คนเราที่เกิดมามีบุญวาสนาสูงส่งอย่าง “เจ้าฟ้าเหม็น” นั้นคงหายากมากๆ เพราะเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าตากสินมหาราช และยังเป็นหลานรักองค์โปรดของ “พระเจ้าตา” พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แต่ไม่รู้ว่าสาเหตุใดจึงได้ชื่อเมื่อแรกประสูติว่า “เหม็น” อันไม่น่าเป็นมงคล แม้ทรงเจริญวัยได้
พระราชทานนามใหม่ให้ไพเราะเหมาะสม ก็ไปพ้องกับคนที่จุดจบไม่ดีในอดีต เปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีก ก็ตรงกับชื่อของคนจุดจบแบบเดียวกัน ในที่สุดก็ไม่พ้นถูกประหารเหมือนกัน
เจ้าฟ้าเหม็น หรือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสุวพันธุวงศ์ ประสูติแต่ เจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่ บุตรีคนโตของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกในสมัยกรุงธนบุรี อีกทั้งพระเจ้าตากสินยังทรงหวังจะให้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์ เนื่องจากจะมั่นคงกว่าพระราชโอรสองค์อื่นๆ เพระพระเจ้าตามีอำนาจมากในแผ่นดินย่อมคุ้มครองได้ แต่เจ้าฟ้าเหม็นก็อาภัพมาตั้งแต่ ๑๒ วันหลังประสูติ เมื่อพระมารดาสิ้นพระชนม์ “ท่านยาย” พระพี่นางองค์ใหญ่ของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกนำไปเลี้ยง ต่อมาอีก ๓ ปีพระราชบิดาก็ถูกสำเร็จโทษ
เมื่อสิ้นแผ่นดินกรุงธนบุรี ตามธรรมเนียมจะต้องกวาดล้างอำนาจเก่าให้สิ้น เพื่อไม่ให้เป็นเสี้ยนหนาม หรือคอยขัดขาเอาเท้าราน้ำเหมือนในสมัยนี้ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวถึงตอนนี้ว่า
“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังฯ เสด็จลงมาเฝ้า กราบทูลว่าบรรดาบุตรชายน้อยๆของเจ้าตากสิน จะขอรับพระราชทานเอาใส่เรือไปล่มน้ำเสียให้สิ้น คำบุราณกล่าวไว้ ตัดหวายอย่าไว้หนามหน่อ ฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก ซึ่งจะเลี้ยงไว้นั้นหาประโยชน์ไม่ จะเป็นเสี้ยนหนามต่อไปภายหน้า สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระอาลัยอยู่ในเจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ พระราชนัดดา จึงดำรัสแก่สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า ขอชีวิตไว้ทั้งสิ้น”
ด้วยเหตุนี้เจ้าฟ้าสุวพันธุวงศ์จึงรอดชีวิตอยู่ในอ้อมกอดของพระปฐมบรมราชวงศ์จักรี ขณะที่พระมเหสีและพระราชโอรสพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงธนบุรีถูกถอดพระอิสริยยศเป็นสามัญชน ต่อมาอีก ๒ ปี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯยังพระราชทานนามใหม่ให้พระเจ้าหลานเธอองค์โปรดว่า เจ้าฟ้าอภัยธิเบศ เพื่อให้พ้นพระนามในสมัยกรุงธนบุรี แต่เรียกขานกันทั่วไปว่า เจ้าฟ้าอภัย เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงสดับคำเรียกพระเจ้าหลานเธอ ก็รับสั่งว่า พระนามใหม่ของพระเจ้าหลานเธอนี้ไปพ้องกับพระนามของเจ้าฟ้าอภัยทศ สมเด็จพระอนุชาของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งถูกพระเจ้าเสือ หรือ ขุนหลวงวสรศักดิ์ ออกอุบายทูลเชิญมาเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ขณะประชวร แล้วจับไปสำเร็จโทษ
