xs
xsm
sm
md
lg

วันที่ 10 พฤษภาคม “วันป่าชายเลนแห่งชาติ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยความเป็นมาของการประกาศให้วันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปี เป็น “วันป่าชายเลนแห่งชาติ” ว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2534 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับป่าชายเลนเป็นครั้งแรกในพระราชพิธีแรกนาขวัญหว่านข้าว บริเวณสวนจิตรลดา ความว่า “...ป่าชายเลนมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศของพื้นที่ชายฝั่งทะเลและอ่าวไทย แต่ปัจจุบันป่าชายเลนของไทยเรากำลังถูกบุกรุกและถูกทำลายลงไปโดยผู้แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน โดยเฉพาะต้นโกงกางเป็นไม้ป่าชายเลนที่แปลกขยายพันธุ์ค่อนข้างยาก เพราะต้องอาศัยระบบน้ำขึ้นลงในการเติบโตด้วย จึงขอให้ส่วนกลางที่เกี่ยวข้อง คือ กรมป่าไม้ กรมประมง กรมชลประทาน และกรมอุทกศาสตร์ ร่วมกันหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการทดลองขยายพันธุ์โกงกางและปลูกสร้างป่าชายเลนกันต่อไป...

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
“พระราชดำริ และพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่เกี่ยวกับคุณประโยชน์และความสำคัญของป่าชายเลน ส่งผลทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบร่วมกันหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการทดลองและขยายพันธุ์โกงกางและปลูกสร้างป่าชายเลนสืบมา การประกาศให้มีวันป่าชายเลนแห่งชาติ เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 เห็นชอบกำหนดให้วันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันป่าชายเลนแห่งชาติ” เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และและสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยกับการอนุรักษ์ป่าชายเลน และร่วมสืบสานพระราชปณิธานในการปกป้อง ดูแลรักษา ปลูกฟื้นฟูทรัพยากรป่าชายเลนให้คงความอุดมสมบูรณ์”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวย้ำถึงความสำคัญและความจำเป็นในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน โดยได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาดำเนินการ ได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งผลักดันสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าชายเลนให้เกิดความยั่งยืน


ด้านนายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สถานการณ์ป่าชายเลนของประเทศถูกเปลี่ยนแปลงไปจากการบุกรุก การทำลาย และเปลี่ยนสภาพไปเป็นแหล่งทำนากุ้ง นาเกลือ แหล่งชุมชนเมือง พื้นที่เกษตรกรรม รวมถึงการใช้ประโยชน์อื่นๆ เป็นจำนวนมาก จากการสำรวจเปรียบเทียบการแปลภาพถ่ายดาวเทียม เมื่อปี พ.ศ. 2534 พบว่าประเทศไทยมีป่าชายเลน 1,090,000 ไร่ และจากการแปลภาพถ่ายดาวเทียมเมื่อปี พ.ศ. 2557 ประเทศไทยมีป่าชายเลนประมาณ 2.86 ล้านไร่ ป่าชายเลนถูกเปลี่ยนสภาพไปถึง 1.33 ล้านไร่ ป่าชายเลนคงสภาพสมบูรณ์คงเหลืออยู่ประมาณ 1,534,584 ไร่ โดยมีป่าชายเลนเพิ่มขึ้น 444,584 ไร่ รวมทั้งจากการประเมินข้อมูลพื้นที่การบุกรุกป่าชายเลนน้อยลง มีการปลูกฟื้นฟูป่าชายเลนในพื้นที่ที่ถูกบุกรุกเก่าให้กลับสู่สภาพเดิมมาโดยตลอด อันเป็นผลมาจากรัฐบาล หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทุกหมู่เหล่า ได้ร่วมกันปลูกฟื้นฟูป่าชายเลนมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง ผลเป็นที่ประจักษ์มากขึ้น

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ขณะที่ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงนโยบายการอนุรักษ์ป่าชายเลนว่า มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยใช้หลักการประสานเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟู พร้อมทั้งใช้แนวทางวิชาการ อุปกรณ์เครื่องมือ รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ มาประกอบการดำเนินงาน และประการสำคัญประการหนึ่ง คือ การน้อมนำแนวพระราชดำริและพระราชดำรัสของพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์มาดำเนินการเพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรม

ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังเปิดเผยถึงโครงการสำคัญที่เกี่ยวกับป่าชายเลนในเวทีโลก 2 โครงการ คือ 1. เสนอพื้นที่ป่าชายเลน จ.ระนอง ซึ่งเป็นป่าชายเลนสมบูรณ์ ขอเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีพันธุ์ไม้มากกว่า 50 ชนิด และพันธุ์สัตว์อีกกว่า 500 ชนิด ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำเอกสารขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก 2. โครงการสวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ ร.๙ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งร่วมกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ร่วมกันจัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยมีเป้าหมายให้เป็นพื้นที่รวบรวมพรรณไม้ป่าชายเลนจากทั่วโลก เป็นแหล่งวิจัยเรียนรู้ร่วมกันของฝ่ายวิชาการและผู้สนใจทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นแหล่งท่องเที่ยวและเป็นสวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนแห่งแรกของโลก

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ด้านนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ที่ผ่านมาในการสร้างจิตสำนึก ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าป่าชายเลน รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนชายฝั่งและทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และร่วมปลูกฟื้นฟูป่าชายเลนมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง การประกาศให้วันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันป่าชายเลนแห่งชาติ เป็นการย้ำถึงความสำคัญของพื้นที่ป่าชายเลนของชาติ แสดงถึงความซาบซึ้งและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยในด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้วางแผนการดำเนินงานในการประชาสัมพันธ์ รณรงค์ และจัดกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนอย่างต่อเนื่อง

"สุดท้ายผมขอฝากถึงพี่น้องประชาชนว่า ป่าชายเลนเป็นระบบนิเวศที่มีความเฉพาะตัว และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งของระบบนิเวศชายฝั่งทะเล นับเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ามหาศาลทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม จึงขอให้พี่น้องประชาชนทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของพื้นที่ป่าชายเลน รวมถึงขอความร่วมมือในการช่วยกันอนุรักษ์และฟื้นฟูชายเลนที่เสื่อมโทรม ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์สามารถเอื้อประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนและประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป” นายโสภณ ทองดี อธิบดี ทช.กล่าวทิ้งท้าย


** * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ"รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุดและร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *

SMEs manager


กำลังโหลดความคิดเห็น