xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยววิถีใหม่ "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร" ปลอดภัยสไตล์ New Normal

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ออกมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ ประกาศปิดเข้าเยี่ยมชมเป็นการชั่วคราว เพื่อควบคุมและหยุดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ ล่าสุดทางรัฐบาลได้มีมาตรการผ่อนปรนออกมาทำให้สถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งกลับมาเปิดบ้างแล้ว

ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบค. ได้มีมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จึงกำหนดเปิดให้บริการ "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร" ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยดำเนินตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

บริเวณด้านหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

การเข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในช่วงนี้ นักท่องเที่ยวทุกคนจะต้องปฏิบัติตามมาตรการ ซึ่งเมื่อเดินทางมาถึงบริเวณด้านหน้าทางเข้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร จะได้รับการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายจากเจ้าหน้าที่ เพื่อทำการคัดกรองก่อนเข้าพื้นที่ หากมีอุณหภูมิสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส จะไม่อนุญาตให้เข้าพื้นที่โดยไม่มีข้อยกเว้น และนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่เข้ามาใช้บริการจะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะอยู่ในพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์

เจ้าหน้าที่ตรวจวัดอุณหภูมินักท่องเที่ยวก่อนเข้าชมด้านใน

หลังจากที่ได้รับการตรวจวัดอุณหภูมิเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนั้นผู้ใช้บริการทุกคน จะต้องลงทะเบียนการเข้าใช้งานด้วย QR Code หรือกรอกแบบฟอร์มที่เตรียมไว้ให้ ก่อนซื้อบัตรเข้าชมภายในพิพิธภัณฑ์ และผู้เข้าใช้บริการจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่

จุดลงทะเบียนก่อนเข้าชมผ่านระบบ QR Code

ช่องจำหน่ายบัตรเข้าชมพิพิธภัณฑ์
เมื่อลงทะเบียนการเข้าชมผ่าน QR Code บริเวณด้านหน้าทางเข้า และซื้อบัตรเรียบร้อยแล้ว จากนั้นเดินเข้าชมตามห้องการจัดแสดงต่างๆ นอกจากมีโบราณวัตถุให้ชมมากมายแล้ว พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ยังมีโบราณสถานคือ พระที่นั่ง และ พระตำหนักบางองค์ ที่เป็นตัวอย่างของ งานสถาปัตยกรรมไทยที่งดงาม เช่น พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และก่อนเข้าไปชมการจัดแสดงด้านใน จะต้องสแกนลงทะเบียนการเข้าชมของห้องนี้ รวมถึงการเข้าชมห้องอื่นๆ ด้วย ภายในพระที่นั่งประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ และมีจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามยิ่ง พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ที่ประทับ ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

จุดลงทะเบียนก่อนเข้าชมตามห้องแสดงต่างๆ

ภายในพระที่นั่งประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์

พระตำหนักแดง ที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีในรัชกาลที่ ๒

และพระตำหนักแดง ที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีในรัชกาลที่ ๒ รวมไปถึง พระที่นั่งขนาดย่อม และศาลาทรงไทยในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ศาลาสรง ศาลาสำราญมุขมาตย์ พระที่นั่งมังคลาภิเษก และ พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศนัย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ยังคงมีเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมไทย ที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งของเกาะรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน

จุดสแกน QR Code ด้านหน้าพระตำหนักแดง

การจัดแสดงด้านในพระตำหนักแดง

จุดบริการเจลแอลกอฮลล์ล้างมือ

การจัดแสดงภายในโรงราชรถ

จากนั้นเข้าไปชมราชรถ ราชยาน และคานหาม ที่ใช้จริงในขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ได้ที่ “โรงราชรถ” จัดแสดงราชรถที่ใช้ในการพระบรมศพ อาทิ อาทิ พระมหาพิชัยราชรถ เวชยันตราชรถ ราชรถน้อย ฯลฯ และนอกจากนี้ก็ยังมีพระโกศจันทน์ทรงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี


