xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.ธรณ์” เผย 1 สัปดาห์ พบพะยูนเกยตื้นตายเป็นตัวที่ 3 ในรอบปี ชี้ น้อยลงจากปีก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เฟซบุ๊ก ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ โพสต์ภาพพร้อมคลิป พบซากพะยูนตาย บริเวณอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา และอีกตัวหนึ่งที่บริเวณชายหาดทุ่งทะเล อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ พบเป็นตัวที่ 3 ในรอบปีนี้ และนอกจากนี้ เผยว่า ปีนี้พะยูนตายลดน้อยลงจากปีที่แล้ว คาดว่า สาเหตุมาจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาด

เมื่อวันที่ 30 พ.ค. เฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat” หรือ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ภาพสะเทือนใจ พบซากพะยูนตาย บริเวณอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ซึ่งเป็นพะยูนตัวแรกในรอบหลายสิบปีที่พบในอ่าว นอกจากนี้ เผยต่ออีกว่า ปีนี้พะยูนตายลดน้อยลงจากปีที่แล้ว คาดว่า สาเหตุมาจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดจนทำให้สถานที่ท่องทะเลปิดทุกแห่ง โดยผู้โพสต์ระบุว่า “พะยูนตายที่อ่าวพังงาครับ นับเป็นตัวแรกในรอบหลายสิบปีที่พบในอ่าว มองในแง่ดี เมื่อเทียบกับปีก่อน ปีนี้พะยูนตายน้อยลงมาก จึงอยากวิเคราะห์ให้เพื่อนธรณ์ฟัง

- ข้อแรก ปีก่อนมีพะยูนตาย 23 ตัว ปีนี้ล่วงมาเกือบกลางปี เท่าที่ผมจำได้แค่ 3 ตัว คำถามสำคัญคือตายน้อยลงเพราะอะไร การรณรงค์ที่ได้ผล ? โควิดปิดทะเล ? หรือหลายสาเหตุประกอบกัน เราคงต้องเก็บข้อมูลต่อไปอีกระยะ เพื่อหาเหตุผลที่แท้จริง และจะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการจัดการในอนาคต

- ข้อสอง หัวหน้าอ้อมบอกผมว่า ถามชาวบ้านแถวนั้นแล้ว ไม่มีใครเจอพะยูนในอ่าวพังงาตอนในหลายสิบปีแล้ว อ่าวพังงาสมัยก่อนเป็นที่อยู่ชั้นยอดของพะยูน น้ำนิ่ง/ตื้น มีแหล่งหญ้าทะเล ฯลฯ แต่กิจกรรมมนุษย์ในระยะหลังทำให้พะยูนหายไปการมีรายงานพบพะยูนในอ่าวอีกครั้ง แม้จะเป็นการตาย แต่แปลว่ามีโอกาสที่พะยูนจะกลับมาอาศัยในอ่าวอีก และอาจเกี่ยวข้องกับกิจกรรมมนุษย์ที่ลดลงมากในช่วงโควิด

- ข้อสาม ผมแนะให้อุทยานขอให้กรมทะเลช่วยทำโครงกระดูกไว้หากทำได้ และนำมาไว้ที่ศูนย์อุทยาน จัดทำเป็นซุ้มพะยูนพร้อมข้อมูลต่างๆ ซุ้มพะยูนจะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของผู้คนในเมืองพังงาและแถบนั้น จะได้รู้จักและรักพะยูนเพิ่ม จะได้ดูแลหญ้าทะเลและหากินแบบยั่งยืน เท่าที่ทราบ ศูนย์ชีวะจะช่วยทำโครงกระดูกกลับมาให้ การตายของน้องจะไม่สูญเปล่า เกิดประโยชน์ต่อการดูแลเหล่าพะยูนและระบบนิเวศต่อไปในภายภาคหน้าครับ

ข้อมูลจากอุทยานอ่าวพังงาครับ

วันที่ 30 พฤษภาคม 2563 เมื่อเวลา 08.00 น.หัวหน้าอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา นายศรายุทธ ตันเถียร ได้รับรายงานจากชาวประมง พบซากพะยูนเกยตื้น หน้าเกาะยางแดง ม 8 ตำบลกะไหล อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา จึงได้นำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ ผู้พบเห็นคือ นายอาเมิร์ด สุมาลี ชาวประมงพื้นบ้านบ้านสามช่องเหนือ จ.พังงา ได้พบซากเมื่อเวลา 01.30 น. จึงทำการช่วยนำซากมาที่ท่าเรือบ้านสามช่องเหนือ เพื่อแจ้งให้เจ้าหน้าที่มาตรวจพิสูจน์

จากการตรวจสอบพบว่า เป็นซากพะยูน ขนาดความยาว 2.10 เมตร ขนาดรอบลำตัวประมาณ 1.07 เมตร น้ำหนักประมาณ 180 กก. มีรอยผิวหนังถลอกบริเวณหัวเพราะสภาพซากเริ่มบวมน้ำ แต่ไม่พบบาดแผลหรือร่องรอยการผูกรัด จึงไม่สามารถหาสาเหตุการตายได้ นับเป็นพะยูนตัวแรกที่พบรายงานการที่ตายในอ่าวพังงาบริเวณนี้ จากนั้นได้เร่งส่งซากพะยูนเพื่อส่งตรวจสอบที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลละชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน เพื่อผ่าพิสูจน์หาสาเหตุการตายต่อไป อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงามีแผนงานร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 จังหวัดภูเก็ต ในการใช้อากาศยานไร้คนขับ(Drone) บินสำรวจประชากรพะยูน หรือร่องรอยการกินหญ้าทะเลบริเวณที่พบซากในโอกาสต่อไป”

ล่าสุด วันนี้ (2 มิ.ย.) เฟซบุ๊กดังกล่าวเผยคลิปวิดีโอสุดสลด พบซากพะยูนตายอีก 1 ตัว บริเวณชายหาดทุ่งทะเล อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ โดยผู้โพสต์ระบุว่า “เมื่อวานมีพะยูนตายอีก 1 ตัว ที่อำเภอเกาะลันตา กระบี่ ในสัปดาห์นี้มีพะยูนตาย 2 ตัวแล้ว ตัวแรกที่อ่าวพังงาเมื่อ 3 วันก่อน หวังว่าตัวเลขรวมปีนี้จะไม่มากเท่าปีที่แล้วนะครับ รายละเอียด เมื่อเวลาประมาณ 18.30 น.นายพรศักดิ์ เสดสัดเ จ้าหน้าที่ อบต.เกาะกลาง พร้อมด้วย นายพิชัย บุตรสมันได้พบพะยูนเกยตื้น จำนวน 1 ตัวเพศผู้ น้ำหนักประมาณ 150 กก. บริเวณชายหาดทุ่งทะเล หมู่ที่ 3.ต.เกาะกลาง อ.เกาะลันตา จ.กระบี่”






กำลังโหลดความคิดเห็น