xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 24-30 พ.ค.2563

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายพานทองแท้ ชินวัตร ลูกชายนายทักษิณ ชินวัตร
1.“โอ๊ค” รอด! อัยการสูงสุดตัดตอนคดีฟอกเงินแบงก์กรุงไทย ไม่อุทธรณ์ให้ศาลสูงชี้ขาด หลังศาลชั้นต้นยกฟ้อง!

เมื่อวันที่ 28 พ.ค. มีรายงานว่า อัยการสูงสุดได้มีคำสั่งชี้ขาดไม่ยื่นอุทธรณ์คดีที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร คดีร่วมกันฟอกเงินทุจริตเงินกู้ธนาคารกรุงไทย จำนวน 10 ล้านบาท ส่งผลให้คดีเป็นอันสิ้นสุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ยกฟ้อง โดยมีรายงานว่า คำสั่งชี้ขาดดังกล่าวลงนามโดยรองอัยการสูงสุดคนหนึ่ง ซึ่งปฏิบัติราชการเเทนอัยการสูงสุด ส่วนเหตุผลคำสั่งชี้ขาดดังกล่าว คาดว่าจะมีการชี้เเจงจากสำนักงานอัยการสูงสุดต่อไป

สำหรับคดีนี้ ศาลอาญาคดีทุจริตฯ กลาง ได้มีคำพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 25 พ.ย.2562 ซึ่งองค์คณะผู้พิพากษา 2 คนมีความเห็นต่างกันในการตัดสิน โดย 1 ในองค์คณะ มีความเห็นแย้งว่า พฤติการณ์ที่มีเช็คเงินลงชื่อนาย วิชัย กฤษดาธานนท์ อดีตผู้บริหารเครือกฤษดามหานคร โอนเข้าบัญชีนายพานทองแท้ เป็นความผิด เห็นควรให้ลงโทษจำคุกนายพานทองแท้ 4 ปี ซึ่งมีการบันทึกไว้เป็นความเห็นแย้งท้ายคำพิพากษาด้วย ซึ่งหากคู่ความยื่นอุทธรณ์ ความเห็นแย้งนี้ในสำนวนก็จะขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์ทราบด้วย

ทั้งนี้ หลังศาลมีคำพิพากษายกฟ้องนายพานทองแท้ดังกล่าว ทางอัยการสำนักงานคดีพิเศษและอัยการคดีศาลสูง ได้มีความเห็นไม่สมควรอุทธรณ์คดี จึงต้องส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พิจารณาว่าจะเห็นด้วยหรือเห็นแย้ง โดยดีเอสไอพิจารณาแล้ว มีความเห็นแย้ง โดยเห็นว่า ยังมีประเด็นสำคัญแห่งคดีที่ควรต้องนำสู่การพิจารณาของศาลสูง เพื่อวินิจฉัย อธิบดีดีเอสไอจึงมีความเห็นควรให้นำคดีขึ้นสู่ศาลสูง โดยส่งให้อัยการสูงสุดชี้ขาด เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา

โดยคำฟ้องคดีนี้ อัยการยื่นฟ้อง บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2547 หลังจากนายวิชัย กฤษดาธานนท์ อดีตผู้บริหารเครือกฤษดามหานคร กับพวกร่วมกันกระทำผิดกับอดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทยฯ ในการอนุมัติสินเชื่อโดยมิชอบ ทำให้ธนาคารเสียหายจำนวน 10,400,000,000 (หนึ่งหมื่นสี่ร้อยล้านบาท) แล้วนายวิชัยกับพวกร่วมกันฟอกเงินที่ได้จากการกระทำผิด โดยนายวิชัยได้นำบริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด ที่มีนายรัชฎา บุตรชาย, นายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา เป็นกรรมการฯ บริษัท แกรนด์ แซทเทิลไลท์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด ที่มีนายเชื้อ ช่อสลิด เป็นกรรมการฯ มาใช้ในการรับโอนเงิน แล้วนำเงินนั้นไปซื้อขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นการเปลี่ยนสภาพทรัพย์สิน โดยนายวิชัยได้โอนเงินจากการขายหุ้นนั้น ให้นายพานทองแท้ จำเลย จำนวน 10 ล้านบาท ซึ่งเป็นเพื่อนกับนายรัชฎา บุตรของนายวิชัย และบุคคลในครอบครัวทั้งสองมีความรู้จักเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน

โดยนายวิชัยสั่งจ่ายเช็คลงวันที่ 17 พ.ค.2547 จากบัญชีกระแสรายวัน ธนาคารไทยธนาคาร สาขาบางพลัด ระบุชื่อนายพานทองแท้ ต่อมาวันที่ 18 พ.ค.2547 จำเลยได้นำเช็คนั้นเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงเทพ สาขาบางพลัด ของจำเลย และวันที่ 24 พ.ค.2547 จำเลยได้ถอนเงิน 10 ล้านบาทเข้าบัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงเทพ สาขาซอยอารีย์ ของจำเลยอีกอัน จากนั้นระหว่างวันที่ 24 พ.ค.-26 พ.ย.2547 จำเลยได้ถอนเงินออกจากบัญชีผ่าน ATM ครั้งละ 5,000 - 20,000 บาท รวม 11 ครั้ง

ต่อมา ช่วงวันที่ 14 มิ.ย.2547 มีเงินฝากเข้าบัญชี ธนาคารกรุงเทพ สาขาซอยอารีย์ ของจำเลย 80,000 บาท แล้ววันที่ 30 พ.ย.2547 จำเลยได้ถอนเงิน 8,800,000 บาทจากบัญชีดังกล่าว เข้าฝากบัญชีกระแสรายวัน ธนาคารกรุงเทพ สาขาซอยอารีย์ ซึ่งมียอดเงินรวมในบัญชี 14,720,352.07 บาท ต่อมาวันที่ 2 ธ.ค.2547 จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คจำนวน 14,700,000 บาทจากบัญชีกระแสรายวัน ธนาคารกรุงเทพ สาขาซอยอารีย์ โดยนายวิชัย, นายรัชฎา กับพวก และอดีตผู้บริหาร ธนาคารกรุงไทยฯ (รวม 18 คน) ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุกคดีร่วมทุจริตการอนุมัติสินเชื่อ

ทั้งนี้ หลังมีรายงานว่า อัยการสูงสุดได้มีคำสั่งชี้ขาดไม่ยื่นอุทธรณ์คดีนายพานทองแท้ร่วมกันฟอกเงินทุจริตเงินกู้ธนาคารกรุงไทย จำนวน 10 ล้านบาท โดยคำสั่งชี้ขาดดังกล่าวลงนามโดยรองอัยการสูงสุดคนหนึ่ง ซึ่งปฏิบัติราชการเเทนอัยการสูงสุด ปรากฏว่า วันต่อมา 29 พ.ค. นายประยุทธ เพชรคุณ อัยการพิเศษสำนักงานคดีอาญา 3 ในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้เปิดแถลงกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งชี้ขาดไม่ยื่นอุทธรณ์คดีที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายพานทองแท้ คดีร่วมกันฟอกเงินทุจริตเงินปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย จำนวน 10 ล้านบาทว่า คดีดังกล่าว นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด คนที่ 1 ซึ่งอาวุโสสูงสุด รักษาราชการเเทนนายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด (อสส.) ซึ่งขณะนั้นเดินทางไปราชการในพื้นที่สำนักงานอัยการภาค 7 ได้มีคำสั่งชี้ขาดไม่อุทธรณ์คดี โดยสำนวนดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาจากอธิบดีอัยการสำนักงานชี้ขาดคดีสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาความเห็นเเย้ง ได้ทำความเห็น ควรไม่อุทธรณ์คดีดังกล่าว ก่อนส่งความเห็นมายังอัยการสูงสุด โดยมีนายเนตร ซึ่งรักษาราชการเเทน พิจารณาเเล้วมีความเห็นตามที่สำนักงานชี้ขาดคดีทำความเห็นมา จึงมีความเห็นชี้ขาดไม่ยื่นอุทธรณ์คดีนี้ต่อศาลสูง เมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา

ส่วนที่มีการยื่นขยายอุทธรณ์ไปยังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางเมื่อวันที่ 25 พ.ค.เเล้ว และศาลอาญาคดีทุจริตฯ อนุญาตขยายอุทธรณ์ไปถึงวันที่ 25 มิ.ย.แล้ว นายประยุทธ ชี้แจงว่า เนื่องจากขณะนั้น ทางสำนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 ยังไม่ทราบคำสั่งชี้ขาดของอัยการสูงสุด จึงได้ยื่นอุทธรณ์ไปตามระเบียบก่อน

นายประยุทธ กล่าวอีกว่า “ถือว่าคดีนี้สิ้นสุดลงแล้วตามกฎหมาย ส่วนรายละเอียดเหตุผลในการสั่งคดีดังกล่าว ทางนายวงศ์สกุล อัยการสูงสุด ได้สั่งการให้อัยการที่เกี่ยวข้องรายงานชี้เเจงมาเพื่อทราบต่อไป”

2.ศบค.ลดเวลาเคอร์ฟิวเป็น 5 ทุ่ม-ตี 3 ไฟเขียว 14 กลุ่มกิจการเปิดได้ "โรงหนัง-ฟิตเนส-ร้านนวด/สปา-ศูนย์เลี้ยงเด็ก" !


เมื่อวันที่ 29 พ.ค. พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เผยผลประชุม ศบค. เพื่อพิจารณามาตรการผ่อนปรนระยะที่ 3 ให้กับกลุ่มกิจการและกิจกรรมที่มีความเสี่ยงปานกลางถึงความเสี่ยงสูง ซึ่งจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.นี้ สำหรับกลุ่มกิจการและกิจกรรมที่ได้รับการผ่อนคลาย ได้แก่

กิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต ประกอบด้วย 1.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า เปิดได้ถึง 21.00 น. 2.ศูนย์การแสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ จำกัดเข้าพื้นที่รวมไม่เกิน 20,000 ตร.ม. และเปิดได้ถึง 21.00 น. 3.สนามพระเครื่อง ศูนย์พระเครื่อง งดการจัดกิจการที่มีผู้คนมาชุมนุมหนาแน่นและไร้ระเบียบ 4.ร้านเสริมสวยทั้งบุรุษและสตรี ให้เปิดได้เหมือนปกติ สามารถทำสีผมได้ แต่ต้องใช้เวลาภายใน 2 ชั่วโมง ห้ามนั่งรอในร้าน 5.ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เด็กก่อนวัยเรียน ให้เจ้าหน้าที่มาประกอบอาหารและเครื่องดื่มสำหรับให้ผู้ปกครองมารับไปให้เด็กเท่านั้น

กิจกรรมด้านการออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพและสันทนาการ ประกอบด้วย 6.คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม สถานเสริมความงาม สถานที่สักหรือเจาะผิวหนัง เว้นบริเวณใบหน้า และต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า 7.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปา สถานประกอบการนวดแผนไทย นวดฝ่าเท้า โดยใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง (งดการอบตัว อบสมุนไพร อบไอน้ำ และกิจการอาบน้ำ อาบอบนวด) 8.สถานที่ออกกำลังกาย ฟิตเนส ทั้งนอกและในห้างสรรพสินค้าทำได้ทั้งหมด แต่จำกัดเวลาการใช้ จำกัดผู้เข้าเล่นแบบรวมกลุ่ม งดอบตัวและอบไอน้ำแบบรวม

9.สนามกีฬาเพื่อออกกำลังกายหรือฝึกซ้อม ได้แก่ ฟุตบอล ฟุตซอล บาสเกตบอล และวอลเวย์บอล ไม่มีการแข่งขัน มีผู้ร่วมกิจกรรมไม่เกิน 10 คน ไม่นับผู้เล่น 10.สถานที่เล่นโบว์ลิ่ง สเก็ต โรลเลอร์เบลด หรือการละเล่นอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน ให้เฉพาะการออกกำลังกายหรือการฝึกซ้อม 11.สถาบันลีลาศ หรือสอนลีลาศ 12.สระน้ำเพื่อการเล่นกีฬา หรือกิจกรรมทางน้ำในบึง เช่น เจ็ตสกี ไคท์เซิร์ฟ บานาน่าโบ๊ต แต่ต้องไม่เป็นการแข่งขันและจำกัดผู้เล่น 13.โรงภาพยนตร์ โรงละคร โรงมหรสพ จำกัดไม่เกิน 200 คน โดยโรงมหรสพเปิดเฉพาะลิเก ลำตัด การแสดงพื้นบ้าน (งดแสดงดนตรี คอนเสิร์ต) ทั้งนี้ โรงภาพยนตร์ สามารถนั่งเป็นคู่ได้ แต่ต้องสวมใส่หน้ากาก 14.สวนสัตว์ หรือสถานที่จัดแสดงสัตว์ จำกัดผู้ร่วมกิจกรรมที่เป็นการรวมกลุ่ม

พล.อ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า “มาตรการบังคับด้านกฎหมาย ยังคงควบคุมการเดินทางเข้าราชอาณาจักรทั้งทางบก น้ำ อากาศ ในระดับเข้มข้นเช่นเดิม ปรับเวลาห้ามออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) 23.00-03.00 น. ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.เป็นต้นไป ให้สามารถเดินทางข้ามจังหวัดภายใต้มาตรการตามที่ราชการกำหนด แต่ย้ำว่าการอยู่บ้านยังคงปลอดภัยมากที่สุด และห้างสรรพสินค้าให้เปิดไม่เกินเวลา 21.00 น.”

