในครอบครัว ซึ่งล้ำหน้ากว่าการปกครองในยุคนั้น
การขึ้นครองราชย์ ขอมซึ่งมีอิทธิพลในย่านนี้ ถือว่ากษัตริย์เป็นเทวราช ไม่ใช่คนธรรมดา แม้แต่ในยุโรปยุคนั้นก็อ้างว่าพระเจ้าให้มาครองราชย์เช่นกัน แต่พ่อขุนรามคำแหงจารึกไว้ว่า “พี่กูตายจึงได้เมืองแก่กูทั้งกลม” ชัดเจนถึงการถ่ายทอดอำนาจโดยไม่ต้องอ้างเทวดาหรือพระเจ้า
ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี มีความเห็นว่า ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงนี้ น่าจะถือได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของโลกที่เป็นแบบอย่างประชาธิปไตย
ด้วยเหตุนี้ อาจเป็นเหตุผลที่คณะกรรมการยูเนสโกได้พิจารณาลงมติเป็นเอกฉันท์ ให้หลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง มรดกของชาติไทย มีคุณค่าที่ควรเป็นมรดกของโลก
หลักศิลาจารึกหลักนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เมื่อครั้งยังทรงผนวชเป็น พระวชิรญาณภิกขุ ทรงค้นพบที่เนินวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย เมื่อราว พ.ศ.๒๓๗๖ และนำมาไว้ที่กรุงเทพฯ เมื่อทรงขึ้นครองราชย์จึงทรงแปลข้อความในจารึกนี้ออกมาเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
ศิลาจารึกหลักที่ ๑ นี้ ไม่มีข้อความว่าจารึกในปีใด กล่าวแต่เพียงว่า เมื่อปีมะแม มหศักราช ๑๒๐๕ ซึ่งตรงกับปี พ.ศ.๑๘๒๖ พ่อขุนรามคำแหงได้ประดิษฐ์ “ลายสือไทย” ขึ้นเป็นครั้งแรก จึงสันนิษฐานว่าคงจะสลักศิลาจารึกไว้ในเวลาใกล้ๆกัน แต่นักประวัติศาสตร์และวรรณคดียังสงสัยกันว่า ศิลาจารึกหลักนี้ไม่ได้จารึกสำเร็จในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง เพราะมีข้อความในด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๑ ถึงบรรทัดที่ ๑๘ ตั้งแต่ “พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ ...จนถึง พี่กูตายจึงได้เมืองแก่กูทั้งกลม” ใช้สรรพนามบุรุษที่ ๑ มาตลอด จากนั้นก็กลับใช้สรรพนามบุรุษที่ ๓ ซึ่งตีความหมายกันว่า จารึกเมื่อพ่อขุนรามคำแหงสวรรคตแล้ว
แต่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช มีความเห็นว่า พ่อขุนรามคำแหงคิดภาษไทยได้สำเร็จใน พ.ศ.๑๘๒๖ ก็น่าจะสลักศิลาจารึกเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสนั้น กว่าจะสวรรคตใน พ.ศ.๒๘๖๐ มีเวลาถึง ๓๔ ปี ไม่น่าจะจารึกไม่เสร็จ หลักศิลาจารึกสูงเพียง ๑ เมตร ๑๑ เซนติเมตร กว้าง ๓๕ เซนติเมตรเท่านั้น น่าจะเป็นเพราะตอนต้นที่ใช้คำหนักๆ เช่น พ่อกู แม่กู อาจจะทำให้ดูขลัง ส่วนบางคนว่า ในตอนท้ายใช้สระและพยัญชนะต่างกันไปบ้าง ก็ตงเพราะระยะนั้นเพิ่งคิดอักษรไทยขึ้นใหม่ๆ การเขียนจึงยังไม่คงที่แน่นอน หรืออาจใช้คนละคนแกะสลักก็ได้ หัวท้ายจึงต่างกัน
นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการอีกหลายคนวิพากษ์วิจารณ์หลักศิลาจารึกหลักนี้ ว่าไม่ใช่จารึกขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหง แต่ทำในยุครัตนโกสินทร์นี่เอง เพื่อผลทางการเมือง
ไมเคิล วิเคอรี ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกเอเซียอาคเนย์ ได้เสนอการวิเคราะห์ในการสัมนาประวัติศาสตร์ ที่กรุงแคนเบอรา ออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๐ อธิบายว่า ศิลาจารึกนี้ไม่น่าจะเขียนขึ้นในยุคสุโขทัย อาจจะเขียนขึ้นหลังจากนั้น หรือเพิ่งจะเขียนขึ้นในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์นี่เอง โดยอ้างเหตุผลว่า หลักศิลาจารึกหลักนี้มีความแตกต่างจากหลักอื่นๆมาก เช่น
ภาษาในศิลาจารึกหลักนี้มีวรรณยุกต์ใกล้เคียงกับภาษาในปัจจุบันมากกว่าศิลาจารึกหลักอื่นๆ อีกทั้งมีคำไทยแท้มากจนน่าผิดสังเกต ซึ่งศิลาจารึกหลักอื่นๆจะมีอิทธิพลของภาษาขอมอยู่มาก
ศิลาจารึกหลักนี้เรียกกำแพงเมืองสุโขทัยว่า “ตรีบูร” ซึ่งหมายถึงกำแพง ๓ ชั้น แต่กำแพงเมือง ๓ ชั้นนี้เพิ่งสร้างในยุคที่มีปืนใหญ่แบบตะวันตกเข้ามาแล้ว
ศิลาจารึกเขียนสระ อิ อี อึ อือ อุ อู อยู่บรรทัดเดียวกันแบบฝรั่ง ขณะที่จารึกหลักอื่นๆเขียนอยู่บนล่าง จึงน่าจะเขียนเมื่อได้รับอิทธิพลจากภาษาตะวันตกแล้ว
เนื้อหาของศิลาจารึกมีข้อที่น่าสงสัย เพราะกล่าวถึงเรื่องการเมือง ขณะที่ศิลาจารึกอื่นๆกล่าวแต่เรื่องศาสนา
ข้อสงสัยของฝรั่งนี้ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิตสาขาประวัติศาสตร์ ได้คัดค้านความเห็นของไมเคิล วิเคอรีทันที โดยให้ความเก็นว่า เรื่องสระพยัญชนะอยู่ในบรรทัดเดียวกันไม่จำเป็นต้องเป็นภาษาของชาวยุโรป กลุ่มไทยขาวก็เขียนแบบนี้เหมือนกัน อีกทั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯที่ฝ่ายคัดค้านว่าเป็นผู้ทรงสร้างหลักศิลาจารึกนี้ขึ้นเองนั้น ดร.ประเสริฐกล่าวว่าก็ทรงแปลผิดไว้หลายแห่ง และยังมีบางคำที่ไม่เข้าพระทัย จนเมื่อความรู้ทางภาษาศาสตร์ขยายตัวขึ้น จึงอ่านและตีความหมายได้มากขึ้น ฉะนั้นที่ว่าศิลาจารึกหลักนี้เป็นพระราชนิพนธ์ของพระองค์ จึงเป็นไปไม่ได้
นักวิชาการบางส่วนของไทยเอง ก็ออกมาระบุว่า ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ไม่ได้ทำขึ้นในพ.ศ.๑๘๓๕ ในสมัยกรุสุโขทัย แต่ทำขึ้นระหว่าง พ.ศ.๒๓๙๔-๒๓๙๘ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่ง ดร.ประเสริฐ ณ นคร ก็ได้ให้ความเห็นว่า มีการพูดเรื่องนี้มาเป็น ๑๐ ปีแล้ว และถกเถียงกันมาหลายครั้ง ส่วนการยกคำศัพท์ไปเทียบกับหลักศิลาจารึกอื่นๆนั้น ยังมีเหตุผลไม่พอเพียง และวิธีพิสูจน์ก็ยังไม่พอให้เชื่อถือ อย่างคำว่า “ขับ” ฝ่ายคัดค้านบอกว่าในหลักศิลาจารึกอื่นแปลว่า “ไล่” แต่ในหลักที่ ๑ นี้มีความหมายว่า “ร้อง” แต่ถ้าไปดูให้ดีก็จะเห็นว่า ในหลักที่ ๑ นี้ก็มีคำว่าขับ ที่หมายความว่าไล่เหมือนกัน แต่ใช้พยัญชนะ “ฃ” แทน
