xs
xsm
sm
md
lg

อุทาหรณ์! เด็กชายเล่นน้ำ ถูกปลากัดเท้าเย็บเกือบ 50 เข็ม ด้าน ดร.ธรณ์ คาดเป็น “ฉลามหัวบาตร”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เผยภาพบาดแผลที่เท้าของเด็กชายรายหนึ่งที่ถูกปลาฉลามกัด บริเวณท่าเทียบเรือเจ๊ะบิลัง จังหวัดสตูล ต้องเย็บแผลเกือบ 50 เข็ม ด้าน ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ระบุ คาดว่า เป็นลูกปลาฉลามหัวบาตร แนะไม่ควรเล่นน้ำกลางคืนหรือโพล้เพล้ ระวังอย่าเล่นช่วงน้ำขึ้น

เมื่อวันที่ 28 พ.ค. มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Sarina Lw” โพสต์ภาพบาดแผลที่เท้าของเด็กชายรายหนึ่งที่ถูกปลาฉลามกัด บริเวณท่าเทียบเรือเจ๊ะบิลัง อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล ต้องเย็บแผลเกือบ 50 เข็ม โดยผู้โพสต์ระบุว่า “ขอเตือนพี่น้องชาวตำบลเจ๊ะบิลังนะคะว่า ช่วยๆ ดูแลบุตรหลานของท่านด้วย อย่าให้มาเล่นน้ำเค็มที่ท่าเรือแล้ว เพราะวันนี้มีเด็กถูกปลาฉลามกัดเท้าเกือบขาด เย็บไปเกือบ 50 เข็ม ช่วยๆ ดูแลหน่อยนะคะ”

ต่อมา เมื่อวันที่ 29 พ.ค. เฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat” หรือ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์รูปภาพพร้อมข้อความจากกรณีที่เกิดขึ้น ระบุว่า “เมื่อวานมีข่าวเด็กไปเล่นน้ำแถวท่าเรือเจ๊ะบิลัง สตูล จากนั้นโดนปลากัด ดูจากบาดแผลมีรอยเป็นฟัน 3 เหลี่ยม คิดว่าเป็นฉลามครับ แต่ขนาดไม่ใหญ่มาก

พื้นที่แถวนั้นเป็นหาดเลนและป่าเลน น้ำขุ่น ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยว แต่เด็กๆ แถวนั้นอาจมาเล่นกัน บางทีแถวปากน้ำอาจฉลามเข้ามาหากิน หากให้ระบุชนิด อาจเป็นลูกฉลามหัวบาตร (bull shark) เพราะชอบเข้าน้ำกร่อย/ปากแม่น้ำ (แน่นอนว่า มีสิทธิเป็นชนิดอื่น แต่น่าจะตัวนี้ครับ) ข่าวฉลามกัดคนมีมาก 1-2 ปีหน ส่วนใหญ่มีลักษณะคล้ายกัน ฉลามขนาดไม่ใหญ่ กัดที่เท้า และไม่ได้ตั้งใจล่า แต่เป็นการเข้าใจผิด เมื่องับแล้วรู้ว่าไม่ใช่เหยื่อก็ว่ายหนีไป

ข้อควรระวังคงทำยาก แต่แนะนำว่าไม่ควรเล่นน้ำกลางคืนหรือโพล้เพล้ ระวังอย่าเล่นช่วงน้ำขึ้น ช่วงนี้ระวังไว้นิด แต่เท่าที่ผ่านมา ก็ไม่เคยมีข่าวว่าฉลามกัดซ้ำที่เดิม ก็คงระวังกันไว้หน่อย แต่ไม่ต้องล่าพวกเขาหรอกครับ เขาไม่ตั้งใจ สำหรับน้อง ทำแผลเรียบร้อยแล้ว ส่งกำลังใจให้หายไวๆ โตแล้วมาเรียนคณะประมง มก. นะจ๊ะ”

สำหรับ ฉลามหัวบาตรไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสมบูรณ์ในน้ำจืด ยังคงต้องรับน้ำเค็มในบริเวณปากแม่น้ำเป็นระยะ การล่าของฉลามหัวบาตร คือ ว่ายวนอยู่ในบริเวณที่น้ำขุ่นและซุ่มโจมตี เนื่องจากเหยื่อที่อาศัยอยู่ในน้ำมีทัศนวิสัยไม่ชัดเจน ส่วนใหญ่ปลาฉลามหัวบาตรมักพุ่งเข้าโจมตีจากทางด้านหลังของเหยื่อโดยใช้ส่วนหัว และกัดเข้าที่ตัวเหยื่อ เพื่อให้เหยื่อไม่สามารถหนีไปได้ นักวิทยาศาสตร์เรียกพฤติกรรมการล่าแบบนี้ว่า ชนแล้วกัด (bump-and-bite)






กำลังโหลดความคิดเห็น