xs
xsm
sm
md
lg

จัด 17 ช่อง เริ่มทดลองเรียนผ่านทีวี 18 พ.ค.สั่งรีรันวันละ 2 รอบ รองรับบ้านมีลูกหลายคน ไม่ต้องซื้อทีวีเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศธ.- มูลนิธิการศึกษาทางไกล-กสทช. จัดการเรียนการสอนผ่านฟรีทีวี 17 ช่อง เริ่มออกอากาศ 18 พ.ค.นี้ ให้เด็กนั่งเรียนที่บ้าน เลี่ยงโควิด-19 สั่งรีรันเพิ่มวันละ 2 รอบ รองรับหลายบ้านมีลูกเรียนคนละชั้น แต่มีทีวีเครื่องเดียว ให้เหลื่อมเวลาดูได้

วันนี้ (14 พ.ค.) ที่กระทรวงศึกษาธิการ จัดแถลงข่าวการจัดการศึกษาทางไกลผ่านโทรทัศน์ระบบดิจิทัล ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กระทรวงศึกษาธิการ และ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม จัดตั้งขึ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ เพื่อต้องการลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาของไทย แก้ปัญหาโรงเรียนครูไม่ครบชั้น ครูสอนไม่ตรงตามวิชาเอก ซึ่งสามารถดูแลโรงเรียนได้กว่า 14,000 โรง และนักเรียนมากกว่า 9 ล้านคน และด้วยพระอัจฉริยภาพ และสายพระเนตรอันยาวไกล ของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ ทรงให้สืบสานโครงการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมของมูลนิธิฯ โดยพระราชทานพระบรมราชานุญาตปรับปรุงระบบการออกอากาศจาก SD เป็น HD พร้อมทั้งปรับปรุงห้องเรียนต้นทางให้ทันสมัยด้วย เพื่อให้นักเรียนปลายทางดูได้ง่ายขึ้น เพิ่มช่องทางการออกอากาศ นอกจากผ่านทาง DLTV ให้มีทางอินเทอร์เน็ต และในอนาคตจะเพิ่มช่องยูทูปด้วย

พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวว่า เริ่มแรกให้ครูสอนออกอากาศสด ตอนหลังมาปรับเป็นบันทึกเทปในระดับอนุบาลถึง ม.3 ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งข้อดีของการบันทึกเทป สามารถนำมาออกอากาศซ้ำได้ ที่สำคัญ ยังได้นำรายการที่ออกอากาศไปแล้วทั้งหมดใส่ไว้บนคลาวด์

“ยังไม่รู้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะเป็นอย่างไร แต่รู้สึกดีใจที่กระทรวงศึกษาธิการออกมาเตรียมการปรับพื้นฐานรูปแบบการจัดการเรียนการสอนให้แก่ครู เด็ก และผู้ปกครอง โดยใช้ระบบการศึกษาทางไกลเข้ามาช่วย ถือว่าดีมาก ต้องยอมรับว่า ถึงแม้ DLTV จะแก้ปัญหาได้ไม่หมด ไม่สามารถรองรับความหลากหลายของสถานศึกษาได้ DLTV ไม่มีเนื้อหาระดับชั้น ม.ปลาย และอาชีวะ ดังนั้น กระทรวงศึกษาฯจะต้องผลิตเนื้อหาชั้น ม.ปลาย และอาชีวะเอง สำหรับประสิทธิภาพการสอนอาจจะไม่เท่ากับการได้เรียนกับครูจริงๆ แต่ DLTV ก็มีเนื้อหาพร้อมที่สุดในช่วงวิกฤตเช่นนี้” พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวและว่า ส่วนข้อกังวลเรื่องเด็กที่ต้องเรียนหนังสือที่บ้าน แล้วมีพี่น้องหลายคนเรียนคนละชั้น แต่มีทีวีเครื่องเดียวจะทำอย่างไร จึงสรุปว่า ต้องรีรันการเรียนการสอนในแต่ละวันของทุกระดับชั้นเพิ่มอีกวันละสองรอบ เพื่อให้บ้านที่มีเด็กหลายคน แม้ไม่มีอินเทอร์เน็ต มีทีวีอยู่เครื่องเดียว ก็สามารถเหลื่อมเวลากันดูได้

ด้าน นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ถ้าหากไม่มีการเตรียมความพร้อมจะไม่สามารถขับเคลื่อนการศึกษาไทยได้อย่างมีคุณภาพ เราจึงต้องขยับวันเปิดเรียนเป็นวันที่ 1 ก.ค. แต่เราจะเริ่มทดลองเรียนผ่านทีวี 18 พ.ค.นี้เป็นต้นไป ถือเป็นการปรับพื้นฐาน เพราะเราคำนึงถึงนักเรียนทั่วประเทศ ตอนนี้เรามีความสบายใจที่ตัวเลขการติดเชื้อเป็นศูนย์ หรือเลขหลักเดียว และมีเสียงเรียกร้องให้เปิดเรียน แต่ยังไม่มั่นใจว่า โรงเรียนจะเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและสังคมไทยหรือเปล่า ดังนั้น เราต้องเอาหลักฐานทางสาธารณสุขมาเป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจ เพราะจากข้อมูลพบว่าเด็กจะไม่แสดงอาการ เด็กอาจจะนำเชื้อกลับไปแพร่คนที่บ้านได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เนื่องจากสังคมไทยในปัจจุบันเด็กส่วนมากอยู่กับผู้สูงอายุ

“ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ผมต้องการให้เด็กทุกคนในประเทศไทยที่ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ แต่สามารถเรียนรู้ขั้นพื้นฐาน และในช่วงนี้ผู้ปกครองอาจยังต้องทำงานอยู่ที่บ้าน จะได้ช่วยดูแลและเรียนรู้ไปพร้อมกันกับเด็ก อย่าเพิ่งคิดว่ากระทรวงศึกษาธิการโยนภาระไปให้พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องช่วยกันฝ่าวิกฤตนี้ สำหรับบางพื้นที่ อย่าง 9 จังหวัดที่ไม่มีการติดเชื้อ อาจจะจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนได้ อย่างไรก็ตาม ผมขอหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดก่อน จะนัดคุยกันในเร็วๆ นี้ เพื่อหาแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นเรียนที่โรงเรียน เรียนผ่านระบบ DLTV หรือเรียนระบบออนไลน์ ขึ้นอยู่กับพื้นที่ ที่มีความแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม จะยึดมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทุกวิกฤตเป็นโอกาส เราต้องผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้” นายณัฏฐพล กล่าว

นายณัฏฐพล กล่าวว่า ส่วนบ้านที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต ทีวี สมาร์ทโฟนต่างๆ หรือมีทีวีแต่รับสัญญาณไม่ได้ นั้น ศธ.ประสานความช่วยเหลือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มอบกล่องรับสัญญาณดิจิทัลจำนวน 2 ล้านกล่อง

พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการ กสทช.กล่าวว่า ในการประชุม กสทช.นัดพิเศษที่ผ่านมา มีมติอนุญาตให้กระทรวงศึกษาธิการใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัลเพื่อการศึกษาเป็นการชั่วคราวผ่านช่องสัญญาณ จำนวน 17 ช่อง เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยช่องที่ 37 ชั้น อ.1 ช่อง 38 ชั้น อ.2 ช่อง 39 ชั้น อ.3 ช่อง 40 ชั้น ป.1 ช่อง 41 ชั้น ป.2 ช่อง 42 ชั้น ป.3 ช่อง 43 ชั้น ป.4 ช่อง 44 ชั้น ป.5 ช่อง 45 ชั้น ป.6 ช่อง 46 ชั้น ม.1 ช่อง 47 ชั้น ม.2 ช่อง 48 ชั้น ม.3 ช่อง 49 ชั้น ม.4 ช่อง 50 ชั้น ม.5 ช่อง 51 ชั้น ม.6 ช่อง 52 การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และ ช่อง 53 อาชีวศึกษา






กำลังโหลดความคิดเห็น