xs
xsm
sm
md
lg

คิดจะมีเขื่อนในประเทศไทยมาตั้งแต่สมัย ร.๕! ๓๖ เขื่อนสำเร็จได้ในสมัย ร.๙!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค


ประทับรถจื๊ปทอดพระเนตรการสร้างเขื่อนภูมิพล
ประโยชน์ของเขื่อนที่สำคัญ คือกักเก็บน้ำไว้ในช่วงฤดูน้ำหลาก ป้องกันน้ำท่วม แล้วปล่อยน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรและอุปโภคบริโภคในช่วงขาดแคลนน้ำ

ปัจจุบันเขื่อนยังมีหน้าที่หลักอีกอย่าง คือผลิตกระแสไฟฟ้า ไฟฟ้าที่ใช้กันทั่วประเทศในวันนี้มาจากเขื่อนเป็นหลัก เขื่อนบางแห่งยังมีชื่อเสียงในการท่องเที่ยวและเลี้ยงปลา ทำให้ชาวบ้านมีอาชีพจากเขื่อนขึ้นอีกมาก
ความคิดที่จะมีเขื่อนในประเทศไทยเกิดขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๔๕ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยผู้เชี่ยวชาญการชลประทานชาวฮอลันดาเสนอ “โครงการเจ้าพระยาใหญ่” สร้างเขื่อนขึ้นที่อำเภอสรรพพยา จังหวัดชัยนาท แต่ในสถานการณ์เผชิญหน้าในยามนั้น ประเทศไทยต้องใช้งบประมาณในการปฏิรูปและป้องกันประเทศก่อนอื่น โครงการนี้จึงต้องระงับไว้ก่อน

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ รัฐบาลได้ขอตัว เซอร์ทอมัส วอร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านการชลประทานชาวอังกฤษ มาสำรวจการสร้างเขื่อนเพื่อการเกษตร และเสนอมา ๕ โครงการ หนึ่งใน ๕ ก็คือปิดกั้นแม่น้ำป่าสักที่บริเวณจังหวัดสระบุรี เนื่องจากแม่น้ำสายนี้เป็นแม่น้ำสำคัญของประเทศไทยรองจากแม่น้ำเจ้าพระยา ไหลไปบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยาที่หน้าวัดพนัญเชิง เป็นเส้นทางลำเลียงผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมระหว่างจังหวัดต่างๆกับ กทม. แต่เมื่อลงมือก่อสร้าง ได้เลื่อนมาที่ คุ้งยางนม ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพราะมีฐานรากมั่นคงกว่าที่ท่าหลวง เริ่มก่อสร้างในปลายปี พ.ศ.๒๔๕๘ แต่เดิมพระราชทานนามว่า ” เขื่อนพระเฑียรฆ์ราชา ” หลังการก่อสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ.๒๔๖๗

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดเขื่อน เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๗ และแปรพระราชฐานมาประทับแรมที่เรือนหัวงานเขื่อนนานถึง ๓ เดือน โปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนนามใหม่เป็น “เขื่อนพระราม ๖” นับเป็นเขื่อนแรกของประเทศไทย

ในรัชกาลที่ ๖ เช่นกัน พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงเห็นว่า ถ้ามีการกักกั้นน้ำ นำกระแสน้ำมาผลิตกระแสไฟฟ้า แทนการใช้ฟืนหรือน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงอย่างที่ใช้อยู่ในขณะนั้น ก็จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศอย่างมาก จึงทรงว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศสำรวจหาแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังน้ำ
หลังจากการใช้เวลาศึกษาอยู่ ๒ ปี ผู้เชี่ยวชาญก็ถวายรายงานว่า มีแหล่งผลิตไฟฟ้าด้วยพลังน้ำอยู่หลายแห่ง เช่น

ที่ออบหลวง จังหวัดเชียงใหม่ จะได้พลังงานไฟฟ้า ๖,๐๐๐ กิโลวัตต์

ที่แก่งสร้อย จังหวัดตาก จะได้พลังงานไฟฟ้า ๑๐๐,๐๐๐ กิโลวัตต์

ที่แก่งเรียง บนแควใหญ่ จังหวัดกาญจนบุรี จะได้พลังงานไฟฟ้า ๒๕,๐๐๐ กิโลวัตต์

ที่แก่งละว้า บนแควน้อย จังหวัดกาญจนบุรี จะได้พลังงานไฟฟ้า ๒๕,๐๐๐ กิโลวัตต์

ตอนนั้นไทยกำลังเผชิญกับเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ โครงการนี้เลยต้องระงับไปอีก

จนในปี ๒๔๘๒ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้หยิบโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังน้ำมาพิจารณาอีก และมอบให้กระทรวงเศรษฐการเป็นเจ้าของเรื่อง กำหนดให้พิจารณาโครงการแม่น้ำแม่กลองเป็นอันดับแรก เพราะอยู่ใกล้กรุงเทพฯ และเห็นว่าที่แก่งเรียงมีสภาพหินเหมาะสมจะสร้างเขื่อนได้ แต่ขณะที่จะดำเนินการต่อไป ก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ โครงการนี้เลยต้องระงับไปอีกครั้ง

ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๙๑ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ขณะที่หลายประเทศประสบภาวะขาดแคลนอาหาร องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติได้พิจารณาถึงความจำเป็นของโครงการเจ้าพระยาใหญ่อีกครั้ง ในเดือนตุลาคมปีนั้น
กรมชลประทานจึงได้เสนอโครงการนี้ต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐบาลได้เห็นชอบตามที่เสนอ ประกอบกับในปี พ.ศ.๒๔๙๒ รัฐบาลได้เข้าเป็นสมาชิกธนาคารโลก ใน พ.ศ.๒๙๓ จึงขอกู้เงินเพื่อดำเนินโครงการเจ้าพระยาใหญ่ เป็นเงินจำนวน ๑๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

โครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ เป็นโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพื่อการเพาะปลูกสำหรับพื้นที่ราบภาคกลางสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เรื่อยลงมาตั้งแต่ชัยนาทถึงอ่าวไทย เดิมการเพาะปลูกในเขตพื้นนี้ต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ปีที่ฝนแล้งเกษตรกรจึงได้รับความเดือดร้อนกันมาก กรมชลประทานได้เริ่มเตรียมงานใน พ.ศ.๒๔๙๔ และเริ่มก่อสร้าง “เขื่อนเจ้าพระยา” ใน พ.ศ.๒๔๙๕

ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร ๔ ภาคครั้งแรกในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จไปเยี่ยมชาวชัยนาทในวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ.๒๔๙๘ และเสด็จไปทอดพระเนตรการสร้างเขื่อนเจ้าพระยาด้วย ทรงประทับแรมที่เขื่อนกำลังก่อสร้างในคืนนั้น

ต่อมาในวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๐ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเขื่อนเจ้าพระยา มีพระราชดำรัสว่า

"ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้มีโอกาสมาร่วมในพิธีเปิดเขื่อนเจ้าพระยาในวันนี้ ประเทศของเราเป็นประเทศกสิกรรม ทั้งข้าวก็เป็นอาหารหลักของประชาชนพลเมือง การอยู่ดีกินดีของอาณาประชาราษฎร์และความสมบูรณ์มั่งคั่งของประเทศยังต้อง อาศัยอยู่กับการเพาะปลูกเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกข้าวในภาคกลางนี้ รัฐบาลของเราทุกยุคทุกสมัย ดังที่นายกรัฐมนตรีแถลงมา ได้เล็งเห็นความสำคัญและสนใจในการทำนุบำรุงประเทศโดยการที่จะสร้างโครงการชลประทานเพื่อส่งเสริมช่วยการเพาะปลูกและการทำนาให้ได้ผลดียิ่งขึ้น จึงเป็นที่น่ายินดียิ่งนักที่เขื่อนเจ้าพระยา อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการชลประทานที่ได้ดำริกันมาตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เป็นอันก่อสร้างสำเร็จลงได้ในปัจจุบัน"

เมื่อตอนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง ประเทศไทยต้องประสบกับการขาดแคลนกระแสไฟฟ้าเป็นอย่างมาก เพราะโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ ๒ โรงกับในต่างจังหวัดได้ถูกระเบิดเสียหาย ทั้งความนิยมเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น พัดลม เตารีด เครื่องหุงต้มไฟฟ้าเริ่มมาแรง ความต้องการกระแสไฟฟ้าของประชาชนจึงมีมากขึ้น แม้จะได้ซ่อมแซมโรงไฟฟ้าทั้ง ๒ โรงแล้ว กระแสไฟฟ้าก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ รัฐบาลจึงได้พิจารณาโครงการผลิตไฟฟ้าให้ได้มากเพียงพอและมีต้นทุนต่ำ

ในปี พ.ศ.๒๔๙๑ รัฐบาลจึงได้นำเอาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่แก่งเรียง จังหวัดกาญจนบุรี มาพิจารณาอีก และจัดทำรายงานเสนอธนาคารโลกเพื่อขอกู้เงิน แต่สถิติเกี่ยวอุทกวิทยาและภูมิประเทศมีไม่เพียงพอให้ธนาคารโลกพิจารณาได้ รัฐบาลจึงมอบให้กรมชลประทานเป็นผู้ดำเนินการต่อ

ม.ล.ชูชาติ กำภู อธิบดีกรมชลประทาน ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆทั้งไทย-เทศมาร่วมกันพิจารณาหาที่ตั้งเขื่อนในภาคใดภาคหนึ่ง ซึ่งมีสถิติทางอุทกวิทยาเพียงพอที่จะดำเนินได้ หลังจากพิจารณากันแล้วเห็นว่า โครงการแก่งเรียงไม่เหมาะสม เพราะกำลังไฟฟ้าที่จะได้น้อย แค่จ่ายให้จังหวัดพระนครและธนบุรีก็ยังไม่พอ ในที่สุดก็เห็นควรสร้างเขื่อนบนแม่น้ำปิงที่เขายันฮี จังหวัดตาก ที่สามารถผลิตกำลังไฟฟ้าได้มากพอแก่ความต้องการทั่วประเทศ ทั้งยังเป็นโครงการอเนกประสงค์ ช่วยการชลประทาน การคมนาคมทางน้ำ และป้องกันอุทกภัยได้อีกด้วย เมื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีก็เห็นชอบ และออกประกาศพระราชกฤษฎีกาให้กรมชลประทานจัดดำเนินการก่อสร้างโครงการนี้เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๖ ในขณะที่เขื่อนเจ้าพระยาก็กำลังก่อสร้างเช่นกัน

ในวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๑ ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชและ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จเยี่ยมราษฎรในภาคเหนือ เมื่อเสด็จฯออกจากที่ประทับแรมที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ไปสักการะศาลพระเจ้าตากสินมหาราชแล้ว จึงเสด็จฯโดยรถยนต์พระที่นั่งไปตามถนนเลียบลำน้ำปิงสู่เขื่อนภูมิพลอย่างช้าๆ เพราะมีประชาชนเฝ้ารับเสด็จอยู่สองข้างทางอย่างหนาแน่น เมื่อถึงเขื่อนภูมิพลกรมชลประทานได้จัดรถจิ๊ปถวายเป็นรถพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการสร้างเขื่อน ซึ่งในขณะนั้นยังมีชื่อว่า “เขื่อนยันฮี” ทั้งสองพระองค์ตระเวนทอดพระเนตรการสร้างเขื่อนจนใกล้ค่ำ จึงเสด็จไปที่ประทับแรม

วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๐๑ ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้อัญเชิญพระปรมาภิไธยมาเป็นมงคลนามของเขื่อนว่า “เขื่อนภูมิพล”

วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๐๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เขื่อนภูมิพล

และในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๐๗ เมื่อ ๖๖ ปีที่แล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิด “เขื่อนภูมิพล” ทำให้ปัญหาการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยหมดไป

จากนั้นก็เกิดเขื่อนขนาดใหญ่กระจายขึ้นทั่วทุกภาคของประเทศ ซึ่งเป็นทั้งเขื่อนที่กักเก็บน้ำป้องกันอุทกภัยและส่งเสริมการเกษตร กับเขื่อนเอนกประสงค์ผลิตกระแสไฟฟ้า รองรับความเจริญของประเทศที่ต้องการพลังงานไฟฟ้ามากขึ้นตามลำดับ รวมเป็น ๓๖ เขื่อนที่เกิดในรัชกาล “พ่อของแผ่นดิน”

ทรงทำพิธีเปิดเขื่อน

เขื่อนพระราม ๖

เขื่อนเจ้าพระยา

เขื่อนภูมิพล


กำลังโหลดความคิดเห็น