ความรักของ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีต่อหม่อมต่างชาติ สาวรัสเซีย เป็นเรื่องเด่นอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ไทยเรื่องหนึ่ง
เมื่อเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯทรงศึกษาวิชาทหารอยู่ที่ประเทศรัสเซียถึง ๘ ปี ได้พบรัก นางสาวแคทริน เนสนิตสกี้ ธิดาวัย ๑๘ ปี ของอธิบดีศาลมณฑลลุตช์ และได้ทรงแต่งงานกันอย่างเงียบๆ ไม่กล้าขอพระบรมราชานุญาต เพราะเกรงว่าหากไม่ได้รับพระราชทาน ก็จะไม่มีโอกาสได้แต่งงานกัน เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาต้องพาชายาแหม่มกลับมาด้วย จึงไม่กล้าพาเข้าประเทศ ให้หม่อมแคทรินหลบอยู่ที่สิงคโปร์ก่อน เพื่อดูท่าทีของพระบรมราชชนกและพระบรมราชชนนี แต่ความลับก็ซ่อนไว้ไม่อยู่ มีข่าวลือมาถึงกรุงเทพฯว่า มีแหม่มสาวสวยผู้หนึ่งใช้นามว่า “มาดาม เดอ พิษณุโลก” พักอยู่ที่สิงคโปร์
เมื่อเรื่องถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จึงทรงเรียกพระราชโอรสมาถาม ทูลกระหม่อมจักรพงษ์ทรงรับสารภาพ ทำให้พระราชบิดาเสียพระราชหฤทัยมาก ส่วนพระราชมารดาถึงกับกริ้ว แต่เมื่อความลับถูกเปิดเผยแล้ว เจ้าฟ้าจักรพงษ์จึงโปรดให้หม่อมแคทรินเดินทางเข้ามาอยู่ด้วยกันที่วังปารุสกวัน และเก็บตัวเงียบไม่ออกสมาคม
ระหว่างเก็บตัวนี้ หม่อมสาวรัสเซียต้องทนกับความว้าเหว่เงียบเหงา เมื่อเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯต้องเสด็จไปทรงงานที่กระทรวงทุกวัน จึงใช้โอกาสนี้เรียนภาษาไทยและธรรมเนียมราชสำนัก จนสามารถพูดภาษาไทยและหมอบคลานไม่เคอะเขิน เมื่อสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชชนนีเสด็จมาเยี่ยมพระราชโอรสที่วังปารุสก์ฯ แรกๆเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯก็ให้หม่อมแคทรีนแอบทุกคราว แต่แล้ววันหนึ่งสมเด็จพระราชชนนีมีราชพระเสาวณีย์ให้เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯพาหม่อมรัสเซียเข้าเฝ้า ทำให้บรรดาผู้ติดตามพระราชินีพากันยิ้มย่อง คิดว่าจะได้ดูท่าเก้ๆกังๆของหม่อมรัสเซีย แต่หม่อมแคทรีนก็คลานมากราบอย่างเรียบร้อยตามที่ฝึกมา ทำให้สมเด็จพระราชินีทรงพอพระราชหฤทัยลูกสะใภ้แหม่มตั้งแต่วันนั้น
ต่อมาในวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๐ หม่อมคัทรินก็ให้กำเนิด พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ และเป็นหลานย่าคนเดียวของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชชนนีด้วย ทำให้ทรงโปรดปรานอย่างมาก ส่วนพระบรมราชชนกยังคงซ่อนความรักความเอ็นดูไว้ในพระราชหฤทัย ทำให้หม่อมคัทรีนได้รับการยอมรับเข้าอยู่ในราชวงศ์จักรีอย่างไม่มีเชื้อชาติกีดกั้น
ในปี ๒๔๖๑ ขณะที่หม่อมแคทรีนกลับไปเยี่ยมบ้านและเดินทางไปท่องเที่ยวที่ญี่ปุ่น แคนาดา เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯก็ทรงเชิญเจ้านายที่สนิทสนมมาสังสรรค์เล่นเทนนิสและทอดพระเนตรภาพยนตร์ที่วังปารุสก์ ในจำนวนนี้ก็มี หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส รพีพัฒน์ พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ซึ่งเป็นดรุณีแรกรุ่นในวัย ๑๔ ปี เป็นคนช่างเล่นและคุยสนุกมาร่วมด้วย ต่อมาก็เป็นแขกประจำของวังปารุสก์ มีผู้สังเกตเห็นว่าสนิทสนมกับเจ้าภาพเกินอากับหลาน จึงมีคนเขียนจดหมายไปเล่าให้หม่อมแคทรีนทราบถึงในต่างประเทศ
เมื่อกลับมา หม่อมแคทรีนก็ทูลถามเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯเรื่องนี้ ทูลกระหม่อมกรมหลวงพิษณุโลกปฎิเสธว่าไม่มีอะไรเกินอากับหลาน แต่หม่อมแคทรีนเชื่อในจดหมายมากกว่า ความมึนตึงจึงเกิดขึ้น และเมื่อ ม.จ.ชวลิตโอภาสมาที่วังปารุสก์ หม่อมแคทรีนจึงบูดบึ้งเข้าใส่ ม.จ.ชวลิตโอภาสเลยไม่มาที่วังปารุสก์อีก ทำให้กรมหลวงพิษณุโลกต้องเสด็จไปที่วังของกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เป็นประจำ