คำว่า “เมืองไท” ที่มีอยู่ในหลักศิลาจารึกหลักที่ ๑ อ้างว่าคำนี้เพิ่งเกิดในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ ๓-๔ เพราะโบราณไม่ได้คิดถึงเรื่องเชื้อชาติ ประเทศ แต่ในศิลาจารึกวัดป่าแดง ที่เชียงตุง ซึ่งจารึกไว้ในปี พ.ศ.๑๙๙๔ มีระบุว่า ศาสนาจากลังกามาถึงเมืองไท แสดงว่าคำนี้มีมานานแล้ว ส่วนคำว่า “เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่” ที่บอกว่าทำขึ้นในรัชกาลที่ ๔ เพราะคิดในเรื่องทุนนิยม ลองไปอ่านดูใน “ไตรภูมิพระร่วง” ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยพระยาลิไท แห่งกรุงสุโขทัย จะกล่าวถึงการเก็บภาษีด้วย หรือในหลักศิลาจารึกที่ ๑ ที่กล่าวว่าพ่อขุนรามคำแหงใส่ลายสือไท ก็คล้ายกับที่มีอยู่ในหนังสือ “จินดามณี” ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่กลุ่มผู้คัดค้านก็แย้งว่าอาจใส่ความเข้าไปใหม่ เมื่อไปค้นต้นฉบับหนังสือจินดามณีที่เป็นลายมือสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็มีข้อความนี้
ส่วน นายไมเคิล ไรท ฝรั่งผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ไทยผู้หนึ่ง ได้ให้ความเห็นสนับสนุนข้อสันนิษฐานของนักวิชาการกลุ่มที่เห็นว่าหลักศิลาจารึกหลักที่ ๑ ทำในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ว่า
“...กลุ่มนักปราชญ์อิสระเหล่านี้ได้พบว่า ทุกสิ่งทุกอย่างสอดคล้องกับสถานการณ์ประวัติศาสตร์ศตวรรษที่ ๑๙ ในสมัยพระนางเจ้าวิกตอเรีย หรือสมัยรัชกาลที่ ๔ ทุกสิ่งทุกอย่างผิดจากสมัยโบราณเมื่อ ๗๐๐ ปีที่แล้ว ในจารึกหลักที่ ๑ อ้างถึงการค้าเสรีโบราณ ไม่เคยคิดว่ากษัตริย์ไม่เก็บค่าจังกอบในไพร่ เป็นไปไม่ได้ การค้าเสรีเป็นความคิดใหม่เอี่ยม ในสมัยนั้นยังคิดไม่สำเร็จ โดยเฉพาะสมัยรัชกาลที่ ๔ อังกฤษบังคับให้ไทยเปิดการค้าเสรี หรือไม่เสรีก็อย่างน้อยก็ให้เก็บภาษีการค้าต่ำมาก
ผมไม่ค่อยเชื่อว่ารัชกาลที่ ๔ เป็นคนทำหลักศิลาจารึก แต่เชื่อว่าท่านบัญชาข้าในพระองค์คณะหนึ่งช่วยกันทำ และคณะเหล่านั้นอาจจะมีสุนทรภู่ร่วมอยู่ด้วย เหตุผลที่น่าจะมีสุนทรภู่ด้วยก็คือ ภาษาดีขนาดหลอกคนได้มาถึงปัจจุบัน ซึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์มีนักภาษาที่เก่งขนาดนั้นไม่กี่คน และที่ทำให้ก็คือพระมหากษัตริย์ทรงไม่มีเวลา เพราะมีราชบัณฑิตจำนวนมาก และเหตุผลที่ทำไมพระองค์ทรงให้ทำแบบนี้ ผมไม่ทราบ เพราะไม่มีหลักฐาน แต่สันนิษฐานค่อนข้างจะมั่นใจว่า สมัยรัชกาลที่ ๔ ยังถือตามโบราณราชประเพณี และตามโบราณราชประเพณีนั้นพระมหากษัตริย์ทำอะไรใหม่ไม่ได้ แต่ถ้าพระองค์จะทำอะไรใหม่ ก็จะมีข้อขัดแย้งว่าทำไม่ถูกต้องตามโบราณราชประเพณี พระองค์ก็ต้องหาหลักฐานว่าสิ่งที่พระองค์อยากทำนั้น ในสมัยโบราณเคยทำมาก่อนแล้ว”
นี่ก็เป็นเหตุผลของแต่ละฝ่ายที่มีความเห็นต่างกัน และขุดค้นเหตุผลของฝ่ายตนมาคัดค้านโต้แย้ง ทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์แตกฉานออกไป ไม่ใช่เรื่องที่มีไว้แค่ให้ท่องจำ ให้คนรับรู้ประวัติศาสตร์ด้วยเหตุผลและความเป็นไปได้ สำหรับหลักศิลาจารึกหลักที่ ๑ นี้ หากเป็นของปลอมอย่างที่สงสัยกันจริง ก็น่าจะเป็น “มรดกโลก” อีกเหมือนกัน เพราะปลอมได้แนบเนียนที่สุดในโลกถึงขนาดนี้