เมื่อถามว่า เหตุใดต้องคงเคอร์ฟิว พล.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เราอนุญาตให้ขายสุรา แต่ห้ามดื่มในร้าน เอากลับไปดื่มที่บ้าน แต่ยังมีคนอีกกลุ่มที่ใช้ช่วงเวลานี้ในการมั่วสุม ทำกิจกรรมไม่ถูกกฎหมาย เล่นการพนัน หรืออื่นๆ เป็นสาเหตุการแพร่โรคเช่นเดียวกัน จึงต้องมีเคอร์ฟิวมากำกับ ซึ่งทำให้เกิดความไม่สะดวกสบายบ้าง แต่ก็ต้องทำในช่วงเวลานี้ แต่เราพยายามลดลงไปเรื่อยๆ

ด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการอนุญาตเปิดโรงภาพยนตร์ในการคลายล็อกเฟสที่ 3 ซึ่งให้มีการจัดระยะห่าง แต่สามารถนั่งคู่กันได้ว่า เบื้องต้นจากการหารือกับผู้ประกอบการและมีการเสนอมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 นั้น หลักการเบื้องต้น คือ ต้องมีการทำความสะอาดหลังจบรอบฉายทุกครั้ง และต้องมีรอบทำความสะอาดระบบเครื่องปรับอากาศและระบายอากาศด้วย และไม่ฉายภาพยนตร์ต่อเนื่องกันอย่างที่เป็นมา ส่วนอย่างอื่นก็ต้องมีการคัดกรองวัดไข้ก่อนเข้าโรง มีการล้างมือ และลงทะเบียนด้วยระบบไทยชนะ ทั้งนี้ การนั่งชมภาพยนตร์ที่ให้นั่งติดกัน แต่ต้องรักษาระยะห่างนั้น เท่าที่โรงหนังเสนอมาคือ จะให้นั่ง 2 ที่นั่ง แล้วเว้น 3 ที่นั่ง เพื่อให้ได้ระยะห่างที่เหมาะสม 1-2 เมตร

พญ.พรรณพิมล กล่าวด้วยว่า “ที่ผ่านมาโรงหนังเคยเสนอมาตรการนั่ง 1 คน เว้นที่นั่ง 1 ที่ แต่ก็มองว่าความห่างยังไม่เพียงพอ เพราะเว้นเพียง 1 ที่นั่ง ก็ไม่ได้ระยะ 1 เมตร เนื่องจากเวลาในการชมภาพยนตร์ในเวลาไม่ต่ำกว่า 2-3 ชั่วโมง หากจะเว้นที่นั่ง 2 ที่นั่งก็ปริ่มๆ จึงให้เว้นระยะ 3 ที่นั่ง และให้สวมหน้ากากตลอดเวลาที่รับชม ส่วนที่นั่งแต่ละแถวไม่จำเป็นต้องเว้น แต่จะจัดที่นั่งแบบสับหว่างกันไปไม่ให้นั่งตรงกัน โดยการจองระบบที่นั่ง ทางโรงหนังก็จะเปิดระบบให้จองที่นั่งได้เฉพาะที่นั่งที่เปิดให้จอง ส่วนเรื่องอุณหภูมิภายในโรงหนัง ตามปกติก็มีระบบระบายอากาศอยู่แล้ว ในการดึงอากาศบริสุทธิ์ภายนอกเข้ามา ก็ต้องมีการตรวจสอบให้ได้ค่าตามระบบ”

พญ.พรรณพิมล กล่าวอีกว่า ส่วนการรับประทานป็อปคอร์นและเครื่องดื่มระหว่างชมภาพยนตร์นั้น ต้องขอความร่วมมือห้ามดื่มและกินโดยเด็ดขาด เนื่องจากต้องถอดหน้ากากและอาจสัมผัสใบหน้า ละอองฝอยน้ำลายอาจกระเด็นออกมาได้ แต่หากจะมีการขายเครื่องดื่มและอาหาร โรงภาพยนตร์อาจต้องจัดที่ทางให้เหมือนกับร้านอาหารภายนอกที่มีฉากกั้นระหว่างการรับประทาน

3.ไทยยังคุมโควิด-19 ได้ดี ผู้ป่วยรายใหม่ล้วนมาจาก ตปท.และอยู่ในสถานกักกันของรัฐ!

พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษก ศบค.
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในไทย สัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มด้วยวันที่ 25 พ.ค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงว่า มีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 2 ราย รักษาหายเพิ่ม 7 ราย มีผู้เสียชีตเพิ่ม 1 ราย ยอดผู้ป่วยสะสมรวม 3,042 ราย รักษาหายกลับบ้านรวม 2,928 ราย ยังมีผู้ป่วยรักษาใน รพ. 57 ราย ผู้เสียชีวิตรวม 57 คน สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 2 ราย รายแรกเป็นผู้ป่วยหญิง สัญชาติจีน อายุ 46 ปี เป็นภรรยาของผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้า สัญชาติอิตาลี เข้ามาใน จ.ภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค. พร้อมครอบครัวรวม 5 คน เพื่อพาลูกมาเรียนว่ายน้ำ ต่อมาได้พักที่ ต.เชิงทะเล เพราะกลับประเทศไม่ได้ ส่วนผู้ป่วยอีกราย เป็นเพศหญิง อายุ 55 ปี อาชีพพนักงานนวด เดินทางกลับจากประเทศรัสเซียเมื่อวันที่ 20 พ.ค. อยู่ในสถานกักกันของรัฐที่ จ.ชลบุรี

วันต่อมา 26 พ.ค. มีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 3 ราย รักษาหายเพิ่ม 1 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยอดผู้ป่วยสะสมรวม 3,045 ราย รักษาหายกลับบ้านรวม 2,929 ราย ยังรักษาใน รพ. 59 ราย ผู้เสียชีวิตรวมคงที่ 57 ราย สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 3 ราย เป็นผู้ที่กลับมาจากต่างประเทศทั้งหมด โดยรายแรกเป็นหญิงไทย อายุ 51 ปี อาชีพพนักงานนวด กลับมาจากรัสเซีย เข้าพักในสถานกักกันของรัฐที่ จ.ชลบุรี ส่วนรายที่สองและสาม เป็นชายไทย อายุ 45 ปี ทั้งสองคน เป็นแรงงานรับจ้างกลับมาจากคูเวต เข้าพักในสถานกักกันของรัฐ จ.สมุทรปราการ

วันต่อมา 27 พ.ค. มีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 9 ราย รักษาหายเพิ่ม 2 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยอดผู้ป่วยสะสมรวม 3,054 ราย รักษาหายกลับบ้านรวม 2,931 ราย ยังรักษาตัวใน รพ. 66 ราย ผู้เสียชีวิตรวมคงที่ 57 ราย สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 9 ราย มาจากต่างประเทศและอยู่ในสถานกักกันของรัฐทั้งหมด แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ชายไทย อายุ 18 ปี และชายไทย อายุ 27 ปี กลับจากสหรัฐอเมริกา เข้าพักในสถานกักกันของรัฐที่ จ.ชลบุรี 2.ชายไทย อายุ 34 ปี เป็นพนักงานนวด กลับจากประเทศกาตาร์ เข้าพักในสถานกักกันของรัฐที่ จ.สมุทรปราการ และ 3.นักศึกษาชาย อายุ 23-33 ปี จำนวน 6 คน เดินทางกลับจากซาอุดีอาระเบีย และผ่านด่านปาดังเบซาร์ เข้าไทย และแยกเข้าพักในสถานกักกัน จ.สงขลา 3 คน จ.ยะลา 1 คน จ.ปัตตานี 1 คน และ จ.นราธิวาส 1 คน

วันต่อมา 28 พ.ค. มีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 11 ราย รักษาหายเพิ่ม 14 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยอดผู้ป่วยสะสมรวม 3,065 รักษาหายกลับบ้านรวม 2,945 ราย ยังรักษาตัวใน รพ. 63 ราย ผู้เสียชีวิตรวมคงที่ 57 ศพ สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ทั้ง 11 ราย อยู่ในสถานกักกันของรัฐ เนื่องจากเดินทางมาจากต่างประเทศ ได้แก่ อินเดีย กาตาร์ และคูเวต ในจำนวนนี้มี 3 ราย ไม่มีอาการป่วย นอกจากนี้บางรายมีอาการจมูกไม่ได้กลิ่นด้วย