เมื่อหม่อมแคทรีนมั่นใจว่าความจริงเป็นไปตามจดหมายแล้ว ยอมรับเรื่องนี้ไม่ได้ จึงขอหย่าขาดจากเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ เมื่อตกลงกันได้ หม่อมแคทรีนก็บินออกจากไทยไปอยู่กับพี่ชายที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน
เมื่อทรงหย่าขาดจากหม่อมแคทรีนแล้ว เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯก็มีพระประสงค์จะเสกสมรสกับ ม.จ.ชวลิตโอภาส แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่พระราชทานพระบรมราชานุญาต ครั้นไปทูลขอสมเด็จพระพันปีหลวง พระราชชนนี ก็ไม่ทรงตอบรับ จนเมื่อสมเด็จพระราชชนนีเสด็จสวรรคตในปีนั้น เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถก็ทรงรับ ม.จ.ชวลิตโอภาสมาอยู่ที่วังปารุสก์ในฐานะพระชายา โดยไม่สนพระทัยเรื่องอื่นใดทั้งสิ้น
หลังจากนั้นไม่นาน เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกฯทรงขอลาพักราชการเพื่อเสด็จไปฮันนีมูนที่เมืองสิงคโปร์ แต่ขณะเสด็จไปทางเรือเลียบฝั่งตะวันตก ก็ทรงมีพระอาการเป็นไข้ ประชวรด้วยโรคพระปับผาสะเป็นพิษ (ปอดบวม) เสด็จทิวงคตเมื่อถึงสิงคโปร์ในวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๔๖๓ ขณะพระชนมายุ ๓๗ พรรษา
เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถคงจะรักพระชายาองค์หลังของท่านมาก ในพินัยกรรมที่ทรงทำไว้ มีข้อความว่า
“...บรรดาทรัพย์สินที่เคลื่อนที่ได้หรือมิได้ก็ดี ซึ่งเป็นของข้าพเจ้าอยู่ขณะนี้ ข้าพเจ้ามีความประสงค์ยกให้หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาสทั้งสิ้นจนตลอดชีวิตของเธอ แลในระหว่างที่เธอยังมีชีวิตอยู่ ต้องเลี้ยงดูหม่อมเจ้าจุลจักรพงษ์ บุตรของข้าพเจ้าให้มีความสุขเท่ากับเวลาที่ข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่ เมื่อหม่อมเจ้าจุลจักรพงษ์จะมีครอบครัวภายหน้า ก็เป็นหน้าที่ของหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาสจะเลี้ยงดูให้พอสมควรกับฐานะเหมือนกัน เมื่อหม่อมเจ้าชวลิตโอภาสสิ้นชีพิตักษัยและหม่อมเจ้าจุลจักรพงษ์ยังอยู่ ทรัพย์สมบัติที่ว่ามาแล้วก็ให้ตกเป็นของหม่อมเจ้าจุลจักรพงษ์ต่อไป”
ทรงมอบทรัพย์สินทุกอย่างให้ ม.จ.ชวลิตโอภาสแต่ผู้เดียว ทั้งยังทรงมอบพระโอรสที่เกิดจากหม่อมแคทรีนให้อยู่ในความดูแลของพระชายาองค์ใหม่ซึ่งพระชันษามากกว่าพระโอรสเพียง ๔ ปีเท่านั้น
แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงรักและเมตตาต่อหลานองค์นี้มาก ไม่ทรงเห็นด้วยกับพินัยกรรม ทรงยับยั้งไม่ให้มีผลบังคับใช้ ทรงแก้ไขให้ ม.จ.ชวลิตโอภาส หม่อมคัทรีน และพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ได้รับเงินปันผลจากผลประโยชน์ของกองมรดกเท่ากัน แต่กองมรดกยังคงอยู่เป็นกองกลาง และทรงเรียกคืนวังปารุสกวันให้กลับเป็นของแผ่นดิน ทำให้ ม.จ.ชวลิตโอภาสต้องย้ายออกไปประทับยังวังของกรมหลวงราชบุรีฯ พระบิดา ตามเดิม
หนึ่งปีต่อมา ม.จ.ชวลิตโอภาสจะเสกสมรสใหม่กับ ม.จ.อมรสมานลักษณ์ กิติยากร พระโอรสในพระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงเห็นชอบให้ ม.จ.ชวลิตโอภาสคืนมรดกของกรมหลวงพิษณุโลกประชานาถก่อน จึงจะพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เสกสมรสได้
หม่อมเจ้าชวลิตโอภาศมีโอรสธิดากับหม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์ กิติยากร ๓ พระองค์
ในปี ๒๔๗๕ ม.จ.อมรสมานลักษณ์ได้พา ม.จ.ชวลิตโอภาศซึ่งประชวรด้วยวัณโรค รักษาในเมืองไทยไม่หายไปรักษาต่อที่กรุงปารีส และทิวงคตที่นั่นในวันที่ ๑๘ มิถุนายน ขณะนั้นหม่อมคัทรีนและพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ก็เผอิญอยู่ที่ปารีส เมื่อมีการประชุมเพลิงที่กรุงปารีสในวันที่ ๒๐ มิถุนายน พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ก็ทรงไปแสดงความเคารพอาลัยเป็นครั้งสุดท้ายด้วย