จากมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา เห็นชอบให้วันที่ 10 พฤษภาคม ของทุกๆ ปี เป็น “วันป่าชายเลนแห่งชาติ” ซึ่งปีนี้ถือเป็นปีแรกของประเทศไทยสำหรับวันป่าชายเลนแห่งชาติ
โดยได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับป่าชายเลนเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2534
เป็นการย้ำให้ตระหนักถึงความสำคัญของพื้นที่ป่าชายเลนของชาติ การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าชายเลนให้สมบูรณ์ ให้คงความสมบูรณ์และสมดุลอย่างยั่งยืนต่อไป
ไปทำความรู้จักชีววิทยาและนิเวศวิทยาป่าชายเลนให้มากขึ้น “ป่าชายเลน” ประกอบด้วยพรรณไม้หลายชนิด และเป็นไม้ไม่ผลัดใบ (evergreen species) มีการปรับตัวของลักษณะทางสรีรวิทยาเพื่อสามารถเจริญอยู่ได้ในน้ำเค็ม ลักษณะคล้ายพืชทะเลทราย เนื่องจากไม่สามารถดูดน้ำนั้นไปใช้ได้สะดวกอย่างน้ำจืด จึงต้องเก็บกักน้ำที่ดูดขึ้นไปได้ไว้ในลำต้นให้ได้มากที่สุด เห็นได้จากลักษณะของใบ ซึ่งมักมี “คิวติน” เคลือบหนา มีปากใบแบบจมเพื่อลดการคายน้ำ และมักมีขนปกคลุมผิวใบ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการระเหยของน้ำออกจากใบ บางชนิดมีการเก็บกักน้ำไว้ในเซลล์พิเศษของใบ ซึ่งทำให้ใบมีลักษณะอวบน้ำ นอกจากนี้ “เซลล์ของพืช” ในป่าชายเลนยังมีความเข้มข้นของเกลือแร่สูงกว่าเซลล์ปกติทั่วไป รวมทั้ง มีต่อมขับเกลือทำหน้าที่ควบคุมความเข้มข้นของเกลือแร่ในเซลล์ใบให้อยู่ในระดับปกติอีกด้วย
เนื่องจากในป่าชายเลนมีการขึ้นลงของน้ำทะเลสม่ำเสมอ ดังนั้น ดินในป่าชายเลนจึงมีน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ ทำให้ออกซิเจนในอากาศไม่สามารถแพร่กระจายลงสู่ดินได้ ซึ่ง “รากของต้นไม้” ป่าชายเลนต้องการออกซิเจนเพื่อใช้ในการดำรงชีวิตและการเจริญเติบโต ดังนั้น ต้นไม้จึงต้องพัฒนาวิธีการเพื่อที่รากของมันจะได้รับออกซิเจน ต้นไม้ป่าชายเลนส่วนมากจึงมี “รากอากาศ” (pneumatophores) โผล่พ้นเหนือดินทำให้ออกซิเจนสามารถผ่านลงทางรากอากาศสู่รากที่อยู่ใต้ดินได้
ไม้ป่าชายเลนส่วนใหญ่ประกอบด้วย “ไม้สกุลโกงกาง” (Rhizophora spp.) เป็นไม้เด่น และพันธุ์ไม้ชนิดอื่นอีกกว่า 78 ชนิด
“ป่าชายเลน” ของประเทศไทยขึ้นกระจัดกระจายตามชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ โดยจะพบทั้งทางด้านฝั่งอ่าวไทย และฝั่งด้านทะเลอันดามัน
“ฝั่งอ่าวไทยในภาคกลาง” พบป่าชายเลนกระจายตัวบริเวณที่ติดกับชายฝั่งทะเลของจังหวัดสมุทรปราการ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ และ “ในภาคตะวันออก” พบป่าชายเลนขึ้นแพร่กระจายอยู่ตามชายฝั่งทะเลของจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และฉะเชิงเทรา ส่วน “ชายฝั่งภาคใต้ด้านตะวันออก” จะพบตามปากน้ำและลำน้ำใหญ่ๆ ในจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี ใน” พบแนวป่าชายเลนยาวติดต่อกันตั้งแต่เขตจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
จังหวัดที่มีพื้นที่ป่าชายเลนมากที่สุดของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดพังงา สตูล กระบี่ และตรัง
การขึ้นอยู่ของกลุ่มไม้ในสังคมป่าชายเลนมีความสัมพันธ์กับสภาพพื้นที่และปัจจัยสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน
“ลำพู / แสม” จะเป็นไม้เบิกนำที่ชอบขึ้นอยู่ริมแม่น้ำ ลักษณะเป็นดินเลนมีทรายผสมและมีน้ำท่วมถึงเป็นประจำ
“โกงกางใบใหญ่ / โกงกางใบเล็ก” จะชอบขึ้นอยู่ตามริมแม่น้ำซึ่งเป็นดินเลนหนา เป็นพื้นที่น้ำทะเลท่วมถึงเป็นประจำ เช่นเดียวกับแสม-ลำพู
“โปรง” ชอบขึ้นอยู่ในที่ดินเลนค่อนข้างแข็งมีน้ำทะเลท่วมถึง
“ฝาด / ตะบูน” ชอบขึ้นในที่ดินเลนแข็ง และพื้นที่ระดับค่อนข้างสูงเล็กน้อย
“ตาตุ่ม / เสม็ด / เป้ง” ชอบขึ้นอยู่บนพื้นที่เลนแข็งและมีน้ำทะเลท่วมถึงบางครั้งในรอบเดือน
และ“ปรงทะเล” จะพบขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น บริเวณที่ป่าชายเลนถูกถางและทำลาย
ลำพู เป็นไม้เบิกนำที่ชอบขึ้นอยู่ริมแม่น้ำ
โกงกาง ชอบขึ้นอยู่ตามริมแม่น้ำซึ่งเป็นดินเลนหนา
โปรง ชอบขึ้นอยู่ในที่ดินเลนค่อนข้างแข็ง
ปรงทะเล ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น บริเวณที่ป่าชายเลนถูกถางและทำลาย
ที่มา – กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม / กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง