ดร.อุทัย ดุลยเกษม
อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร
1.เกริ่น
การจัดการเรียนการสอนแบบทางไกล (Distance Learning) หรือ การเรียนการสอนแบบ E-Learning และ On-line Learning มิใช่เป็นเรื่องใหม่ เพราะการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาการจัดการเรียนการสอนทางไกล (Distance Learning) มีมานานแล้วทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทย ในประเทศไทย มหาวิทยาลัยรามคำแหงกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สอนแบบทางไกล มหาวิทยาลัยหลายแห่งในปัจจุบัน ได้ทำบทเรียนสาขาวิชาต่างมากกมายไว้ในระบบที่รู้จักกันว่า MOOC ( Massive Open Online Course) ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยให้นักศึกษาเรียนวิชาต่างๆได้ด้วยตัวเอง
ถ้าถามว่าการเรียนการสอนตามระบบนี้มีประโยชน์หรือไม่ คนจำนวนไม่น้อยคงให้คำตอบเป็นไปในทางบวก และคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าไม่มีประโยชน์ แต่ข้อเท็จจริงคือ ในโลกเรานี้ไม่มีอะไรดีหมดหรือเลวหมด ทกอย่างมี “เหรียญสองด้าน” เสมอ
ถ้าจะพิจารณากันถึงเรื่องนี้ ประเด็นแรกที่ต้องตอบให้ชัดเจน คือ “ทำไมต้องใช้ระบบการเรียนการสอนแบบทางไกล หรือ แบบ E-learning หรือ แบบ Online”
ทั้งนี้เพราะว่า ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเรียนการสอนในระบบใด ผู้ที่เลือกระบบนั้นๆมาใช้ย่อมคิดหรือเชื่อว่า ระบบที่เลือกมาใช้นั้นมี “ข้อดี” หรือมี “จุดแข็ง” หรือมี “ข้อได้เปรียบ” อะไรอยู่แล้ว
ผมคิดเอาเองว่า ถ้าพิจารณาในบางด้าน เราจะได้ “คำตอบ” แบบหนึ่ง แต่ถ้าเราพิจารณา”อย่างรอบด้าน” เราอาจจะได้คำตอบอีกแบบหนึ่ง
สำหรับความคิดของผม (ซึ่งอาจผิดก็ได้) การจัดการเรียนการสอนแบบทางไกล หรือ แบบ E-learning หรือ แบบ Online มีข้อดีหรือข้อได้เปรียบ ดังต่อไปนี้
(1) ค่าใช้จ่ายถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับระบบการเรียนการสอนในชั้นเรียนแบบเดิมๆ
(2) แก้ปัญหาเรื่องระยะทาง เพราะการสอนในชั้นเรียน ผู้เรียนจำนวนมากต้องเดินทางไกล และในหลายๆกรณีการเดินทางไม่สะดวกเลย
(3) แก้ปัญหาเรื่องเวลาเรียน ซึ่งการสอนในชั้นเรียน มีช่วงเวลาเรียนตายตัว ใครมาโรงเรียนสายหรือมาโรงเรียนไม่ได้จะไม่ได้เรียนรายวิชาในวันและเวลาที่กำหนดไว้
(4) ลดทอนความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนลงได้บ้าง
(5) มีอิสระในการเรียนและในการคิดมากกว่าการเรียนในชั้นเรียน (ถ้าต้องการ)
(6) สามารถป้องกันการติดเชื้อจากโรคระบาดได้
ข้อดีหรือข้อได้เปรียบที่กล่าวมานี้ หลายข้อเป็นจริงเฉพาะผู้เรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายขึ้นไปมากกว่าผู้เรียนในระดับอนุบาลและระดับประถมศึกษาหรือแม้แต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
ในอีกด้านหนึ่ง การเรียนการสอนในระบบทางไกล หรือ ระบบ E-Learning หรือ ระบบ Online มี “ข้อด้อย” หรือ “ข้อเสียเปรียบ” ดังต่อไปนี้
(1) ธรรมชาติการเรียนรู้ (Learning) (ซึ่งมิใช่เพียงการรับรู้) (Reception) ของมนุษย์เกิดได้จากการมี”ปฏิสัมพันธ์” (interaction) ระหว่าง มนุษย์กับสภาพแวดล้อม และระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกันที่เรียกกันว่า Interactive Learning เพราะฉะนั้น การเรียนในชั้นเรียนย่อมเปิดโอกาสให้มี “ปฏิสัมพันธ์” ได้มากกว่า และย่อมเรียนรู้ได้มากกว่าหรือดีกว่า การเรียนแบบทางไกลหรือแบบ Online (ยกเว้นโชคร้ายเจอครูแบบเผด็จการ)
(2) เป้าหมายของการศึกษาเรียนรู้มิได้อยู่ที่ “การจดจำเอาความรู้” (Knowledge) จากการอ่านหนังสือหรือจากคำสอนของครู เท่านั้น ซึ่งการเรียนในระบบทางไกลหรือระบบ Online จะได้สิ่งที่ว่านี้เป็นหลัก แต่ การสอนการเรียนในชั้นเรียนที่มี “ปฏิสัมพันธ์” กันระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนและระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียนและระหว่างผู้เรียนกับสภาพแวดล้อมทั้งในโรงเรียนและในชุมชน ย่อมช่วยให้ผู้เรียนมีโอกาสได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองในด้านต่างๆอีกหลายด้าน เช่นทักษะในการสื่อสาร (Communication skills) ซึ่งมีความสำคัญมากในสังคมปัจจุบันและในอนาคต การพัฒนาบุคลิกภาพ การเรียนรู้ระบบคุณค่า การเรียนรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ การเรียนรู้วิธีการทำงานเป็นทีม การเรียนรู้ในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ และที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน คือการพัฒนาด้านร่างกายและอารมณ์ เราต้องไม่ลืมว่า ในสังคมที่สรรพสิ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วฉับพลันและเกิดDisruption ในด้านต่างๆอย่างรุนแรง โดยเฉพาะ Social and Cultural Disruption อันเนื่อง (ส่วนหนึ่ง) มาจาก COVID-19 ทำให้ประเด็นเกี่ยวกับ Emotional maturity ของคนในสังคมทวีความสำคัญขึ้น สังคมต้องการจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น เพราะมีปัญหากดดันหลายๆด้านพร้อมกัน ในสภาพเช่นนี้ การสอนทางไกลหรือการสอนระบบOnline จะไม่สามารถสร้างคุณลักษณะดังกล่าวเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคุณสมบัติบางอย่างพัฒนาไม่ได้เลยด้วยซ้ำ
(3) การเรียนระบบทางไกลหรือการเรียนระบบ Online ต้องการเงื่อนไขบางอย่างที่ผู้เรียนต้องมี มิฉะนั้นจะไม่ได้ผล เงื่อนไขดังกล่าวได้ แก่ Self -motivation (การมีแรงบันดาลใจ); Self-discipline (การมีวินัยในตัวเอง); tolerance (ความอดทนหรืออดกลั้น) ความใฝ่รู้ใฝ่เรียน (Curiosity) เป็นต้น ถ้าผู้เรียนขาดคุณสมบัติเหล่านี้ จะเรียนรู้ได้น้อย และในหลายๆกรณี สภาพแวดล้อมของสถานที่นั่งเรียนทางไกลหรือ Online ที่ไม่เอื้อหรือไม่มีสิ่งกระตุ้นให้ผู้เรียนอยากเรียนรู้ จะเป็นปัญหาได้มาก เราต้องไม่ลืมว่า พ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กชั้นอนุบาลหรือชั้นประถมศึกษาต้องออกจากบ้านไปทำงาน หรือในบางกรณีที่พ่อหรือแม่อยู่บ้านกับลูกแต่ไม่สามารถช่วยกระตุ้นหรือส่งเสริมให้ลูกเรียนหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือหน้าจอทีวีได้ ก็จะมีปัญหาเช่นเดียวกัน
ต้องยอมรับว่าทั้งผู้สอนและผู้เรียนมีความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individual differences) เพราะฉะนั้น การเรียนการสอนระบบทางไกลหรือระบบ Online อาจจะเหมาะกับผู้สอนบางคนและผู้เรียนบางคนหรือบางกลุ่ม เพราะฉะนั้น ถ้านำเอาระบบทางไกหรือระบบ Online ระบบเดียวมาใช้กับครูทุกคนและเด็กทุกคน อาจจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้นไปอีก
ข้อเสียเปรียบที่กล่าวมานี้ หลายข้อเป็นจริงกับเด็กนักเรียนในระดับชั้นอนุบาลและเด็กนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาหรือระดับมัธยมศึกษาตอนตันมากกว่าเด็กนักเรียนในชั้นที่สูงขึ้นไป
