ใน พ.ศ.๒๔๒๖ ได้เริ่มมีข่าวลือแพร่สะพัดในในแคว้นไทยใหญ่ที่อังกฤษครอบครอง จนมาถึงเชียงใหม่ว่า พระนางเจ้าวิกตอเรีย พระราชินีแห่งอังกฤษ ได้ทรงสู่ขอเจ้าดารารัศมี ราชธิดาพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ผู้ครองนครเชียงใหม่ ไปเป็นพระราชธิดาบุญธรรม และให้เป็นทายาทครองนครเชียงใหม่ต่อไป ข่าวนี้ทำให้ข้าราชการไทยต่างตื่นเต้นไปตามกัน พระยาราชเสนา (เสือ พยัฆคนันท์) ข้าหลวงประจำเมืองเชียงใหม่ จึงเข้าเฝ้าถามพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ว่าเป็นความจริงเพียงใด เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ได้เรียกพวกหัวหน้าไทยใหญ่และตองซู่ในบังคับอังกฤษมาไต่ถาม ก็ได้ความว่า นายร้อยเอกเซอร์ยอร์ช สก๊อต ผู้สำเร็จราชการอังกฤษเมืองเชียงตุง เป็นผู้ประกาศแก่ชาวเชียงตุงว่า พระนางเจ้าวิคตอเรียพระเจ้ากรุงอังกฤษได้มีพระราชดำริจะขอเจ้าหญิงดารารัศมีมาเป็นพระราชธิดาบุญธรรม โดยจะทรงตั้งให้เป็น “ปรินเซสออฟเชียงใหม่” เข้าร่วมอยู่ในราชวงศ์วินเซอร์ ทั้งยังกราบทูลอีกว่า ชาวพม่าที่เดินทางจากเมืองย่างกุ้ง ก็ได้ข่าวเช่นเดียวกับเมืองเชียงตุง โดยชาวพม่าพากันกล่าวขานกันทั่วไปว่า ต่อไปเมืองเชียงใหม่กับเมืองเชียงตุงจะรวมเป็นแคว้นเดียวกัน ไม่ต้องรบราฆ่าฟันกันอีกแล้ว
จึงชัดเจนว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ข่าวลือ แต่เป็นข่าวปล่อยของอังกฤษ เพื่อจะให้ชาวเชียงใหม่ที่เห็นชอบพากันกระด้างกระเดื่องกับไทย ทำให้รัฐบาลไทยกระวนกระวายใจ และระแวงเจ้าเมืองเชียงใหม่ เตรียมยึดดินแดนไทยที่อยู่ในเขตเชียงใหม่ โดยเป้าหมายอยู่ที่ป่าไม้ที่อุดมไปด้วยไม้สัก
เมื่อได้ความเช่นนี้ พระเจ้าอินทวิชยานนท์จึงประกาศต่อหัวหน้าชนเผ่าเมืองขึ้นของอังกฤษว่า เรื่องทั้งหมดไม่มีความจริง เมืองเชียงใหม่และบรรดาเจ้าในราชวงศ์ฝ่ายเหนือ “ทิพย์จักราธิวงศ์” ยังคงจงรักภักดีต่อสยามและราชวงศ์จักรีต่อไปไม่แปรเปลี่ยน เช่นเดียวกับเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ทั้ง ๖ พระองค์ที่ผ่านมา
เมื่อเรื่องนี้มาถึงกรุงเทพฯ ข้าหลวงเชียงใหม่ก็ถูกย้ายยกทีมเข้ากรุง ทรงโปรดเกล้าฯให้ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นพิชิตปรีชากร (พระองค์เจ้าคัคณางยุคล) ดำรงตำแหน่งข้าหลวงตรวจการณ์พิเศษต่างพระเนตรพระกรรณ และส่ง พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชื่น บุนนาค) มาเป็นข้าหลวงประจำเมืองเชียงใหม่และ ๕ หัวเมือง
ขณะนั้นเจ้าดารารัศมีพระชนม์ ๑๐ พรรษา ทรงไว้จุกแบบเจ้านายในราชวงศ์จักรี และเป็นเจ้านายเมืองเหนือเพียงองค์เดียวที่ไว้จุก โดยได้รับแนะนำจาก เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (พุ่ม ศรีไชยันต์) สมัยที่ยังเป็น พระยาเทพประชุน ข้าหลวงใหญ่เมืองเชียงใหม่ตั้งแต่ปี ๒๔๑๗ ซึ่งเป็นผู้ตั้งชื่อเจ้าดารารัศมี และเจ้าหญิงองค์พี่ว่า จันทร์โสภา ด้วย
ในปี ๒๔๒๗ ขณะที่ข่าวลือหนาหู พระเจ้าอินทวิชยานนท์ก็ทรงถือแบบอย่างของราชวงศ์จักรี กระทำพิธีโสกันต์ โกนจุกให้เจ้าดารารัศมี ในพิธีโสกันต์นี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานกุณฑลสร้อยเพชร (ตุ้มหู) และพระธำมะรงค์ฝังเพชร พระราชทานเป็นพิเศษแก่เจ้าดารารัศมี พร้อมกับยกย่องฐานันดรศักดิ์ของเจ้าหญิงให้สูงขึ้น โปรดเกล้าฯให้มีทำเนียบพระพี่เลี้ยงชายหญิงประดับพระบารมี โดยพระราชทานยศ นางเต็ม พระพี่เลี้ยงหญิงเป็น นางกัลยารักษ์ และ นายน้อย บุญทา พระพี่เลี้ยงชายเป็น พญาพิทักษ์เทวี
