ชมโมเดลต้นแบบ “บ้านปันเรียน” แบ่งปันทีวีให้เด็กๆ เรียนออนแอร์ด้วยกัน ในชุมชนบ้านน้ำเค็ม จ.พังงา แก้ปัญหาบางคนเรียนไม่ได้ พร้อมสอนการเว้นระยะห่างป้องกันโควิด-19 แต่ถูกสั่งเบรกก่อนกลับมาเปิดเรียนอีกครั้งในวันนี้ ขณะที่ สพป.พังงา แจงก่อนหน้านี้เคยมีคนร้องเรียน แต่พบคำร้องเป็นเท็จ ย้ำเป็นความสวยงาม และทำตามนโยบายการศึกษา
รายงานพิเศษ
“ที่บ้านหลังหนึ่งอยู่ท้ายซอยบ้านผม มีเด็ก 8 คนในบ้านหลังเดียว มีทีวีเครื่องเดียว พอลูกผมเริ่มเรียนผ่านทีวีที่บ้าน ก็มีเด็ก 4-5 คน จากบ้านหลังนี้มาชะเง้อมอง ในมือแต่ละคนถือใบงานที่โรงเรียนให้มา ต้องเอาไปส่งครู แต่ที่บ้านเขาไม่มีทีวีให้ดูได้ทุกคน ผมเห็นแววตาแล้วบอกไม่ถูกเลย”
ไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท อดีตผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ เล่าเหตุการณ์ที่เขาเห็นที่บ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา หลังผ่านมาถึงวันที่ 3 ของการเรียนออนแอร์ ผ่านสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา
“นี่ ป.4 ไม่ใช่ ป.3”
ไมตรี เล่าถึงเสียงที่เขาได้ยินเด็กๆ กระซิบกัน เมื่อไม่กี่วันก่อน จากนั้นเขาเลยไปถามดูว่า ในบ้านที่มีเด็ก 8 คน หลังนี้ มีใครเรียน ป.4 เหมือนลูกของเขาบ้าง ปรากฎว่ามี 1 คน จึงให้มานั่งเรียนด้วยกัน และไปสำรวจในซอยก็พบว่ามีเด็ก ป.4 อีกคนที่ไม่ได้เรียนจึงให้มาเรียนด้วยกันเป็น 3 คน
หนึ่งวันต่อมา การสำรวจขยายไปครอบคลุมทั้งซอยในชุมชนของเขาที่บ้านน้ำเค็ม พื้นที่ซึ่งเคยเสียหายหนักที่สุดจากคลื่นสึนามิเมื่อปี 2547 ไมตรีก็พบว่า จากบ้านเรือนในซอยแค่ 10 กว่าหลัง มีเด็กๆ รวมกันกว่า 20 คน ที่ต้องเรียนผ่านโทรทัศน์ บางคนก็เรียนได้ บางคนก็เรียนไม่ได้ ด้วยเหตุผลว่ามีเด็กหลายคน แต่มีโทรทัศน์เครื่องเดียว ส่วนบางคน โทรทัศน์ที่บ้านติดเป็น “จานดาวเทียม” ไม่ใช่กล่องทีวีดิจิทัล จึงเปิดช่องเพื่อการศึกษาไม่ได้
“มีเด็ก ม.2 อยู่ 3 คน ที่บ้านติดจานดำ เขาก็เปิดดูช่องเพื่อการศึกษาไม่ได้ จะดูทางโทรศัพท์ ก็ไม่มีสมาธิ แถมมีภาระว่าต้องซื้ออินเทอร์เน็ตเพิ่ม ผมก็ไปสำรวจพบว่า มีเด็ก ม.2 อีกคน ที่บ้านมีทีวีที่เรียนได้ ก็เลยไปปลุกให้มาเปิดทีวี ให้เพื่อนเข้าไปเรียนด้วย” ไมตรีเล่าถึงข้อจำกัดต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเด็กๆในชุมชนห่างไกลและยากจน
24 พฤษภาคม 2563 ไมตรีและกรรมการสถานศึกษาในพื้นที่ จึงขอนัดหารือกับผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านน้ำเค็ม เพื่อเสนอให้เป็นโครงการ “บ้านปันเรียน” ด้วยการสำรวจจำนวนนักเรียนในชุมชนทั้งหมด แยกระดับชั้น และสำรวจความพร้อมของบ้านในชุมชนที่จะช่วยให้เด็กๆ มาเรียนผ่านระบบออนแอร์ด้วยกันได้ เมื่อโรงเรียนเห็นด้วย จึงส่งครูในโรงเรียนลงไปสำรวจชุมชนบ้านน้ำเค็มทั้งหมด และพบว่า ในชุมชนทั้งหมด “มีเด็กถึง 51 คน ที่ไม่ได้เรียน เพราะข้อจำกัดต่างๆ ในครอบครัว”