วันต่อมา 29 พ.ค. มีผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายใหม่ 11 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยอดผู้ป่วยสะสมรวม 3,076 ราย รักษาหายกลับบ้านรวม 2,945 ราย ยังรักษาใน รพ.74 ราย ผู้เสียชีวิตรวมคงที่ 57 ราย สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ทั้ง 11 ราย อยู่ในสถานกักกันของรัฐทั้งหมด โดยเดินทางกลับมาจากประเทศคูเวตทั้งหมด ทำให้ประเทศคูเวตเป็นประเทศต้นทางที่คนไทยกลับมาแล้วป่วยโรคโควิด-19 มากเป็นอันดับสองรองจากอินโดนีเซีย ส่วนใหญ่เป็นวัยแรงงาน กลับมา อาการไม่มาก บางคนไม่มีอาการ

ล่าสุด วันนี้ (30 พ.ค.) พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษก ศบค.แถลงว่า มีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 1 ราย รักษาหายเพิ่ม 16 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยอดผู้ป่วยสะสมรวม 3,077 ราย รักษาหายเพิ่มวันนี้ 16 ราย รวม 2,961 ราย รักษาตัวอยู่ใน รพ. 59 ราย ผู้เสียชีวิตรวมคงที่ 57 ราย สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ พักอยู่ในสถานกักกันของรัฐ

4.ศาลล้มละลายรับคำร้องฟื้นฟูกิจการ “การบินไทย” แล้ว นัดไต่สวน 17 ส.ค.นี้!


ความคืบหน้ากรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 19 พ.ค.ให้บริษัท การบินไทย ซึ่งมีหนี้จำนวนมาก เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการโดยศาล ซึ่งต้องมีการยื่นแผนฟื้นฟูต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อพิจารณาว่า จะอนุมัติให้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการหรือไม่ ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในการบินไทย ได้ขายหุ้นที่ถือในการบินไทย เพื่อลดสัดส่วนหุ้นให้ต่ำกว่าร้อยละ 50 เพื่อให้การบินไทยพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยให้เหตุผลว่า จะส่งผลดีต่อทั้งการบินไทยและกระทรวงการคลังนั้น

มีรายงานว่า กระทรวงการคลังและการบินไทยฯ ได้ทำหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แล้วว่า มีการลดสัดส่วนการถือหุ้นการบินไทยของกระทรวงการคลังลงตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. โดยลดการถือหุ้น 1,113,931,016 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 51.0 ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท ลงร้อยละ 3.17 เหลือสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 47.86 โดยหุ้นที่ลดลง กระทรวงการคลังขายให้กับกองทุนรวมวายุภักษ์ 1

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 พ.ค. การบินไทยได้แจ้ง ตลท.ด้วยว่า บริษัทได้ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งพิเศษ และมีมติแต่งตั้งกรรมการบริษัททดแทนกรรมการที่หมดวาระ ได้แก่ 1.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นกรรมการแทนนายปิติพันธ์ เทพปฏิมากรณ์ 2.นายบุญทักษ์ หวังเจริญ อดีตผู้บริหารธนาคารกสิกรไทย ทหารไทย และไทยพาณิชย์ เป็นกรรมการแทนนายพินิจ พัวพันธ์ 3.นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร เป็นกรรมการแทนนางปรารถนา มงคลกุล และ 4.นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นกรรมการแทน น.ส.ศิริกุล เลากัยกุล โดยมีผลทันทีตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.

วันเดียวกัน (25 พ.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เป็นประธาน ส่วนกรรมการ ประกอบด้วย นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ (อดีต รมว.การคลัง), นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง, นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม, นายชยธรรมม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร, นายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม, นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, น.ส.รื่นฤดี สุวรรณมงคล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และนายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เป็นทั้งกรรมการและเลขานุการด้วย

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการดังกล่าว ยืนยันว่า คณะกรรมการดังกล่าวไม่ใช่ซูเปอร์บอร์ด แต่เป็นเพียงมินิบอร์ด ที่เชื่อมโยงในฐานะเป็นคนกลางระหว่างรัฐบาลกับบริษัท การบินไทย ซึ่งเดิมไม่ต้องมีตัวกลาง เพราะตอนการบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจ สามารถติดต่อได้เอง แต่เมื่อเป็นเอกชนแล้ว ต้องมีตัวกลาง เพราะรัฐวิสาหกิจ 80 กว่าแห่งถือหุ้นกู้การบินไทยอยู่

วันต่อมา 26 พ.ค. ทีมทนายความผู้รับมอบอำนาจจากการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้เข้ายื่นคำร้องขอทำแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการการบินไทยตามมติคณะรัฐมนตรี โดยแนบเอกสารท้ายฟ้องจำนวน 1 ปึก ด้านศาลฯ ได้รับคำร้องไว้เพื่อพิจารณาว่า จะมีคำสั่งรับคำร้องหรือไม่ ซึ่งช่วงเย็นวันเดียวกัน ศาลมีคำสั่งว่า คดีนี้มีรายละเอียดต้องพิจารณาและมีผู้มีส่วนได้เสียเป็นจำนวนมาก จึงนัดฟังคำสั่งในวันที่ 27 พ.ค.