อีกทั้งโอรสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระที่ทรงแต่งตั้งเป็นรัชทายาทมอบให้ครองราชย์ต่อ แต่ก็ถูกสมเด็จอาซึ่งเป็นมหาอุปราช จับสำเร็จโทษเมื่อพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระสวรรคต ก็ทรงพระนาม เจ้าฟ้าอภัย เช่นกัน
เมื่อพระนาม เจ้าฟ้าอภัย ไม่เป็นมงคลแก่พระเจ้าหลานเธอองค์โปรด พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯจึงพระราชทานพระนามใหม่อีกครั้งเป็น เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ก็ไปพ้องกับเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ หรือ “เจ้าฟ้ากุ้ง” กวีเอกในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งต้องหาว่าเป็นชู้กับสนมของพระราชบิดา ถูกลงโทษจนสิ้นพระชนม์เช่นกัน
แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าฟ้าเหม็นก็ได้ใช้พระนามนี้ตั้งแต่พระชนม์ ๕ พรรษาไปจนถึง ๒๘ พรรษา ครั้งทรงเจริญพระชันษา ก็โปรดพระราชทานวังให้อยู่ใกล้ชิดวังหลวงที่ถนนหน้าพระลาน ซึ่งก็คือ “วังท่าพระ” ที่เป็นมหาวิทยาลัยศิลปากรในปัจจุบัน
ใน พ.ศ.๒๓๕๐ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ์ร ได้ทรงกรมเป็น กรมขุนกษัตรานุชิต มีความหมายว่า “กษัตริย์ผู้มีชัย” และโปรดเกล้าฯให้จารึกพระนามลงในพระสุพรรณบัฏที่มีน้ำหนักมากกว่าพระเจ้าหลานเธอองค์อื่นๆ แม้จะทรงให้อยู่ใกล้ชิดติดตามไปในงานพระราชพิธีต่างๆเป็นประจำ แต่ก็ไม่ได้ทรงมอบให้เกี่ยวกับราชการใดๆ อาจเป็นเพราะทรงทราบว่าเจ้าฟ้าเหม็นไม่เป็นที่พอใจของหลายคน จากเหตุที่เป็นโอรสของพระเจ้าตากสินที่ไม่ได้ถูกประหาร จึงทรงให้หลีกเลี่ยงเหตุที่จะทำให้ถูกกล่าวโทษได้
แต่แล้วในวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ.๒๓๕๒ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชสวรรคตเพียง ๓ วัน พระยาอนุชิตราชา (น้อย) จางวางพระตำรวจ ได้พบหนังสือทิ้งไว้ที่ใต้ต้นแจง ในลานชลาพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขณะประดิษฐานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ กล่าวกันว่ากาคาบมาทิ้ง ในหนังสือนั้นฟ้องว่า เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต พร้อมโอรสธิดาพระเจ้ากรุงธนบุรี คบคิดกับข้าราชการอีกหลายคนจะก่อการกบฎ จึงโปรดให้ พระองค์เจ้าทับ พระเจ้าลูกยาเธอองค์ใหญ๋ ซึ่งต่อมาคือรัชกาลที่ ๓ ทรงพิจารณาสอบสวน ผู้ต้องหาได้ซัดทอดข้าราชการ ๑๐ คน กับข้าในกรมเจ้าฟ้ากษัตรานุชิตอีก ๓๐ คน ผู้ต้องหารับเป็นสัตย์ว่า พระอินทรเดช (กระต่าย) เป็นต้นเหตุยุยง คนอื่นเพียงแต่สมรู้เป็นใจ จึงโปรดให้ถอดเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิตลงเป็นหม่อมเหม็น เอาไปประหารชีวิตเสียกับพรรคพวกที่คบคิด
“หม่อมเหม็น” จึงเป็น เจ้าฟ้าอภัย” และ “เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์” อีกพระองค์หนึ่ง ที่มีชื่อจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่า ทรงพบจุดจบด้วยการถูกประหารชีวิต