“รสนา” เสนอจัดการเรียนการสอนช่วงโควิด ให้หลากหลายเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ อย่างบางโรงเรียนไม่แออัด ความเสี่ยงติดเชื้อต่ำมาก ทำไมจึงเลือกใช้เรียนออนไลน์กันทั่วประเทศ ทั้งที่ไม่ตอบโจทย์ โดยเฉพาะเด็กเล็ก-กลุ่มรายได้น้อย
วันที่ 15 พ.ค. 63 น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า ... อย่าตัด “เท้า” ให้เข้ากับ “รองเท้า” ข้อเสนอการจัดการศึกษาของเด็กนักเรียนให้ตอบโจทย์ในช่วงโควิด-19
ในช่วงระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ที่รัฐบาลใช้มาตรการปิดบ้าน ปิดเมือง (lock down) ปิดสถานประกอบการ ไม่ให้คนมาแออัดในสถานที่สาธารณะ เพื่อวางระยะห่างทางสังคม มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนหมั่นล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย กินร้อน ช้อนส่วนตัว ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ หรือรับเชื้อจากไวรัสโควิด จนกลายเป็นพฤติกรรมใหม่ที่เรียกว่า New Normal หรือที่มีการเสนอให้ราชบัณฑิตสภาแปลเป็นไทยว่า ความปกติใหม่
การปิดบ้าน ปิดเมืองเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหนักหนาสาหัส ด้านสังคมก็ได้รับผลกระทบหนักพอๆ กัน การปิดการเรียนการสอนในสถานศึกษาทุกระดับ และเปลี่ยนมาใช้การเรียนในระบบออนไลน์นั้น มีทั้งข้อดีข้อเสีย แต่การเรียนแบบออนไลน์ที่ต่อเนื่องยาวนานเกินไป ย่อมไม่ตอบโจทย์การศึกษาต่อเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็ก และ กลุ่มนักเรียนในครอบครัวรายได้น้อย
ดิฉันได้รับฟังจากเพื่อนที่มีลูกเล็ก ว่า การเรียนออนไลน์สำหรับเด็กยังเป็นเรื่องยาก เพราะเด็กขาดสมาธิ
“เด็กไม่มีสมาธิในการเรียน ผมเคยดูลูกเรียนออนไลน์ เสียงเด็กแต่ละคน noisy มาก ต่างคนต่างพูด ครูใช้เวลาเกิน 10 นาทีเพื่อบอกว่าเปิดหนังสือเล่มไหนหน้าไหน ลูกสาวผมไม่เข้าเรียนออนไลน์ 3 วัน ครูโทร.มาแจ้ง ลูกผมบอกว่าเรียนแล้วไม่ได้อะไร หนวกหู”
เพื่อนอีกคนบอกว่า “พี่ครับตอนนี้เด็กในชุมชนเขตคลองเตย มีปัญหาเกือบทุกบ้าน 90% ไม่เคยมีคอมพิวเตอร์ใช้ และไม่มี notebook มือถือส่วนใหญ่ก็จะมีแต่เฉพาะพ่อหรือแม่แล้วจะเรียนออนไลน์ได้อย่างไรครับ” นี่เป็นเสียงสะท้อนปัญหาส่วนหนึ่งให้เห็นว่าการจัดการศึกษาแบบเดียวกันทุกกลุ่ม ไม่สามารถตอบโจทย์การเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนไทย
อีกปัญหาหนึ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อให้เด็กเรียนอยู่กับบ้าน ก็คือ หลายบ้านอาจจะไม่มีผู้ใหญ่คอยดูแลเด็ก เพราะมีความจำเป็นต้องออกไปทำงาน
ดิฉันมีโอกาสแลกเปลี่ยนเรื่องนี้กับ ดร.อุทัย ดุลยเกษม อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ท่านให้ความเห็นว่า “การให้นักเรียน เรียนแบบ “ออนไลน์” อยู่ที่บ้าน ไม่ว่าจะผ่านระบบอินเทอร์เน็ต หรือระบบโทรทัศน์ก็แล้วแต่ เป็นการแก้ปัญหาบนพื้นฐานของการแพทย์และเรื่องสุขภาพกายด้านเดียว แต่การศึกษามิใช่เรื่องการเรียนหนังสืออย่างเดียว เพราะถ้าเรียนแต่หนังสืออย่างเดียว ไม่ต้องมีโรงเรียนก็ได้ อย่าลืมว่าในกระบวนการศึกษานักเรียนจะได้เรียนรู้ในด้านอื่นๆ อีกหลายด้าน ทั้งด้านทักษะต่างๆ ด้านบุคลิกภาพ ด้านระบบคุณค่า ด้านความสัมพันธ์ระหว่างกัน ด้านอารมณ์ ฯลฯ การเรียนผ่านระบบออนไลน์นานๆ นักเรียนจะเสียโอกาสในการเรียนรู้สิ่งที่สำคัญในชีวิตไปหลายอย่าง น่าเสียดายมาก”
