(Police Focus)
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายพิบูลย์เขตร นิธิอนันตภร เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดินวุฒิสภา เดินทางมอบสิ่งของ แอลกอฮอล์ 600 ขวด โดนัท 198 กล่อง คอนเฟลกซ์ 99 กล่อง น้ำ 44 แพก (น้ำมันพืช ข้าวสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และปลากระป๋อง) บรรจุรวม 600 ชุด โดยมี พล.ต.ต.เอกชัย บุญวิสุทธิ์ ผบก.น.7 เป็นผู้รับมอบ พร้อม พ.ต.อ.ศุภชัชจ์ เปี่ยมมนัส รอง ผบก.น.7 และ ผกก.ในสังกัด บก.น.7 รวม 11 สน.
พ.ต.อ.ศุภชัชจ์กล่าวว่า เป็นนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) โดยทาง กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) สั่งการ กองบังคับการตำรวจนครบาล 7 (บก.น.7) ได้สนองนโยบายโครงการตู้ปันสุข บรรเทาทุกข์ประชาชนที่เดือดร้อนจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ดีมาก ตนภาคภูมิใจได้ร่วมกิจกรรมดังกล่าว ขอขอบคุณภาคเอกชน สำนักเขตต่างๆ โรงเรียนอำนวยความสะดวกด้านสถานที่ และวัดเปิดโรงทานเลี้ยงประชาชนทุกวัน
ชีวิตรับราชการของตนไม่เคยอยู่ฝั่งธนฯ แต่ทราบว่าใครมาอยู่แล้วมีความสุข สัมผัสตำรวจ บก.น.7 มีความพร้อมในเรื่องการทำงาน มีวินัย มีความรับผิดชอบดีมาก ในฐานะผู้บังคับบัญชาระดับรอง ผบก.ลงพื้นที่ตรวจ สน.ต่างๆ อยู่ในขั้นใช้ได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการรองรับนโยบายจาก บช.น.ตั้งจุดตรวจเคอร์ฟิว หรือโครงการตู้ปันสุข เป็นพื้นที่อีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ แตกต่างจากที่อื่น สมัยปลายกรุงศรีอยุธยาได้รับแต่งตั้งเป็น “เมืองหลวง”
“มีสถานที่สำคัญและสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลายแห่ง อย่างวัดวาอารามที่ประชาชนได้กราบสักการะ อาทิ วัดระฆังโฆสิตารามฯ วัดหงส์รัตนารามฯ วัดอรุณราชวรารามฯ รวมถึง รพ.ศิริราช ที่พึ่งของประชาชนและศูนย์การเรียนรู้ทางแพทย์ เรามีการตรวจอย่างสม่ำเสมอ สิ่งภาคภูมิใจที่สุดในการรับราชการ ภารกิจหลักของตำรวจคงทราบอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องการถวายรักษาความปลอดภัย”
สำหรับประวัติ พ.ต.อ.ศุภชัชจ์ หรือ รองซิงค์ เป็นชาว จ.สุพรรณบุรี เกิดในครอบครัวค้าขาย เป็นลูกคนที่ 4 ในจำนวนพี่น้อง 11 คน ด้วยทางบ้านทำอาชีพค้าขาย พ่อจึงรู้จักมักจี่กับฝ่ายปกครองและตำรวจ ไม่แปลกอยากให้ลูกสวมเครื่องแบบ อีกทั้งในครอบครัวไม่มีใครเป็นตำรวจ ก็เป็นความมุ่งหวังสมัยเด็กๆ จนเข้าเรียน ร.ร.ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีโอกาสเป็นตัวแทน นักปลํ้าลูกหนําเลี้ยบ ไปรับใช้ทีมชาติไทย
ผลการเรียนของเขาอยู่ระดับปานกลาง การจะก้าวไปสู่รั้ว ร.ร.เตรียมทหาร เพื่อต่อ ร.ร.นายร้อยตำรวจ ค่อนข้างยากลำบาก และโอกาสนักกีฬาสมัยนั้นเข้ารับราชการมีน้อย เนื่องจากยังไม่มีโครงการช้างเผือก ใช้ความรู้ความสามารถของตัวเองสอบแข่งขัน นั่นคือเหตุผลให้เขาล้มเลิกความคิดนี้ไป แต่สิ่งที่ยังรักคือกีฬารักบี้ได้เล่นให้กับสโมสรตำรวจ คุ้นเคยนักรักบี้ในทีม นรต.รุ่น 33-36 และรุ่น 30 ในฐานะคนคุมทีมเป็นอย่างดี
หลังจากนั้นสอบเข้าคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขึ้นปี 2 ลองสอบเข้าภายในของตำรวจติดพลสำรองพิเศษ ระหว่างนั้นยังเล่นรักบี้ให้สโมสรและทีมชาติ จบออกจากรั้วจามจุรีไปทำงานด้านสถาบันการเงิน 4 ปี รู้สึกงานไม่ตอบโจทย์กับสิ่งที่เรียนมา ความคิดสวมเครื่องแบบสีกากีกลับมาอีกครั้ง ตัดสินใจสอบได้รับคัดเลือกเป็น ว่าที่ ร.ต.ต.แล้วเข้าอบรมหลักสูตร กอส.รุ่น 11