ทีมงานในพื้นที่ จึงทำข้อสรุป พบบ้าน 17 หลัง ที่พร้อมสามารถเรียนออนแอร์ผ่านโทรทัศน์ได้ ทั้งหมดอาสาเป็นแหล่งให้เด็กๆ ได้มาเรียนร่วมกัน บ้านละ 2-4 คน และสามารถไประดมทุนจากชุมชนได้เงินมากว่า 2 หมื่นบาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่าย เพื่อซื้อหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ ขนม และแก้วน้ำส่วนตัวให้เด็กๆ ใช้ระหว่างเรียน สอนเรื่องการเว้นระยะห่างในระหว่างเรียน และไปจ้างช่างมาติดตั้งกล่องทีวีดิจิทัลเพิ่มได้อีก 3-4 หลัง รวมทั้งช่วยค่าไฟให้กับบ้านที่เปิดเป็นสถานที่เรียนอีกสัปดาห์ละ 100 บาท พร้อมเปิดโครงการ “บ้านปันเรียน” เมื่อวันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
แต่หลังจากที่เปิดเรียนไปได้เพียง 2 วัน “บ้านปันเรียน” ก็ต้องหยุดเรียนก่อนในวันพุธที่ 27 พฤษถาคม เพราะมีทนายความคนหนึ่งโพสต์ความเห็นว่า โครงการนี้นำเด็กมารวมตัวกัน อาจขัดต่อ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และยังมีผู้ร้องเรียนไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพังงา จนมีคำสั่งให้ยุติโครงการไปก่อน ซึ่งชุมชนก็ปฏิบัติตาม เพราะกังวลจะส่งผลกระทบต่อผู้อำนวยการโรงเรียน แต่ก็มีคำถามว่า จะแก้ปัญหาเด็กที่ขาดโอกาสในการเรียนผ่านระบบออนแอร์นี้ได้อย่างไร
“เด็กๆ พวกนี้ ปกติเขาก็เล่นกันอยู่ในชุมชนอยู่แล้ว พบเจอกันเป็นปกติอยู่แล้ว แต่เราเห็นว่ามีเด็กที่ขาดโอกาส ไปไม่ทันกับ New Normal ของการศึกษาทั้งออนแอร์และออนไลน์ ชุมชนก็หาวิธีช่วยกัน ร่วมแรงร่วมใจกัน ระดมทุน จัดหาทรัพยากร และวางมาตรการป้องกันอย่างดี โดยได้ปรึกษารองผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านก็เห็นว่าเป็นโครงการที่ดี ก็ให้ทำ จึงมีคำถามว่า ถ้าให้ยุติ แล้วจะแก้ปัญหาให้กับเด็กที่ขาดโอกาสเหล่านี้อย่างไร อยากให้คนที่ร้องเรียนมาเห็นแววตาเด็กที่มาชะเง้อมอง เพราะเขาเข้าไม่ถึงการเรียนบ้าง” ไมตรี กล่าว
วันนี้ (28 พฤษภาคม 2563) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพังงา (สพป.พังงา) ได้ส่งศึกษานิเทศน์ และกรรมการการศึกษาจังหวัดลงมาตรวจสอบในพื้นที่ตามข้อร้องเรียน และได้แจ้งกับไมตรีและชุมชนว่า ที่สั่งให้ยุติโครงการก่อน เป็นเพราะได้รับข้อร้องเรียนที่ค่อนข้างรุนแรง ซึ่งผู้ร้องอ้างว่า โรงเรียนบ้านน้ำเค็มนำเด็ก 50 คน มารวมตัวกันคล้ายกับเปิดโรงเรียน แต่เมื่อได้ตรวจสอบจึงพบว่า “คำร้องเป็นเท็จ” ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง จึงขอให้ชุมชนพาไปดูกระการทั้งหมดของโครงการ “บ้านปันเรียน”
พร้อมกล่าวชมเชยว่าเป็นโครงการที่ดี เป็นความสวยงามของการศึกษา และเป็นไปตามนโยบายข้อที่ 2 ของกระทรวงศึกษาธิการ คือ “ให้เด็กๆ ที่มีข้อจำกัด สามารถร่วมกันเรียนกับบ้านใกล้เรือนเคียง”
โครงการ “บ้านปันเรียน” จึงกลับมาดำเนินการต่อไปในวันนี้ โดยทางชุมชน ของให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพังงา แจ้งให้ทุกพื้นที่ทราบตรงกันว่า โรงเรียนทุกแห่ง สามารถจัดการศึกษาในช่วงนี้ โดยใช้รูปแบบ “ปันเรียนกับบ้านใกล้เรือนเคียง” ได้