หลังการปิดบ้านปิดเมืองเกือบ 2 เดือน และยังต้องขยายเวลาออกไป ไม่ทราบอีกนานเท่าไหร่ ตราบเท่าที่การระบาดของไวรัสโควิดยังไม่ยุติ เมื่อรัฐบาลกำลังค่อยๆ คลายล็อกความเข้มงวดในการควบคุมลง จึงควรพิจารณาการจัดการเรียนการสอนให้เป็นไปได้ในสถานการณ์ที่รัฐบาลผ่อนคลายความเข้มงวดลง ข้อเสนอจากการพูดคุยกับ ดร.อุทัย ดุลยเกษม ซึ่งนักการศึกษา เป็นความเห็นและข้อเสนอที่น่าสนใจ
“ในเรื่องการจัดการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนของเรา ซึ่งเป็นการเตรียมตัวให้พวกเขาเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติในอนาคตนั้น เราต้องการประชาชนคนไทยที่มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ และปราศจากโรคภัยไข้เจ็บแน่นอนอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะฉะนั้นการมีมาตรการป้องกันภัยจากโรคทั้งหลายมีความสำคัญ และมีความจำเป็น แต่ในขณะเดียวกัน เราต้องการประชาชนคนไทยที่มีศักยภาพสูง ยิ่งอัตราการเกิดของทารกลดน้อยลงมากๆ อย่างที่เป็นอยู่ เรายิ่งต้องทำให้คุณภาพของประชากรไทยสูงขึ้นกว่ายุคก่อนๆ หลายเท่า เพราะปริมาณลดลง ด้วยเหตุดังนั้น การจัดการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนของเราในวันนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน มิใช่เพียงกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ชุมชน และครอบครัว ฯลฯ จะต้องให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาอย่างเอาจริงเอาจังมากขึ้น และที่สำคัญ ต้องคิดหาวิธีการใหม่ๆ ที่มีความหลากหลาย อย่าพึงใช้วิธีการเดียวแบบที่ทำๆ กันอยู่ เพราะสถานการณ์ในสังคมของเรามี “ความหลากหลาย” ผมคิดว่า ไม่ว่าวิธีการจัดการศึกษาที่วิเศษอย่างไรก็ตาม ถ้าใช้วิธีการจัดการศึกษาวิธีเดียวกับกลุ่มคนที่หลากหลาย สภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ย่อมจะไม่ได้ผลอย่างที่คาดหวังอย่างแน่นอน
ยกเป็นตัวอย่างเพื่อให้เห็นเป็นประเด็น เช่น ในปัจจุบันนี้เรื่องการแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังไม่หมดไป แต่ความหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับระบบการจัดการศึกษา มีอยู่มากพอสมควร เช่น หลายจังหวัดและหลายอำเภอ สถานการณ์การติดเชื้อหรือความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสต่ำมากหรือไม่มีเลย
โรงเรียนในระดับประถมศึกษาจำนวนไม่น้อยมีนักเรียนจำนวนไม่ถึงร้อยคน ในบางชั้นเรียนมีนักเรียนไม่ถึง ๑๐ คน และโรงเรียนในประเทศไทยยกเว้นบนเทือกเขาสูงๆ ในภาคเหนือแล้ว ระยะทางระหว่างโรงเรียนกับบ้านพักอาศัยไม่ไกลเกิน ๕ กิโลเมตร บางแห่งใกล้มากกว่านี้อีก ดังนี้เป็นต้น ในสภาพการณ์ที่มีความหลากหลายอย่างนี้ ทำไมเราจึงเลือกใช้วิธีการจัดการเรียนการสอนเพียงแบบเดียว คือ แบบ Online ในทุกจังหวัด ทุกอำเภอ ทุกโรงเรียน ทุกห้องเรียน ใช้ระบบการเรียนการสอนอย่างเดียวกันเห็นได้ชัดว่าไม่สอดคล้องกับความหลากหลายต่างๆ ที่มีอยู่จริง เป็นไปไม่ได้เลยหรือ ที่เราจะจัดการเรียนการสอนหลายระบบเพื่อให้สอดคล้องกับความหลากหลาย การจัดการเรียนการสอนด้วยระบบที่หลากหลายมิใช่ทำไปเพราะความโก้เก๋อะไร แต่ทำไปเพื่อให้สอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์ให้มากที่สุด เพื่อว่าเด็กและเยาวชนของเราได้เรียนรู้เรื่องต่างๆ และได้พัฒนาด้านต่างๆ ที่มีความสำคัญกับวิถีชีวิตในสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ
ผมคิดว่าแม้แต่ในชั้นเรียนที่มีเด็กประมาณ ๒๐-๓๐ คน (ซึ่งถือว่ามากแล้วในปัจจุบัน) ก็ยังสามารถจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนได้ เพราะเมื่อเรามาคำนวณดูเวลาเรียนที่เด็กนักเรียนใช้ในแต่ละวัน มีประมาณ ๔ คาบ (คาบละประมาณ ๕๐ นาที) ถ้าเด็กเรียนในชั้นเรียน ๕ วัน ในหนึ่งสัปดาห์ เด็กจะใช้เวลาในชั้นเรียนประมาณ ๒๐ คาบ ในหนึ่งสัปดาห์ (ที่ไม่มีวันหยุดพิเศษ) ถ้าเราคิดในลักษณะที่ว่า ให้แบ่งเด็กในชั้นเรียนดังกล่าวออกเป็น ๒ กลุ่มๆ ละ ๑๐-๑๕ คน และให้แต่ละกลุ่มผลัดกันมาเรียนในชั้นเรียนกลุ่มละ ๓ วันในหนึ่งสัปดาห์ แต่ให้เด็กเรียนวันละ ๖ คาบ พราะฉะนั้นในช่วงสามวัน เด็กจะได้เรียนในชั้นเรียนประมาณ ๑๘ คาบ ซึ่งก็ไม่ต่างจากที่ต้องมาเรียนทุกวัน การทำในลักษณะนี้ เราสามารถใช้มาตรการต่างในการป้องกันการติดเชื้อโรคไวรัสได้อย่างไม่มีปัญหาอะไรเลย วิธีคิดในลักษณะนี้ เป็นตัวอย่างในการคิดเพื่อให้สอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์ในสภาพแวดล้อมที่เปิดโอกาสให้มีปฏิสัมพันธ์และเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองในมิติต่างๆ มากกว่าการเรียนหนังสือ”
สำหรับดิฉันยังเห็นว่าการหมุนเวียนให้เด็กมาเรียนที่โรงเรียนในช่วงคลายล็อคดาวน์อย่างควบคุมจะช่วยให้ครูและทางการสามารถสอดส่องดูแลสุขภาพของเด็กนักเรียนได้อย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นด้านโภชนาการหรือความเจ็บไข้ได้ป่วย
การระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดพฤติกรรมที่เป็น New Normal ที่ทุกสังคมต้องปรับตัว เปลี่ยนแปลงให้เข้ากับสถานการณ์ที่เป็นจริงแบบใหม่ การศึกษาก็เช่นกัน ต้องมีการปรับรูปแบบใหม่ ที่ตอบโจทย์สภาพแวดล้อมทางสังคมใหม่ในแต่ละพื้นที่ ในแต่ละบริบทอย่างเหมาะสม ไม่ควรใช้วิธีแบบเดิมๆ ที่จัดการศึกษาในรูปแบบเดียวในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ดังคำกล่าวที่ว่า “จงอย่าตัด ‘เท้า’ ให้เข้ากับ ‘รองเท้า’ แต่จงตัด ‘รองเท้า’ ให้พอดีกับ ‘เท้า’”
ขอให้ผู้บริหารในกระทรวงศึกษาธิการ และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มีโรงเรียนในสังกัด 437 แห่ง ได้โปรดนำข้อเสนอนี้ไปพิจารณาในการแก้ปัญหาการจัดการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์ต่อเด็ก และ เยาวชนไทย และด้วยวิธีการนี้ น่าจะสามารถแก้ปัญหาการจัดการเรื่องนมโรงเรียน และอาหารกลางวันของเด็กนักเรียน ที่เด็กไม่ได้รับนม และอาหารกลางวันในช่วงปิดเมือง และการปิดเรียน ที่อาจจะยืดยาวออกไปอีก เพราะการระบาดของไวรัสโควิด