“พระมหาพิชัยราชรถ” เป็นราชรถสำคัญที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ใช้ในการอัญเชิญพระโกศพระบรมศพพระมหากษัตริย์ และพระศพของพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพื่อใช้ในการอัญเชิญพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก สำหรับออกพระเมรุในการถวายพระเพลิงในปี พ.ศ.2339 โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นราชรถขนาดใหญ่ตามแบบพระราชประเพณีที่เคยมีมาครั้งกรุงศรีอยุธยา

มีเก้าอี้นั่งแบบเว้นระยะห่าง

ห้องจัดแสดงเครื่องศัสตราวุธโบราณ

นอกจากนี้ยังมีห้องจัดแสดงอื่นๆ อีกมากมาย อย่างเช่น ห้องจัดแสดงเครื่องศัสตราวุธโบราณซึ่งเคยใช้ในการสงครามตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีถึงกรุงรัตนโกสินทร์ โบราณวัตถุชิ้นสำคัญ ได้แก่ ตำราพิชัยสงครามสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จัดแสดงพร้อมหุ่นจำลองการจัดกระบวนทัพแบบครุฑ คชยุทธ์หรือช้างศึก ชุดยันต์ของทหารที่ใช้ออกรบ

พระที่นั่งราเชนทรยาน เป็นพระราชยานที่สร้างขึ้น โดยช่างหลวงในสมัยรัชกาลที่ 1

รวมถึงอีกหนึ่งไฮไลต์ของการจัดแสดงก็คือ "พระที่นั่งราเชนทรยาน" สมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ พุทธศตวรรษที่ 24 พระที่นั่งราเชนทรยาน เป็นพระราชยานที่สร้างขึ้น โดยช่างหลวงในสมัยรัชกาลที่ ๑ สร้างจากไม้แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก ทรงบุษบกย่อมุมไม้สิบสอง หลังคาซ้อน 5 ชั้น พนักพิงและกระจัง ปฏิญาณแกะสลักเป็นภาพเทพพนมไว้ตรงกลางมีรูปครุฑยุดนาค ประดับรอบฐาน แสดงถึงความเป็นองค์สมมติเทพของพระมหากษัตริย์


การจัดแสดงเครื่องดนไทยในสมัยก่อน

ที่นั่งพักผ่อนภายในห้องจัดแสดง

เครื่องถ้วยในราชสำนักหลากหลายแบบ

ธรรมาสน์กลม ศิลปะอยุธยาพุทธศตวรรษที่ 23-24

ถัดมาคือห้องมุขเด็จจัดแสดงเครื่องไม้แกะสลัก ซึ่งเป็นงานประณีตศิลป์ไทยที่สะท้อนวิถีชีวิตคนไทยมาแต่อดีต โดยมีงานจำหลักไม้ชิ้นเด่นที่อยู่กลางห้อง นั่นคือ “ธรรมาสน์กลม” หรือที่นั่งสำหรับพระสงฆ์นั่งเทศน์ ซึ่งเดิมอยู่ที่วัดค้างคาว จ.นนทบุรี เป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนปลาย และไฮไลต์อีกชิ้นหนึ่งที่อยู่ด้านหลังก็คือบานประตูวิหารหลวงวัดสุทัศน์ ที่ ร.๒ ทรงฝากฝีมือแกะสลักไว้ร่วมกับช่างในพระราชสำนัก เป็นงานแกะล้วง ภายหลังบานประตูนี้ถูกไฟไหม้ไปเกือบครึ่ง จึงนำมาเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ และสร้างประตูบานใหม่ไปไว้แทน

ที่นั่งด้านนอกแบบเว้นระยะห่าง
นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถเข้าชมภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้ทุกวันพุธ-อาทิตย์ (ยกเว้นวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ในเวลา 09.00-16.00 น. โดยมีค่าเข้าชม คนไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 200 บาท สามารถถ่ายภาพภายในห้องจัดแสดงได้ แต่ต้องไม่ใช้แฟลช และงดถ่ายวิดีโอ สนใจสอบถามเพิ่มเติม โทร. 0-2224-1370, 0-2224-1402
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR
กำลังโหลดความคิดเห็น