2.ทางออกที่เป็นไปได้ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงเรื่องโรคระบาด COVID-19
ผมคิดว่า การใช้มาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบันมีความสำคัญและมีความจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ การล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ การใส่หน้ากาก การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล การไม่ไปในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด และการปิดเมือง ฯลฯ
แต่ในเรื่องการจัดการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนของเราซึ่งเป็นการเตรียมตัวให้พวกเขาเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติในอนาคตนั้น เราต้องการประชาชนคนไทยที่มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์และปราศจากโรคภัยไข้เจ็บแน่นอนอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะฉะนั้นการมีมาตรการป้องกันภัยจากโรคทั้งหลายมีความสำคัญและมีความจำเป็น แต่ในขณะเดียวกันเราต้องการประชาชนคนไทยที่มีศักยภาพสูง ยิ่งอัตราการเกิดของทารกลดน้อยลงมากๆอย่างที่เป็นอยู่ เรายิ่งต้องทำให้คุณภาพของประชากรไทยสูงขึ้นกว่ายุคก่อนๆหลายเท่า เพราะปริมาณลดลง ด้วยเหตุดังนั้น การจัดการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนของเราในวันนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน มิใช่เพียงกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ชุมชน และครอบครัว ฯลฯ จะต้องให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาอย่างเอาจริงเอาจังมากขึ้น และที่สำคัญต้องคิดหาวิธีการใหม่ๆที่มีความหลากหลาย อย่าพึงใช้วิธีการเดียวแบบที่ทำๆกันอยู่ เพราะสถานการณ์ในสังคมของเรามี “ความหลากหลาย” ผมคิดว่า ไม่ว่าวิธีการจัดการศึกษาที่วิเศษอย่างไรก็ตาม ถ้าใช้วิธีการจัดการศึกษาวิธีเดียวกับกลุ่มคนที่หลากหลาย สภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ย่อมจะไม่ได้ผลอย่างที่คาดหวังอย่างแน่นอน
ยกเป็นตัวอย่างเพื่อให้เห็นเป็นประเด็น เช่น ในปัจจุบันนี้เรื่องการแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังไม่หมดไป แต่ความหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับระบบการจัดการศึกษา มีอยู่มากพอสมควร เช่น หลายจังหวัดและหลายอำเภอ สถานการณ์การติดเชื้อหรือความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสต่ำมากหรือไม่มีเลย โรงเรียนในระดับประถมศึกษาจำนวนไม่น้อยมีนักเรียนจำนวนไม่ถึงร้อยคน ในบางชั้นเรียนมีนักเรียนไม่ถึง ๑๐ คน และโรงเรียนในประเทศไทยยกเว้นบนเทือกเขาสูงๆในภาคเหนือแล้ว ระยะทางระหว่างโรงเรียนกับบ้านพักอาศัยไม่ไกลเกิน ๕ กิโลเมตร บางแห่งใกล้มากกว่านี้อีก ดังนี้เป็นต้น ในสภาพการณ์ที่มีความหลากหลายอย่างนี้ ทำไมเราจึงเลือกใช้วิธีการจัดการเรียนการสอนเพียงแบบเดียว คือแบบOnline ในทุกจังหวัด ทุกอำเภอ ทุกโรงเรียน ทุกห้องเรียน ใช้ระบบการเรียนการสอนอย่างเดียวกันเห็นได้ชัดว่าไม่สอดคล้องกับความหมากหลายต่างๆที่มีอยู่จริง เป็นไปไม่ได้เลยหรือ ที่เราจะจัดการเรียนการสอนหลายระบบเพื่อให้สอดคล้องกับความหลากหลาย การจัดการเรียนการสอนด้วยระบบที่หลากหลายมิใช่ทำไปเพราะความโก้เก๋อะไร แต่ทำไปเพื่อให้สอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์ให้มากที่สุด เพื่อว่าเด็กและเยาวชนของเราได้เรียนรู้เรื่องต่างๆและได้พัฒนาด้านต่างๆที่มีความสำคัญกับวิถีชีวิตในสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ
ผมคิดว่าแม้แต่ในชั้นเรียนที่มีเด็กประมาณ ๒๐-๓๐ คน (ซึ่งถือว่ามากแล้วในปัจจุบัน) ก็ยังสามารถจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนได้ เพราะเมื่อเรามาตำนวณดูเวลาเรียนที่เด็กนักเรียนใช้ในแต่ละวัน มีประมาณ ๔ คาบ (คาบละประมาณ ๕๐ นาที) ถ้าเด็กเรียนในชั้นเรียน ๕ วันในหนึ่งสัปดาห์ เด็กจะใช้เวลาในชั้นเรียนประมาณ ๒๐ คาบในหนึ่งสัปดาห์ (ที่ไม่มีวันหยุดพิเศษ) ถ้าเราคิดในลักษณะที่ว่า ให้แบ่งเด็กในชั้นเรียนดังกล่าวออกเป็น ๒ กลุ่ม ๆละ ๑๐-๑๕ คน และให้แต่ละกลุ่มผลัดกันมาเรียนในชั้นเรียนกลุ่มละ ๓ วันในหนึ่งสัปดาห์ แต่ให้เด็กเรียนวันละ ๖ คาบ พราะฉะนั้นในช่วงสามวัน เด็กจะได้เรียนในชั้นเรียนประมาณ ๑๘ คาบ ซึ่งก็ไม่ต่างจากที่ต้องมาเรียนทุกวัน การทำในลักษณะนี้ เราสามารถใช้มาตรการต่างในการป้องกันกาติดเชื้อโรคไวรัสได้อย่างไม่มปัญหาอะไรเลย วิธีคิดในลักษณะนี้ เป็นตัวอย่างในการคิดเพื่อให้สอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์ในสภาพแวดล้อมที่เปิดโอกาสให้มีปฏิสัมพันธ์และเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองในมิติต่างๆมากกว่าการเรียนหนังสืออย่างเดียว
ผมเชื่อว่าผู้ที่คลุกคลีอยู่ในวงการศึกษาย่อมตระหนักรู้ดีมากกว่าผมเสียอีก เพราะได้มีการพิสูจน์และมีหลักฐานทางวิชาการอย่างเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนแล้วทั่วโลกว่า การเรียนรู้(Learning) ของมนุษย์ที่ดีที่สุด คือ
1.มนุษย์เรียนรู้ผ่านช่องทางที่หลากหลาย เช่น การอ่าน การได้ยิน การได้ฟัง การได้รับการสั่งสอน การมีประสบการณ์ตรง การลงมือปฏิบัติ การทำผิดพลาด ฯลฯ ซึ่งแต่ละช่องทางไม่ได้เหมาะกับทุกคนเสมอกัน
2.การเรียนรู้ที่ดีและมีประสิทธิภาพมากที่สุดของมนุษย์ ต้องเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Participatory-Horizontal-Interactive-Integrated (PHII) Learning หมายความว่า กระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้อย่างจริงจัง เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนในเชิงอำนาจเป็นแนวระนาบ เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนและผู้เรียนกับผู้เรียน และเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่มีลักษณะบูรณาการหรืออย่างมีความเชื่อมโยงกันมิใช่การเรียนแบบแยกส่วน
เพราะฉะนั้น ผมจึงอเสนอให้ผู้ที่หน้าที่จัดการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนของเรา ได้คิดพิจารณาเรื่องนี้อย่างมีมนสิการ
3.สรุป
ผมคิดว่าสถานการณ์ของการแพร่กระจายของ COID-19 จะยังคงยืดเยื้ออีกนานและไม่น่าจะหมดสิ้นก่อนสิ้นปีการศึกษานี้ และในอนาคตอาจจะมีโรคระบาดอย่างอื่นๆอีก เพราะฉะนั้น การคิดและหาทางออกที่เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วฉับพลันชนิดคิดทัน เตรียมตัวไม่ทัน เอาไว้ล่วงหน้า ย่อมจะทำให้ประเทสเราสามาทรถเผชิญปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันกาลและอย่างรู้เท่าทัน
นายอุทัย ดุลยเกษม
๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๓