เมื่อถึงกำหนด (27 พ.ค.) ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของการบินไทย และนัดไต่สวนวันที่ 17 ส.ค.เวลา 09.00 น. และให้ประกาศคำสั่งรับคำร้องขอและวันเวลานัดไต่สวนในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อย 1 ฉบับไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ห่างกันไม่เกิน 7 วัน กับให้ส่งสำเนาคำร้องขอแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายตามบัญชีรายชื่อเจ้าหนี้และแก่นายทะเบียนหุ้นส่วน บริษัท หรือนายทะเบียนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง กรมบังคับคดี และให้ส่งให้สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ หากเจ้าหนี้ประสงค์คัดค้าน ให้ยื่นคำคัดค้านก่อนวันนัดไต่สวนนัดแรกไม่น้อยกว่า 3 วัน มิฉะนั้นจะถือว่าไม่คัดค้าน โดยภายหลังศาลล้มละลายกลางรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของการบินไทยแล้ว จะก่อให้เกิดสภาวะพักการชำระหนี้ตามมาตรา 90/12 ทันที

สำหรับเหตุผลที่การบินไทยยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ได้แก่ บริษัทมีทุนจดทะเบียน 26,989 ล้านบาท หนี้สินรวม 354,494 ล้านบาท สินทรัพย์รวม 349,636 ล้านบาท มีหนี้ถึงกำหนดชำระวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมารวม 10,200 ล้านบาท ซึ่งลูกหนี้อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ เหตุที่ศาลควรพิจารณาให้ฟื้นฟูกิจการ คือ ธุรกิจการบินไทยมีพื้นฐานดี มีการประกอบธุรกิจมานาน และยังได้รับรางวัลต่อเนื่อง รวมทั้งมีธุรกิจอื่นช่วยสร้างรายได้ คาร์โก, หน่วยธุรกิจบริการภาคพื้น, ฝ่ายครัวการบิน การบินไทยยังสามารถมีช่องทางการฟื้นฟู ดังนี้ 1.ต้องปรับโครงสร้างหนี้ 2.ต้องเปลี่ยนการบริหารจัดการองค์กร ลดต้นทุน 3.ปรับปรุงเครือข่ายเส้นทางบิน 4.ปรับปรุงหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และ 5.ปรับปรุงการหารายได้

สำหรับรายชื่อผู้ทำแผนฟื้นฟู มีการเสนอ บริษัท อีวายคอร์ปอเรทแอดไวซอรี่เซอร์วิสเซส จำกัด กับกรรมการลูกหนี้ 6 คน ประกอบด้วย 1.พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานกรรมการการบินไทย 2.นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองประธานกรรมการฯ และรักษาการกรรมการอำนวยการใหญ่ฯ 3.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค 4.นายบุญทักษ์ หวังเจริญ 5.นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร 6.นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ซึ่งชื่อผู้ทำแผนลำดับที่ 3-6 ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการการบินไทยเมื่อวันที่ 25 พ.ค.

อย่างไรก็ตาม ภายหลัง การบินไทยได้ยื่นขอแก้ไขคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาล โดยขอตัดชื่อนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ออกจากผู้ทำแผน เนื่องจากได้ลาออกจากกรรมการการบินไทย ซึ่งศาลได้มีคำสั่งอนุญาต ส่วนสาเหตุที่นายไพรินทร์ ลาออกจากกรรมการการบินไทยนั้น นายประภาศ คงเอียด ผอ.สำนักงานคณะกรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการบินไทย เผยว่า การบินไทยรีบร้อนแต่งตั้งบอร์ดโดยไม่ได้เช็กประวัติให้ดีก่อน เนื่องจากนายไพรินทร์เพิ่งพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมไม่เกิน 2 ปี ตามกฎหมาย ป.ป.ช.ที่มีข้อห้ามไว้ และช่วงที่ดำรงตำแหน่ง รมช.คมนาคม กำกับดูแลการบินไทย ดังนั้นจึงอาจไม่เหมาะที่จะเข้าไปนั่งเป็นบอร์ดการบินไทย

5.กลาโหมส่งข้อมูล “ขบวนการหักหัวคิว” โรงแรมกักตัวให้ ตร.แล้ว ยัน ไม่เกี่ยวหน่วยราชการ-ไม่ได้มีแค่ “พ”!

พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม
เมื่อวันที่ 25 พ.ค. นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เผยว่า จากกรณีที่กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวในจังหวัดชลบุรีได้ออกมาระบุว่า มีกลุ่มบุคคลไม่ทราบหน่วยงานติดต่อโรงแรมขนาดใหญ่หลายแห่งในเมืองพัทยา จ.ชลบุรี โดยอ้างว่าจะพิจารณาคัดเลือกโรงแรม ให้เป็นสถานที่กักตัวของคนไทยที่กลับจากต่างแดน หรือ State Quarantine แลกกับการหักหัวคิว 30-40% จากเงินที่รัฐบาลจ่ายให้ 1,000 บาทต่อรายต่อวันนั้น “น่าจะทำกันอย่างเป็นกระบวนการ เป็นเรื่องที่น่าละอาย ซึ่งนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) จะต้องรับผิดชอบ หาตัวผู้กระทำการดังกล่าวมาเปิดเผยและดำเนินการตามกฎหมายอย่างรวดเร็ว”

นอกจากนี้ นายศรีสุวรรณยังเรียกร้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวด้วย “เรื่องแบบนี้คงไม่มีใครกล้าทำ นอกจากคนใน ศบค.โดยเฉพาะขณะนี้เริ่มมีกระแสข่าวว่าเป็นคนในราชการ อักษรย่อ พ. จึงอยากให้ผู้ตรวจไปตรวจสอบ และควรจะต้องสอบโฆษก ศบค.ด้วยที่ออกมาปฏิเสธข่าวในทันที ทั้งที่ยังไม่ได้มีการสืบสวน สอบสวนเลย อาจจะมีการเกี่ยวพันหรือเกี่ยวโยงกันก็ได้ เรื่องนี้สร้างความอับอายไปทั่งโลก ยังไม่มีการสืบสวน สอบสวนออกมาแก้ข่าวได้อย่างไร”

ด้าน พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม (กห.) เผยเมื่อ 26 พ.ค. ถึงกรณีลงพื้นที่ตรวจสอบประเด็นข้อกล่าวหามีคนใน ศบค.เก็บหัวคิวเจ้าของโรงแรม เพื่อเป็นสถานที่กักตัวโควิด “State Quarantine” ว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบข้อกล่าวหามีมูล และมีผู้เกี่ยวข้องหลายคน ไม่เฉพาะอักษรย่อ “พ.” ที่นายศรีสุวรรณระบุ แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เพราะจะมีผลต่อรูปคดี ซึ่งได้ส่งเอกสารหลักฐานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว และหากผู้กระทำผิดเป็นข้าราชการก็จะต้องเอาผิดทั้งวินัยและอาญา

ทั้งนี้ พล.ท.คงชีพ ยืนยันว่า การกระทำผิดของกลุ่มบุคคลดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการแต่อย่างใด เป็นความผิดเฉพาะตัวบุคคลเท่านั้น

ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีนี้ แต่หากใครมีหลักฐานให้รีบส่งและแจ้งเบาะแสได้

ด้าน พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วย ผบ.ตร. และโฆษก ตร. กล่าวว่า กระทรวงกลาโหมไม่ได้ส่งข้อมูลมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นที่พัทยา จ.ชลบุรี คาดว่าข้อมูลน่าจะมีการส่งไปให้ตำรวจภูธรภาค 2 ดำเนินการ โดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ไม่ได้สั่งกำชับอะไรเป็นพิเศษ

ขณะที่ พล.ต.ท.มนตรี ยิ้มแย้ม ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 กล่าวว่า ทางตำรวจภูธรภาค 2 ได้รับมูลหลักฐานจากทางกระทรวงกลาโหมแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายชื่อของบุคคลที่คาดว่าจะเกี่ยวข้องกับการการเรียกค่าหัวคิว ซึ่งตำรวจขอเวลาในการสืบสวนสอบข้อเท็จจริงก่อน หากบุคคลใดมีการกระทำผิดก็ต้องดำเนินคดีไปตามกฎหมาย ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐ หรือคนใน ศบค.เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด ส่วน 1 ในรายชื่ออักษรย่อ “พ” ที่นายศรีสุวรรณอ้างว่าเป็นคนใน ศบค. และเกี่ยวข้องกับการเรียกหัวคิวนั้น ทางตำรวจยังไม่ทราบว่าเป็นใคร ยังไม่มีข้อมูลในส่วนนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น