“กรมศิลป์” ปรับโฉมการจัดแสดงพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย คืนชีวิตท้องพระโรงวังหน้า โชว์สถาปัตยกรรมต้นกรุงโกสินทร์
นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ตามที่กรมศิลปากรได้ดำเนินโครงการพัฒนาพระราชวังบวรสถานมงคล โดยมีการปรับแต่งภูมิทัศน์ และบูรณะอาคารหมู่พระวิมานที่อยู่ภายในพื้นที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร รวมถึงพัฒนารูปแบบการจัดแสดงนิทรรศการถาวรใหม่ให้ทันสมัย โดยนำโบราณวัตถุชิ้นสำคัญๆ จัดแสดงด้วยสื่อมัลติมีเดีย แสง สี เสียง และเทคโนโลยีสมัยใหม่ สำหรับพระที่นั่งในหมู่พระวิมานรวม 13 ห้อง เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบันได้มีการบูรณะอาคารหมู่พระวิมานต่างๆ และพัฒนาการจัดแสดงนิทรรศการจนเกือบแล้วเสร็จเหลืองานจัดแสดงช่วงระยะสุดท้าย ก็คือ โครงการพัฒนาการจัดแสดง ท้องพระโรงวังหน้า ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ซึ่งเดิมเป็นพระที่นั่งท้องพระโรงของพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้า สำหรับพระมหาอุปราช เสด็จออกฝ่ายหน้า เสด็จออกว่าราชการ หรือ เสด็จออกรับแขกเมือง เป็นการเสด็จออกอย่างเต็มยศในการพระราชพิธีอันเป็นมหาสมาคม และเพื่อการพระราชพิธีการบำเพ็ญพระราชกุศล เช่น พระราชพิธีบวรราชาภิเษก อุปราชาภิเษก การเทศน์มหาชาติ ในการพระราชพิธีเข้าพรรษา และการพระราชพิธีสงกรานต์
นายประทีป กล่าวว่า ที่สำคัญ ยังใช้ประดิษฐานพระศพของสมเด็จพระบวรราชเจ้า และพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อการบำเพ็ญพระราชกุศล เช่นเดียวกับพระมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง โดยการพัฒนาครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “การกลับคืนลักษณะของท้องพระโรงวังหน้า” ซึ่งมีพระที่นั่งบุษบกเกริน ที่ประทับในการออกรับแขกเมืองของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ประดิษฐานเป็นประธานท้องพระโรง ถัดมาเป็นพระแท่นราชบัลลังก์เศวตฉัตรที่ใช้ในพระราชพิธีเฉลิมพระอิสริยยศพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระแท่นออกขุนนาง ที่ประทับในการออกว่าราชการของในวาระปกติของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล จัดแสดงอยู่ในตำแหน่งด้านหน้าพระที่นั่งทั้ง 2 องค์ เป็นไปตามลำดับสถานะความสำคัญของพระที่นั่ง รวมทั้งจัดแสดงเรื่องราวของสถาปัตยกรรมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตามระเบียบพระราชสำนัก และพระราชนิยมในกรมพระราชวังบวรสถานมงคลทั้ง 5 พระองค์ ส่วนท้ายจัดเป็นนิทรรศการการศึกษาทางโบราณคดีวังหน้า ซึ่งเป็นงานเริ่มต้นของโครงการพัฒนาพระราชวังแห่งนี้
“รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ พระราชทานหมู่พระวิมาน พระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อปี 2469 ให้เป็นห้องจัดแสดงพิพิธภัณฑสถาน สำหรับพระนคร แล้วมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบัน มีการปรับปรุงพระที่นั่งต่างๆ ภายในหมู่พระวิมานให้เป็นห้องจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่สำคัญ ซึ่ง พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยนี้ เดิมเป็นท้องพระโรงของพระราชวังบวรสถานมงคล สร้างในสมัยกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ รัชกาลที่ 3 ได้ปรับปรุงเป็นห้องจัดแสดงประติมากรรม เครื่องใช้สำริด กระทั่งปี 2510 จึงปรับเปลี่ยนเป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการพิเศษ ซึ่งปี 2563 มีกำหนดจะแล้วเสร็จเป็นห้องจัดแสดงที่ 13 พร้อมเปิดให้เข้าชมครบทั้ง 13 ห้องจัดแสดงของอาคารหมู่พระวิมานทั้งหมดในปี 2564” นายประทีป กล่าว