กล่าวกันว่า กุณฑลสร้อยเพชรและพระธำมะรงค์ฝังเพชรนั้น เป็นของหมั้น
หลังจากนั้น ๓ ปี พระเจ้าอินทวิชยานนท์ได้เสด็จลงมายังกรุงเทพฯ เพื่อร่วมในพระราชพิธีลงสรงและสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เจ้าดารารัศมีได้โดยเสด็จพระบิดาลงมาด้วย เลยไม่ได้กลับเชียงใหม่ ถวายตัวเข้ารับราชการฝ่ายในเป็นเจ้าจอม ตำแหน่งพระสนมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่ ณ กรุงเทพฯนับแต่นั้นมา
ตอนที่เจ้าดารารัศมีถวายตัวกับรัชกาลที่ ๕ เมื่อพระเจ้าอินทวิชยานนท์จะเสด็จกลับเชียงใหม่ ได้ฝากฝังเจ้าดารารัศมีกับสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพไว้ว่า
“เสด็จเจ้า ข้าเจ้าฝากนางอึ่งด้วยเน้อ ถ้าทำอันหยังบ่ถูกบ่ต้อง เสด็จเจ้าจงเรียกตัวมาเกกหัวเอาเตอะ”
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าถึงตอนนี้ด้วยทรงพระสรวลว่า
“จะเขกหัวได้อย่างไร เมื่อเป็นพี่สะใภ้”
ต่อมาเจ้าดารารัศมีซึ่งยังทรงดำรงตำแหน่ง "เจ้าจอมดารารัศมี" ก็ทรงพระครรภ์ และมีพระประสูติกาลพระราชธิดาเมื่อเดือนตุลาคม ๒๔๓๒ ทรงพระนามว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี (วิ-มน-นาก-นะ-พี-สี) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เลื่อนตำแหน่ง "เจ้าจอมดารารัศมี" ขึ้นเป็น "เจ้าจอมมารดาดารารัศมี" แต่พระธิดามีพระชันษาเพียง ๓ ปี ๔ เดือน ก็บุญน้อยสิ้นพระชนม์
ใน พ.ศ.๒๔๕๑ หลังจากเจ้าอินทวิชยานนท์ถึงพิราลัยแล้ว เจ้าอินทวโลรสสุริยงค์ พระราชโอรสองค์ใหญ่ขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนคร ได้เสด็จลงมากรุงเทพฯ เจ้าดารารัศมีทรงปรารภว่าพระองค์ก็มีพระชันษาเกินวัยคะนองแล้ว มีพระประสงค์จะกราบถวายบังคมลากลับไปเยี่ยมบ้านเกิดเมืองนอนกับพระเชษฐาสักครั้งหนึ่ง และเมื่อนำความนี้ขึ้นกราบบังคมทูล พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต และโปรดเกล้าฯให้จัดงานพระราชพิธีสถาปนาพระอิสริยยศเจ้าดารารัศมีขึ้นเป็น “พระราชชายาเจ้าดารารัศมี” ในตำแหน่งพระอัครมเหสี
พระราชชายาฯ ประทับอยู่ ณ นครเชียงใหม่ได้ ๖ เดือนเศษ ก็เสด็จนิวัติพระนคร ทรงประทับอยู่ในพระราชวังดุสิต กลับมารับใช้เบื้องพระยุคลบาทพระบรมราชสวามีได้เพียง ๑๐ เดือน ก็ต้องทรงประสบกับเหตุวิปโยคใหญ่หลวง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ นับรวมเวลาที่ พระราชชายาฯได้ถวายการรับใช้เบื้องพระยุคลบาท เป็นเวลา ๒๓ ปีเศษ
นับแต่สิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชชายาดารารัศมียังทรงประทับในพระราชวังดุสิตมาโดยตลอด จนกระทั่งปี ๒๔๕๗ จึงกราบถวายบังคมทูลลาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัตินครเชียงใหม่เป็นการถาวร
ในบั้นปลายพระชนม์ชีพ ประทับอยู่ที่พระตำหนักดาราภิรมย์ ณ สวนเจ้าสบาย อำเภอแม่ริม อันเป็นพระตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสร้างพระราชทานเป็นที่ประทับ โดยแวดล้อมด้วยพระประยูรญาติเป็นเวลาถึง ๒๐ ปี จนสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๔๗๖ ณ คุ้มรินแก้ว ขณะพระชันษา ๖๐ ปี ๓ เดือน ๑๓ วัน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯพระราชทานโกศกุดั่นน้อยและเครื่องสูง ๑ สำรับ และให้ข้าราชบริพารไว้ทุกข์มีกำหนด ๗ วัน เป็นเกียรติยศ