เริ่มรับราชการตำแหน่ง รอง สว.ผ.สื่อมวลชนสัมพันธ์ กก.2 สลก. รอง สว.กลุ่มงานนิติการฯ สลก. รอง สวป.สน.สามแสน รอง สว.ผ.3 กก.สส.บก.น.เหนือ รอง สว.กก.สส.บก.น.2 ผช.นายเวร ผช.อธิบดีกรมตำรวจ สว.ธร.สน.จักรวรรดิ สว.กก.สส.บก.น.2 สว.สส.สภ.เมืองพัทยา รอง ผกก.ฝอ.ภ.จว.ระยอง รอง ผกก.ป.สภ.เมืองพัทยา รอง ผกก.ป.สภ.บางละมุง ผกก.สภ.บ่อทอง ผกก.สภ.บ้านบึง ผกก.5 บก.จร. ผกก.สส.บก.น.4 รอง ผบก.น.3 และ รอง ผบก.น.7
รองซิงค์ กล่าวว่า การให้บริการประชาชน ป้องกันอาชญากรรม และสืบสวนติดตามจับคนร้าย เป็นงานหลักที่ต้องรับผิดชอบโดยตรง รวมถึงการบริหารงานของตำรวจ ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาให้ขวัญกำลังใจอย่างที่ ผบ.ตร.เคยกล่าวว่า “ผู้บังคับบัญชาเวลาไปเยี่ยมลูกน้องต้องทำตัวให้เป็นปุ๋ย เพื่อให้ลูกน้องเปรียบเสมือนต้นไม้เจริญงอกงาม อย่าทำตัวเป็นยาฆ่าหญ้า ไปแล้วผู้ใต้บังคับบัญชาเกิดระส่ำระสาย หวาดระแวง ไม่มีความสุข”
วิธีการทำงานของตนคิดอย่างเดียวว่า ความคิดในการบริหารงานคิดได้เป็นร้อยๆ เรื่อง แต่เราต้องทำในเรื่องที่มันทำได้ เป็นไปได้ และเกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด การทำงานเราต้องไปเป็นทีม เราต้องมีลูกน้อง จะให้ลูกน้องเอาความรู้ความสามารถที่มีอยู่ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต้องดึงตรงนี้ออกมาให้ได้ ให้ความไว้เนื้อเชื่อใจผู้ใต้บังคับบัญชา ให้เขาทำด้วยความรู้สึกที่มาจากใจ ไม่ได้เพราะถูกบังคับ ถูกกฎระเบียบครอบงำ หรือครอบคลุม
“ถ้าทำด้วยใจรู้ว่าอะไรถูกผิดชอบชั่วดี แล้วประชาชนจะได้ประโยชน์ ทำงานโดยซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประชาชน ไม่ใช่เพื่อส่วนตัว เราจะทำเมื่อไหร่เราก็มีความสุข มีหลายคดีที่ผมทำให้ประชาชนได้รับความยุติธรรม โดยการนำตัวคนทำผิดมาลงโทษ ทั้งคดีฆาตกรรม วิสามัญ เรียกค่าไถ่ ปล้นทรัพย์ สิ่งสำคัญทีมงานทุกคนต้องปลอดภัยเท่านี้ผมก็ประทับใจแล้ว”
นครบาล 7-4 กล่าวถึงภาพลักษณ์ตำรวจว่า ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปมาก การทำงานของตำรวจยึดถือความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม และความสุขของประชาชน เมื่อไหร่ที่ตำรวจยึดถือความสุข หรือผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก เชื่อว่ายังไงก็ไปไม่รอด เพราะการตรวจสอบต่างๆ มีมากมายทั้งรูปธรรมและนามธรรม สายตานับแสนที่มองเห็นการทำงานของตำรวจ ตา โซเชียลฯ สื่อ กล้องวงจรปิด เป็นตัวแทนของสายตาทั่วประเทศ
“ข้อเท็จจริงก็คือข้อเท็จจริง ความจริงยังไงก็หนีความจริงไม่พ้น แม้วันนี้เขาอาจจะไม่พบความจริง แต่วันหนึ่งก็ต้องมีคนมาขุดคุ้ย ฉะนั้นตำรวจคนใดมีความบริสุทธิ์ใจในการทำงาน ก็จะประสบความสำเร็จได้คำชื่นชม”
ตนขอพูดถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน ประเทศไทยโชคดีมีพระสยามเทวาธิราช และสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองมากมาย เผชิญวิกฤตเมื่อไหร่ผ่านพ้นไปได้หมด ที่สำคัญคนไทยมีความรู้ มีระเบียบวินัย เข้าใจกฎระเบียบ รู้ผิดชอบชั่วดีมากขึ้น เห็นได้ชัดจากเหตุการณ์โควิด-19 การบังคับใช้ พ.ร.ก.ต่างๆ ที่ออกมาจากรัฐบาล แสดงออกในลักษณะปฏิบัติตามกฎระเบียบ น้อยมากจะออกนอกกฎระเบียบ จนผู้ติดเชื้อลดน้อยลง ประเทศไทยจึงมีชื่อเสียงมากทั่วโลก...ในด้านระบบสาธารณสุข